ผู้เขียน หัวข้อ: จงกินด้วยปัญญา อย่ากินด้วยตัณหา" วรรคทองก่อนอำลาอาลัย  (อ่าน 1111 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สํานวนข้างต้นนี้ทะลวงใจผู้คนที่มีหัวใจบริโภคนิยมได้ดีนักดีหนา ท่านอาจารย์ รศ.พญ.จิรพรรณ มัธยมจันทร์ มักใช้เป็นประโยคนำหน้าในการบรรยายของท่านแก่หลายๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เชิญอาจารย์และผมไปบรรยายความรู้ธรรมชาติบำบัด

ผมมักจะบอกกับทุกองค์กรที่เชิญมาว่า สุขภาพแนวธรรมชาติบำบัดนั้น เป็นมีมุมมองแบบองค์รวม จึงจำเป็นอยู่เองที่นอกจากผู้ฟังควรรู้เรื่องที่ว่า ควรจะกินอะไร ไม่ควรกินอะไร ตามแนวธรรมชาติบำบัดแล้ว ผู้ฟังต้องมีใจหนักแน่นในการปรับชีวิตเปลี่ยนอาหาร หลังจากได้ความรู้เหล่านี้ไป

ซึ่งแน่ๆ ว่าแนวทางรักษาสุขภาพนั้น คนเราจะกินอะไรตามใจปากไม่ได้ ด้วยเหตุฉะนี้สิ่งที่ผู้ฟังจะต้องปรับตัวมีอีกสองขั้นตอนก็คือ

ประการที่หนึ่ง ต้องเรียนรู้ว่าจะปรุงอาหารสุขภาพอย่างไรให้อร่อย เริ่มจากจ่ายตลาดให้เป็นเพื่อจะเลือกได้ของที่สด ที่ดี สามารถปรุงอาหารให้อร่อยได้ โดยไม่ต้องใช้ผงชูรส

ประการที่สอง จะทำใจอย่างไรที่จะเปลี่ยนนิสัยการกินการอยู่ นั่นแปลว่าต้องต่อสู้กับกิเลสตัณหาในการกินพอสมควร ผู้ฟังอาจถึงกับต้องใช้ธรรมะมาชี้นำสุขภาพด้วย

เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์ทั้งสองประการนี้ วิทยากรอีกท่านหนึ่งที่ควรจะเรียนเชิญไปร่วมบรรยายสุขภาพในแนวธรรมชาติบำบัดของเรา ก็คือ รศ.พญ.จิรพรรณ มัธยมจันทร์ ซึ่งท่านจะบรรยายครอบคลุมทั้งสองหัวข้อนี้ได้ โดยใช้หัวข้อบรรยายว่า "ธรรมะกับสุขภาพ"

และด้วยเหตุนี้ สำนวนที่ว่า "จงกินด้วยปัญญา อย่ากินด้วยตัณหา" จึงกลายเป็นวรรคทองของอาจารย์จิรพรรณที่ผู้ฟังทั้งหลายติดอกติดใจ และสามารถเป็นแรงเสริมให้ผู้คนเหล่านี้ปรับชีวิตเปลี่ยนอาหารตามแนวธรรมชาติบำบัดอย่างได้ผล

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคอร์สธรรมชาติบำบัดที่เราพาผู้ป่วยปฏิบัติตน เน้นการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดด้วยแล้ว อาจารย์จิรพรรณคือพลังหนุนส่งให้กับทุกๆ ความสำเร็จของคอร์สล้างพิษทำให้ผู้คนหายอ้วน ลดไขมันเลือด รักษาเบาหวาน หรือต้านมะเร็ง

ท่านได้กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของการแพทย์แนวธรรมชาติบำบัดที่ใช้เวลากว่า 30 ปี ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในประเทศไทย

ครับ นี่คือคุณูปการอันเหลือล้นของ อาจารย์จิรพรรณ มัธยมจันทร์ ที่มีต่อวงการแพทย์ทางเลือกในบ้านเรา ท่านเพิ่งจะล่วงลับไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 นี้ ภายหลังที่นอนโคม่าอยู่ที่ รพ.รามาธิบดีอยู่เป็นเวลา 2 ปี

แท้ที่จริงอาจารย์จิรพรรณโดยวิชาชีพแล้วท่านเป็นแพทย์แบบแผนเต็มร้อย

ท่านเป็นแพทย์วิสัญญีรุ่นอาวุโสของเมืองไทย ได้รับการเชื้อเชิญจากอาจารย์แพทย์อาวุโสอีกหลายท่านให้ร่วมกันก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เนื่องจากความรู้วิสัญญีที่เกี่ยวข้องอยู่กับท่อส่งต่างๆ บทบาทของท่านอยู่ที่การบริหารจัดการระบบของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ไม่เฉพาะส่งแก๊สสลบเท่านั้น แต่รวมไปถึงอากาศดี อากาศเสีย แล้วเลยไปเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟของ รพ.ทั่วทั้งหมด

ด้วยประสบการณ์เช่นนี้ทำให้ท่านได้รับเชิญให้วางระบบเหล่านี้ให้กับโรงพยาบาลเอกชนรุ่นแรกๆ อีกหลายโรงพยาบาล

เมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นยุคสมัยของการกระจายแพทย์ สิ่งที่เผชิญอยู่ก็คือ เมื่อแพทย์ลงไปอยู่ รพ.จังหวัด และอำเภอ แพทย์เหล่านั้นจะผ่าตัดได้อย่างไร ถ้าไม่มีใครดมยาสลบให้ เนื่องจากการผลิตแพทย์วิสัญญีต้องใช้เวลายาวนาน อาจารย์จิรพรรณจึงคิดบุกเบิกในการผลิตวิสัญญีพยาบาลออกมาเพื่อสนองรับนโยบายกระจายแพทย์ในเวลานั้น

ผลสำเร็จของงานนี้ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแพทย์ใน รพ.จังหวัด และอำเภอรอบนอกเด่นชัดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ด้วยความที่อาจารย์เอาจริงเอาจังในการงานมาก และเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดุมากด้วย ท่านเองก็รู้ตัว เพราะท่านเคยช็อกเพราะเลือดออกจากกระเพาะเพราะความเครียดในการงาน

ครั้งนั้นท่านถึงกับประสบกับภาวะฟื้นตัวหลังความตายมาอย่างหวุดหวิด

จากนั้นเป็นต้นมาท่านจึงหันเข้าหาธรรมะ ท่านเข้าวัดปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อพุทธทาสอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นแพทย์ผู้สามารถถ่ายทอดธรรมะของอาจารย์พุทธทาสไปสู่ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นแพทย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า

และด้วยการใฝ่ใจในธรรมะกระมังที่ทำให้ท่านคลายอัตตาในความเป็นแพทย์แบบแผนซึ่งมักจะยึดมั่นในวิชาการตามตะวันตกอย่างเหนียวแน่นลง กลายเป็นทัศนะที่มีต่อสิ่งต่างๆ ในหนทางสายกลาง พิจารณาสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง

ด้วยเหตุฉะนี้เมื่อท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีและทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ต่อเนื่องถึง 7 ปี ผลงานโดดเด่นของท่านต่อวงการสุขภาพในระดับกว้างก็คือ การตัดผงชูรสออกจากการปรุงอาหารของ รพ.รามาธิบดี

"ก็ฉันต้องดูงบฯ ของ รพ. แล้วก็จะเห็นว่าแต่ละปี รพ. ต้องเสียงบฯ หลายล้านบาท เพื่อซื้อผงชูรสมาปรุงอาหารให้ผู้ป่วยกิน ซื้อสารเคมีเข้ามาแท้ๆ โดยที่มันไม่มีคุณค่าทางอาหารแม้แต่นิดเดียว ฉันก็เลยศึกษาผลดีผลเสียของผงชูรสแล้วก็เห็นว่า มันมีผลร้ายมากกว่าผลดีต่อผู้ป่วย" อาจารย์จิรพรรณกล่าว

ท่านจึงใช้เวลารณรงค์ให้ความรู้แก่บุคลากรใน รพ. ทุกระดับชั้น รวมทั้งบรรดาแม่ครัวด้วย กินเวลาหลายเดือนจนสถานการณ์สุกงอม ชาวรามาธิบดีต่างเห็นพ้องต้องกันแล้ว ท่านจึงมีคำสั่งงดซื้อผงชูรส

ด้วยเหตุนี้ รพ.รามาธิบดีจึงกลายเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่ตัดผงชูรสออกไป ประหยัดทั้งงบประมาณรัฐ ประหยัดทั้งสุขภาพผู้ป่วย

ผมเองเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์จิรพรรณตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ที่รามาธิบดี เรียนจบแล้วก็ไม่ได้พบท่านกว่าสิบปี จนกระทั่งได้ข่าวผ่านเพื่อนแพทย์ที่รามาธิบดีว่า ท่านอยากพบผมและหมอลลิตาเนื่องจากทราบมาว่าเราจัดทัวร์ล้างพิษ เอาผู้คนไปอดอาหารพร้อมกับฝึกไท้เก็ก เต้นแอโรบิกในน้ำ

ท่านเองมีพี่สาวและน้องสาวที่สนใจสุขภาพ อยากแนะนำพี่น้องของท่านไปทัวร์สุขภาพกับเรา

ผมได้ข่าวของอาจารย์ก็ดีใจ เพราะจำได้ว่าตอนที่จบแพทย์แล้วไปอินเทิร์นที่โคราช พวกเราเคยเรียนเชิญอาจารย์ไปช่วยแนะนำการจัดระบบรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินของ รพ.โคราช

ตอนที่ท่านไปแนะนำพวกเรา ท่านเปลี่ยนเป็นอาจารย์ผู้ใจดี ปฏิบัติกับพวกเราเหมือนพวกเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ใช่นักเรียนแพทย์ที่ต้องถูกเข้มงวดเหมือนตอนกำลังเรียน

ด้วยเหตุนี้ถ้าอาจารย์ให้ความสนใจกับทัวร์สุขภาพ ก็น่าที่เราจะได้เรียนเชิญอาจารย์เป็นวิทยากรในด้าน "ธรรมะกับสุขภาพ" และแนะนำสมาชิกของเราให้ปฏิบัติสมาธิในทัวร์ด้วย

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเราได้รับเกียรติจากอาจารย์ช่วยเราในเรื่องดังกล่าว และกรุณาเป็นที่ปรึกษาให้กับงานในศูนย์ธรรมชาติบำบัดในเวลาต่อมา สืบเนื่องอยู่สิบกว่าปีนับแต่นั้น

เมื่อเราได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของอาจารย์จิรพรรณ จึงพบว่า อาจารย์นอกจากวิชาแพทย์กับเรื่องธรรมะแล้ว สิ่งที่อาจารย์เชี่ยวชาญคู่ขนานกันมาตลอดชีวิตของอาจารย์ก็คือการครัว

เนื่องด้วยท่านมีเมตตาเป็นที่ตั้ง ท่านมองเห็นว่าผู้ป่วยหลายๆ โรคที่ต้องปรับชีวิตเปลี่ยนอาหารนั้นที่ต้องใช้ความพยายามไม่น้อย

ท่านจึงคิดประดิษฐ์เมนูอาหารใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมนูอาหารต้านมะเร็ง เพื่อให้ผู้ป่วยกินอร่อยและรักษาโรคไปได้พร้อมกัน

ท่านได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เช่น ทำกินด้วยปัญญา (1) และ (2) กับอีกเล่มชื่อ 200 จานต้านมะเร็ง เป็นตำราคู่ครัวของผู้ป่วยมะเร็งจนถึงปัจจุบันนี้

ต่อมาเมื่อสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศมาถึง รัฐบาลลอยค่าเงินบาท อาจารย์ นพ.เฉก ธนะสิริ มีดำริที่จะก่อตั้งชมรมอยู่ร้อยปี ชีวีเป็นสุข อาจารย์จิรพรรณก็เป็นแพทย์อาวุโสผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งชมรมอยู่ร้อยปีฯ และมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้คนไทยกินข้าวกล้อง

ส่งอิทธิพลด้านกว้างต่อสุขภาพของคนไทยจนถึงปัจจุบัน

ต่อชีวิตและความตายอาจารย์จิรพรรณท่านเห็นผู้ป่วยโคม่าถูกทรมานกับเครื่องช่วยหายใจอยู่เป็นปีๆ มานักต่อนัก จึงพูดกับผมว่า "ถ้าถึงวันนั้นของฉันละก็ เธออย่าให้ใครมาเจาะคอ ใส่เครื่องช่วยหายใจให้ฉันเลยนะ ปล่อยฉันตายไปอย่างธรรมชาติ ดีกว่าถูกทรมานกับเครื่องช่วยหายใจ ...แฉ่...แต๊ก...แฉ่...แต๊ก"

แต่แล้ววันหนึ่งอาจารย์ก็เกิดหมดสติไป เมื่อไปถึง รพ. ก็พบว่าในสมองมีเส้นเลือดผิดปกติที่ออกเลือด แพทย์จึงทำการผ่าตัด หลังผ่าตัดอาจารย์ยังโคม่าอยู่ และแล้วกระบวนการรักษาแบบยื้อชีวิตอย่างถึงที่สุดก็เคลื่อนตัวไปตามระบบการแพทย์แบบแผน เป็นผลให้อาจารย์ต้องโคม่าอยู่กับเครื่องช่วยหายใจอย่างไร้จุดหมายปลายทางซึ่งขัดกับเจตจำนงของอาจารย์อย่างยิ่ง แต่ไม่มีใครจะทำอะไรได้

ท่านอยู่กับอย่างนั้นเป็นเวลาถึง 2 ปีเต็ม ไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นบุญหรือกรรมใดๆ ของอาจารย์

การณ์เป็นอยู่เช่นนั้นจนถึงเช้าวันที่ 5 เมษายนนี้เองอาจารย์ก็เสียชีวิตในที่สุด นำความโล่งอกมาสู่ทุกคน

เราได้แต่คิดว่าอาจารย์เป็นครูจนถึงวินาทีสุดท้าย

ท่านสอนให้จำ ทำให้ดู และอยู่ให้เห็น ท่านสอนบทเรียนด้านกลับว่าด้วย การแพทย์ยื้อชีวิต ว่าสมควรกระทำไปถึงขั้นไหนในวงการแพทย์ปัจจุบัน


นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
มติชนออนไลน์  22 เมษายน พ.ศ. 2555