ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 มี.ค.-2 เม.ย.2559  (อ่าน 703 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9810
    • ดูรายละเอียด
1.กรธ. ส่งมอบ รธน.ร่างสุดท้ายให้ ครม.-สนช.-สปท.แล้ว ก่อนลงประชามติ 7 ส.ค. ด้าน พท. รีบออกแถลงการณ์ชวน ปชช.ไม่รับร่าง รธน.!

        เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งเป็นกำหนดที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)-สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เพื่อนำไปสู่กระบวนการทำประชามติต่อไป โดยก่อนจะมีการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาล นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้แถลงสรุปสาระสำคัญของร่างฯ ดังกล่าวในเวลา 13.39 น. ว่า สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ กรธ.จะไม่ได้พูดว่า ประชาชนหรือพลเมืองเป็นใหญ่ แต่ได้มุ่งสร้างความทัดเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับความคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพในส่วนสำคัญๆ ได้ยึดหลักของพุทธทาส ภิกขุ ที่ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่การให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประโยชน์ของประชาชนจึงเป็นใหญ่” กรธ.จึงมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 279 มาตรา
      
        โดยเฉพาะด้านสิทธิและเสรีภาพนั้น หากเรื่องใดที่มีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับสิทธิเสรีภาพแล้วจะเกิดความวัฒนาผาสุก หรือสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐได้ กรธ.ก็กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เพื่อประชาชนจะได้ไม่ออกมาเรียกร้อง ขณะที่ด้านการเมือง มุ่งให้ประชาชนมีส่วนในการรับรู้และใช้สิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วิธีการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว การบังคับให้พรรคการเมืองต้องเปิด 3 รายชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง
      
        ส่วนด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรธ.ก็ได้เข้มงวดขึ้น โดยกำหนดลักษณะต้องห้ามเพื่อป้องกันมิให้คนที่เคยกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริตเลือกตั้งเข้ามาสู่วงการเมืองได้อีกตลอดไป พร้อมกำหนดจริยธรรมกำกับไว้ด้วยว่า หากใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะต้องพ้นจากตำแหน่งและอาจจะกลับมาสู่การเมืองอีกไม่ได้ ขณะเดียวกันยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตในทุกรูปแบบ สำหรับการปฏิรูป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้ กรธ.ได้แยกออกเป็น 1 หมวดตามข้อเสนอแนะของ สปท. สนช.และ ครม. โดยแบ่งเป็น 7 ด้าน คือ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และอื่นๆ
      
        ส่วนที่เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ให้มี ส.ว.จากการสรรหา 250 คน ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย มีหน้าที่ดูแลกฎหมายที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งทำหน้าที่ติดตามทวงถามเกี่ยวกับการปฏิรูปด้วย
      
        นายมีชัย กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ กรธ.จะทำคำชี้แจงเนื้อหาสรุปเป็นเล่ม เพื่อส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไปแจกจ่ายประชาชนอย่างทั่วถึงภายใน 15 วัน และระหว่างนี้จนถึงก่อนวันลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. กรธ.จะเริ่มทยอยไปชี้แจงรายละเอียดสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบ เพื่อตัดสินใจลงประชามติ
      
       วันต่อมา(30 มี.ค.) ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง กรธ.-สนช.-สปท. รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อรับฟังการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญจาก กรธ. โดยนายมีชัย ย้ำว่า การให้มี ส.ว.สรรหา 250 คนตามคำร้องของ คสช. ครม.นั้น อำนาจของ ส.ว.สรรหา ไม่ได้ก้าวล่วงการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ กรธ.ได้ปรับลดวาระการทำงานของ สปท.ลง จากเดิม 1 ปี เหลือ 120 วัน หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ นายมีชัยยังได้ขอโทษที่ไม่ได้บอกให้สมาชิก สปท.ทราบก่อนถึงการลดวาระของ สปท.
      
        วันเดียวกัน(30 มี.ค.) พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอ้างว่า เป็นร่างฯ ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เป็นร่างฯ ที่จะสร้างปัญหาให้ประเทศมากยิ่งขึ้น โดยมีการสร้างระบบการเลือกตั้งที่ไม่เคยมีใช้ที่ใดในโลก ประชาชนถูกบังคับให้เลือกทั้งคนทั้งพรรคด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว นำคะแนนของผู้แพ้การเลือกตั้ง มาคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้พรรคแพ้เลือกตั้ง ซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตย และจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลไร้เสถียรภาพ วางกลไกเพื่อเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกฯ
      
       แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ยังขอให้ประชาชนร่วมกันลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย เพราะไม่ยอมรับอำนาจประชาชนและขาดความเป็นประชาธิปไตย พร้อมเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยกำหนดว่า “หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาปรับแก้และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว” และ “จัดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 6 เดือน” หลังจากนั้น “ให้รัฐบาลจัดให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
      
       ทั้งนี้ หลายฝ่ายสงสัยว่า แถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะเป็นการแสดงความเห็นพร้อมเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายจะผิดกฎหมายหรือไม่ ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน หากมีการร้องเรียนเข้ามา ก็เป็นเรื่องที่ กกต.ทั้งหมดจะต้องพิจารณาร่วมกัน
      
       ขณะที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวถึงข้อสงสัยการรณรงค์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้หรือไม่ว่า สิ่งใดขัดต่อกฎหมายก็ไม่ควรทำ ถ้าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ไม่ควรไปชักจูงใจให้ใครคิดตาม เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจน
      
       ส่วนท่าทีของฝ่ายต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่าพอใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า พอใจในส่วนหนึ่งที่เขาสามารถดำเนินการแก้ปัญหาในความเป็นประชาธิปไตยที่เคยผิดพลาด หรือบางอย่างที่มีเรื่องการทุจริต ผิดกฎหมาย หรือการเข้ามาสู่การเมืองโดยไม่มีธรรมาภิบาล กรธ.เขียนมา ซึ่งตนก็โอเค ถึงแม้จะไม่ตรงใจมากก็ตาม
      
       ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้คุยถึงท่าทีที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้สมาชิกพรรคแต่ละคนไปศึกษาว่ามีปัญหามาตราไหน และมาตราไหนเป็นมาตราที่ดี คิดว่าในวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดพรรค อาจจะมีข้อสรุปออกมา
      
       สำหรับประเด็นการตั้งคำถามพ่วงไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ได้มีการประชุม สปท.เพื่อพิจารณาว่าจะส่งคำถามให้ สนช.หรือไม่ ถ้าส่ง จะถามว่าอะไร ปรากฏว่า ที่ประชุมมีการเสนอคำถาม 2 คำถาม โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เสนอให้ถามว่า หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ และมีรัฐบาลใหม่ ให้มีคณะกรรมการปรองดองเพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือไม่ ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ เสนอให้ถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นแล้ว ได้มีมติให้เสนอคำถามไปยัง สนช.เพียงคำถามเดียว จากนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ ได้ขอถอนญัตติคำถามที่ตนเสนอ จึงเหลือคำถามของนายวันชัยเพียงคำถามเดียว ก่อนที่ประชุมจะลงมติเห็นชอบให้เสนอคำถามของนายวันชัยไปยัง สนช.ด้วยคะแนน 136 ต่อ 3 งดออกเสียง 12 เสียง พร้อมแนบความเห็นของนายคำนูณ สิทธิสมาน ที่อยากให้ยกเว้นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเท่านั้น
      
       2. ดีเอสไอ ออกหมายเรียก “ธัมมชโย-น.ส.ศศิธร” รับทราบข้อหาสมคบกันฟอกเงิน-รับของโจร กรณีรับเช็คจาก “ศุภชัย” ยักยอกสหกรณ์ฯ คลองจั่น 8 เม.ย.นี้!

        เมื่อวันที่ 29 มี.ค. มีรายงานข่าวว่า พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ลงนามคำสั่งออกหมายเรียกพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ให้เข้ารับทราบข้อหาในฐานะผู้ต้องหากระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น. หลังจากสอบสวนพบว่า พระธัมมชโยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ยักยอกเงินของสหกรณ์ฯ กว่า 16,000 ล้านบาท
      
       วันต่อมา(30 มี.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงการออกหมายเรียกพระธัมมชโยว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น เข้าร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ เพื่อให้เอาผิดผู้รับเช็ค 878 ฉบับจากนายศุภชัย รวมถึงวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย และพระเครือข่าย ซึ่งพนักงานสอบสวนตรวจสอบแผนผังเส้นทางการเงินของสหกรณ์ฯ คลองจั่นแล้ว พบข้อเท็จจริงว่า พระธัมมชโยมีการรับเช็คจากนายศุภชัย จึงมีมติให้ออกหมายเรียกพระธัมมชโย ซึ่งเป็นผู้รับเช็คโดยไม่มีมูลหนี้จำนวนหลายฉบับ มูลค่า 12,160 ล้านบาทจากนายศุภชัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้ออกหมายเรียก น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ ด้วย หลังพบมีสลักชื่อหลังเช็คกว่า 100 ล้านบาท ที่โอนให้พระธัมมชโย โดยมีความผิดฐานช่วยปกปิดซ่อนเร้นอำพราง ทั้งนี้ มีรายงานว่า น.ส.ศศิธร ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ก่อนหน้าที่ดีเอสไอจะออกหมายเรียก
      
       หลังดีเอสไอออกหมายเรียกพระธัมมชโย ปรากฏว่า วัดพระธรรมกายได้เปิดแถลงทันทีเมื่อวันที่ 30 มี.ค. โดยพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย แถลงยืนยันในความบริสุทธิ์ของพระธัมมชโย และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอชี้แจงว่า วัดพระธรรมกายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกรณียักยอกเงินดังกล่าว โดยบอก เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นทางวัดได้สอบถามนายศุภชัยว่าเงินที่นำมาทำบุญมาจากไหน ได้รับคำตอบว่ากู้ยืมมาจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น และได้คืนแล้ว โดยมีหลักฐานการตรวจสอบบัญชีประจำปีและรายงานต่อที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ฯ
      
       พระสนิทวงศ์ ยังชี้แจงเหตุผลที่วัดพระธรรมกายคืนเงินบริจาคจำนวน 684 ล้านบาทให้แก่สหกรณ์ฯ คลองจั่นด้วยว่า ทางวัดได้รับบริจาคโดยเปิดเผยและสุจริต และนำเงินบริจาคไปสร้างศาสนสถานตามเจตนาของผู้บริจาคหมดแล้ว จึงไม่สามารถนำเงินของผู้บริจาครายอื่นในวัตถุประสงค์อื่นมาคืนให้แก่สหกรณ์ฯ ได้ เมื่อเกิดเป็นคดีความขึ้น ทางคณะศิษย์ของวัดพระธรรมกายเห็นว่าหากมีการต่อสู้คดีกันต่อไปจะกินเวลานาน และเกิดความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียงของวัด และต่อประชาชนผู้ฝากเงินที่เดือดร้อน จึงได้ตั้งกองทุนรวบรวมเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิกผู้ฝากเงินสหกรณ์ฯ
      
       ส่วนที่มีข่าวว่าทางวัดมีปัญหากับทางสหกรณ์ฯ นั้น ขอชี้แจงว่าทางสหกรณ์ฯ ได้มีหนังสือขอบคุณมายังคณะศิษย์วัดพระธรรมกายที่มีน้ำใจตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาแก่ทางสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่เดือดร้อนครบจำนวน ทั้งที่ตามกฎหมายเมื่อเป็นการรับบริจาคโดยเปิดเผยและสุจริต และนำเงินไปก่อสร้างศาสนสถานซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะตามเจตนาของผู้บริจาคแล้ว ถือเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย
      
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ทีมโฆษกดีเอสไอ ได้แถลงถึงการออกหมายเรียกพระธัมมชโยว่า ตามที่ดีเอสไอมีการสอบสวนดำเนินคดีต่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวกในความผิดเรื่องยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน มูลค่าความเสียหายกว่า 16,000 ล้านบาท ต่อมาพนักงานอัยการมีคำแนะนำให้ดีเอสไอพิจารณาดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่ได้รับเงินที่ถูกยักยอกไปจากสหกรณ์ฯ ต่อมามีผู้เสียหายจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีกับผู้ที่รับเช็คสหกรณ์ฯ โดยไม่มีมูลหนี้และได้รับเป็นคดีพิเศษ โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีมาระยะหนึ่ง จนเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมประชุมกับพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาพยานหลักฐาน
      
        ทั้งนี้ ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ทางคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอจะแจ้งข้อหาต่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร, พระธัมมชโย และ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร จึงได้มีมติร่วมกันให้ออกหมายเรียกพระธัมมชโย และ น.ส.ศศิธร ในฐานะผู้ต้องหา พร้อมกำหนดวันให้มารับทราบข้อกล่าวหาและให้ถ้อยคำที่สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
      
        ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ยืนยันว่า จากการตรวจสอบคดีดังกล่าว มีหลักฐานและพยานชัดเจนเพียงพอแล้ว เหลือเพียงการเรียกพระธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น ซึ่งในทางคดี ผู้ต้องหาจะปฏิเสธอย่างไรก็ได้ และว่า หากผู้ต้องหาไม่มาตามกำหนดหรือมีเหตุอ้างว่าเจ็บป่วย ไม่สามารถเดินทางมารับทราบข้อกล่าวได้ ดีเอสไอจะประชุมพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งโดยทั่วไปสามารถเลื่อนได้ 1 ครั้ง
      
        ส่วนที่ทางวัดพระธรรมกายระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ได้รวมตัวระดมเงินกองทุนเยียวยาและคืนเงินให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ แล้วนั้น พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า จะต้องดูว่าพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายรับเงินจากการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งท้ายสุดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า เป็นการสมคบคิดกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร พ.ต.อ.ไพสิฐ ย้ำด้วยว่า ดีเอสไอจะดำเนินคดีกับทุกคนทุกกลุ่ม รวมถึงวัดพระธรรมกายและเครือข่ายพระลูกวัดพระธรรมกาย เนื่องจากมีความชัดเจนแล้วว่า ทั้ง 7 กลุ่มเป็นผู้รับเช็คจากนายศุภชัย โดยไม่มีมูลหนี้
      
       3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมฟ้องศาลปกครองเอาผิดบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ยักยอกภาษีประชาชน 5.2 หมื่นล้าน!

        เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กล่าวในงานสัมมนา "สัปดาห์ส่งเสริมจริยธรรม" ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ว่า ภายใน 2-3 วันนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีบริษัทขนาดใหญ่บริษัทหนึ่งที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจและมีการแปรรูปไปเป็นบริษัทเอกชน ดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง มีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส โดยเรื่องนี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้ติดตามตรวจสอบมาแล้วประมาณ 1 ปี โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และมีการรวบรวมพยานหลักฐาน "ยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ต้องการที่จะเป็นคู่กรณีกับใคร แต่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ไม่ให้มีการยักยอกเงินภาษีประชาชน ดังนั้นจึงต้องฟ้องร้องเพื่อนำเงินจำนวน 52,000 ล้านบาทคืนให้แก่ประเทศ"
      
        ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพลังงานหรือไม่ นายศรีราชากล่าวว่า ก็คงเป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผย และว่า บริษัทนี้มีหน่วยงานขนาดเล็กเป็นจำนวนมากและเข้าข่ายที่จะมีพฤติกรรมทุจริต ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป
      
       4. ครม. ผุดมาตรการ “กิน-เที่ยวสงกรานต์” ลดภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท พร้อมต่ออายุมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวอีก 1 ปี ลดหย่อนภาษีอีก 1.5 หมื่นบาท!

        เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายกินเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลา 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-17 เม.ย. 2559 คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ทางตรง 1,500 ล้านบาท แต่จะได้ภาษีทางอ้อมกลับคืนมา เนื่องจากการขอลดหย่อนภาษีต้องใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบเท่านั้น ดังนั้นมาตรการนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงแรมที่ยังไม่เข้ามาอยู่ในระบบจะเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น
      
       นอกจากนี้ ครม.ยังต่ออายุมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศออกไปอีก 1 ปี ด้วยการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ค่าโรงแรม แพคเกจทัวร์ในประเทศไม่เกิน 15,000 บาท มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2559 คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 800 ล้านบาท รวม 2 มาตรการ สูญเสียรายได้ประมาณ 2,300 ล้านบาท
      
       รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า “ผู้ที่ท่องเที่ยวในประเทศช่วงปีนี้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึง 30,000 บาท โดย 15,000 บาทแรกใช้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 9 วัน และหากมีส่วนเกินค่าที่พัก แพคเกจทัวร์ช่วงสงกรานต์ สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีก 15,000 บาท” ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่เข้า ครม.ครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างเวียนขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนมาตรการเติมเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ การให้เงินข้าราชการคนละ 1,000 บาท และแจกเงินสำหรับคนจนนั้น ยังไม่มีการเสนอไปยัง ครม.แต่อย่างใด
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9810
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 มี.ค.-2 เม.ย.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:34:59 »
5. ตำรวจตั้งข้อหาเพิ่ม “เจนภพ” ซิ่งเบนซ์ชนฟอร์ด หลังพบใช้ความเร็ว 215-257 กม./ชม. ส่วนคดีทายาทกระทิงแดง เหลือฟ้อง 2 ข้อหา หลังหมดอายุความไปแล้ว 1 ข้อหา!

        ความคืบหน้าคดีนายเจนภพ วีรพร ทายาทเลนโซ่กรุ๊ป ขับรถเบนซ์ชนท้ายรถฟอร์ด เฟียสต้า ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จนไฟลุกท่วมรถฟอร์ด ส่งผลให้นายกฤษณะ ถาวร และ น.ส.ธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย 2 นิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ได้เดินทางไปประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีที่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.พระนครศรีอยุธยา
       
        หลังประชุม พล.ต.อ.พงศพัศ แถลงว่า พนักงานสอบสวนได้สอบสวนพยานและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เกือบครบแล้ว และมั่นใจว่าพยานหลักฐานต่างๆ สามารถดำเนินคดีผู้ต้องหาได้อย่างแน่นอนภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ ส่วนผลพิสูจน์เรื่องความเร็วของรถขณะเกิดเหตุที่ตรวจได้จากกล้องหน้ารถของพยาน คำนวณตามหลักวิทยาศาสตร์ ทราบผลความเร็วที่ 215-257 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงต้องตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก คือขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของบุคคลอื่น ส่วนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท เมอร์เซเดสเบนซ์ ฮ่องกง นั้น คาดว่าจะทราบผลภายใน 1-2 สัปดาห์
       
       พล.ต.อ.พงศพัศ เผยผลสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานสอบสวน สภ.พระอินทร์ราชา ท้องที่เกิดเหตุด้วยว่า พบว่ามีความบกพร่องต่อหน้าที่ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่รับคำร้องทุกข์ทันที โดยเหตุเกิดวันที่ 13 มี.ค. แต่ไปรับคำร้องทุกข์ในวันที่ 14 มี.ค. ซึ่ง พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.ภ.จ.พระนครศรีอยุธยา จะพิจารณาโทษเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป และได้ประสานโรงพยาบาลตำรวจแล้วว่า สามารถนำเส้นผมของนายเจนภพไปตรวจพิสูจน์เพื่อหาสารเสพติดได้ รวมทั้งได้ทำหนังสือขอตัวอย่างเลือดของนายเจนภพ ที่ทางโรงพยาบาลสมิติเวชได้เจาะเลือดไว้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. เพื่อให้ทางโรงพยาบาลตำรวจตรวจพิสูจน์ด้วย นอกจากนี้ยังต้องสอบสวนด้วยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ดำเนินการกรณีที่นายเจนภพขับรถเร็วบนทางด่วน ทั้งที่มีความชัดเจนแล้ว
       
       ด้าน พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.ภ.จ.พระนครศรีอยุธยา เผยในวันต่อมา(30 มี.ค.) ถึงผลสอบข้อเท็จจริงการทำงานที่บกพร่องของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวว่า พ.ต.ท.สมศักดิ์ พลพันขาง พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี รับเรื่องราวร้องทุกข์ล่าช้า ส่วน พ.ต.อ.พงษ์พัฒน์ สุขสวัสดิ์ ผกก.สภ.พระอินทร์ราชา ในฐานะหัวหน้าสถานี และ พ.ต.อ.นิพัทธ์ แสงไพโรจน์ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่กำกับดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จึงมีความผิดด้วย ซึ่งได้ชี้แจงให้ตำรวจทั้ง 3 นายทราบผลสอบแล้ว ทั้ง 3 นายยอมรับว่าทำผิดระเบียบจริง ยอมรับการลงโทษตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เนื่องจากปัจจุบัน พ.ต.อ.นิพัทธ์ ได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ผกก.สอบสวน บก.สส.ภาค1 แล้ว เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้การพิจารณาโทษ ต้องให้ ผบช.ภาค1 เป็นผู้พิจารณาทั้ง 3 นาย ล่าสุด พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผบช.ภาค 1 ได้สั่งให้ พ.ต.อ.พงษ์พัฒน์ และ พ.ต.ท.สมศักดิ์ ไปช่วยราชการที่ ศปก.ตำรวจภูธรภาค 1 ต่ออีก 15 วัน
       
       ส่วนความคืบหน้าคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง ขับรถสปอร์ตหรูเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร หลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิต โดยลากศพไปไกลกว่า 200 เมตร เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 ซึ่งต่อมา มีข่าวว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานายวรยุทธ 4 ข้อหา คือ ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน, ขับรถขณะเมาสุรา และขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยหลังสรุปประเด็นส่งให้พนักงานอัยการแล้ว อัยการให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่ม กระทั่งล่าสุด พบว่าข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด หมดอายุความไปแล้ว ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยสงสัยว่าตำรวจและอัยการในคดีนี้ค้าสำนวนหรือไม่
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เผยความคืบหน้าคดีนี้ว่า ได้สั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า การที่สำนวนคดีไม่สมบูรณ์เกิดจากอะไร พร้อมยืนยันว่า จะหามาตรการเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนให้ได้ และว่า ความไม่เป็นธรรมจะไม่เกิดขึ้น หากพนักงานสอบสวนไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือที่เรียกว่าค้าสำนวนคดี ยืนยันว่า กฎหมายมีไว้คุ้มครองคนดี ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน
       
       พล.ต.ท.ศานิตย์ เผยความคืบหน้าของคดีนี้อีกครั้งในวันต่อมา(28 มี.ค.) โดยนอกจากข้องใจว่าคดีง่ายแบบนี้ทำไมถึงดำเนินคดีล่าช้าแล้ว ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ฝ่ายผู้ต้องหามีการนำบุคคลอื่นมารับผิดแทนในตอนแรกด้วย “ผู้ต้องหามอบตัวครั้งแรก พอสอบสวนไปสอบสวนมาก็ยอมรับว่าไม่ใช่ กลายเป็นบุคคลอื่นที่มารับผิดแทน กรณีดังกล่าวต้องสอบปากคำบุคคลที่รับผิดแทนด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามหาสำนวนคดีดังกล่าว เพราะต้องสอบปากคำผู้ที่มารับผิดแทนว่า ให้การเท็จอย่างไรและมีใครสั่งหรือไม่ หรือใครใช้ให้มา ถ้าคนใช้ให้มาก็ต้องดำเนินคดีกับผู้ใช้ด้วย เพระใช้ให้ผู้อื่นมากระทำความผิด แจ้งความเท็จก็มีโทษเสมือนตัวการ”
       
       พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวอีกว่า ความผิดฐานขับรถเร็วที่หมดอายุความไปแล้ว โทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ขณะที่เมาแล้วขับ อายุความ 5 ปี ส่วนชนแล้วหนี อายุความ 5 ปีเช่นกัน โทษจำคุก 6 เดือน ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 4 ก.ย.2560 และว่า พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง 2 ข้อหา คือขับรถด้วยความเร็วและเมาแล้วขับ ทั้งที่ผู้ชำนาญการตรวจพิสูจน์ว่านายวรยุทธขับรถเร็ว แต่พนักงานสอบสวนกลับไปเชื่อคนอื่นว่าขับไม่เร็ว ส่วนที่ไม่สั่งฟ้องข้อหาเมาแล้วขับ พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่า เมาหลังขับ เพราะหลังเกิดเหตุ ผู้ต้องหากลุ้มใจจึงดื่มสุรา จึงเป็นการเมาหลังขับ พิจารณาดูแล้วกันว่าปกติหรือไม่ พล.ต.ท.ศานิตย์ ยังออกตัวด้วยว่า ไม่อยากให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เลย เพราะเหมือนสาวไส้ให้กากิน แต่ต้องพูดเพราะรักองค์กร อยากปกป้ององค์กรตำรวจ
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(28 มี.ค.) พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเรียบร้อยแล้ว และจะแจ้งหนังสือไปยังนายวรยุทธ เนื่องจากขณะนี้นายวรยุทธอาศัยอยู่ในต่างประเทศ เพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป พร้อมยืนยันว่า พยานหลักฐานที่มี สามารถดำเนินคดีนายวรยุทธได้ และว่า หากนายวรยุทธ ซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้ ไม่มาพบพนักงานสอบสวน จะถือว่าผิดสำนวนการประกัน สามารถปรับตามกฎหมายได้ และออกหมายจับย้อนหลังได้ พล.ต.ต.ทรงพล ยังชี้แจงสาเหตุที่คดีนี้ล่าช้าด้วยว่า เนื่องจากผู้ต้องหาทำหนังสือเลื่อนให้ปากคำและใช้เหตุผลจำเป็นที่ต้องไปต่างประเทศ
       
       ด้านอัยการก็ได้เปิดแถลงเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธเช่นกันในวันต่อมา(29 มี.ค.) โดยเรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันว่า อัยการไม่ได้ค้าสำนวน สังเกตได้จากอัยการเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 ข้อหา ขณะที่พนักงานสอบสวนเห็นควรให้สั่งฟ้อง 2 ข้อหา โดยอัยการเห็นควรสั่งฟ้องข้อหาขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนดด้วย ขณะที่พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ส่วนข้อหาเมาแล้วขับ อัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวน เนื่องจากหลักฐานทางคดีฟังไมได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิด
       
       ส่วนสาเหตุที่ทำให้การฟ้องต่อศาลล่าช้านั้น เรือโทสมนึก ชี้แจงว่า เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มาพบอัยการ มีการให้ทนายความร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง เช่น ขอให้สอบพยานเพิ่ม ขอให้ชะลอการออกหมายจับ กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2556 ก่อนคดีขับรถเร็วจะหมดอายุความ 1 วัน ทนายของผู้ต้องหาได้ยื่นขอเลื่อนนัดส่งตัวฟ้อง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาอยู่ประเทศสิงคโปร์ และป่วยกะทันหัน อัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟ้องศาลในวันดังกล่าว แต่ก็ไม่ทันที่จะได้ออกหมายจับ เพราะผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาอีก อย่างไรก็ตาม เรือโทสมนึก ยืนยันว่า แม้ข้อหาขับรถเร็วจะหมดอายุความแล้ว แต่จะไม่กระทบต่อการดำเนินคดีข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายที่มีโทษหนักที่สุดอย่างแน่นอน
       
       ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ย้ำว่า การสอบสวนคดีนี้เสร็จสิ้น ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว ส่วนการสอบสวนทางคดีเพิ่มเติมต้องอยู่ที่ชั้นอัยการ ผู้สื่อข่าวถามว่า จะลงโทษพนักงานสอบสวนที่บกพร่องหรือไม่ พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวว่า จะให้ความเป็นธรรมทุกคนทุกฝ่าย เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีหลายชุด บางคนก็รู้ บางคนก็ไม่ทราบ ถ้าตรวจพบว่ามีความผิดทางอาญา ก็ดำเนินการตามความผิดทางอาญา ถ้ามีความผิดทางวินัย ก็ดำเนินการทางวินัย ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องเอาผิดทางปกครองคือย้าย เพื่อไม่ให้สัมผัสกับพี่น้องประชาชน


MGR Online       2 เมษายน 2559