ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 มี.ค.2556  (อ่าน 915 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9790
    • ดูรายละเอียด
 1. กกต.กทม. มีมติ 3 ต่อ 2 ส่ง 2 คำร้องให้ กกต.กลางชี้ขาดประกาศรับรอง “สุขุมพันธุ์” หรือไม่ พร้อมส่งซิก 20 มี.ค. มีข่าวใหญ่!

       ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติ 3 ต่อ 1 ยังไม่ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า ต้องสืบสวนสอบสวนเรื่องร้องเรียน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้แล้วเสร็จก่อน หากแล้วเสร็จก่อน 30 วัน กกต.สามารถประกาศรับรองผลก่อนได้ ขณะที่พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ยังคงทยอยยื่นร้องคัดค้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นระยะๆ
       
       โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยและทนาย นปช. ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ กกต.กทม.ตรวจสอบคำปราศรัยของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ,นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ,นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยกล่าวหาว่าแกนนำทั้งสี่ปราศรัยหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง วันเดียวกัน(11 มี.ค.) นายเรืองไกร ก็ได้ยื่นหนังสือให้ กกต.กทม.ตรวจสอบคำปราศรัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และนายจุรินทร์ โดยอ้างว่า อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งเช่นกัน
       
       วันต่อมา(12 มี.ค.) พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.เผยหลังประชุม กกต.กทม.ว่า ขณะนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 20 คำร้อง พิจารณาไปแล้ว 9 คำร้อง โดยรับคำร้อง 3 เรื่อง ไม่รับ 4 เรื่อง และมี 2 เรื่องที่ กกต.กทม.มีมติเสียงข้างมากให้เสนอความเห็นไปยัง กกต.กลาง โดยจะถึง กกต.กลางในวันที่ 14 มี.ค. และว่า 2 เรื่องที่มีมติไป คือกรณีที่นายเรืองไกรขอให้ตรวจสอบการโพสต์ภาพเผาบ้านเผาเมืองของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และการโพสต์ข้อความของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการ ที่ระบุว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่”
       
       ทั้งนี้ พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ยอมรับว่า มติที่เสนอไปยัง กกต.กลางนั้น ความผิดที่มีการกล่าวหาโยงไม่ถึงตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นเพียงความผิดของผู้สนับสนุน ซึ่ง กกต.กทม.เสนอให้ กกต.กลางพิจารณาสั่งดำเนินคดี แต่จะมีการประกาศรับรองผลหรือสั่งเลือกตั้งใหม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต.กลางจะพิจารณา
       
       ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี หลังจากเคยหน้าแตกกรณีแสดงความมั่นใจว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค จะชนะเลือกตั้ง จนต้องหยุดให้สัมภาษณ์ไป 7 วัน ล่าสุด ได้ออกมาแสดงความมั่นใจอีกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หากไม่ได้ใบเหลืองก็ใบแดง พร้อมท้าทาย กกต.ว่า หากกล้ายกคำร้องก็ยกไปเลย
       
       ขณะที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นว่า ภาพเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่โพสต์บนเฟซบุ๊กไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้มีการระบุข้อความว่า พล.ต.อ.พงศพัศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาบ้านเผาเมือง
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความมั่นใจว่า ข้อร้องเรียนต่างๆ ที่มีถึง กกต. ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ไม่มีส่วนใดที่เข้าข่ายมาตรา 57(5) ว่ามีใครไปขู่เข็ญ บังคับหลอกลวง “อยากฝากไปยัง กกต.ว่าไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งต้องอธิบายคำตัดสินของตัวเองด้วยว่า เหตุผลคืออะไร”
       
       ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เผย(13 มี.ค.)ว่า หาก กกต.ได้รับเรื่องจาก กกต.กทม.เมื่อใด ต้องดูว่าพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่ ต้องสอบเพิ่มหรือไม่ ถ้า กกต.กทม.สอบถ้อยคำฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องครบถ้วนแล้ว ที่ประชุม กกต.กลางก็จะพิจารณาเพื่อมีมติต่อไป คาดว่าคงพิจารณาในสัปดาห์หน้า นางสดศรี ยังบอกด้วยว่า กกต.ค่อนข้างหนักใจหากต้องมีการพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดงว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ก่อนการประกาศรับรองผล เพราะถ้าจะทำเช่นนั้น ต้องมีหลักฐานชัดเจน
       
       ด้าน พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.ได้ออกมาเผยหลังประชุมพิจารณาคำร้องคัดต้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า ที่ประชุมได้ลงนามคำร้องคัดค้าน 2 เรื่อง กรณีนายศิริโชคและ ดร.เสรี ที่มีมติส่งให้ กกต.กลางวินิจฉัย แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องคัดค้านอีก 3 เรื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ โดยจะเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 มี.ค.
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ พูดเป็นนัยว่า ขอให้สื่อมวลชนมาทำข่าวการประชุม กกต.กทม.วันที่ 20 มี.ค.เวลา 13.00น.กันให้มากๆ เพราะจะมีข่าวพาดหัวหน้า 1 ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแถลงข่าวลาออกหรือ? พล.ต.ท.ทวีศักดิ์หัวเราะ เมื่อถามต่อว่า หรือจะมีการเชิญผู้สมัครมาชี้แจง พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ บอกว่า อาจจะมีการเชิญผู้สมัครมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน เมื่อถามว่า จะเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ใช่หรือไม่ พล.ต.ท.ทวีศักดิ์หัวเราะและขอตัว โดยอ้างว่าต้องรีบไปบรรยายต่อ
       
       ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า ที่ประชุม กกต.กทม.เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ไม่ได้มีมติว่าจะเชิญใครมาให้ถ้อยคำแต่อย่างใด การที่ พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ บอกว่าจะมีข่าวใหญ่พาดหัวหน้า 1 ในวันที่ 20 มี.ค. น่าจะเป็นกรณีที่ พล.ต.ท.ทวีศักดิ์จะลาออกจากตำแหน่งประธาน กกต.กทม.มากกว่า เนื่องจาก กกต.กทม.ทั้ง 5 คนมีข้อตกลงกันเรื่องการดำรงตำแหน่งประธานคนละ 1 ปี ซึ่ง พล.ต.ท.ทวีศักดิ์จะดำรงตำแหน่งประธานครบ 1 ปี ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์(16 มี.ค.)ว่า สำนักข่าวทีนิวส์ รายงานว่า ประธาน กกต.กทม.เฉลยข่าวใหญ่คดีนายกฯ ช่วยพงศพัศ แต่โดนห้ามแถลงแล้ว
       
       2. “เจริญ” เดินหน้าถกนิรโทษฯ แม้มีผู้เข้าร่วมแค่ 5 จาก 11 กลุ่ม ด้าน “พันธมิตรฯ” ไม่ร่วมสังฆกรรม ประกาศ พร้อมต้านนอกสภา!

       ความคืบหน้ากรณีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จากพรรคเพื่อไทย ได้เชิญกลุ่มต่างๆ 11 กลุ่มเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในวันที่ 11 มี.ค. ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) -องค์การพิทักษ์สยาม -กลุ่มเสื้อหลากสี-นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม -ฝ่ายทหาร- ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ-คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)
       
       ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด มีผู้มาร่วมหารือแค่ 5 กลุ่ม คือ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี ,ตัวแทน นปช.นายก่อแก้ว พิกุลทอง ,ตัวแทนฝ่ายทหาร ได้แก่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสวุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ,ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจย่านราชประสงค์ พ.ต.อ.เสรี ไขรัศมี และตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลุ่มมัชณิมา
       
       ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรฯ เผยเหตุที่พันธมิตรฯ ไม่เข้าร่วมหารือว่า แม้รองประธานสภาฯ จะตอบสนองข้อเสนอของพันธมิตรฯ ด้วยการเชิญคนทุกกลุ่มเข้าหารือ แต่พันธมิตรฯ ได้เคยแสดงจุดยืนไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านอย่างถึงที่สุดหากมีการตรากฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดทางอาญาและคดีทุจริต ซึ่งการประชุมดังกล่าวชัดเจนว่า ไม่ได้จำกัดหัวข้อแค่การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น เพราะใช้คำว่า “การแสวงหาแนวทางบรรเทาความขัดแย้ง” นอกจากนี้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้น เมื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เข้าชื่อ 42 คนเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.เพื่อให้บรรจุเข้าวาระการประชุมสภา โดยให้การนิรโทษกรรมรวมถึงผู้กระทำผิดทางอาญาร้ายแรง ซึ่งรวมถึงหลายคนที่ขึ้นเวทีปราศรัยหรือสั่งการที่อาจได้รับประโยชน์ โดยอ้างว่าตนไม่ใช่ผู้มีอำนาจในการสั่งการ พันธมิตรฯ จึงขอไม่เข้าร่วมหารือ พร้อมประกาศว่า หาก ส.ส.ยังคงใช้อำนาจเสียงข้างมากในสภาต่อไปโดยไม่ฟังเสียงคนกลุ่มอื่น พันธมิตรฯ ก็ขอใช้สิทธิในการคัดค้านและต่อต้าน “นอกสภา” อย่างถึงที่สุดต่อไป
       
       ทั้งนี้ หลังที่ประชุม 5 ฝ่ายใช้เวลาหารือกว่า 2 ชั่วโมง นายเจริญ ได้แถลงผลประชุมว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน 4 ข้อ คือ 1.ต้องการบรรเทาความขัดแย้งร่วมกัน 2.ต้องให้อภัยกัน ส่วนรายละเอียดของกฎหมายนิรโทษกรรม ทุกฝ่ายต้องออกแบบร่วมกัน 3.บรรเทาความขัดแย้งให้เกิดทัศนคติที่ดีในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อยากให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่ และ 4.การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพรรคการเมือง ขอให้ยึดประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง
       
       ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมหารือ เพราะต้องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับออกจากสภาฯ ก่อนนั้น นายเจริญ บอกว่า จะเชิญนายอภิสิทธิ์มาหารือนอกรอบกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เพื่อพูดคุยให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาย้ำว่า ต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับก่อนถึงจะมีการคุย
       
       ส่วนกรณีที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.ของพรรครวม 42 คน ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ แล้วนั้น ปรากฏว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลมีมติว่าไม่จำเป็นต้องเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากยังมีกฎหมายค้างการพิจารณาในสภาอยู่หลายฉบับ รวมทั้งเห็นว่า เรื่องการนิรโทษกรรมต้องให้หลายๆ ฝ่ายพิจารณาอย่างที่นายเจริญดำเนินการอยู่
       
       ด้านนายวรชัย ไม่สนมติวิปรัฐบาล โดยยืนยันว่า หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้รับการบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาเมื่อใด ตนจะใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.เสนอต่อที่ประชุมสภาให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 42 คนยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภา ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงตอบเหมือนที่เคยตอบก่อนหน้านี้ว่า การออก พ.ร.บ.เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหารมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
       
       3. “ผบ.ตร.” แถลงยกเลิกสัญญาสร้างโรงพัก 396 แห่งกับ “พีซีซีฯ” แล้ว แต่ให้เวลาส่งมอบงานอีก 30 วัน หวั่นเสียค่าโง่ซ้ำรอย “โฮปเวลล์-คลองด่าน”!

       เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่รับจ้างก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน) 396 แห่ง มูลค่า 5,848 ล้านบาท พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้นำทีมตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงพัก เปิดแถลงข่าวบอกเลิกสัญญากับบริษัท พีซีซีฯ แต่ไม่ใช่การบอกเลิกในทันที โดยชี้แจงว่า เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่มาก ใช้งบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายทางแพ่งกำหนดว่า ต้องให้โอกาสผู้ประกอบการได้แก้ตัวระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้เวลาผู้ประกอบการอีก 30 วันในการส่งมอบงาน หรือภายในวันที่ 17 เม.ย. หากไม่สามารถปฏิบัติตามที่กำหนด สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการต่อไป
       
       พล.ต.อ.อดุลย์ บอกด้วยว่า ได้เตรียมแผนประกวดราคาก่อสร้างโรงพักทั้ง 396 แห่งใหม่ ซึ่งจากการตรวจสอบมีประมาณ 60 แห่งที่ยังไม่มีการก่อสร้างเลย ดังนั้น จากนี้ไปจะดำเนินการตามขั้นตอนพัสดุในการประกวดราคา และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อกระจายอำนาจการจัดจ้างไปยังแต่ละกองบังคับการจังหวัด ซึ่งขั้นตอนนี้คาดว่าจะใช้เวลา 30 วัน โดยจะทำคู่ขนานกันไป คาดว่าปลายเดือน เม.ย.น่าจะดำเนินการจัดจ้างใหม่ได้
       
       พล.ต.อ.อดุลย์ ยืนยันด้วยว่า วิธีนี้ถือว่าไวที่สุดและปลอดภัยที่สุดแล้ว “เรื่องความผิดฐานฉ้อโกง ได้ประสานดีเอสไอให้ดำเนินการไป ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการบังคับการปฏิบัติตามสัญญาทางแพ่ง โดยเคยมีกรณีโฮปเวลล์ คลองด่าน มาแล้ว และหลายกรณีที่บอกเลิกสัญญาแล้วมีการคุ้มครอง นำมาสู่การก่อสร้างไม่ได้ อย่างนั้นจะเสียหายมากกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงใช้กระบวนการนี้ เพื่อให้การจัดจ้างใหม่เกิดขึ้นได้ภายใน 30 วัน และฟ้องค่าเสียหายเอาเงินค้ำประกันกว่าพันล้านมาใช้ได้”
       
       ด้าน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงเหตุที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษว่า “ขณะนี้เรากำลังเดือดร้อนมากจากการไม่มีที่ทำการ ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ดังนั้นเราต้องการอาคารเร็วที่สุด เราจึงคิดจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ กระจายการจัดจ้างไปยังกองบังคับการจังหวัดต่างๆ หากใช้วิธีอีออคชั่น จะใช้เวลาทางธุรการ 85 วัน เกือบ 3 เดือน ถ้าใช้วิธีพิเศษใช้เวลาเพียง 10 วัน”
       
       ส่วนกรณีที่นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ผู้บริหารบริษัท พีซีซีฯ ยื่นคำร้องต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ขอให้ถอนการอายัดเงินในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ 438 ล้านบาทนั้น นายธาริต ยืนยันไม่ถอนอายัด โดยอ้างว่า เป็นการอายัดเพื่อตรวจสอบและป้องกันการโยกย้าย ไม่ใช่การยึดหรือริบทรัพย์ตามคำสั่งศาล ดังนั้นจึงยังไม่ถือว่ากระทบกับบริษัท พีซีซีฯ
       
       นายธาริต ยังบอกด้วยว่า หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มาแจ้งความคดีฉ้อโกงกับบริษัท พีซีซีฯ ดีเอสไอก็สามารถดำเนินคดีเองได้ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว พร้อมย้ำ เรื่องนี้ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมาร้องทุกข์กับดีเอสไอหรือไม่
       
       4. ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้อง “สนธิ” คดี “ทักษิณ-ทรท.” ฟ้องหมิ่นแฉปฏิญญาฟินแลนด์ ชี้ เป็นการติชมโดยสุจริต!

       เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พรรคไทยรักไทย(ทรท.) และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 11 คน เช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ,นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ,นายปราโมทย์ นาครทรรพ ฯลฯ เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นด้วยการโฆษณา
       
        คดีนี้ โจท์ทั้งสองนำสืบว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2549 จำเลยได้จัดเสวนาวิชาการ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์การเมืองของไทยรักไทย?” โดยกล่าวว่าโจทก์ทั้งสองวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ การเป็นพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลและมีผู้นำคนเดียว ,การเปลี่ยนแปลงระบบราชการเป็นแบบซีอีโอ ,การแทรกแซงโยกย้ายข้าราชการ ,การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์
       
        ทั้งนี้ โจทก์ทั้งสอง ชี้ว่า การเสวนาของพวกจำเลยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้เกิดการแบ่งฝ่ายในสังคม โดยกล่าวหาว่าโจทก์คือกลุ่มที่คัดค้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งที่ในการประชุมพรรคของโจทก์ ไม่มีการกล่าวถึงข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์ และไม่เคยมีนโยบายตามข้อตกลงดังกล่าว แต่การเป็นพรรคการเมืองเดียวจัดตั้งรัฐบาล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง เนื่องจากที่ผ่านมามีการยุบสภาบ่อย
       
        สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงระบบราชการนั้น โจทก์อ้างว่า เพื่อให้ระบบราชการที่เคยมีขนาดใหญ่ มีขนาดเล็กลง จะได้บริการประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่วนการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ก็เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน ขณะที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โจทก์อ้างว่า ต่างประเทศก็ทำ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี พร้อมยืนยันว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยมีเจตนาคัดค้านสถาบันกษัตริย์
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การจัดเสวนาของจำเลยไม่ได้ยืนยันว่า ข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์มีจริงหรือไม่ เพียงแต่กล่าวถึงการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งต่อมาโจทก์อุทธรณ์
       
        ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า การเสวนาของจำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญหรือยืนยันว่า ข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์มีจริงหรือไม่ แต่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ นอกจากนี้ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โจทก์ที่สอง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริตได้ ขณะเดียวกัน โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ข้อตกลงปฏิญญาฟินแลนด์นั้นไม่มีอยู่จริง
       
        ส่วนการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ก่อนหน้านั้น ศาลเห็นว่า เป็นเพียงการนำเสนอเพื่อให้การเสวนาน่าสนใจเท่านั้น ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำลายล้างทางการเมืองหรือมุ่งโจมตีโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายกฟ้อง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 มีนาคม 2556