ผู้เขียน หัวข้อ: “สิทธิสุขภาพเด็กข้ามชาติ”…มนุษยธรรมที่รอการสานต่อจาก รมว.สธ.ใหม่  (อ่าน 1166 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
“เวลาลูกไม่สบายเราก็ไม่กล้าพาไปหาหมอในเมือง เรามีบัตรถูกต้องนะ แต่สิทธิไม่ครอบคลุมถึงลูก  ค่ารักษาแพงเหลือเกิน ทำงานได้ค่าแรงวันละไม่กี่บาท เงินค่ารักษาลูกก็ไม่พอ เราเลยพาลูกมารักษาที่นี่แทน”

มะเอชายชาวพม่าวัย 39 ปี ที่เข้ามาขายแรงงานด้านการเกษตรในประเทศไทย บอกเล่าความรู้สึกให้เราฟังถึงความยากลำบากที่ต้องพาลูกสาวอายุ 5 ขวบที่เจ็บป่วยด้วยอาการไข้ขึ้นสูงเข้ามารักษาพยาบาลที่คลีนิคแม่ตาว ถนนสายแม่สอด-ริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก

ไม่เฉพาะครอบครัวมะเอเ แต่ที่คลินิกแม่ตาวแห่งนี้ยังมีแรงงานข้ามชาติหอบลูกจูงหลานเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก นอกจากลูกสาวของมะเอที่ป่วยด้วยไข้ขึ้นสูงแบบไม่ทราบสาเหตุแล้ว ในเตียงถัดไปยังมีเด็กน้อยวัย 5 เดือนที่ป่วยด้วยอาการไข้ขึ้นสูงและชักจนขาดอากาศหายใจ นอนให้ออกซิเจนอยู่ข้างๆ  ภาพเหล่านี้เป็นที่ชินตาสำหรับคนที่นี่ หากแต่พิจารณาสภาพแวดล้อม พร้อมทั้งอุปกรณ์ และจำนวนของเด็กๆ ที่เข้ามารับการรักษาแล้ว คลินิกแห่งนี้ไม่สามารถรองรับจำนวนของเด็กที่ป่วยในแต่ละวันได้ทันอย่างแน่นอน

น.ส.เอคพอ อาสาสมัครสาธารณสุขคลินิกแม่ตาวเปิดเผยสถานการณ์การรักษาของคลีนิคว่าทุกวันจะมีเด็กเข้ามารับการรักษาไม่ต่ำกว่า 100 คนต่อวัน ส่วนมากเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ปอด หลอดลม ไข้ขึ้นสูง ที่นี่ทำการรักษาเด็กหมดทุกคนไม่ว่ามาจากที่ไหน เด็กที่เข้ามารับการรักษาในคลีนิคมีอยู่ 2 ประเภทคือเด็กที่พ่อแม่พาข้ามมาจากพม่าเพื่อเข้ามารับการรักษาในคลีนิคนี้โดยเฉพาะ และเด็กที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานในไทย เด็กๆเหล่านี้ไม่มีสิทธิการรับการรักษาในไทย ที่นี่ช่วยเหลือและรักษาอย่างเต็มที่ ถ้าหากมีอาการหนักก็จะส่งตัวไปรักษาต่อที่รพ.แม่สอด หรือไม่ก็เชียงใหม่ที่คลีนิคทำโครงการรักษาพยาบาลฟรีไว้ แต่ก็รักษาเด็กที่อาการหนักได้ไม่เพียงพอ

“นอกจากทำการรักษาตามอาการเจ็บป่วยของเด็กๆแล้วเรายังเปิดคลินิกในวันจันทร์พุธและศุกร์เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเบื้องต้นให้กับเด็กๆซึ่งแต่ละวันจะมีเด็กๆเข้ามาใช้บริการฉีดวัคซีน80-90คน ปัญหาสำคัญขณะนี้คือการรักษษอาจจะไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กๆที่เจ็บป่วยจำนวนมากในแต่ละวันซึ่งหากจะมีวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เด็กๆสามารถเข้าไปใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในประเทศไทยได้ด้วยก็จะเป็นการดีกับเด็กมาก” แพทย์ประจำแผนกกุมารเวชของคลินิกแม่ตาวกล่าว

ทั้งนี้ความหวังในการได้รับสิทธิรักษาพยาบาลจากรัฐไทยดูเหมือนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อนายวิทยาบูรณศิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนก่อนประกาศนโยบายสุขภาพดีที่ชายแดน 31 จังหวัดแนวชายแดนไทยกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้านตลอด 5,820 กิโลเมตร เน้น 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมมาตรฐานเหมือนพื้นที่ปกติให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างด้าวเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศ และการบริหารจัดการ โดยเพิ่มสิทธิการเข้าถึงบริการนี้จะมีการจัดทำบัตรสุขภาพให้เด็กไทยและเด็กต่างด้าว อายุ 0-6 ปี  มีเลขประจำตัว 13 หลัก พร้อมที่อยู่ชื่อบิดามารดา มีวันหมดอายุ เพื่อบันทึกสุขภาพตลอดจนการรับวัคซีนของเด็กทุกคน โดยเด็กและหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับรับบริการในสถานพยาบาลได้ต่อเนื่อง

แม้นโยบายนี้ยังไม่ถูกนำมาปฏิบัติยังไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติแต่ได้จุดประกายความหวังให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจากข้อมูลของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติระบุตัวเลขเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทยและยังไม่ได้สิทธิในการรับการรักษาพยาบาลและหลักประกันสุขภาพที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนราษฎรในปัจจุบันมี 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง เด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทยแต่พ่อแม่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานาน และได้รับการสำรวจตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มชนกลุ่มน้อยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เลขประจำตัวสิบสามหลักของเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยเลข 7

กลุ่มที่สอง เด็กไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. 2548 (เลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 0) กลุ่มที่สาม เด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) อายุไม่เกิน 15 ปีที่พ่อแม่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในไทยเป็นการชั่วคราว และอยู่ระหว่างการขอพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง เลขประจำสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 00 กลุ่มที่สี่เด็กที่เกิดหลังจากพ่อแม่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในไทย และไปดำเนินการแจ้งเกิดและถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรแล้ว เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ

นายอดิศรเกิดมงคลตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ บอกว่ามีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนกับลูกหลานแรงงานข้ามชาติเด็กหลายคนถึงแม้จะเข้ามาในประเทศไทยตามพ่อแม่อย่างถูกกฎหมาย แต่สิทธิในการรักษาพยาบาลก็ไม่ได้ครอบคลุม การประกาศนโยบายนี้ของรัฐบาลไทยจึงเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหายังมีอีกหลายเรื่อง อาทิ การเข้าถึงการมีสถานะบุคคล ซึ่งการสำรวจกลุ่มผู้ตกหล่นยังไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสู่การมีสถานะทางทะเบียนและหลักประกันสุขภาพ การขาดระบบฐานข้อมูลประเมินสถานการณ์และงบประมาณให้บริการลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

“ยังมีปัญหาการแจ้งเกิดเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยหลังคลอดยังมีอย่างไม่ทั่วถึง มีความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง หรือการดำเนินการระดับพื้นที่ ส่งผลให้เด็กไม่มีสถานะหลังการเกิด รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่มีสัญชาติบางส่วนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อเรื่องการรับบริการวัคซีนและการติดตามดูแลแม่และเด็กหลังคลอด  และการเข้าถึงข้อมูลหลักประกันสุขภาพยังมีไม่มาก มีข้อจำกัดในเรื่องภาษา อีกเรื่องคือสถานบริการห่างไกลชุมชน ทำให้การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นไปได้ยาก หากรัฐบาลจริงใจ ควรหยิบกรณีเหล่านี้ไปประกอบการดำเนินนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมด้วย”

นายอดิศรยังกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทีเกี่ยวข้องกับการทำงานเรื่องสุขภาพ เพราะยังส่งผลกีดกันการเข้าถึงการบริการของเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย

มีการเปลี่ยนแปลงเจ้ากระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่ “สิทธิและระบบประกันด้านสุขภาพของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ” ยังเป็นความหวังที่พวกเขาจะได้รับ และคาดหวังต่อรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อ “นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” ว่าจะสานต่อนโยบายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพราะ “ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องมนุษยธรรมที่ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติเพศและสถานะ”!!!!!

เสาร์ที่ 03 พฤศจิกายน 2012 เวลา 07:26 น.เขียนโดย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ