ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อมหา'ลัยไทย(เกือบ)ตกเวทีโลก!!  (อ่าน 1023 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
เมื่อมหา'ลัยไทย(เกือบ)ตกเวทีโลก!!
« เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2012, 18:57:44 »
ฮือฮา!! ไปทั้งแวดวงอุดมศึกษาไทย หลังผลการจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกของ Times Higher Education World Rankings ปี 2512-2513 มีมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ใน 400 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก

แต่ที่ยิ่งสร้างความฮือฮามากไปกว่านั้น เพราะเป็นมหาวิทยาลัยไทยที่ยังไม่เคยติดในอันดับโลกมาก่อน ซึ่งก็คือ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)"ติดอยู่ในกลุ่ม 351-400

เมื่อไปไปไล่เรียงลำดับคะแนนของมหาวิทยาลัยที่ติดอยู่ในกลุ่มนี้แล้ว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจะติดอยู่ในอันดับที่ 389

สำหรับมหาวิทยาลัยที่ติดอยู่ในอันดับที่ 1-5 ของโลกจากการจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings ในปีนี้ ได้แก่ อันดับที่ 1 California Institute of Technology อันดับที่ 2 Oxford University อันดับที่ 3 Stanford University อันดับที่ 4 Harvard University และอันดับที่ 5 Massachusetts Institute of Technology (MIT)

ส่วนมหาวิทยาลัยในเอเชียที่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับในปีนี้ อาทิ มหาวิทยาลัยโตเกียว อันดับที่ 27, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อันดับที่ 29, มหาวิทยาลัยฮ่องกง อันดับที่ 35, มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อันดับที่ 46, Pohang U of Sci&Tech ประเทศเกาหลี อันดับที่ 50 เป็นต้น

ที่น่าสนใจ และเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งจากการจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในปีนี้ มหาวิทยาลัยชื่อดังของไทยที่เคยติดอยู่ในการจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก และการจัดอันดับ 200 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาแล้ว อย่าง "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และ "มหาวิทยาลัยมหิดล" กลับไม่ติดอยู่ใน 400 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในปีนี้ ทั้งที่การจัดอันดับเมื่อปี 2011 มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอยู่ในอันดับที่ 306 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 341 ส่วนการจัดอันดับในปี 2012 มีเพียงมหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ในกลุ่ม 351-400

แต่การจัดอันดับครั้งล่าสุด มหาวิทยาลัยมหิดลกลับหลุดออกจาก 400 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกเช่นกัน!!

ทั้งนี้ หากไปดูตัวบ่งชี้ที่ Times Higher Education World Rankings ใช้ในการจัดอันดับในปีนี้ จะมีตัวบ่งชี้หลักๆ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการเรียนการสอน สัดส่วน 30% ซึ่ง มจธ.ได้คะแนนในส่วนนี้่ 11.3 คะแนน 2.ความเป็นนานาชาติ สัดส่วน 7.5% มจธ.ได้ 23 คะแนน 3.รายได้จากภาคอุตสาหกรรม สัดส่วน 2.5% มจธ.ได้คะแนนในด้านนี้ค่อนข้างสูง 60.2 คะแนน 4.การวิจัย สัดส่วน 30% มจธ.ได้ 12 คะแนน และ 5.การเป็นแหล่งอ้างอิง สัดส่วน 30% ซึ่งด้านนี้ มจธ.ได้คะแนนสูงมาก 68.4 คะแนน และได้สูงกว่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ติดในอันดับที่ 29 และ 35

จะเห็นได้ว่าตัวบ่งชี้ถึง 3 ใน 5 เป็นเรื่องของงานวิจัยทั้งสิ้น!!

รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มจธ. "นายเชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร" บอกว่า มจธ.เข้าสู่การจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings เป็นครั้งแรก และติดอยู่ในอันดับที่ 389 สาเหตุน่าจะเป็นเพราะปริมาณงานวิจัยของ มจธ.ที่มีค่อนข้างมาก แม้จะไม่มากเท่ากับมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อย่างจุฬาฯ หรือมหาวิทยาลัยมหิดล แต่เมื่อนำจำนวนบุคลากรมาหารกับงานวิจัยที่มี จะเห็นว่า มจธ.มีจำนวนงานวิจัยมากกว่า แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนงบประมาณพัฒนางานวิจัยนั้น ถ้ารอภาครัฐอย่างเดียวคงลำบาก งบฯ ส่วนหนึ่งจึงมาจากการบริการทางวิชาการ และภาคเอกชนที่สนับสนุน ซึ่งมีจำนวน 1 ใน 3

สิ่งที่นายเชาวลิตเห็นว่าน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งจากการจัดอันดับในครั้งนี้ คือ เดิมมหาอำนาจด้านการศึกษาจะเป็นประธานในแถบยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา แต่ปีนี้กลับพบว่า มหาวิทยาลัยในแถบภูมิภาคเอเชียมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และติดอันดับโลกมากขึ้น อย่างมหาวิทยาลัยนันยางของจีน หรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ รวมถึง มจธ.แต่ที่เห็นได้ชัดคือ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ได้ทุ่มงบฯ วิจัยเพื่อพัฒนางานวิจัย และพัฒนาอุดมศึกษาอย่างมาก เหล่านี้คือ "วิสัยทัศน์" ของผู้นำประเทศ ทั้งจีน และสิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ขณะที่อธิการบดีจุฬาฯ "นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล" มองว่าที่จุฬาฯ ไม่ติด 400 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก เพราะเกณฑ์การจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings ยึดจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ และการอ้างอิงจากฐานข้อมูล ฉะนั้น มหาวิทยาลัยที่เน้นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะได้เปรียบกว่ามหาวิทยาลัยที่เน้นด้านสังคม เพราะแม้ว่างานวิจัยของจุฬาฯ จะไม่ได้ลดน้อยลง แต่จะเน้นไปทางสายศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ตรงหลักเกณฑ์การจัดอันดับ

แต่ปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นสาเหตุให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกเพียงแห่งเดียว และอาจไม่ติดอันดับโลกเลยในปีต่อๆ ไปนั้น อธิการบดีจุฬาฯ มองว่าการถูกปรับ "ลด" งบฯ สนับสนุน "มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ" 9 แห่ง ส่งผลโดยตรงต่อผลงานวิจัย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน และให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติตามเจตนารมณ์เดิมที่ตั้งไว้

สอดคล้องกับ "นพ.กำจร ตติยกวี" รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่บอกว่าการที่จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ติดอยู่ใน 400 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เนื่องจากงบฯ วิจัยถูกตัดถึง 2 ปีซ้อน จาก 2,000 ล้านบาท ในปี เหลือ 800 ล้านบาท และปีล่าสุดเหลือ 400 ล้านบาท ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยไทยหยุดอยู่กับที่ ในขณะที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกก้าวไปข้างหน้า

ประเด็นนี้ "นายสมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ฟันธงว่างบฯ วิจัยที่ถูกปรับลด ส่งผลกระทบกับมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก เพราะเมื่องบฯ ถูกปรับลดเหลือเพียง 400 ล้านบาท และต้องหารให้กับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติทั้ง 9 แห่ง แต่ละแห่งจึงเหลืองบฯ ไม่มาก ฉะนั้น หากรัฐบาลต้องให้มหาวิทยาลัยไทยติดในอันดับโลก จะต้องจริงใจ และสนับสนุนงบฯ อย่างเพียงพอ ไม่ใช่พูดแต่ปาก อย่างน้อยต้องทุ่มงบฯ ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และถ้ารัฐบาลทำได้ ก็กำหนดได้เลยว่าจะให้มหาวิทยาลัยไทยติดในอันดับโลกกี่แห่ง

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ๆ ของมหาวิทยาลัยไทยอีกอย่างคือขาดคนเก่ง เพราะไม่มีอยากเป็นอาจารย์เนื่องจากเงินเดือนน้อยมาก หากรัฐบาลยอมจ่ายเพิ่ม ก็เชื่อว่าจะดึงคนเก่งๆ เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาได้มากขึ้น

คราวนี้ลองมาฟังกูรูด้านอุดมศึกษา ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัย อดีตประธาน ทปอ.และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) อย่าง "นายภาวิช ทองโรจน์" ซึ่งได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงสาเหตุที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยเกือบจะไม่มีที่ยืนอยู่ในการจัด 400 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในครั้งนี้

 ซึ่งนายภาวิช ทองโรจน์ มองว่าโดยภาพรวมแล้ว มหาวิทยาลัยไทยอ่อนแอหลายเรื่อง อย่าง มจธ.ที่ติดอยู่ในกลุ่ม 351-400 ได้ 30.26 คะแนน ในขณะที่อันดับ 1 อย่าง California Institute of Technology ได้ 95.5 คะแนน ซึ่งคะแนนห่างกันมาก ขณะที่จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยติดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ปีนี้กลับไม่ติด แสดงว่าจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยมหิดลได้คะแนนต่ำกว่า 30 คะแนน จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยยังอ่อนแอในหลายๆ ตัวบ่งชี้

ส่วนที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระบุว่างบฯ วิจัยน้อย เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยไทยหลุดจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกนั้น อดีตเลขาธิการ กกอ.บอกว่า จะเห็นว่าตัวบ่งชี้ 3 ใน 5 เป็นเรื่องของงานวิจัยทั้งสิ้น ฉะนั้น มหาวิทยาลัยที่จะติดอยู่ในการจัดอันดับได้ จึงต้องเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย" และประเทศไทยก็มีมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง แต่ถูก "แช่เย็น" เอาไว้

และจากการวิเคราะห์งบประมาณด้านการศึกษาอย่างเจาะลึกเทียบกับประเทศอื่นๆ ยังพบว่างบประมาณด้านการอุดมศึกษาของไทยน้อยมาก อย่างงบประมาณด้านอุดมศึกษาของไทยในปีงบประมาณ 2556 ได้รับเงินอุดหนุนเพียง 88,714 ล้านบาท แต่ต้องดูแลมหาวิทยาลัย 79 แห่ง และวิทยาลัยชุมชนอีก 20 แห่ง เมื่อเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรให้มหาวิทยาลัยเพียง 4 แห่ง สูงถึง 65,000 ล้านบาท ส่วนรัฐบาลมาเลเซียจัดงบประมาณอุดหนุนมหาวิทยาลัย 20 แห่ง วงเงิน 120,000 ล้านบาท หรือแม้แต่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่อุดหนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัย 8 แห่ง 65,000 ล้านบาท

"เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยไทยได้รับงบประมาณน้อยมาก ทำให้ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยเป็นโรคขาดสารอาหารมาก มหาวิทยาลัยต้องหากินกันเอง 10 ปีที่ผ่านมา กิจกรรม และความสนใจของคนในมหาวิทยาลัย มุ่งแต่จัดการเรียนการสอน หาเงินเข้ามหาวิทยาลัย จัดการศึกษาในแนวราบ ขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนของโลกมีนักศึกษาปริญญาตรี-เอก เฉลี่ย 12,000-15,000 คน มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด 20,000 คน มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน 7,000 คน แต่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ของไทยมีนักศึกษา 30,000 คนขึ้นไป แถมยังเน้นปริญญาตรีมากกว่าปริญญาโท และเอก ซึ่งเป็นการทำงานเชิงปริมาณ ไม่ใช่เชิงคุณภาพ ฉะนั้น ไม่อยากให้สำนักงบประมาณคิดว่าให้มหาวิทยาลัยไทยปั๊มเงินเอง เพราะเป็นความคิดที่ผิด และลดคุณภาพการศึกษาเข้าไปใหญ่"อดีตเลขาธิการ กกอ.กล่าว

ในยุคที่โลกไร้พรมแดน และประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ "มหาวิทยาลัย" ซึ่งเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ ของประเทศ ยังคง "ย่ำ" อยู่กับที่...

ฉะนั้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวไปอยู่แถวหน้า และกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ในที่สุด อุดมศึกษาไทยคงต้อง "ปฏิวัติ" ตัวเองครั้งใหญ่ หันมาผลิตงานวิจัย และองค์ความรู้ใหม่ๆ ออกมา

ที่สำคัญ ถึงเวลาแล้ว ที่ "รัฐบาล" จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับแหล่งผลิตองค์ความรู้ และงานวิจัยของประเทศ ที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัย" โดยส่งเสริม สนับสนุน และทุ่มงบประมาณเพื่อให้มหาวิทยาลัยไทย ไป "ผงาด" อยู่บนเวทีโลกให้ได้...

ก่อนที่มหาวิทยาลัยไทยจะ "ตก" จากเวทีโลก แบบกู่ไม่กลับ!!

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2012 เวลา 09:35 น.เขียนโดย isranews