ผู้เขียน หัวข้อ: สงบก่อนหายนะจะมาเยือน-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1649 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เกือบทุกปีสึนามิจะโจมตีสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งในโลก และสึนามิครั้งใหญ่ๆก็อาจถึงกับพลิกประวัติศาสตร์เลยทีเดียว นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสึนามิในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ถล่มชายฝั่งทางเหนือของเกาะครีตเมื่อกว่า 3,500 ปีมาแล้วทำให้อารยธรรมมิโนนที่เคยรุ่งเรืองถึงกับเสื่อมทรุดจนพ่ายแพ้แก่ชาวไมซีเนียน หรือจะเป็นเหตุการณ์ในปี 1755 เมื่อแผ่นดินไหวและสึนามิคร่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นคนในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส มหันตภัยในครั้งนั้นฝากรอยประทับไว้ในความทรงจำของชาวตะวันตกตลอดกาล เพราะช่วยล้มล้างโลกทัศน์มองโลกในแง่ดีเกือบถึงขั้นงมงายของผู้คนในยุคนั้นจนหมดสิ้น

ในศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกนามธูซีดิดิส เป็นคนแรกที่บันทึกความเชื่อมโยงระหว่างแผ่นดินไหวกับสึนามิ เขาสังเกตว่า สิ่งบอกเหตุแรกของการเกิดสึนามิคือ ระดับน้ำในอ่าวที่ลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากทะเล ดึงน้ำออกไปจากชายฝั่ง เขาบันทึกไว้ว่า “หากไม่ใช่เพราะแผ่นดินไหวแล้ว ไม่มีทางที่น้ำจะลดได้เร็วเพียงนี้” แต่จริงๆแล้วสาเหตุอื่นก็ทำให้ระดับน้ำทะเลลดลงได้อย่างเช่นสึนามิที่คร่าชีวิตชาวมิโนนเกิดจากจากการระเบิดอย่างรุนแรงของเกาะภูเขาไฟ และแผ่นดินถล่มก็ทำให้เกิดสึนามิได้ ขอเพียงมีหินปริมาตรมหาศาลเคลื่อนที่อย่างฉับพลันในมวลน้ำขนาดใหญ่โดย ไม่จำเป็นต้องเป็นทะเลหรือมหาสมุทรเสมอไป แต่สึนามิส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้พื้นสมุทรตามแนวรอยเลื่อนที่เรียกว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) ตลอดแนวเหล่านี้เป็นเขตที่แผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนปะทะกัน โดยเปลือกโลกใต้สมุทร (oceanic crust) ที่มีความหนาแน่นกว่าจะมุดตัวเข้าใต้เปลือกโลกภาคพื้นทวีป (continental crust) ที่เบากว่า ทำให้เกิดเป็นร่องลึกก้นสมุทร ปกติแล้วกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆในอัตราปีละไม่กี่เซนติเมตร แต่บางครั้งบางคราว ณ จุดใดจุดหนึ่ง เปลือกโลกทั้งสองกลับชะงักติด

กระทั่งอีกหลายศตวรรษต่อมาเมื่อแรงเค้นและความเครียดที่สะสมเรื่อยมามีมากกว่าแรงเสียดทาน เปลือกโลกทั้งสองจึงเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่นมีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้พื้นสมุทร 30 กิโลเมตร จากนั้นจึงส่งแรงสั่นสะเทือนขึ้นมาตามแนวรอยเลื่อนจนถึงร่องลึกญี่ปุ่น (Japan Trench) ที่พื้นสมุทร พลังงานที่ปลดปล่อยออกมานั้นเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโระชิมะ 8,000 ลูก ส่วนหนึ่งของพลังงานมหาศาลนั้นผลักพื้นสมุทรให้เคลื่อนตัว เป็นเหตุให้น้ำทะเลเหนือพื้นสมุทรยกตัวและลดต่ำในเวลาเดียวกันจนเกิดเป็นสึนามิ คลื่นธรรมดาในมหาสมุทรเป็นเพียงระลอกบนพื้นผิวทะเลที่เกิดจากแรงลม แต่สึนามิจะหอบหรือผลักมวลน้ำทั้งหมดจากพื้นสมุทรขึ้นมา การเคลื่อนที่ของคลื่นในช่วงแรกๆจะแผ่ออกในทิศทางตรงกันข้ามจากแนวรอยเลื่อนโดยอยู่ในรูปของคลื่นยาว โดยยอดคลื่นอาจห่างกันถึงราว 500 กิโลเมตร เราแทบไม่สังเกตเห็นความผิดปกติในน่านน้ำลึกนอกชายฝั่ง แต่เมื่อเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น คลื่นจะยกตัวสูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จนอาจกลายเป็นคลื่นสูงนับสิบเมตรหรือกำแพงน้ำขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับลักษณะของชายฝั่ง คลื่นยักษ์นี้ยังคงอันตราย แม้จะเดินทางข้ามมหาสมุทรมาแล้วก็ตาม โดยเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงมากราวกับเครื่องบินไอพ่น สึนามิที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนรอบมหาสมุทรอินเดีย มีจุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อพื้นสมุทรแยกออกอย่างฉับพลันเป็นทางยาว 1,600 กิโลเมตร และเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ที่มหารอยเลื่อนย้อนซุนดา (Sunda megathrust) อินโดนีเซียจึงได้รับความเสียหายมากกว่าประเทศอื่นๆ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 170,000 คน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งอยู่ในบันดาอาเจะห์ เมืองเอกของจังหวัดอาเจะห์ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา แต่ยังมีอีกราว 60,000 คนที่เสียชีวิตในศรีลังกา อินเดีย ไทย ไปจนถึงประเทศในทวีปแอฟริกาตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย หลังมหันตภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคราวนั้น หลายประเทศหันมาร่วมมือกันเพื่อขยายเครือข่ายระบบติดตามสึนามิ ระบบดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องมือที่ติดตรึงอยู่กับพื้นสมุทรหรือที่เรียกว่าเครื่องสึนามิเตอร์ (tsunameter) เป็นตัวตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของความดันน้ำเมื่อคลื่นสึนามิเคลื่อนผ่าน และส่งสัญญาณขึ้นไปยังทุ่นบนผิวน้ำ จากนั้นทุ่นจะส่งต่อข้อมูลไปยังดาวเทียม ซึ่งจะส่งข้อมูลนี้ไปยังศูนย์เตือนภัยทั่วโลกอีกทอดหนึ่ง ก่อนหน้าปี 2004 มีเครื่องตรวจจับดังกล่าวติดตั้งและทำงานอยู่เพียง 6 เครื่อง ทั้งหมดอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดียนั้นไม่มีอยู่เลย แต่ถึงจะมี หลายประเทศในภูมิภาคก็ยังไม่มีศูนย์เตือนภัยระดับชาติที่สามารถแจ้งเตือนชุมชนท้องถิ่นได้ ความผิดพลาดทางนโยบายเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวง ชาวบ้านบนเกาะสุมาตรามีเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่จะหนีเอาตัวรอด แต่สึนามิใช้เวลาเดินทางสองชั่วโมงกว่าจะถึงอินเดีย แต่ที่นั่นกลับมีคนเสียชีวิตถึง 16,000 คน

ขณะนี้มีทุ่นตรวจจับสึนามิในมหาสมุทรทุกแห่งรวม 53 ทุ่น ซึ่งรวมถึง 6 ทุ่นจากจำนวน 27 ทุ่นที่วางแผนจะติดตั้งในมหาสมุทรอินเดีย ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดมหันตภัยอย่างปี 2004 น่าจะลดน้อยลงอย่างมาก แคร์รี ซีห์ ผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์โลกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางแห่งสิงคโปร์และนักวิทยาแผ่นดินไหวบรรพกาลวิทยาเลื่องชื่อคนหนึ่งของโลก กล่าวว่า “ผมคิดว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลกทุกแห่งคือตัวอันตรายครับ” แต่รอยเลื่อนที่ทำให้ซีห์กังวลที่สุด คือมหารอยเลื่อนย้อนซุนดาที่เขาศึกษามานานร่วมสิบปีก่อนจะเป็นต้นเหตุของสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 รอยเลื่อนยักษ์นี้ยาวถึง 6,000 กิโลเมตร ทอดตัวจากพม่าไปจนถึงออสเตรเลีย เมื่อปี 2003 ซีห์และทีมงานได้จำลองประวัติศาสตร์การเกิดแผ่นดินไหวในแถบตอนกลางของเกาะสุมาตราทางฝั่งตะวันตกได้ และนั่นก็ทำให้พวกเขากังวลใจไม่น้อย “เราพบสิ่งที่เราเรียกว่า ซูเปอร์ไซเคิลหรือปรากฏการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ (สองครั้งหรือมากกว่า) ที่มีคาบการเกิดสม่ำเสมอ” ซีห์บอก อย่างน้อยในช่วง 700 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่แถบนั้นของมหารอยเลื่อนย้อนซุนดา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เป็นคู่ทุก 200 ปี แต่ละคู่จะเกิดห่างกันราว 30 ปี คู่หนึ่งเกิดขึ้นราวปี 1350 และ 1380 อีกคู่หนึ่งเกิดในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่สิบเจ็ด ส่วนคู่ที่สามเกิดในปี 1797 และ 1833 นั่นก็ผ่านมาสองศตวรรษแล้ว ดูเหมือนว่าเวลาของแผ่นดินไหวคู่ใหม่ใกล้จะมาถึงแล้ว การค้นพบดังกล่าวทำให้ซีห์กังวลใจมาก จนเมื่อเดือนกรกฏาคม ปี 2004 เขาและทีมงานถึงกับเริ่มแจกจ่ายโปสเตอร์และแผ่นพับเตือนภัยเรื่องสึนามิให้แก่ผู้คนบนหมู่เกาะเมนตาไวที่พวกเขาทำวิจัย ห้าเดือนต่อมาสึนามิก็เข้าถล่มทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ทีมงานของซีห์จึงโด่งดังขึ้น “เราไม่สมควรได้รับคำชื่นชมนั้นหรอกครับ เพราะเราคาดว่ามันจะเกิดอีกบริเวณหนึ่งของรอยเลื่อน” ซีห์เปิดใจ กระนั้นเขาก็ยังยืนยันในคำพยากรณ์เดิม และพอถึงเดือนกันยายน ปี 2007 แผ่นดินไหวครั้งแรกของคู่ที่เขาทำนายไว้ก็เกิดขึ้นจริงๆด้วยระดับความรุนแรง 8.4 ริกเตอร์ แต่ความเสียหายมีน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับแผ่นดินไหว ปี 2004 และเกิดคลื่นสึนามิสูงเพียงราวๆหนึ่งเมตรซัดฝั่งที่ปาดัง เมืองเอกของจังหวัดสุมาตราตะวันตก เขากล่าวว่า “เราพยากรณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ในอีก 30 ปีข้างหน้า ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะเกิดในอีก 30 วินาทีจากนี้หรือในอีก 30 เดือน แต่เราบอกได้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากภายใน 30 ปีนี้” “แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะครับ” เขาพูดต่อ “จะย้ายเมืองทั้งเมืองเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสองร้อยปีครั้งน่ะหรือ ปัญหาพื้นฐานไม่ได้อยู่ที่ว่านักวิทยาศาสตร์มีความรู้ไม่มากพอหรือวิศวกรวางระบบไม่ดีพอ แต่อยู่ที่จำนวนประชากรเจ็ดพันล้านคนของเรา และมีคนมากมายมหาศาลที่ไปอาศัยอยู่ในเขตอันตราย เราสร้างกรอบให้ตัวเองอยู่ในสภาพจนตรอก ผมคิดว่าศตวรรษของการก้มหน้ารับผลที่เราสร้างไว้มาถึงแล้ว”

กุมภาพันธ์