ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25 พ.ย.-1 ธ.ค.55  (อ่าน 1134 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25 พ.ย.-1 ธ.ค.55
« เมื่อ: 09 ธันวาคม 2012, 14:40:25 »
 1.สมเด็จพระสังฆราชฯ ถวายพระพร “ในหลวง” – ทรงยก “พระราชาผู้ทรงธรรมย่อมเป็นร่มใหญ่ของปวงประชา!
       
        เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2555 ความว่า ชาติไทยเราได้รักษาสิ่งสำคัญ 2 สิ่ง ควบคู่กันมาโดยตลอด คือ รักษาพระพุทธศาสนา และมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของชาติ นับได้ว่าเป็นการดำเนินตามพระพุทธภาษิตที่ว่า “ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนฉัตรหรือร่มใหญ่ในฤดูฝน” และ “พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย”
       
       สมเด็จพระสังฆราช ทรงเปรียบด้วยว่า ธรรมเปรียบเสมือนร่มใหญ่ในฤดูฝนของผู้ประพฤติธรรมทั้งปวงฉันใด พระราชาผู้ทรงธรรมย่อมเป็นร่มใหญ่ของปวงประชานิกรฉันนั้น พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าย่อมประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราช ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นประโยชน์สุขแก่ปวงประชานิกรและบ้านเมืองเพียงใด ทรงดำรงพระองค์ในราชธรรมโดยมิได้บกพร่อง ควรที่ประชาชาวไทยทุกหมู่เหล่าจักได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.นี้ จึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยพร้อมกันอธิษฐานจิต น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดจิรกาล
       
       2. ศาล สั่งถอนประกัน “ก่อแก้ว” ชี้ เจตนาข่มขู่ตุลาการศาล รธน. ส่วนอีก 4 ส.ส.รอด แต่ห้ามออกนอกประเทศ!
       

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ยังชู 2 นิ้วหลังถูกศาลถอนประกัน(30 พ.ย.)
       เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ศาลอาญา ได้เรียก ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่เป็นจำเลยในคดีก่อการร้าย 6 คน มาสอบถามเพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ตามที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร้องขอให้ศาลฯ เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว ทั้งนี้ บุคคลทั้งหก ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. จำลยที่ 3 ,นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 4 ,นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 5 ,นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 10 ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ,นายการุณ โหสกุล ส.ส.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 9 และนายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 11
       
        โดยเฉพาะนายก่อแก้ว ซึ่งนายนิพิฏฐ์ ได้นำหลักฐานเป็นวีซีดีที่นายก่อแก้วแถลงข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าสภาสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐบาลเสนอได้หรือไม่ ซึ่งนายก่อแก้วได้แถลงว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยระงับการแก้รัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงขอให้คนเสื้อแดงกล่าวคำร่ำลากับทางบ้านได้เลย เพราะครั้งนี้เป็นการต่อสู้แบบแตกหัก โดยกลุ่มคนเสื้อแดงจะไม่ยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และหากกลุ่มอำมาตย์จะจัดคนมาต่อสู้เพื่อปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วทหารจะออกมายึดอำนาจ ขอให้ประชาชนต่อสู้ทหารแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
       
        ด้านนายก่อแก้ว ได้ชี้แจงต่อศาล โดยอ้างว่า สิ่งที่ตนแถลงเป็นการทำในฐานะ ส.ส.และเป็นกรรมาธิการในรัฐสภา ซึ่งได้รับการมอบหมายให้กล่าวถึงการวินิจฉัยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 พร้อมยืนยัน ตนไม่ใช่คนหัวรุนแรง ไม่มีความก้าวร้าว และว่า สิ่งที่ตนพูด เป็นการพูดถึงความเป็นไปได้หรือแนวโน้มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “คล้ายการพยากรณ์อากาศว่า หากฝนตกหนัก จะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้มีการยืนยันว่าจะให้มีการทำแบบนั้น และไม่มีเจตนาข่มขู่ตุลาการ" ด้านศาลได้นัดสอบถามพยานฝายนายก่อแก้วต่อในวันที่ 30 พ.ย.
       
        ส่วนจำเลยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น นพ.เหวง ,นายการุณ ,นายวิภูแถลง หรือนายพิเชษฐ์นั้น ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำแถลงของนายก่อแก้วแต่อย่างใด รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับกรณีนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ที่ปราศรัยแจกเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนถูกศาลอาญาสั่งถอนประกันไปก่อนหน้า
       
        ทั้งนี้ หลังศาลสอบถามพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 30 พ.ย. ได้มีคำสั่งในช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยได้สั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายก่อแก้วมีพฤติการณ์ ไม่นำพาต่อเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ รวมทั้งไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง พร้อมเห็นว่า นายก่อแก้วมีเจตนาข่มขู่ คุกคาม กดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคำสั่งของศาลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ถึงขนาดทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ถือว่าเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขของศาลที่กำหนดไว้ จึงมีเหตุอันควรให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายก่อแก้ว และมีหมายขังไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
       
       ส่วนจำเลยอีก 5 คน คือ นายณัฐวุฒิ-นพ.เหวง-นายการุณ-นายวิภูแถลง และนายพิเชษฐ์นั้น ศาลเห็นว่า แม้จะได้ความว่า จำเลยทั้งห้าได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนบ้าง แต่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นควรกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งห้าใหม่ โดยห้ามดูหมิ่นผู้อื่น หรือยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตราย กระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำใดใดให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมาย รวมทั้งห้ามจำเลยทั้งห้าเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว นายก่อแก้วมีสีหน้าสลดชั่วครู่ ก่อนจะยิ้มและชู 2 นิ้ว ด้านเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายก่อแก้วขึ้นรถตู้ ไปควบคุมที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทันที ขณะที่บรรยากาศหลังศาลมีคำสั่งถอนประกันนายก่อแก้วนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงที่มารอให้กำลังใจแกนนำ นปช. อยู่นอกรั้วศาลอาญา ต่างส่งเสียงโห่ร้องด้วยความเสียใจ บางคนถึงกับร้องไห้และลงไปนอนกับพื้นทางเท้า แต่ไม่ได้เกิดความวุ่นวายใดใด
       
       ส่วนกรณีที่นายก่อแก้วถูกศาลสั่งถอนประกันจะส่งผลต่อสถานภาพ ส.ส.หรือไม่นั้น นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน บอกว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่า นายก่อแก้วขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.แล้ว แต่ยังไม่อัตโนมัติ เพราะน่าจะเหมือนกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องมีผู้มายื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายก่อแก้วก่อน หาก กกต.พิจารณาและมีมติว่านายก่อแก้วขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ก็ต้องส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
       
       3. “ยิ่งลักษณ์-3 รมต.” ผ่านศึกซักฟอกฉลุย – สะพัด 3 พรรคฝ่ายค้านเทคะแนนแลกร่วมรัฐบาล!

น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรค ปชป. นำดอกไม้ธูปเทียนแช่งผู้ที่ทุจริตงบบำรุงรักษาบ่อน้ำบาดาล ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาฯ (27 พ.ย.)
       เมื่อวันที่ 25-27 พ.ย. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติของฝ่ายค้านที่ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ,พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยวันแรก(25 พ.ย.) เป็นการอภิปรายรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ส่วนอีก 2 วันเป็นการอภิปรายนายกรัฐมนตรี
       
        สำหรับประเด็นการอภิปรายรัฐมนตรีแต่ละคน ที่น่าสนใจได้แก่ กรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการบริหารราชการของ พล.อ.อ.สุกำพล ว่ามีการแทรกแซงการการทำงานของฝ่ายข้าราชการ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีการนำคลิปเสียงที่ระบุว่าเป็นเสียง พล.อ.อ.สุกำพลพูดกับ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม มาเปิดเพื่อยืนยันว่า พล.อ.อ.สุกำพลแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งบางช่วงบางตอนในคลิป พล.อ.อ.สุกำพล พูดว่า “ไม่ต้องให้ใครเข้ามา ขอคุยเรื่องโยกย้ายนิดหนึ่ง ผมอยากเสนอทนงศักดิ์” ,”ถ้าเถียรเสนอชาตรีมา พี่ต้องแก้เป็นทนงศักดิ์” เป็นต้น ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล ชี้แจงเรื่องคลิปดังกล่าวโดยอ้างว่า มีการเปิดคลิปไม่หมด และว่า ตนทราบว่าใครเป็นคนอัดเทปดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง และตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว
       
        ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายการบริหารราชการของ ร.ต.อ.เฉลิม โดยชี้ว่า ร.ต.อ.เฉลิมละเลยเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งมีการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณเรียบร้อยแล้ว แต่รัฐบาลดองเรื่องไว้ ไม่ทำอะไร ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงโดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง
       
        ด้านนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการบริหารราชการของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ว่ามีการทุจริตขุดลอกร่องน้ำ 7 ร่องน้ำ คือ ปิง วัง ยม น่าน ชี มูล และป่าสัก วงเงิน 1,215 ล้านบาท โดยมีการยื้อเวลาเพื่อใช้วิธีอนุมัติจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และว่า มีการลือกันว่า กรมเจ้าท่าในความรับผิดชอบของ พล.ต.ท.ชัจจ์ได้นำงานไปขายค่างาน 55 ล้านบาท รับเงินทอน 25 ล้านบาท ด้าน พล.ต.ท.ชัจจ์ ชี้แจงโดยปฏิเสธว่า ตนไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด
       
        ส่วนการอภิปรายการบริหารราชการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น ที่น่าสนใจได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า นายกฯ กำลังนำประเทศไปสู่ความเสียหาย ทั้งเรื่องนโยบายรับจำนำข้าว ที่ถูกบิดมาเป็นโครงการรับซื้อข้าวโดยรัฐบาล นำไปสู่การผูกขาดการซื้อข้าว และมีการทุจริตเกิดขึ้นตลอดทาง รวมทั้งสูญเสียแชมป์ส่งออกข้าว และว่า การบริหารจัดการข้าวที่ผ่านมา ใช้เงินไปแล้ว 5.17 แสนล้านบาท หากทำเช่นนี้ไปอีก 7 ปี หนี้สาธารณะจะไปแตะที่ร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ “อยากถามว่า จีทูจีของท่านคืออะไร จีเจี๊ยะ จีเจ๊ง หรือจีโจ๊ก หรือจีอะไร หรือจะเหมือนที่ฝรั่งบอกว่า จี โกสท์(Ghost) หรือบริษัทผีคืนชีพ” นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ยังอภิปรายชี้ว่า รัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตงบเยียวยาน้ำท่วมด้วย
       
        ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงเรื่องโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะเรื่องสูญเสียแชมป์ส่งออกข้าวว่า แม้การส่งออกไทยจะอยู่อันดับ 3 แต่ราคาเฉลี่ยต่อตัน ไทยสูงกว่าประเทศที่ส่งออกอันดับ 1 “ถ้าถามในฐานะที่เป็นคนไทย ดิฉันอยากเห็นจำนวนเงินมากกว่าจำนวนตัน”
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยพูดจาไม่สุภาพลักษณะละเมิดทางเพศ ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย โดยเหตุเกิดหลัง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กำลังอภิปรายว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการทุจริตงบล้างท่อ พร้อมบอกว่า ตนไม่เคยเห็นการทุจริตคอร์รัปชั่นใดรุนแรงเท่าสมัยนี้ จนฝันว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มาเข้าฝันกระซิบข้างหูว่าไม่ต้องกลัว ขอให้ทำหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต ด้าน จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงไม่เห็นด้วยที่ น.ส.รังสิมานำความฝันมากล่าวหารัฐบาล เพราะไม่น่าเชื่อถือ และว่า ใครก็ฝันได้ หากตนฝันบ้างว่าไปนอนกับ น.ส.รังสิมา จะว่าอย่างไร
       
        จากนั้น ส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์ได้ประท้วงคำพูดของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ พร้อมขอให้ประธานสั่งให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ถอนคำพูด ตอนแรก จ.ส.ต.ประสิทธิ์จะไม่ยอมถอน แต่เมื่อประธานยืนยันให้ถอน จ.ส.ต.ประสิทธิ์จึงยอมถอน
       
        ซึ่งต่อมา ส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สอบสวนพฤติกรรมของ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ที่พูดในลักษณะละเมิดทางเพศ น.ส.รังสิมา พร้อมเปิดแถลงว่า จะยื่นเรื่องนี้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบอีกทาง และอาจยื่นถอดถอนควบคู่กันไปด้วย
       
        ส่วนผลการลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ย.นั้น ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับเสียงไว้วางใจ 308 ต่อ 159 งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 9 เสียง ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้รับเสียงไว้วางใจ 287 ต่อ 157 งดออกเสียง 25 เสียง ไม่ลงคะแนน 11 เสียง ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล ได้รับเสียงไว้วางใจ 284 ต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 25 เสียง ไม่ลงคะแนน 11 เสียง ส่วน พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ได้รับเสียงไว้วางใจ 284 ต่อ 182 งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 10 เสียง ทั้งนี้ เมื่อเสียงไม่ไว้วางใจไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 247 เสียง ส่งผลให้นายกฯ และรัฐมนตรีทั้งสามสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
       
        ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้แถลงขอบคุณพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรคทั้งกลุ่มมัชฌิมา(พรรคภูมิใจไทย) พรรคมาตุภูมิ และพรรครักประเทศไทย ที่ลงมติหนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า การโหวตหนุนรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้านดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณเพื่อนำไปสู่การเข้าร่วมรัฐบาลต่อไป
       
       4. เสธ.อ้าย” ร้องผู้ตรวจการฯ รัฐบาลออก พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่ชอบ ขณะที่ “พท.-นปช.” ดาหน้าแจ้ง ตร.จับแกนนำ อพส.ฐานกบฏ

นักข่าวและช่างภาพสื่อมวลชน 3 สำนัก ASTVผู้จัดการ-ทีนิวส์ และไทยพีบีเอส ถูกตำรวจที่่คุมม็อบ เสธ.อ้าย ทำร้ายและคุมขัง(24 พ.ย.-ภาพจากโพสต์ทูเดย์)
       ความคืบหน้ากรณีม็อบ เสธ.อ้ายชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่ง พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ได้ประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเย็นวันเดียวกัน เนื่องจากเกรงผู้ชุมนุมจะบาดเจ็บล้มตาย หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รักษาคำมั่นสัญญา และกระทำเกินกว่าเหตุด้วยการขว้างแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมหลายครั้ง หลังผู้ชุมนุมพยายามขอให้เจ้าหน้าที่เปิดแนวกั้นเพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมชุมนุมได้ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายสิบรายนั้น
       
        ปรากฏว่า ศูนย์เอราวัณได้สรุปยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า มีจำนวนทั้งหมด 68 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่พยายามฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปร่วมชุมนุม 138 ราย โดยอ้างว่ากระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.มั่นคงฯ
       
        ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กรณีเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้ประดับยศให้ ได้ออกมาพูดปกป้องรัฐบาลและชื่นชมการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้แก๊สน้ำตากับม็อบ เสธ.อ้ายว่า นับเป็นประวัติศาสตร์ของตำรวจที่สามารถหยุดการปลุกเร้าเพื่อล้มล้างรัฐบาลให้อยู่ในความสงบโดยไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนการบาดเจ็บเป็นเรื่องธรรมดา และว่า การกระทำของตำรวจครั้งนี้ได้รับการสรรเสริญจากประชาชนส่วนใหญ่ อาจจะมีพวกส่วนน้อยด่าทอ ก็อย่ากังวล เราทำเพื่อรักษารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย จะปล่อยให้พวกที่เอากฎหมู่นำคนเพียงไม่กี่คนมาล้มล้างการปกครองไม่ได้ ตนไม่กลับกฎหมู่ พร้อมรับผิดชอบแทนลูกน้องทุกคน...
       
       ขณะที่นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช.ก็ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ดุสิต ให้ดำเนินคดี พล.อ.บุญเลิศ พร้อมแกนนำคนอื่นๆ ของ อพส.เช่น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ,พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ,นายแก้วสรร อติโพธิ ,ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โดยอ้างว่ามีความผิดฐานกบฏและซ่องโจร ตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ
       
        ด้าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.) ได้นำทีมแกนนำ อพส.แถลงข่าว(26 พ.ย.) โดยยืนยันอีกครั้งว่า เหตุที่ประกาศยุติชุมนุมเพราะตำรวจทำผิดสัญญาที่ระบุไว้ โดยสกัดกั้นผู้ชุมนุม และขว้างแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่แจ้งก่อน หากสู้ต่อไป จะมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเพิ่มอีก พล.อ.บุญเลิศ ยังปฏิเสธกรณีที่มีข่าวว่าตนรับเงินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้ยุติการชุมนุมด้วยว่า ไม่จริง พร้อมเผยด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณเคยเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ตนสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งตนก็ได้ปฏิเสธไป
       
        ทั้งนี้ พล.อ.บุญเลิศ บอกด้วยว่า ตนจะยังอยู่ในตำแหน่งประธาน อพส.ต่อไป เพราะได้ตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม และจะยุติบทบาทเมื่อภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลัง พล.อ.บุญเลิศได้ออกมาพูดใหม่เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ว่า “ไม่ขอเป็นแกนนำแล้ว ส่วนใครจะขึ้นมาแทนยังไม่ทราบ อาจจะเป็น พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ หรือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็ได้ แต่หากประชาชนเรียกร้องให้ตนเป็นผู้นำในการชุมนุมครั้งต่อไป ก็พร้อมรับหน้าที่ต่อ”
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า มีสื่อมวลชนหลายรายที่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คุมม็อบ เสธ.อ้าย เข้าแจ้งความดำเนินคดีตำรวจแล้ว ประกอบด้วย นายสันติ เต๊ะ เปีย ช่างภาพหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ ,นายทศฤทธิ์ วัฒนราษฎร ช่างภาพสำนักข่าวทีนิวส์ และนายพัฒนศักดิ์ วรเดช ช่างภาพสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีตำรวจที่ทำร้ายร่างกายและจับกุมคุมขังขณะปฏิบัติหน้าที่บันทึกภาพการชุมนุมของ อพส.และกรณีที่ตำรวจกระทำรุนแรงต่อกุมผู้ชุมนุม
       
        ทั้งนี้ นายสันติ เล่าว่า วันเกิดเหตุ หลังจากตำรวจปะทะกับผู้ชุมนุมในช่วงเช้า จากนั้นตำรวจได้จับผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งมารวมไว้ใกล้กับที่ตนนั่งพักอยู่กับเพื่อนช่างภาพอีก 2 คน ต่อมาเห็นตำรวจนายหนึ่งเดินเข้ามาเตะเสยปลายคางผู้ชุมนุมคนหนึ่ง แล้วหันมาเห็นกลุ่มพวกตน ตำรวจนายนั้นอาจเกิดความกลัวว่าพวกตนบันทึกภาพดังกล่าวไว้ จึงเดินมาล็อกคอตนแล้วกดหัวลงทั้งๆ ที่ตนพยายามแสดงบัตรสื่อมวลชนและปลอกแขนสีเหลืองแล้ว แต่ตำรวจนายนั้นก็ไม่สนใจ จับตนกับเพื่อนช่างภาพรวม 3 คน ขึ้นไปขังไว้บนรถตากแดดกว่า 1 ชั่วโมง โดยตนได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้ายเป็นรอยช้ำเขียวจากการป้องกันตัวที่โดนเจ้าหนาที่ตำรวจล็อกคอลากไปกักขัง
       
        ขณะที่องค์การพิทักษ์สยาม ได้นำผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาและการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ บิดเบือนข้อเท็จจริงและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังใช้กำลังและแก๊สน้ำตาทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม ตลอดจนจับกุมผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนไปสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดขวางไม่ให้รถพยาบาลเข้าไปในพื้นที่เพื่อปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เตรียมตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายรัฐบาล-ตำรวจ-ผู้ชุมนุม-สื่อมวลชน เข้าชี้แจงในวันที่ 7 ธ.ค.นี้
       
        ขณะที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ของรัฐบาล และการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งยังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 ธันวาคม 2555