ผู้เขียน หัวข้อ: คราวนี้เจอ “ดาวเคราะห์” ที่เหมาะจะพบ “น้ำ” มากกว่าทุกครั้ง  (อ่าน 1199 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
 มีข่าวการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกหรือดาวเคราะห์ที่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้มากขึ้นไปตามเทคโนโลยีและเทคนิคการค้นหาที่ก้าวหน้า และครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่าได้เจอดาวเคราะห์ที่มีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตมากกว่าครั้งไหนๆ เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งน้ำและอาจมีสิ่งชีวิตอาศัยอยู่บนพื้นผิวดาว
       
       ดาวเคราะห์ดังกล่าวนี้เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใน “ตำแหน่งที่อาศัยอยู่ได้” (habitable zone ) ในวงโคจรของดาวแม่ ซึ่งเป็นบริเวณแคบๆ ที่มีอุณหภูมิไม่ร้อนหรือเย็นเกินไปสำหรับน้ำในรูปของเหลวที่จะมีอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์
       
       “มันเป็นเหมือนจอกศักดิ์สิทธิ์สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ต้องการค้นหาดาวเคราะห์ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ในตำแหน่งที่พอเหมาะพอดี ไม่ใกล้เกินไปจนทำให้สูญเสียน้ำและเดือดหายไปหมด และก็ไม่ไกลเกินจนน้ำเย็นจัดกลายเป็นน้ำแข็งไปหมด มันอยู่เหมาะเจาะในตำแหน่งที่อาศัยอยู่ได้ ไม่มีคำถามหรือข้อโต้แย้งในเรื่องนี้เลย มันไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนั้นแบบปริ่มๆ แต่อยู่เข้าไปอยูในนั้นเลย” สตีเฟน วอกท์ (Steven Vogt) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California, Santa Cruz) ในซานตา ครูซ สหรัฐฯ ให้ความเห็นแก่ทางสเปซด็อทคอม
       
       ทั้งนี้ วอกท์เป็นหนึ่งในทีมศึกษาวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ โดยมี กุยเลม แองลาดา-เอสซูเด (Guillem Anglada-Escudé) และ พลอ บัทเลอร์ (Paul Butler) จากสถาบันคาร์เนกีเพื่อวิทยาศาสตร์ (Carnegie Institution for Science) องค์กรวิจัยเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร ในวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ เป็นผู้นำการศึกษาวิจัยครั้งนี้
       
       “ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่เข้าเกณฑ์เอื้อต่อการมีน้ำในรูปของเหลวมากที่สุด และเป็นไปได้ว่าอาจจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอย่างที่เรารู้จัก” แองลาดา-เอสซูเดแถลง
       
       สำหรับดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อเรียกว่า จีเจ 667ซีซี (GJ 667Cc) ซึ่งทีมวิจัยประเมินว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลประมาณ 4.5 เท่าของโลก ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ในเกณฑ์ดาวเคราะห์ที่เรียกว่า “ซูเปอร์เอิร์ธ” (super-Earth) โดยดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวบริวารของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลก 22 ปีแสง ในตำแหน่งกลุ่มดาวแมงป่อง และใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองประมาณ 28 วัน
       
       “นี่คือดาวเคราะห์ข้างบ้านของเราจริงๆ มันอยู่ใกล้เรามาก และมีดาวฤกษ์เพียง 100 ดวงเท่านั้นที่อยู่ใกล้เราขนาดนี้” วอกท์กล่าว และบอกว่าดาวฤกษ์ที่ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบคือดาว จีเจ 677ซี ซึ่งเป็นสมาชิกของระบบดาวสามดวง (triple-star system) และเป็นดาวแคระ (dwarf star) ประเภท M ซึ่งมีมวล 1 ใน 3 เท่าของดวงอาทิตย์ และแม้จะเป็นดาวฤกษ์ที่เลือนลางมาก แต่เราก็มองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์บนโลก
       
       การค้นพบดาวฤกษ์ จีเจ 667 ซีนี้นำความประหลาดใจมาให้นักดาราศาสตร์ด้วย เพราะว่าทั้งระบบดาวนั้นมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างจากดวงอาทิตย์ของมาก โดยมีความหลากหลายของธาตุหนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียมได้แก่ เหล็ก คาร์บอน และซิลิกอนน้อยกว่าดวงอาทิตย์มาก ซึ่งวอกท์กล่าวว่า พวกเขาไม่คาดจริงๆ ว่าดาวฤกษ์ดวงนี้จะมีดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้
       
       ทีมวิจัยระบุว่าการค้นพบโดยบังเอิญนี้หมายความว่า อาจมีความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมที่จะมีโลกอื่นซึ่งเอื้อต่อการดำรงชีวิตมากกว่าที่เราเคยคิดก็ได้ ส่วนรายละเอียดของงานวิจัยนั้น พวกเขาได้ตีพิมพ์ลงวารสารแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัลเลตเตอร์ส (Astrophysical Journal Letters)
       
       วอกท์กล่าวว่ายังมีดาวเคราะห์ซูเปอร์เอิร์ธอีกดวงที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ จีเจ 667ซีกว่าดวงเคราะห์ดวงล่าสุดนี้ โดยถูกค้นพบเมื่อปี 2010 แต่ไม่มีการตีพิพิมพ์การค้นพบดังกล่าวดาวเคราะห์ที่ว่านี้คือดาวเคราะห์ จีเจ 667 ซีบี (GJ 667Cb) ซึ่งใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเอง 7.2 วัน แต่ตำแหน่งของดาาวเคราะห์บ่งชี้ว่าเป็นตำแหน่งที่ร้อนเกินกว่าน้ำเหลวจะคงอยู่ที่พื้นผิวได้
       
       การค้นพบครั้งนี้ทีมวิจัยได้อาศัยข้อมูลสาธารณะที่ได้จากหอดูดาวซีกฟ้าใต้แห่งยุโรป (European Southern Observatory) รวมกับข้อมูลจากหอดูดาวเอ็มดับเบิลยูเคค (W.M. Keck Observatory) และข้อมูลจากเครื่องบันทึกสเปกโทรกราฟเพื่อค้นหาดาวเคราะห์คาร์เนกี (Carnegie Planet Finder Spectrograph) ซึ่งติดตั้งที่หอดูดาวแมกเจลแลน 2 (Magellan II Telescope) ในชิลี จากนั้นพวกเขาได้ใช้เทคนิคล่าดาวเคราะห์ด้วยการความสว่างที่หรี่ลงเพียงเล็กน้อยหรือการส่ายของดาวฤกษ์อันเกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 กุมภาพันธ์ 2555