ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-8 ส.ค.2557  (อ่าน 713 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-8 ส.ค.2557
« เมื่อ: 19 สิงหาคม 2014, 00:48:53 »
1. สมเด็จพระบรมฯ เสด็จฯ เปิดประชุม สนช.- “พรเพชร” ได้นั่งประธาน สนช.ตามคาด ยัน ถ่างขานั่งผู้ตรวจการฯ แม้ผลประโยชน์ขัดกัน!
       
       เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เพื่อเปิดการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โอกาสนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุม ความว่า การเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งนี้ ควรจะนับเป็นนิมิตหมายของการเริ่มต้นที่ดี เพราะตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายจะได้มีโอกาสประชุมปรึกษาหารือกัน ทั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญและการบัญญัติกฎหมาย เพื่อให้การปกครองดำเนินไปตามวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตย และเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศทุกๆ ด้านให้บังเกิดความมั่นคงตลอดไป และความวัฒนาผาสุกขึ้นแก่ประเทศชาติและประชาชน บรรดาสมาชิกสภานี้จึงควรจะได้ตระหนักถึงความสำคัญในภาระหน้าที่ของตน และรีบเร่งพิจารณาดำเนินการให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและรวดเร็ว จึงขอให้ทุกท่านร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมความคิดอ่านกัน ปฏิบัติภาระหน้าที่โดยเต็มสติปัญญาความสามารถด้วยความสุจริต บริสุทธิ์ใจ ให้งานทุกด้านดำเนินไปอย่างเที่ยงตรง ถูกต้องทั้งตามหลักนิติธรรมและเหตุผลของความชอบธรรม ทั้งสำเร็จผล เป็นประโยชน์อันพึงประสงค์ คือความผาสุกมั่นคงของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
       
       สำหรับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สนช.นั้น มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ซึ่งผลประชุมปรากฏว่า เป็นไปตามโผที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยผู้ได้รับเลือกเป็นประธาน สนช.คือนายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดินและที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขณะที่รองประธาน สนช.คนที่ 1 คือนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตว่าที่ประธานวุฒิสภา ส่วนรองประธาน สนช.คนที่ 2 คือนายพีรศักดิ์ พอจิต นักกฎหมายอิสระ
       
       ทั้งนี้่ หลังเลือกประธานและรองประธาน สนช.แล้วเสร็จ นายพรเพชร ลุกขึ้นกล่าวความในใจว่า รู้สึกเป็นเกียรติ์ที่สมาชิกมอบความไว้วางใจให้เป็นประธาน และมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ออกกฎหมายที่ประโยชน์ และนำไปสู่การเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ ตนขอปฏิญาณตนว่าจะดำเนินการประชุม รับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ทุกเรื่อง สมาชิกอย่าได้เกรงใจ เข้าพบตนได้ตลอดเวลาถ้ามีปัญหาอะไร
       
       ด้านนายสุรชัย ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่เลือกให้เป็นรองประธาน สนช.คนที่ 1 โดยสัญญาว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อให้ประเทศมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และฟื้นฟูประเทศกลับสู่ความมั่นคงให้ประชาชนมีความปลอดภัย ยึดถือความสุขของประเทศชาติเป็นสำคัญ
       
       ขณะที่นายพีรศักดิ์ ก็ยืนยันว่า ตนมีเวลาเต็มที่ที่จะปฏิบัติหน้าที่รองประธาน สนช.คนที่ 2 และขอร่วมมือทำงานกับประธานและรองประธานคนที่ 1 พร้อมย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 6 บัญญัติให้ สนช.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ตนจะทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างเต็มที่
       
       ด้านนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา บอกว่า หลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะส่งรายชื่อและประวัติของประธานและรองประธาน สนช.ทั้ง 2 คน ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประสานไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้า คสช. เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีปัญหากรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการนั่งควบตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแต่งตั้ง สนช.ขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 7 หรือไม่ เนื่องจากรายชื่อที่ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.ขาดความหลากหลาย และกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มนายทหาร ซึ่งนายพรเพชร พูดถึงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและฝ่ายนิติบัญญัติในเวลาเดียวกัน โดยยืนยันว่า ตนจะไม่ร่วมพิจารณาเรื่องที่มีการยื่นให้ตรวจสอบ สนช.เพราะเข้าใจดีว่าจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคิดที่จะลาออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินกับ สนช. เพราะในชีวิตการทำงานตนมีหลายตำแหน่งมาโดยตลอด แต่การทำงานหลายตำแหน่งก็ต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ยืนยันว่าการเป็น สนช.ของตนไม่ขัดกฎหมาย แต่ประเด็นเรื่องความเหมาะสมและปัญหาการขัดกันของผลประโยชน์ตนกำลังพิจารณาอยู่
       
       ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ที่ได้รับแต่งตั้งจำนวน 200 คน ล่าสุด เหลือสมาชิกอยู่ 197 คน มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติ 3 คน ซึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกไปแล้ว ประกอบด้วย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายใน 3 ปีก่อนได้รับแต่งตั้ง , นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติเนื่องจาก พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา 7(10) ระบุว่า จุฬาราชมนตรีต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นนายอาศิสจึงไม่ต้องการลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่ง สนช. นายอาศิสบอกด้วยว่า ไม่เคยมีการแจ้งให้ตนทราบก่อนล่วงหน้าว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. , พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย หรือ เสธ.ยอด มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เนื่องจากเคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากการยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย
       
       
       2. ศาลอุทธรณ์ ยืนจำคุก “สนธิ” 20 ปี คดีผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ด้าน “ศาลฎีกา” ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เหตุผู้พิพากษายังไม่รับรองให้ฎีกา!

       เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ,นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ,น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3), 313
       
        คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2539-31 มี.ค. 2540 จำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ได้ร่วมทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทที่เป็นเท็จ ว่ามีมติให้บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยจำเลยที่ 1 และ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัทฯ และเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2539-18 พ.ย.2541 จำเลยทั้งหมดร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวลงในรายการภาระหรือรายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เพื่อส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เป็นการลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ และเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว โดยในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
       
       ซึ่งต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2555 ว่าจำเลยที่ 1 และ 3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้, ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 รวมจำคุก 17 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 85 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุก 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 กระทำความผิดรวม 13 กระทง ลงโทษกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 65 ปี แต่จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ เป็นโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 42 ปี 6 เดือน ,จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน แต่โทษสูงสุดในความผิดฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 20 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด ไม่ได้รับผลประโยชน์ในทรัพย์สินแต่อย่างใด ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ขณะที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์
       
       ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวในการค้ำประกันของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ แต่อย่างใด แต่การกระทำของจำเลยถือว่าครบองค์ประกอบ ทำให้บริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป ได้รับผลประโยชน์ จึงเป็นความผิดโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307, 311 ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีเจตนาเดียว คือ ค้ำประกันเงินต่อเนื่องเพียงโครงการเดียว จึงเป็นความผิดเพียงกระทงเดียวนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการประกันเงินกู้ในโครงการเดียวอย่างไร ดังนั้นการที่จำเลยค้ำประกันเงินกู้แต่ละครั้งย่อมเป็นการกระทำผิดแยกกรรมต่างกัน
       
       ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่จำเลยไม่นำภาระการค้ำประกันหนี้ลงในรายการภาระหรือรายได้เพื่อจัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากภาระการค้ำประกันหนี้ไม่ถือเป็นภาระผูกพันจึงไม่เป็นความผิดนั้น ศาลเห็นว่า บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน โดยจะต้องรายงานผลการจดทะเบียนและจัดทำงบไตรมาสทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี โดยระบุในรายการหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งโจทก์มีเจ้าหน้าที่ผู้บริหารอาวุโสตลาดหลักทรัพย์เบิกความยืนยันว่า งบการเงินเป็นข้อมูลที่สำคัญ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจร่วมลงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และรู้ถึงสถานะทางการเงินของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ซึ่งทาง บมจ.แมเนเจอร์ฯ ต้องเปิดเผยฐานะทางการเงินที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
       
       ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายร้ายแรงนั้น ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเจตนาคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เป็นสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมและเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้น เป็นโทษสถานต่ำสุดแล้ว ไม่อาจลดโทษให้เบาลงได้อีก และพฤติการณ์ของจำเลยร้ายแรง ไม่อาจรอการลงโทษได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
       
       หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำรถตู้รับตัวนายสนธิ ไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยนายสนธิมีสีหน้ายิ้มแย้มและได้โบกมือให้ผู้ที่มาให้กำลังใจ พร้อมบอกว่า “สบายดี” ส่วนอีก 2 คน ซึ่งเป็นผู้หญิง ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางบางเขน เพื่อรอคำสั่งจากศาลฎีกาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
       
       ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ พูดถึงคดีนายสนธิว่า เกิดขึ้นจากการที่นายสนธิเป็นกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้เข้าไปค้ำประกันบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ต่อมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดการผิดนัดชำระหนี้ แล้วก็เป็นกันทั้งประเทศ แต่ในที่สุด บมจ.เดอะ เอ็ม กรุ๊ป ก็ได้ชำระหนี้ธนาคารกรุงไทยจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นความเสียหายไม่ได้เกิดกับบุคคลใด แต่ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดว่า ถ้า บมจ.แมเนเจอร์ฯ จะไปค้ำประกันให้ผู้ใด ต้องมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท และต้องมีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ แต่ตอนนั้นไม่ได้มีการประชุมกรรมการ และไม่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ และการกู้ทำติดต่อกันเป็นเวลา 5 ครั้ง ศาลเลยแยกเป็นความผิด 5 กรรม ไล่มาเรื่อยตั้งแต่กรณีไม่จัดการประชุมเป็นความผิด 1 กรรม ไม่แจ้งต่อตลาดฯ เป็นอีก 1 กรรม โดยลงโทษกรรมละ 5 ปี ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน
       
       นายสุวัตร เล่าถึงการสู้คดีในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า ช่วงแรกได้ให้การปฏิเสธมาตลอด แต่ต่อมาศาลอาญาเปิดกระบวนการไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ พยายามทำให้คดีจบไป ตอนนั้นรองอธิบดีและผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีการพูดคุยกันว่าถ้าเรารับสารภาพก็อยู่ในเกณฑ์จำคุกไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน สามารถรอลงอาญาได้ ตอนนั้นเราจึงได้ตัดสินใจรับสารภาพ แต่พอดีจังหวะโชคร้ายมีการเปลี่ยนแปลงอธิบดีและรองอธิบดี อธิบดีใหม่ไม่เห็นด้วยที่ให้รอลงอาญา เลยพิพากษาไม่รอลงอาญา เราเลยอุทธรณ์ว่าคดีนี้มีเหตุผลที่รอลงอาญาได้เนื่องจากธนาคารไม่เสียหาย เพราะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ผู้ถือหุ้น บมจ.แมเนเจอร์ฯ ไม่มีผู้ใดเสียหาย การที่บริษัทลูกเข้าค้ำประกันบริษัทแม่หลังภาวะเศรษฐกิจปี 40 ทุกบริษัททำอย่างนี้หมด
       
       นายสุวัตร กล่าวอีกว่า เมื่อศาลพิพากษายืนจำคุก 20 ปี ตนก็ได้ยื่นฎีกาแล้ว แต่เนื่องจากโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามกฎหมายห้ามไม่ให้ฎีกา เพราะโทษเล็กน้อย เมื่อยื่นฎีกาไปก็ต้องขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ท่านใดท่านหนึ่งรับรองว่าเป็นการฎีกาข้อกฎหมายที่สมควรจะขึ้นต่อการพิจารณาคดีของศาลฎีกา คิดว่าท่านผู้พิพากษาคงรับรองฎีกาให้ พร้อมกันนี้ตนได้ยื่นคำร้องประกอบด้วยว่าขอให้ศาลอาญาให้ความเมตตาให้ประกันตัว โดยยื่นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพมูลค่า 10 ล้าน เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา แต่ท่านมีความเห็นว่าควรส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่ง
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ศาลฎีกาได้สั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายสนธิ และจำเลยอีก 2 คน คือ น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส.ยุพิน โดยให้เหตุผลว่า จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไว้ ประกอบกับคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษายังไม่รับรองฎีกา อีกทั้งจำเลยยังไม่ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาเข้ามา หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกา เชื่อว่าจำเลยทั้งสามจะหลบหนี ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
       
        3. ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดี “ยิ่งลักษณ์” ทุจริตจำนำข้าวให้ อสส.แล้ว ด้านเจ้าตัวรีบส่งทนายยื่นขอความเป็นธรรม-สอบพยานเพิ่ม 50 ปาก!

       เมื่อวันที่ 5 ส.ค. เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้นำเอกสารสำนวนการสอบสวนชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ในโครงการทุจริตรับจำนำข้าวส่งให้อัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเอกสารสำนวนคดีดังกล่าวมีจำนวนมากถึง 5 ลัง 30 แฟ้ม รวมกว่า 4,000 หน้า โดยชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
       
        ด้านนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นตัวแทนผู้รับมอบสำนวนคดีดังกล่าว เผยว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานด้วยความละเอียดรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม หากคณะทำงานเห็นว่า พยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแล้ว ทางอัยการก็จะดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ภายในกรอบเวลา 30 วันตามกฎหมาย หากอัยการเห็นว่า ข้อมูลในสำนวนไม่เพียงพอหรือยังไม่สมบูรณ์ ก็จะตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการและ ป.ป.ข.ขึ้นมา เพื่อร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง และหาข้อยุติภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งหากคณะทำงานได้ข้อยุติตรงกันทั้งสองฝ่าย ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ต่อไป แต่หากไม่ได้ข้อยุติหรือความเห็นไม่ตรงกัน ทางอัยการจะคืนสำนวนให้ทาง ป.ป.ช.และ ป.ป.ช.ต้องแต่งตั้งทนายเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เอง
       
        ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถยื่นขอความเป็นธรรมหรือขอให้สอบพยานเพิ่มเติมได้หรือไม่ นางสันทนี บอกว่า สามารถยื่นได้ แต่การสอบพยานเพิ่มเติมต้องดูว่า ประเด็นอยู่ในสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.แล้วหรือไม่ หรือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่มีในสำนวน ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค.จะกระทบต่อพิจารณาสำนวนคดีหรือไม่ นางสันทนี ยืนยันว่า ไม่กระทบ เพราะตามกฎหมายให้อำนาจอัยการสูงสุดยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้โดยไม่ต้องมีตัวจำเลย เพียงแต่จะต้องระบุแหล่งที่อยู่ให้ชัดเจน
       
        ทั้งนี้ วันต่อมา(6 ส.ค.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. มีการเร่งรีบรวบรัดชี้มูล และไม่รับไต่สวนพยานในหลายประเด็น ทั้งที่ยังมีข้อเท็จจริงและพยานบุคคลที่ควรสืบพยานอีกหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ดังนั้นหากอัยการสูงสุดเห็นว่า สำนวนของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์ ก็ควรตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช.และขอให้สอบพยานอีกกว่า 50 ปาก และว่า หากมีการตั้งคณะทำงานร่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นายนรวิชญ์ ยังยืนยันด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีกำหนดเปลี่ยนแปลงการเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค.แต่อย่างใด
       
        4. “นพ.วิสุทธิ์” นักโทษประหารฐานฆ่าหั่นศพภรรยา ได้รับการปล่อยตัวแล้ว อธิบดีราชทัณฑ์ เผย ติดคุกจริง 10 ปี เข้าเกณฑ์พักโทษ!

       เมื่อวันที่ 4 ส.ค.นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า เรือนจำกลางบางขวาง จ.นนทบุรี ได้ปล่อยตัว นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ผู้ต้องหาฆ่า พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ภรรยาแล้วในวันเดียวกันนี้ และว่า การปล่อยตัวเป็นไปตามหลักเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์ เนื่องจาก นพ.วิสุทธิ์ถูกจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษ คือถูกจำคุกมาแล้ว 10 ปี 10 เดือน จึงเหลือเวลาที่ต้องโทษอีก 3 ปี 2 เดือน 5 วัน และระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ นพ.วิสุทธิ์มีความประพฤติชั้นเยี่ยม ช่วยเหลืองานเรือนจำมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง กระทั่งเหลือวันต้องโทษตามหลักเกณฑ์พักโทษ จึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่เหลือของโทษ นพ.วิสุทธิ์จะต้องถูกคุมประพฤติ โดยมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติทุกเดือน
       
        ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง บอกว่า ในวันที่พิจารณาตามเกณฑ์การพักโทษ นพ.วิสุทธิ์เหลือโทษจำคุก 14 ปี แต่ นพ.วิสุทธิ์ ถูกจำคุกมาแล้ว 10 ปี 10 เดือน เมื่อหักลบวันต้องโทษแล้ว เหลือวันต้องโทษจริง 3 ปี 1 เดือน 20 วัน จึงเข้าสู่ระบบการพิจารณาหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ
       
        สำหรับคดี นพ.วิสุทธิ์ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2546 ให้ประหารชีวิต ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2548 ยืนตามศาลชั้นต้น ขณะที่ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2550 ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต ทั้งนี้ ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ นพ.วิสุทธิ์ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 สิงหาคม 2557