ผู้เขียน หัวข้อ: ‘ระบบบัตรทอง’ ทำรพ.ขาดทุน ประชาชนได้กำไร...จะเลือกฝ่ายไหน  (อ่าน 733 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “บัตรทอง” ป้องกันคนไทยที่ไม่มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพต่าง ๆ ล้มละลายจากการเจ็บป่วย คนกลุ่มนี้มีอยู่กว่า 48 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ชาวบ้านทั่วไป มีทั้งกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ

กรณีผลการวิจัย ทีดีอาร์ไอ “เรื่องผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ถูกนักวิชาการนำไปกล่าวในบทความ จนผู้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า อัตราการตายของผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทอง “สูงผิดปกติ” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขียนชี้แจงข้อเท็จจริงในเว็บไซต์ www.tdri.or.th ระบุว่า “ทีดีอาร์ไอได้รายงานอัตราการตายของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองสูงผิดปกติ” ตัวอย่างที่ปรากฏในบทความของนักวิชาการทั้งสองว่า ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีที่ใดในรายงานการศึกษา การที่นักวิจัยของทีดีอาร์ไอกล่าวว่า “ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน” ก็แตกต่างเป็นอย่างมากกับการกล่าวว่า “ประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองนั้นตายเพราะ มีการศึกษาต่ำกว่า ความรู้น้อยกว่า ไม่รู้จักดูแลตัวเอง” ในบทความของนักวิชาการทั้งสอง ซึ่งชวนให้เข้าใจว่าเป็นคำกล่าวของนักวิจัยทีดีอาร์ไอ เพราะประโยคแรกเป็นเรื่องข้อเท็จจริง แต่ประโยคหลังแฝงไปด้วยทัศนคติที่ดูถูกประชาชน

ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิจัยทีดีอาร์ไอในฐานะผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ อธิบายว่า อาจจะมีการตีความหมายในลักษณะที่ว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในระบบสวัสดิการประกันสุขภาพแห่งชาติ “สูงผิดปกติ” การตีความดังกล่าวไปไกลเกินกว่าผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอและข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพราะการจะสรุปว่าอัตราการเสียชีวิต “สูงผิดปกติ” หรือ “สูงเกินไป” นั้นจำเป็นจะต้องเปรียบเทียบข้อมูลผู้ป่วย 2 ชุดที่มีลักษณะผู้ป่วยเหมือนหรือคล้ายกันมาก

ในยุคที่ไม่มีระบบบัตรทองเข้ามา หากโชคร้ายคนในครอบ ครัวเป็นมะเร็ง โรคไต โรคหัวใจ ใช้เงินค่ารักษาสูงจำนวนทรัพย์สินที่มีอยู่ต้องขายจนหมดสิ้น

“บ่อยครั้งที่เราเห็นครอบครัวต้องล่มสลายเพราะมีหนี้สินที่เกิดจากการกู้เงิน มารักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรคมะเร็ง โรคไตวาย โรคหัวใจและหลอดเลือดสมองที่มีค่าใช้จ่ายสูง เราต้องเห็นผู้ป่วยไตวายต้องเสียชีวิตด้วยภาวะน้ำท่วมปอด โพแทสเซียมสูง ตายต่อหน้าต่อตา เพราะไม่สามารถฟอกไตด้วยเครื่อง จะส่งตัวมารับการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ผู้ป่วยและครอบครัวก็ไม่กล้ามา เพราะกลัวเสียค่าใช้จ่ายสูง” นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สะท้อนมุมมองในฐานะแพทย์คนหนึ่งที่เห็นปรากฏการณ์การเจ็บไข้ของผู้คนในช่วงก่อนและหลังการมีบัตรทอง

“มีอาการเหนื่อย บวมหาย ใจไม่ออก หมอที่ รพ.สอยดาวบอกว่าต้องผ่าตัดไม่เช่นนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน หมอส่งไป รพ.พระปกเกล้า หนึ่งเดือนได้รับการผ่าตัดโดยใช้สิทธิ 30 บาท ไม่เสียเงินเลยหมอดูแลดีมาก ถ้าไม่ได้บัตรทอง 30 บาทป่านนี้เป็นขี้เถ้าอยู่ไหนแล้ว ขอบคุณที่ช่วยชีวิตเพราะลำพังเงินทองที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็หายาก ค่าผ่าตัดเป็นแสนหนูไม่มีเงินพอหรอก” น.ส.วันเพ็ญ ศรศรี วัย 37 คนไข้บัตรทอง ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว 1 เส้น

ทุกวันนี้โรงพยาบาลของรัฐอยู่ในภาวะขาดทุน จำเลยหนึ่งคือคนไข้บัตรทองที่เข้ามาใช้บริการทำให้โรงพยาบาลขาดรายได้ เพราะการจ่ายค่ารักษาต่อหัวของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้รายหัวละ 2,895 บาทต่อปี แต่กว่า 48 ล้านคน ไม่ได้เจ็บป่วยทั้งหมด ขณะที่ รพ.บางแห่งไม่ขาดทุน ส่วนหนึ่งมีระบบบริหารจัดการที่ดี ขณะที่สาเหตุการขาดทุนบางแห่งประชากรน้อยทำให้งบอัตราเฉลี่ยต่อหัวของประชากรไม่เพียงพอ

นพ.สมศักดิ์ ยอมรับว่ารายรับของโรงพยาบาลย่อมลดลง รายจ่ายต้องมากขึ้น เพราะต้องรักษาผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น แต่เดิมคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ก็ไม่มา อีกทั้งระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาเป็นไปตามกลุ่มโรค (DRG) ไม่ได้เป็นไปตามค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากโรงพยาบาลจริง ๆ

ถ้าเรามองว่าการขาดทุนครั้งนี้ คือ การขาดทุนเพื่อกำไร หมายความว่าโรงพยาบาลของรัฐขาดทุนก็จริง แต่ประชาชนได้กำไร คือ สามารถเข้าถึงระบบการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วเราต้องไปกังวลใจให้มากทำไมกับผลประกอบการของโรงพยาบาล เพราะหน่วยงานของรัฐไม่ได้เป็นหน่วยงานที่แสวงหาผลกำไร

“ ผมกลับมองอีกด้านหนึ่งว่าโรงพยาบาลไหนที่บริหารแล้วได้กำไรมาก ๆ ต้องถูกตรวจสอบว่าทำอย่างไรถึงได้กำไรมาก ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ได้มาตรฐานครบถ้วนหรือไม่ มีการกีดกันการเข้าถึงหรือไม่ ไม่ใช้ยาที่เป็นมาตรฐานและควรได้รับหรือไม่ มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลด้วยบัญชีที่ค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าความเป็นจริงที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพื่อทำให้ค่า RW (RW- Relative weight ค่าเฉลี่ยของการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วย DRG นั้นเทียบกับต้นทุนเฉลี่ยของการรักษาผู้ป่วยทั้งหมด) สูงขึ้น”

นพ.สมศักดิ์ ระบุว่าบัตรทอง ทำให้การรักษาต่าง ๆ ได้มาตรฐาน มีระบบการต่อรองราคายา มีการจัดซื้อยาที่ได้ราคาถูกลง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงระบบการรักษาเพิ่มมากขึ้น ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ต้องได้รับ สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดีขึ้นมากกว่าคำว่าขาดทุนหรือกำไร มากกว่าคำว่าระบบการรักษา 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ดี ทำให้เสียชีวิตมากกว่าสิทธิข้าราชการ บัตรทองทำให้คนไทยไม่สิ้นเนื้อประดาตัวจากการเจ็บป่วย และโยงไปถึงจะช่วยหยุดปัญหาความยากจน ปัญหาสังคมต่าง ๆตามมาเมื่อคิดให้ลึกหากคนป่วยนั้นเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเด็กที่จะมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป.

พรประไพ เสือเขียว /article@dailynews.co.th“

เดลินิวส์
7 กค 2558