ผู้เขียน หัวข้อ: ความจริง (...ที่ปกปิด) ของน้ำมันมะพร้าว  (อ่าน 718 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Virgin coconut oil) สกัดแบบบีบเย็น จากเนื้อมะพร้าวสด โดยกระบวนการที่ไม่ใช้ความร้อนหรือสารเคมี (Coldpressed coconut oil) เป็นที่นิยมกันถล่มทลาย ใครไม่กินเป็นเชย แต่ดีจริงหรือ หมอดื้อ ได้คุณหมอณิชา สมหล่อ หน่วยโภชนาการคลินิก ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาชี้แจง พร้อมกับหมอจะได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวกับอัลไซเมอร์ด้วย

น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแม้เชื่อว่าจะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าการสกัดร้อน แต่องค์ประกอบกรดไขมันจะไม่ต่างกัน โดยที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง หรือ Medium chain triglycerides (มีจำนวนคาร์บอน 6-12 ตัว) 63% ซึ่งส่วนมากคือ

กรดลอริกที่มีคาร์บอน 12 ตัว (Lauric acid, C12:0) กรดไขมัน อิ่มตัวสายยาว (มีจำนวนคาร์บอน >12 ตัว) 30% และกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายยาว (มีจำนวนคาร์บอน >12 ตัว) 7%

กรดไขมันอิ่มตัวสายกลางมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถดูดซึมที่ลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรงนำไปใช้ที่ตับได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากกรดไขมันสายยาวที่ดูดซึมผ่านระบบน้ำเหลืองก่อนเข้ากระแสเลือดและการเปลี่ยนนำไปใช้เป็นพลังงานที่ตับมีกระบวนการซับซ้อนกว่า ทางการแพทย์จึงสกัดเอากรดไขมันอิ่มตัวสายกลางจากน้ำมันมะพร้าวไปใช้เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหารทางการแพทย์ชนิดรับประทาน สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ (Semi-elemental diet) เป็นส่วนประกอบสำหรับอาหารคีโตเจนิก (Ketogenic diet) ในการรักษาผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก และเป็นส่วนประกอบของไขมันในอาหารที่ให้ทางเส้นเลือดดำ ซึ่งการนำมาใช้ทางการแพทย์ที่กล่าวมานี้ต้องผ่านการสกัดแยกมาจากน้ำมันมะพร้าวอีกทีเพื่อเอาเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัวสายกลางเท่านั้น ไม่ใช่ ใช้น้ำมันมะพร้าวแบบที่ขายทั่วไปในท้องตลาดที่มีกรดไขมันอื่นๆประกอบอยู่ด้วย

กรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (มีจำนวนคาร์บอน 6-12 ตัว) ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก ทั้งๆที่มีคุณสมบัติที่ถูกนำไปใช้ในตับได้เร็ว เชื่อว่าไม่สะสมเป็นเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย การศึกษาในประเทศบราซิล (วารสาร lipids 2009) ในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุงอายุระหว่าง 20-40 ปี กลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าว 30 มล.ต่อวัน และกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลือง 30 มล.ต่อวัน (กลุ่มละ 20 คน) ร่วมกับรับประทานอาหารพลังงานต่ำ และออกกำลังกายโดยการเดิน 200 นาทีต่อสัปดาห์ในทั้งสองกลุ่ม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักและดัชนีมวลกายและเส้นรอบพุงลงได้ไม่ต่างกัน

ในการศึกษาแบบวิเคราะห์เจาะลึก 60 รายงาน (วารสาร The American journal of clinical nutrition 2003) พบว่าการรับประทานอาหารที่ใช้กรดลอริก ที่พบมากในน้ำมันมะพร้าวทดแทนคาร์โบไฮเดรตในพลังงานที่เท่ากัน พบว่าเพิ่มคอเลสเทอรอลในเลือดทั้งตัวดี HDL และตัวร้าย LDL โดยการเพิ่มขึ้นของตัวดีจะมากกว่า จึงนำไปสู่การตีความกันว่าน้ำมันมะพร้าวน่าจะช่วยป้องกันหรือลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม การศึกษาในสัตว์ทดลองที่ไม่ใช่แค่การดูเฉพาะระดับคอเลสเทอรอลในเลือด กลับพบว่าในกระต่ายที่ได้รับอาหารไขมันสูงจากน้ำมันมะพร้าว 10% มีไขมันอุดตันในเส้นเลือดแดงสูงกว่ากลุ่มใช้น้ำมันมะพร้าว 3% เป็น 2 เท่า (วารสาร Atherosclerosis. 2010) ส่วนการศึกษาในคนซึ่งต้องเป็นการศึกษาระยะเวลานานเป็นปีๆ ปัจจุบันยังไม่มี

น้ำมันมะพร้าวที่บรรยายสรรพคุณว่าดีสำหรับโรคสมองฝ่ออัลไซเมอร์มี caprylic triglyceride กรดไขมันอิ่มตัวสายกลางเป็นสำคัญ ตามปกติ พลังงานจะได้จากกลูโคส เมื่อกลูโคสขาดแคลน ตับจะเป็นตัวสร้างคีโตน ให้เป็นแหล่งพลังงานแทน ในกรณีนี้ก็ไม่ต้องอดอาหาร เอากรดไขมันอิ่มตัวสายกลางป้อนสารคีโตนจากการผ่านทางตับให้สมอง โดยโรคอัลไซเมอร์คือ “เบาหวานของสมอง” และสมองเบาหวานนี้จะใช้คีโตนได้ดีกว่ากลูโคส คีโตนจะช่วยลดความเสียหายในเซลล์สมองที่เกิดขึ้นจากมวลอนุมูลอิสระ รวมทั้งจากสารอักเสบที่เป็นตัวการของโรคอัลไซเมอร์ และป้องกันการเกิดสารพิษโปรตีน amyloid

การศึกษาการใช้อาหารคีโตนในโรคอัลไซเมอร์โดยเป็นการทดลองในหนู 2 รายงาน ในปี 2005 และ 2011 ในสุนัข 1 รายงาน (2008) และในคนที่เริ่มมีอาการหลงลืม MCI (Mild cognitiveimpairment) ในปี 2012 ซึ่งมีผู้ป่วยในการศึกษา 23 ราย ได้รับอาหารที่มีแป้งหรือคาร์โบโฮเดรตต่ำ ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้มีการสร้างคีโตน พบว่าจะมีความจำดีกว่าคนที่ได้อาหารแป้งสูง ซึ่งคล้ายคลึงกับรายงานในปี 2004 กับผู้ป่วย MCI และที่เป็นอัลไซเมอร์แล้ว โดยให้เครื่องดื่มที่มีกรดไขมันขนาดปานกลางไตรกลีเซอไรด์ จะพบว่ามีค่าการวัดความจำดีขึ้นบ้าง

สำหรับการใช้น้ำมันมะพร้าวกรดไขมันอิ่มตัวสายกลางกับโรคอัลไซเมอร์มีรายงานของผลิตภัณฑ์ชื่อ Axona (AC-1202) ของอเมริกาในปี 2009, 2011 และ 2012 ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง 152 ราย ใช้ผลิตภัณฑ์ AC-1202 ที่ 10-20 กรัมต่อวัน ไป 90 วัน ณ วันที่ 45 กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวมีระดับการทดสอบดีขึ้น แต่ในวันที่ 90 คะแนนกลับมาเท่ากันในกลุ่มที่ได้และไม่ได้น้ำมันมะพร้าว รวมทั้งวันที่ 104 หลังจากหยุดการกินน้ำมันมะพร้าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ไม่มียีนร้ายของสมองฝ่อกลับพบว่า น้ำมันมะพร้าวเสริมความจำให้ดีขึ้นที่การทดลองทุกระยะ

ประโยชน์จากน้ำมันมะพร้าวที่สำคัญอยู่ที่ ชนิดและต้องเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง ไม่ใช่น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ไม่ทราบส่วนประกอบ ประโยชน์ด้านการลดน้ำหนักยังไม่ชัดเจน การป้องกันหรือลดการเกิดโรคหัวใจ และโรคสมองอาจจะเป็นไปได้ โดยที่ต้องติดตามใกล้ชิด.

โดย หมอดื้อ 7 มิ.ย. 2558
http://www.thairath.co.th/content/503397