ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอ” มาแล้ว “ลุง” ถอยไป  (อ่าน 289 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
“หมอ” มาแล้ว “ลุง” ถอยไป
« เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2021, 11:35:44 »
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การปรากฏตัว “พร้อมกัน” ของ “3 คณบดีแพทย์” ได้แก่ “ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และ “ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับข้อความ “ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ถือเป็นการ “เดิมพัน” ครั้งสำคัญระหว่าง “บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนคนไทย” ว่าจะเชื่อ สถาบันหรือองค์กรที่ได้รับความเคารพและศรัทธาจากประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน หรือจะเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อๆ กันมาในโลกสังคมออนไลน์ โดยไม่รู้ต้นตอว่ามาจากไหน หรือรู้ที่มาก็เจือปนไปด้วยอคติทางการเมืองชนิดที่พร้อมจะเชื่อใครก็ได้ที่ไม่ใช่ “รัฐบาลลุง”

ขณะเดียวกันในอีกมิติหนึ่งการออกมารณรงค์ให้คนไทย “ฉีดวัคซีน” ของ “3 คณบดีแพทย์” ยังสะท้อนให้เห็นถึงความง่อนแง่นและความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะที่ผ่านมาแม้ “รัฐบาลลุง” จะใช้ทุกองคาพยพรณรงค์ให้คนไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ก็ประสบความล้มเหลว ด้วยมีผู้สนใจเข้ารับการฉีดวัคซีนน้อยกว่าเป้าที่วางไว้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อตัววัคซีนที่เชื่อมประสานเป็นหนึ่งเดียวกับความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ การบริหารวัคซีนที่มีอยู่ 2 ยี่ห้อและมีจำนวนไม่มากนักยังไม่สอดรับกับความเป็นจริงของการแพร่ระบาดที่กระจายออกไปเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว และเกิด “คลัสเตอร์ใหม่ๆ” อันน่าตระหนกตกใจในการระบาด “ระลอกที่ 3” จนสังคมเกิดคำถามถึงความไม่ชอบมาพากล ไม่ว่าจะเป็น “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ที่เกิดจาก “รัฐตำรวจ” ที่ทำมาหากินกับสถานบันเทิง “คลัสเตอร์แรงงานต่างชาติ” ที่เกิดจาก “รัฐมหาดไทย” ซึ่งรับผลประโยชน์ก้อนมหึมาจาก “แรงงานเถื่อน” หรือ “คลัสเตอร์ราชทัณฑ์” ที่ถ้า “แกนนำ 3 นิ้ว” ติดเชื้อและออกมาป่าวประกาศ คนไทยก็คงไม่รู้ว่า มีผู้ติดเชื้อมากถึงหลักหลายพันคนด้วยกัน

หนักไปกว่านั้นก็คือ “แผนวัคซีนชาติ” ก็ยังดำเนินไปอย่างเชื่องช้า กว่าจะปรับ กว่าจะแก้ กว่าจะหา กว่าจะดำเนินการให้สอดรับกับสถานการณ์ก็เกือบจะเข้าขั้น “ช้าเกินไป” แต่เดชะบุญที่ “พระสยามเทวาธิราช” ปกปักษ์รักษาชาติ และทำให้ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ต้องตัดสินใจ “รื้อแผนการฉีดวัคซีน” ป้องกัน “โควิด-19” เสียใหม่

วันนี้ “หมอมาแล้ว” คงถึงเวลาที่ “รัฐบาลลุง” ต้องถอยไปได้แล้ว ก่อนที่วิกฤตศรัทธาจะขยายวงกว้างออกไปมากกว่านี้

 ทำไมต้องถึงมือ 3 คณบดี
หากเราย้อนกลับไปตรวจสอบสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยในระลอกที่ 3 จะพบข้อมูลอันน่าตื่นตระหนก เพราะเลวร้ายลงไปทุกที ชนิดที่แทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยก็ว่าได้ ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อ ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนัก ตัวเลขผู้เสียชีวิต และความอ่อนล้าของ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่ต้องรับมือกับโควิด-19 มาอย่างยาวนาน
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.)เผยตัวเลขผู้ป่วยโควิดอาการหนักอยู่ระหว่างการรักษา 1,226 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 401 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค. 2564 พบจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 2,052 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 93,794 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 32 คน ยอดสะสม 518 คน ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 13 พ.ค. 2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 64,891 ราย เสียชีวิตสะสม 424 คน

ที่สำคัญคือ ต้องยอมรับว่า ระลอก 3 ของการแพร่บาดเชื้อโควิด-19 กระจายวงกว้างในทุกพื้นที่ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ชิดโดยเฉพาะสมาชิกครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน อาชีพเสี่ยงทำงานในตลาด ขับรถสาธารณะ ตลอดจนการเดินทางไปยังสถานที่คนแออัดตลาดหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น เริ่มต้นจาก “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ลุกลามไปทั่วเกิดคลัสเตอร์อื่นๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะ “คลัสเตอร์คลองเตย” มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมเพิ่มพรวด ที่น่าจับตาไม่แพ้กับคือ “คลัสเตอร์เรือนจำ” ซึ่งกรมราชทัณฑ์ออกมายอมรับว่า มีนักโทษติดโควิด-19 จำนวนกว่า 3,000 ราย ส่วนต้นตอการรับเชื้อโควิด -19 มาจากการออกไปศาลและส่วนหนึ่งเป็นผู้ต้องขังใหม่ที่อยู่ในแดนแรกรับ ซึ่งตามรายงานรายงานว่าพบผู้ป่วยอาการรุนแรง ระบุชัดว่าต้นตอเชื้อมาจาก “ผู้ต้องขังใหม่-ผู้ต้องขังกลับจากศาล”

. แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมประชาชนคนไทยถึงได้ลงทะเบียนเพื่อรอรับวัคซีนไม่มากอย่างที่คิด โดยตัวเลขคนลงทะเบียน “หมอพร้อม” ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 17 ล้านคนจนน่าใจหาย กระทั่งทำให้ “ซิโนแวค” ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ขณะนี้ ตกค้างในหลายพื้นที่ ซึ่งนั่นหมายความว่า รัฐบาลล้มเหลวในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ดูจากตัวเลขหลังเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 คิวแรก จำนวน 16 ล้านคน ผ่านไลน์ “หมอพร้อม” และช่องทางอื่นๆ ระยะเวลา 10 วัน ยอดต่ำกว่าเป้า เหลือคิวอีกกว่า 14 ล้านคน

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลลุงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับประชาชน ทำให้หวาดกลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงเพียงแต่เทียบได้กับอันตรายที่เกิดจากโควิด-19 ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน

ทั้งนี้ ถ้าหากวิเคราะห์ย้อนหลังก็จะพบความจริงว่า ทำไมถึงเป็นเยี่ยงนั้น

ในตอนแรก ผลของความไม่เชื่อมั่นในวัคซีน ทำให้รัฐบาต้องปรับเปลี่ยนวิธีประชาสัมพันธ์ “ใหม่” กล่าวคือจากเดิมที่พยายามบอกว่า “วัคซีนไม่สำคัญ” เท่ากับการระมัดระวังตัวเองด้วยการ “สวมหน้ากากและไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง” แต่เอาเข้าจริงตัวเลขคนติดเชื้อ คนป่วยหนักและผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง จนต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่และหันมามุ่งเน้นเรื่อง “วัคซีน” ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยหากสถานการณ์ยังคงเป็นไปในแบบนี้ คือคนไม่กระตือรือร้นที่จะฉีดวัคซีน การบรรลุ “ภูมิคุ้มกันหมู่” ทั่วประเทศ ที่จุดหมายปลายทางคือสิ้นปีนี้ อาจ “ไม่ง่าย” อย่างที่คิด

 ถามว่า ยุทธศาสตร์โควิด-19 ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาผิดพลาดไหม

ตอบว่า ผิดและไม่ผิด

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ก่อนที่จะมีการระบาดในระลอกที่ 3 โควิด-19 ในประเทศไทยค่อนข้างสงบ มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี เพราะฉะนั้น ในห้วงเวลานั้น วัคซีนจึงอาจไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน ที่สำคัญคือ ในขณะนั้นการสั่งซื้อวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย จำต้องเลือกและต้องมีการแทงม้าด้วยไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนของบริษัทไหนจะประสบความสำเร็จหรือได้ผลมากกว่ากัน รวมทั้งตลาดยังคงเป็นของ “ผู้ขาย” ไม่ใช่ “ผู้ซื้อ” หรือหมายความว่า ไม่ใช่มีเงินก็จะสามารถซื้อได้เสียที่ไหน

นอกจากนี้ กระแสการการปฏิเสธวัคซีน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ด้วยในต่างประเทศก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันจนต้องมีการรณรงค์ด้วยการแจกนี่นั่นโน้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชน ยิ่งมีข่าวผลข้างเคียง ก็ยิ่งทำให้ประชาชนลังเล

แต่แล้วสถานการณ์ก็พลิกผันจากฟ้าเป็นเหวเมื่อเกิด “คลัสเตอร์การแพร่ระบาด” โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้น ยุทธศาสตร์โควิด-19 ของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไป และเป็นสาเหตุที่ทำให้ “3 คณบดีแพทย์” ต้องออกโรงพร้อมกันด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยจำนวนมาก และผู้ป่วยหนักก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ความจริงต้องบอกว่า ยุทธศาสตร์การใช้ “หมอนำการเมือง” ในการต่อสู้กับโควิด-19 รัฐบาลลุงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเมื่อมีการระบาดระลอกแรก
หากยังจำกันได้ก่อนที่จะ “ล็อกดาวน์ประเทศ” พร้อมรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ความปริวิตกกระจายไปทั่วปริมณฑลของประเทศไทย และสั่นคลอนเสถียรภาพของ “รัฐบาลลุง” อย่างหนัก กระทั่ง “พล.ประยุทธ์” กล้าที่จะใช้ “หมอนำการเมือง” โดยภาพสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยทั้งประเทศว่า คนไทยต้องรอด ประเทศไทยต้องรอด ก็คือ ภาพการหารือกันระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” กับ “อาจารย์หมอชั้นนำของเมืองไทย” ประกอบด้วย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรมว.สาธารณสุข , ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีตรมช.ศึกษาธิการ , ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ , ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา

ทว่า สำหรับคราวนี้ ก็ไม่ทราบเส้นสนกลในว่าทำไม “รัฐบาล” และ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงตัดสินใจล่าช้า

ทั้งนี้ การออกมาของ “3 คณบดีแพทย์” เป็นการออกมาแจกแจงให้เห็นถึงมหันตภัยอันใหญ่หลวง พร้อมยกตัวอย่างสภาพที่เป็นจริงของโรงเรียนแพทย์ทั้ง 3 แห่งว่าหนักหนาสาหัสแค่ไหน ขณะที่ภาพรวมของประเทศไปไกลกว่านั้นเยอะ ด้วยพบผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศเกือบ 400 คน และพบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ที่ 1 ใน 4 ทำให้คาดว่าจะมีคนเสียชีวิตอีกประมาณ 80-100 คนนอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อลงปอดเร็วมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มเตียงผู้ป่วยในห้องไอซียูมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ขณะนี้ภาระงานเต็มไม้เต็มมือ และกำลังจะล้นไม้ล้นมือในอีกไม่ช้า

“สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในการระบาดรอบนี้จากโควิดสายพันธุ์อังกฤษรุนแรงมากขึ้น โดยมีอัตราการติดเชื้อป่วยเพิ่มขึ้น 15 เท่า” “ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี กล่าวยอมรับ

ด้าน รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในบุคลากร รพ.ศิริราช โดยระบุว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับบุคลากรไปแล้วจำนวน 13,596 ราย คิดเป็นร้อยละ 80.8 ของบุคลากรทั้งหมด โดยได้รับวัคซีน Sinovac จำนวน 12,797 ราย เนื่องจากมีอายุน้อยกว่า 59 ปี 10 เดือน และได้รับวัคซีน Astra Zeneca จำนวน 799 ราย เนื่องจากมีอายุมากกว่า 59 ปี 10 เดือน หรือเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัย

บุคลากรที่ได้รับวัคซีนเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน 10,741 ราย และเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 2,855 ราย โดยร้อยละ 76.9 ไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ มีรายงาน ภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที ร้อยละ 2.7 ประกอบด้วย อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด (1.38% ) อาการชาตามร่างกาย (0.36%) อาการปวดศีรษะ (0.31%) ปวดกล้ามเนื้อ (0.16%) ผื่นตามร่างกาย (0.14%) และอื่นๆ (0.35%) โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการชั่วคราว และสามารถหายเป็นปกติได้ในที่สุด

สำหรับ ภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่พบ 30 นาที หลังได้รับวัคซีน พบได้ร้อยละ 23.1 ได้แก่ อาการปวดกล้ามเนื้อ (4.84 %) คลื่นไส้ (4.16%) ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด (3.97%) ปวดศีรษะ (3.36%) อ่อนเพลีย (2.83%) มีไข้ (1.57%) และอื่นๆ (2.37%)

ส่วนอาการชาตามร่างกายหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย พบร้อยละ 0.46 เมื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษในรายที่มีอาการมาก ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ โดยส่วนใหญ่ (72.6 %) สามารถหายได้เองภายในเวลา 30 นาที หลังมีอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ทุกรายสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอสรุปรายงานผลการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในบุคลากรของคณะฯ จำนวน 13,596 ราย เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac จำนวน 12,797 ราย ได้รับวัคซีน Astra Zeneca จำนวน 799 ราย โดยส่วนใหญ่ไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ สำหรับผู้ที่มีภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์สามารถหายได้และสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ

นี่คือคำยืนยันจาก “หมอ” ว่า “วัคซีน” คือเครื่องมือสำคัญในยามนี้และไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องผลข้างเคียง เพราะมีโอกาสเกิดน้อย

การปรากฏตัวของ  “3 คณบดีแพทย์” ได้แก่ “ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และ “ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้กับโควิด-19 ที่สุดท้ายแล้วต้องใช้ “หมอนำ”

ภาพประวัติศาสตร์ของโควิด “ระลอกแรก” โดยเป็นการหารือกันระหว่าง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรมว.สาธารณสุข , ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีตรมช.ศึกษาธิการ , ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ , ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างยอดเยี่ยม

ภาพประวัติศาสตร์ของโควิด “ระลอกแรก” โดยเป็นการหารือกันระหว่าง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรมว.สาธารณสุข , ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีตรมช.ศึกษาธิการ , ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ , ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างยอดเยี่ยม

จับตา “สายพันธุ์อินเดีย”
มฤตยูไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่
ไม่เพียงสถานการณ์ที่กล่าวในข้างต้นเท่านั้น ในห้วงเวลานี้คนไทยยังต้องหวาดวิตกกับ โควิด-19 “สายพันธุ์อินเดีย” ที่มีความรุนแรงและติดต่อง่ายด้วยเป็น “เชื้อกลายพันธุ์” ขนาดวัคซีนโควิดในปัจจุบันยังเอาไม่อยู่ และอาจเล็ดลอดเข้ามาผ่านชายตะเข็บชายแดนได้ตลอดเวลา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย (สายพันธุ์ B.1.617) จากประเทศอินเดีย ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ช่วง ต.ค. ปีที่ 2563 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลระดับโลกและระบาดไปแล้วกว่า 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าไวรัสตัวเดิม และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดจากวัคซีนหรือการติดเชื้อมาก่อนได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีไวรัสกลายพันธุ์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบในอินเดีย โควิด-19 สายพันธุ์เบงกอล (สายพันธุ์ B.1.618) สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นและหลบหลีกภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

และในขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าวขึ้นแล้วในประเทศแถบอาเซียน เริ่มตั้งแต่ประเทศเวียดนามพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย ติดเชื้อจากโรงพยาบาลโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติ ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ข้อมูลระบุถึงความเป็นไปได้ที่เชื้อโรคหลุดรอดออกมาจากหนึ่งในวอร์ดที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้เวียดนามยกระดับมาตรการควบคุมทางสังคมอีกครั้งเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์

ประเทศมาเลเซีย ตรวจพบผู้ป่วยรายแรกของประเทศครั้งแรกที่สนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ ต่อมา รัฐบาลสั่งห้ามเที่ยวบินทั้งหมดจากประเทศอินเดียเข้าประเทศ เป็นแนวทางเดียวกับหลานประเทศทั่วโลกที่ออกมาตรการแบนไฟลท์จากประเทศอินเดีย

สำหรับประเทศไทย ไม่นานมานี้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวรายแรก หญิงไทยผู้เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์ อินเดีย ซึ่งได้รับการจัดสรรให้พักอยู่ใน State Quarantine ตามมาตรการสาธารณสุข แม้ยังไม่เกิดการระบาดของสายพันธุ์อินเดียในไทย แต่เป็นประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะชายแดนบริเวณ จ.เชียงราย ประเทศไทย ติดชายแดนประเทศพม่า ซึ่งพม่าตอนเหนือมีชายแดนติดกับประเทศอินเดีย และต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเคยเกิดกรณีการลอบข้ามหนีโควิด-19 ที่แพร่ระบาดใน จ.ท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ่อนกาสิโนใหญ่ของพม่ามายังประเทศไทย จนเป็นต้นตอการแพร่ระลอกที่ผ่านมาในไทยมาแล้ว

อีกทั้งล่าสุด บ่อนการพนันในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมา ได้เปิดบริการแล้ว น่ากังวลว่าอาจทำให้อาจจะมีชาวไทยลักลอบเข้าไปทำงาน-เล่นการพนัน รวมถึงชาวต่างด้าวที่ลอบเข้าเมือง ล้วนแล้วแต่สุ่มเสี่ยงนำเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย-เบงกอลระบาด เข้ามาระบาดในเมืองไทย

นั่นคือหน้าที่ของ “หน่วยงานด้านความมั่นคง” โดยเฉพาะ “ตำรวจ-ทหาร-มหาดไทย-แรงงาน” ตลอดรวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

...เรียกว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ไม่อาจไว้วางใจได้เลยทีเดียว ยิ่งในยามที่ “ข้าวยากหมากแพง” อาจมีข้าราชการบางรายเห็นแก่อามิสสินจ้างมากกว่าความมั่นคงของประเทศก็เป็นได้

ผ่าแผนวัคซีนแห่งชาติ
วันนี้ where are you?
ตัดกลับมาที่ฝาก “การเมือง” ภายใต้การบริหารงานของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกันบ้าง โดยพุ่งเป้าไปที่ “แผนวัคซีนแห่งชาติ” ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนไทยทั้งประเทศที่ “พร้อมจะฉีดวัคซีน” แต่ยังคงต้อง “รอ” เพราะวัคซีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในขณะนี้

ณ เวลานี้ “นายกฯ ลุงตู่” ได้ประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับวิงวอนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะฉีดให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป รวมทั้งปรับกลยุทธ์ใหม่บริหารจัดการวัคซีนใหม่ โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตั้งเป้า 3 ประเด็นหลัก คือ
1. เพิ่มจำนวนวัคซีนจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565
2. เร่งทำงานเชิงรุกเพื่อให้การเจรจาจัดซื้อวัคซีนให้คืบหน้ารวดเร็ว ซื้อให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสรับวัคซีนที่ดีที่สุดครอบคลุมถึงการกลายพันธุ์หรือสายพันธุ์อื่นๆ
3. การปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้ปูพรมฉีดเข็มแรกให้กับประชาชนให้มากที่สุดเพื่อเป็นการ ลดโอกาสในการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนการฉีดวัคซีน ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชน โดยเริ่มต้นในเดือน มิ.ย. 2564 ผ่าน 3 ช่องทาง คือ
1. กลุ่มที่มีการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นหรือ ไลน์แอด หมอพร้อม
2. การจัดขอเข้ารับวัคซีนเป็นกลุ่มหมู่คณะ เช่น ในโรงงานหรือสถานประกอบการขนาดใหญ่ และ
3. เปิดให้ประชาชนทั่วไป walk in โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า ตามจุดบริการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสำหรับประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรือติดปัญหาในการจองฉีดวัคซีนให้เข้าถึงได้มากที่สุด

สำหรับแผนการปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ตามยุทธศาสตร์ต้องฉีดวัคซีนในครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยพื้นที่ซึ่งมีการระบาดเช่นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่ก็เป็นไปตามความสมัครใจในการรับวัคซีน

ส่วนแผนที่จะให้ประชาชนสามารถเข้ามารับวัคซีนได้โดยไม่ต้องนัดหมายนั้น จะเน้นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีประวัติการรักษาในสถานพยาบาล เป็นบุคคลกลุ่มอาชีพเสี่ยงเช่นกลุ่มพนักงานขับรถโดยสาร คนขับรถแท็กซี่ โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆ ที่จัดให้เป็นจุดวัคซีน ซึ่งเป็นสถานที่เปิดโล่งมีระบบระบายอากาศมีระบบระบายอากาศและรองรับคนจำนวนมากได้เพื่อลดความแออัดเช่นสถานีกลางบางซื่อ จามจุรีสแควร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว เดอะมอลล์บางกะปิ

ทั้งนี้ จะมีการแบ่งสัดส่วนของการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในแต่ละจุดแตกต่างกันตาม สถานการณ์และการประเมินของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ เช่น อาจกำหนดให้กลุ่มที่มีการนัดหมายผ่าน LINE แอดหมอพร้อมหรือแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม ร้อยละ 30 กลุ่มประชาชนที่ทางโรงพยาบาลประสานร้อยละ 50 และผู้ที่เดินทางเข้ารับวัคซีนด้วยตนเองโดยมิได้นัดหมายร้อยละ 20 โดยการเข้ารับวัคซีนนั้นจะใช้เกณฑ์ตามข้อบ่งชี้การใช้ทางการแพทย์ ไม่มีการเลือกยี่ห้อวัคซีนเองได้

สำหรับตัวเลขการฉีดวัคซีนโดยสรุปข้อมูลถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นั้น “ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 หรือ ศบค.” รายงานเอาไว้ว่า จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 12 พ.ค. 2564) รวม 2,040,363 โดส ใน 77 จังหวัด โดยเป็นผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 1,395,130 ราย และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 645,233 ราย

ส่วนปริมาณการสั่งซื้อวัคซีนของไทยนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ไทยจะมีวัคซีนซิโนแวคนำเข้ามาในประเทศรวมทั้งสิ้น 6 ล้านโดส ส่วนแอสตร้าเซเนก้าซึ่งถือเป็น “วัคซีนหลัก” ของไทย ก่อนหน้านี้มีการ “นำเข้า” มาแล้วล็อตหนึ่ง จากนั้นจะสามารถผลิตในประเทศและทะยอยส่งมอบเป็นลำดับ โดยในสิ้นปี 2564 นี้จะมีจำนวนทั้งสิ้นรวม 61ล้านโดส ด้าน “ไฟเซอร์” ที่มีการเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมมีคำยืนจาก “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า จะได้รับจำนวน 10-20 ล้านโดส โดยเริ่มส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2564

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยังได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนของ “โมเดอร์นา” เป็นที่เรียบร้อยไปอีกชนิด นับเป็นวัคซีนตัวที่ 4 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนต่อจาก “ซิโนแวค แอสตร้าเซเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” โดยคาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำ “โมเดอร์นา” มาให้บริการในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ที่สมัครใจจ่ายเงินเอง เพียงแต่ขณะนี้ทางบริษั่ฯ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าหากไทยมีการสั่งซื้อจะส่งมอบวัคซีนได้เมื่อไหร่

เอาเป็นว่า ต้นเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีนเข้าในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะแอสตร้าเซเนก้าจะส่งมอบล็อตใหญ่ถึง 4,300,000 โดส

เพราะฉะนั้น เตรียมเนื้อเตรียมตัวไปฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของ “หมอ” เพื่อชาติ ส่วน “รัฐบาลลุง” ก็ถอยออกมาจากการใช้ “การเมืองนำการแพทย์” ได้แล้ว.

15 พ.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์