ผู้เขียน หัวข้อ: จับแพะชนแกะได้เจ้าตูบ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1283 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ยามบ่ายอากาศดีวันหนึ่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ในนครนิวยอร์ก ภายในล็อบบี้ของโรงแรมเพนซิลเวเนียคลาคล่ำไปด้วยคนใส่เสื้อขนสัตว์ คนเหล่านี้คือผู้มาร่วมงานชุมนุมนักเพาะพันธุ์สุนัขที่พูดได้เต็มปากว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันก่อนหน้าที่งานแสดงสุนัขเวสต์มินสเตอร์เคนเนลคลับ (Westminster Kennel Club) จะเปิดฉากขึ้น พอถึงวันรุ่งขึ้น สุดยอดสุนัขจากทั่วประเทศในบรรดา 173 สายพันธุ์จะแข่งขันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งที่แมดิสันสแควร์การ์เดนซึ่งอยู่อีกฝั่งถนน ความหลากหลายของน้องหมาที่อวดโฉมอยู่ในล็อบบีโรงแรมมีมากจนน่าเวียนหัว ตั้งแต่ขนาดตัว ขน ลักษณะใบหู ความยาวจมูก ไปจนถึงเสียงเห่า ด้วยเหตุผลทั้งในแง่ปฏิบัติและชวนฝัน เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ได้วิวัฒน์ขึ้นอย่างผิดธรรมชาติด้วยน้ำมือมนุษย์ จนกลายเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายที่สุดบนโลกใบนี้ซึ่งถือ เป็นความสำเร็จอันน่าทึ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สุนัขส่วนใหญ่จากทั้งหมด 350 ถึง 400 สายพันธุ์อุบัติขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี

นักเพาะพันธุ์เร่งความเร็วของวิวัฒนาการโดยรวมเอาลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) จากสุนัขที่แตกต่างกันมาก และขับเน้นลักษณะนั้นๆให้เด่นชัดขึ้นโดยการปรับปรุงพันธุ์ให้รุ่นลูกมีคุณลักษณะอย่างที่ต้องการมากที่สุด นักเพาะพันธุ์สุนัขไม่ได้ตระหนักว่า ขณะทำให้สุนัขหน้าตาแปลกใหม่เกิดขึ้นนั้น พวกเขาได้ เปลี่ยนแปลงยีนหรือลักษณะทางพันธุกรรมที่กำหนดกายวิภาคของสุนัขด้วย นับแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรูปร่างลักษณะอันหลากหลายของสุนัขคือความหลากหลายทางพันธุกรรมที่มีมากพอๆกัน แต่งานวิจัยเกี่ยวกับจีโนมสุนัขที่เฟื่องฟูขึ้นเมื่อไม่นานมานี้กลับให้ข้อสรุปที่น่าแปลกใจและตรงกันข้าม นั่นคือความหลากหลายต่างๆของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง สี เรือนขน และขนาด ส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยการเปลี่ยนแปลงภายในยีนไม่กี่บริเวณเท่านั้น นี่เป็นเรื่องจริงของทุกๆสายพันธุ์และลักษณะทางกายภาพเกือบทุกรูปแบบ ในโครงการชื่อว่า แคนแมป (CanMap) นักวิจัยได้เก็บรวบรวมดีเอ็นเอจากสุนัขกว่า 900 ตัวจาก 80 สายพันธุ์ รวมไปถึงหมาป่า เช่น หมาป่าสีเทาและหมาป่าโคโยตี พวกเขาพบว่า ขนาดตัว ความยาวขน ลักษณะเรือนขน รูปร่างจมูก ตำแหน่งหู สีขน และลักษณะทางพันธุกรรมอื่นๆที่รวมกันขึ้นเป็นลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นั้นๆ อยู่ในความควบคุมของสวิตช์พันธุกรรม (genetic switch) ประมาณ 50 ตัว ความแตกต่างระหว่างหูตูบกับหูตั้งถูกควบคุมโดยยีนเพียงบริเวณเดียวในโครโมโซมคู่ที่สิบของสุนัข หรือซีเอฟเอ 10 (CFA 10) หนังย่นๆของสุนัขพันธุ์ชาเป่ยของจีนถูกกำหนดในอีกบริเวณที่ชื่อว่า เอชเอเอส2 (HAS2) ขนหลังอานของพันธุ์โรดีเชียนริดจ์แบ็กเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในบริเวณซีเอฟเอ 18 (CFA 18) เพียงแค่สับสวิตช์ไม่กี่ตัวก็ทำให้ดัชชุนด์ของคุณกลายเป็นโดเบอร์แมน อย่างน้อยก็ในด้านรูปร่าง แล้วพอสับสวิตช์อีกทีจากโดเบอร์แมนก็จะกลายเป็นดัลเมเชียน คำถามชวนฉงนก็คือ เพราะเหตุใดสุนัขถึงแตกต่างจากสัตว์อื่นนักเล่า

นักวิจัยบอกว่า คำตอบอยู่ในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการอันไม่ธรรมดาของพวกมันนั่นเอง สุนัขเป็นสัตว์พวกแรกที่กลายเป็นสัตว์บ้าน กระบวนการนี้เริ่มขึ้นในช่วงระหว่าง 20,000 ถึง 15,000 ปีก่อน โดยน่าจะเริ่มจากการที่หมาป่าสีเทามากินเศษอาหารรอบๆแหล่งที่พักอาศัยของมนุษย์ ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสุนัขมีความเห็นต่างกันไปในประเด็นที่ว่ามนุษย์มีบทบาทมากน้อยเพียงใดในวิวัฒนาการขั้นต่อไป แต่ในที่สุดความสัมพันธ์ดังกล่าวกลายเป็นการพึ่งพากันและกัน พวกเราเริ่มใช้สุนัขในการล่าสัตว์ ป้องกันตัว และเป็นสหาย ส่วนสุนัขกึ่งป่ากึ่งบ้านเหล่านั้นก็ได้รับการปกป้องจากสภาพแวดล้อมในธรรมชาติที่ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะมีชีวิตรอดและสืบทอดวงศ์วานต่อไปได้ แม้ว่าพวกมันจะมีการกลายพันธุ์ที่เป็นอันตราย (หรือเป็นภัยแก่ตัว) อย่างขาสั้นและอ้วนป้อม ซึ่งหากเป็นประชากรกลุ่มเล็กๆในป่าก็คงไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้

หลายพันปีต่อมา นักเพาะพันธุ์ได้หันมาใช้วัตถุดิบที่หลากหลายเหล่านั้นเมื่อเริ่มลงมือสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยมักเลือกลักษณะที่ต้องการจากสายพันธุ์ต่างๆ หรือพยายามทำให้เกิดการกลายพันธุ์แบบเดิมซ้ำๆในสายพันธุ์หนึ่งๆ เพื่อให้ได้สุนัขแบบที่ต้องการ พวกเขายังชอบลองของใหม่ เพราะยิ่งมีสุนัขรูปแบบแปลกใหม่เกิดขึ้นมากเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่มากขึ้นเท่านั้น การค้นพบเหล่านี้มีนัยหรือส่งผลกระทบหลายประการที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าใจ ที่สำคัญที่สุดคืออาจช่วยให้เราเข้าใจความผิดปกติทางพันธุกรรมในมนุษย์ได้ เป็นที่รู้กันว่าโรคสุนัขกว่าร้อยโรคมีความเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ในยีนที่จำเพาะเจาะจง และมีหลายกรณีที่คล้ายคลึงกับโรคในมนุษย์ โรคเหล่านั้นอาจมีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ทั้งชุดที่ทำให้สุนัขเสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์ แต่การที่สุนัขมีการแตกแขนงทางพันธุกรรมออกเป็นสายพันธุ์ต่างๆจากต้นกำเนิดเพียงไม่กี่สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จึงมีชุดของยีนผิดแผกออกไป และทำให้เกิดโรคจำนวนน้อยมาก โดยพบได้บ่อยเพียงหนึ่งหรือสองชุดเท่านั้น เช่น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ที่ศึกษาโรคตาที่เกิดจากความเสื่อมอย่างโรคจอตามีสารสี (retinitis pigmentosa) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในมนุษย์และสุนัข พบว่ามียีน 20 ยีนในสุนัขที่เป็นสาเหตุของความผิดปกตินี้ แต่ยีนที่เป็นเหตุให้สุนัขพันธุ์ชเนาเซอร์และพูเดิ้ลป่วยนั้นเป็นคนละยีนกัน ทำให้นักวิจัยพบเบาะแสที่จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาในมนุษย์ได้ สรุปคือ ในขณะที่นักผสมพันธุ์ยุควิกตอเรียกำลังสร้างสุนัขให้ได้อย่างที่ต้องการ พวกเขาก็ได้สร้างกลุ่มประชากรสุนัขที่มีพันธุกรรมจำเพาะขึ้นมา โดยไม่รู้มาก่อนเลยว่าพวกมันจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตเป็นอย่างมาก โอกาสที่จะไขปริศนานี้ได้มีมากโดยเฉพาะกับโรคมะเร็ง เช่น มีการพบมะเร็งบางชนิดในสุนัขบางสายพันธุ์มากถึงร้อยละ 60 แต่ในมนุษย์พบเพียงหนึ่งใน 10,000 คนเท่านั้น และแม้ว่าพฤติกรรมสุนัขจะเป็นคุณลักษณะที่แคนแมปยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างกระจ่างชัดด้วยการศึกษายีน พวกเขาพบว่าพฤติกรรมที่พบได้บ่อยอย่างความซื่อสัตย์และหวงแหนเจ้าของ หรือสัญชาตญาณในการต้อนสัตว์ ล้วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมอย่างเห็นได้ชัด แต่พฤติกรมเหล่านี้ก็อาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอย่างภาวะโภชนาการของสุนัข ไปจนถึงการมีเด็กอยู่ในบ้าน ซึ่งยากต่อการวัดหรือชี้ชัดได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม “พวกเรายังมีโอกาสในการทำความเข้าใจพฤติกรรมสุนัขได้ดีพอๆกันหรือดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น” นักวิจัยคนหนึ่งของแคนแมป กล่าว เพราะยังมีคนรักสุนัขอีกหลายล้านคนที่ยินดีและกระตือรือร้นที่จะช่วยทำงานภาคสนามให้ลุล่วง

กุมภาพันธ์