ผู้เขียน หัวข้อ: จุฬาฯ ชี้ "โรคเมอร์ส-โควี" ตายสูง แต่รุนแรงน้อยกว่า "ซาร์ส" 5 เท่า ระบาดสู่คนยาก  (อ่าน 705 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
หมอผู้เชี่ยวชาญจุฬาฯ ชี้ "โรคเมอร์ส-โควี" ป่วยแล้วโอกาสตายสูงถึง 37% ยิ่งสูงอายุโอกาสตายยิ่งสูงขึ้น แต่การแพร่จากคนสู่คนต่ำกว่า 1 คน ต่ำกว่าอีโบลา ไข้หวัดใหญ่ เอดส์ หัด ฯลฯ ย้ำรุนแรงน้อยกว่าโรคซาร์ส 5 เท่า เผยเกาหลีใต้ระบาดแบบสุดยอด "ซูเปอร์ สเปรด" เหตุไม่รู้ว่าป่วย ส่งผลระมัดระวังต่ำ ย้ำคนไทยไปประเทศระบาดหากป่วยต้องแจ้งทันที
       
       วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวระหว่างแถลงข่าวเรื่อง “มหันตภัยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง/เมอร์สโควี” ว่า ส่วนตัวขอเรียกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 ว่าโรคปอดบวมตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) หรือที่เรียกกันว่าโรคเมอร์ส-โควี เนื่องจากสะท้อนลักษณะอาการรุนแรงและพื้นที่ที่พบเชื้อนี้ครั้งแรก โดยไวรัสนี้เป็นกลุ่มเดียวกับไวรัสซาร์ส แต่โอกาสการแพร่ระบาดจากคนสู่คนน้อยกว่าโรคซาร์ส 5 เท่า ทำให้การแพร่ระบาดส่วนใหญ่จึงยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง โอกาสแพร่ระบาดไปทั่วโลกน้อยต่างจากโรคซาร์สที่มีโอกาสสามารถแพร่ไปทั่วโลกได้มากกว่า
       
       ทั้งนี้ โรคเมอร์ส-โควีปัจจุบันยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน การรักษาจึงเป็นการประคับประคองตามอาการ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อโรคขึ้นมาเอง มีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 37% ถือว่าสูงมาก และสูงขึ้นตามอายุ โดยเด็กและวัยรุ่นมีโอกาสป่วยตายต่ำกว่าผู้สูงอายุ และปัจจุบันยังไม่พบว่าเชื้อไวรัสตัวนี้มีการเปลี่ยนแปลบงทางพันธุกรรมหรือกลายพันธุ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้โรคเมอร์ส-โควีจะมีอัตราการแพร่ระบาดจากคนสู่คนต่ำ แต่สำหรับการระบาดที่เกาหลีใต้ ถือเป็นการแพร่กระจายแบบสุดยอดหรือ ซูเปอร์ สเพรด (Super spread) คือแพร่ระบาดเร็วและจำนวนมาก จากคนเกาหลีที่ติดเชื้อจากพื้นที่ตะวันออกกลางเข้ามาในประเทศ และมีผู้ติดเชื้อต่อไปอีกถึง 30 คนในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์
       
       "สาเหตุของการแพร่ระบาดเร็วคาดว่ามาจากความไม่รู้ ทำให้ไม่มีการระมัดระวังตัว โอกาสแพร่กระจายเป้นจำนวนมากจึงสูง ดังนั้น แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการห้ามเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด แต่หากเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดภายใน 14 วัน แล้วมีอาการไข้ ควรไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อตรวจเชื้อ ไม่ว่าสุดท้ายจะติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม เพราะการแจ้งว่าป่วยจะช่วยให้มาตรการป้องกัน เฝ้าระวังโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากติดเชื้อจริงก็จะติดตามผู้สัมผัสโรคได้ไว ไม่เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง" ศ.นพ.ยง กล่าว
       
       ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสิทธิกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและโรคติดเชื้อ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคเมอร์ส-โควีติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วเพียง 5 นาทีก็สามารถติดต่อกันได้ โดยผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การสัมผัสกับอูฐ อย่างไรก็ตาม อัตราการแพร่กระจายจากคนสู่คนถือว่าน้อย โดยโรคเมอร์ส-โควีผู้ป่วย 1 คนสามารถแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่นได้ 0.60-0.69 คน ซึ่งน้อยกว่าโรคอื่นๆ มาก เช่น โรคหัด 1 คน แพร่กระจายได้ 12-18 คน คางทูม 1 คน แพร่กระจายต่อได้อีก 4-7 คน เอชไอวี 1 คน แพร่กระจายต่อได้ 2-5 คน ไข้หวัดใหญ่ 1 คน แพร่กระจายต่อได้ 2-3 คน และอีโบลา 1 คน กระจายต่อได้อีก 1.5-2.5 คน ดังนั้น โอกาสที่โคโรนาไวรัสจะแพร่กระจายเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนจึงมีน้อย กลุ่มเสี่ยงจริงๆ คือ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูบบุหรี่ และสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
       
       ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางระบบเฝ้าระวังและการคัดกรองผู้ป่วย การควบคุมป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายของเชื้อ การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการดูแลรักษาในโรงพยาบาล โดยมีการให้ความรู้ คำแนะนำประชาชน รวมทั้งระบบการติดตามเฝ้าระวัง ผู้เดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลางเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อยหายใจลำบากขอให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค (http://beid.ddc.moph.go.th)
       
       ทั้งนี้ รายงานองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 จำนวน 1,172 ราย เสียชีวิต 442 ราย จาก 25 ประเทศ โดยในเอเชียปีนี้พบที่เกาหลีใต้และจีน สำหรับประเทศไทยขณะนี้ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคนี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 มิถุนายน 2558