ผู้เขียน หัวข้อ: 150 ปี อสัญกรรมลิงคอล์น-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 788 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในวาระครบรอบ 150 ปีของการลอบสังหารประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ ร่วมรำลึกถึงมรดกที่มหาบุรุษผู้นี้ฝากไว้

แท่นสีดำวางอยู่ลึกลงไปใต้อาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ มีทั้งกระจกหนาและลูกกรงโลหะกั้นราวกับเป็นวัตถุอันตรายซึ่งในบางแง่มุมก็อาจเป็นเช่นนั้น ย้อนหลังไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 1865 ช่างไม้ช่วยกันต่อแท่นหุ้มกำมะหยี่ที่เรียกกันว่า แท่นวางหีบศพลิงคอล์น (Lincoln catafalque) เพื่อจัดวางหีบศพของประธานาธิบดีผู้ถูกลอบสังหารอันเป็นส่วนหนึ่ง ของพิธีศพอย่างเป็นทางการภายในโถงทรงกลมของอาคารรัฐสภา  ผ้าสีดำช่วยอำพรางแผ่นไม้สนหยาบๆที่พวกเขาเร่งมือต่อขึ้น นับจากนั้น แท่นนี้ก็นำออกใช้ในพิธีศพทุกครั้งที่วีรบุรุษหรือบุคคลสำคัญระดับชาติเสียชีวิต เช่น เจมส์ การ์ฟีลด์, วิลเลียม แมกคินลีย์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี และดักลาส แมกอาร์เทอร์ เป็นต้น

            การลอบสังหารเอบราแฮม ลิงคอล์น ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนนี้เมื่อ 150 ปีที่แล้ว ได้รับการเล่าขานและจำลองเหตุการณ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน การเดินทางครั้งสุดท้ายสู่โรงละคร การยิงปืนพกในที่นั่งชั้นพิเศษของประธานาธิบดี การกระโจนหนีลงสู่เวทีอย่างบ้าบิ่นของฆาตกรผู้เป็นนักแสดง และการถึงแก่อสัญกรรมในอีกหลายชั่วโมงต่อมาในห้องด้านหลังโรงแรมราคาถูกที่อยู่ใกล้ๆ [บาดแผลฉกรรจ์จากคมกระสุนทำให้การเดินทางกลับทำเนียบขาวแทบเป็นไปไม่ได้] แต่สิ่งที่ผู้คนยังไม่ค่อยล่วงรู้คือเรื่องราวหลังจากนั้น อเมริกาไว้อาลัยแด่ลิงคอล์นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกระบวนการนั้นไม่เพียงนิยามมรดกที่ฝากไว้ของวีรบุรุษอเมริกัน แต่ยังก่อเกิดพิธีกรรมใหม่ในหมู่พลเมืองอเมริกัน นั่นคือช่วงเวลาโศกาอาดูรร่วมกันของคนในชาติ

            ในช่วงหลายสัปดาห์หลังอสัญกรรมของลิงคอล์นและระหว่างที่ขบวนรถไฟเคลื่อนศพออกเดินทางตีวงอ้อมจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กลับสู่บ้านเกิดของประธานาธิบดีที่เมืองสปริงฟีลด์ รัฐอิลลินอยส์ อาจมีชาวอเมริกันราวหนึ่งล้านคนเข้าแถวเพื่อเดินผ่านหีบศพที่เปิดไว้และชมใบหน้าของผู้นำประเทศที่ล่วงลับเพียงแวบหนึ่ง ขณะที่อีกหลายล้านคนหรืออาจมากถึงหนึ่งในสามของประชากรในรัฐทางตอนเหนือของประเทศ ยืนส่งขณะขบวนรถไฟเคลื่อนผ่าน

            วันที่ 19 เมษายน วันแรกของการเดินทางครั้งสุดท้ายของลิงคอล์น ทหาร ข้าราชการ และประชาชน เดินตามขบวนแห่ศพจากทำเนียบขาวไปยังอาคารรัฐสภาเป็นแถวยาวสองสามกิโลเมตร หลายวันก่อนเกิดเหตุลอบสังหาร กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และอีกครึ่งประเทศเพิ่งเฉลิมฉลองการยอมจำนนของฝ่ายสมาพันธรัฐ (Confederate) หรือฝ่ายใต้ที่เมืองแอปโพแมตทอกซ์ ตอนนี้ธงผืนเดียวกับที่โบกประกาศชัยชนะกลับติดแถบผ้าสีดำเพื่อไว้ทุกข์

            สองวันต่อมา รถไฟเก้าตู้เคลื่อนออกจากสถานีรถไฟหลักของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ทว่าเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ขบวนรถก็แล่นตัดเข้าสู่บริเวณที่เพิ่งจะพ้นสถานะดินแดนทาสมาหมาดๆ

            จากฟรีแลนด์ (“ดินแดนเสรี”) สู่นิวฟรีดอม (“เสรีภาพใหม่”) ทางรถไฟสายเก่าค่อยๆไต่ระดับออกจากรัฐแมริแลนด์เข้าสู่เนินเขาของรัฐเพนซิลเวเนีย หมู่บ้านชื่อมงคลหนึ่งในสองแห่งนี้ตั้งอยู่ใต้เส้นเมสัน-ดิ๊กซันซึ่งเป็นเส้นพรมแดนกั้นระหว่างสองรัฐ อีกหมู่บ้านตั้งอยู่ทางเหนือ ก่อนหน้าที่รัฐแมริแลนด์จะออกกฎหมายเลิกทาสเพียงห้าเดือนก่อนลิงคอล์นเสียชีวิต เส้นเมสัน-ดิ๊กซันเปรียบได้กับรั้วไฟฟ้าที่ขวางกั้นระหว่างผู้คนสี่ล้านคนกับอิสรภาพ

            ทุกวันนี้ ทางรถไฟสายเก่าที่ขบวนแห่ศพของลิงคอล์นวิ่งผ่านกลายเป็นเส้นทางเดินป่า เสาไม้ต้นหนึ่ง ม้านั่งอีกตัว และโต๊ะปิกนิกสองสามตัวคือร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ทั้งหมดของเส้นเมสัน-ดิ๊กซัน ผมทรุดตัวลงบนม้านั่งโดยร่างกายซีกซ้ายอยู่ทางใต้ ส่วนซีกขวาอยู่ทางเหนือ นึกอัศจรรย์ใจกับพรมแดนที่มองไม่เห็น ทว่าเคยมีอยู่จริง

            ปราการขวางกั้นที่ก้าวข้ามยากที่สุดในโลก อย่างที่ลิงคอล์นผู้เป็นทนายความและนักเขียนรู้ดี มักไม่ได้ก่อด้วยกำแพงหรือสนามเพลาะ ไม่ใช่กระทั่งเทือกเขาและมหาสมุทร หากเป็นกฎหมายและถ้อยคำ ที่แห่งนี้มีอะไรบางอย่างแตกต่างจากสถานที่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดซึ่งผมเคยไปเยือน ผมรู้สึกได้ถึงการถูกกดขี่เป็นทาส แต่ลิงคอล์นยังรู้ด้วยว่า ไม่ว่าเส้นที่เกิดจากกฎหมายและถ้อยคำจะน่าครั่นคร้ามเพียงใด ก็ลบล้างได้ด้วยกฎหมายใหม่และถ้อยคำใหม่ เขาทำให้เส้นเส้นนี้อันตรธานไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพจะยืนเรียงรายสองข้างทางรถไฟตลอดวันแรกที่ขบวนศพของเขาออกเดินทาง

            แน่นอนว่าเส้นที่มองไม่เห็นเหล่านี้ยังคงพาดผ่านภูมิทัศน์ทั่วสหรัฐฯ ถ้าไม่ใช่ขีดคั่นระหว่างความเป็นทาสกับการเลิกทาส อย่างน้อยก็แบ่งแยกแนวคิดว่าด้วยเสรีภาพของแต่ละบุคคล ลิงคอล์นกับสงครามกลางเมืองยังคงเป็นหมุดหมายแห่งความเสมอภาคสำหรับผู้คนจำนวนมาก

            “เขาตายเพื่อฉัน! เขาตายเพื่อฉัน! ขอพระเจ้าคุ้มครองเขาด้วยเถิด!”

            ถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาทั้งน้ำตาของหญิงสูงวัยคนหนึ่ง ขณะมองหีบศพของลิงคอล์นเคลื่อนผ่านท้องถนนในแมนแฮตตันตอนล่าง สะท้อนถึงสิ่งที่เธอกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนอื่นๆรู้สึกต่อการตายของประธานาธิบดี ชาวอเมริกันทุกคนไม่ว่าผิวขาวหรือผิวดำรู้ดีว่า การเลิกทาสของลิงคอล์นเป็นชนวนของความเคียดแค้นชิงชังที่นำไปสู่การปลิดชีวิตเขา จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจึงหวังจะเป็นผู้ไว้อาลัยแถวหน้าๆ โดยกว่า 5,000 คนวางแผนจะร่วมเดินในขบวนแห่ศพกลางนิวยอร์กซิตี แต่ชาวอเมริกันผิวขาวจำนวนมากไม่คิดเช่นนั้น หลายวันก่อนขบวนรถไฟมาถึง เทศบาลเมืองสั่งห้ามคนผิวดำร่วมขบวน  เอดวิน สแตนตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามส่งโทรเลขเกรี้ยวกราดจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าว  แต่ความกลัวเกิดขึ้นแล้ว ในขบวนแห่มโหฬารบนถนนบรอดเวย์เมื่อวันที่ 24 เมษายน จึงมีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเพียงไม่กี่ร้อยคนรั้งอยู่ท้ายขบวน

            การย้อนรอยขบวนรถเคลื่อนศพของลิงคอล์นทุกวันนี้ คือการตอกย้ำบทเรียนอันขมขื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เมืองบัฟฟาโล ผมแวะชมสถานที่สำคัญในศตวรรษที่สิบเก้าหลายแห่ง ไม่ใช่แค่จุดสิ้นสุดคลองอิรีซึ่งเคยเป็นประตูสู่ดินแดนแถบตะวันตกของสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังมีสถานที่อื่นๆ เช่น โบสถ์แบปทิสต์มิชิแกนสตรีตที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1840 เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชนคนผิวดำที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมอย่างเข้มแข็งในเมืองนี้ นักเทศน์และนักเคลื่อนไหวชื่อดังระดับประเทศขึ้นเวทีในโบสถ์หลังนี้ ขณะที่ทาสหลบหนีซ่อนตัวในห้องใต้ดิน ตลอดช่วงศตวรรษต่อมา มีร้านรวง ภัตตาคาร และสโมสรมากมายเกิดขึ้นและเฟื่องฟูในย่านที่อยู่รอบๆ

            ทุกวันนี้ บัฟฟาโลเป็นเมืองยากจนที่สุดเมืองหนึ่งและมีการแบ่งแยกสีผิวสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โบสถ์หลังเก่าตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเขตเมืองที่ดูวังเวง บิชอปแคลเรนซ์ มอนต์โกเมอรี บาทหลวงผู้ดูแลโบสถ์ในปัจจุบัน เล่าให้ผมฟังว่า มีวัยรุ่นอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เรียนจบมัธยม พื้นที่รอบๆย่านนี้ส่วนใหญ่มีแต่ร้านค้าว่างเปล่าบ้านการเคหะของรัฐ และบ้านแถวชั้นเดียว ผมแปลกใจเมื่อพบว่า ห่างไปเพียงไม่กี่ช่วงตึกตามถนนมิชิแกนอเวนิว เขตเมืองที่ดูซอมซ่อกลับกลายเป็นอีกโลกหนึ่ง มีอาคารแวววาวของสำนักงาน โรงพยาบาล และโครงการก่อสร้างอื่นๆ ที่นี่คือย่านการแพทย์แห่งใหม่ของเมือง เป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ยกเว้นแต่แทบทุกคนที่ผมเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ หรือคนงานก่อสร้าง ล้วนเป็นคนผิวขาว

            ในที่สุด ลิงคอล์นก็ได้รับการทำพิธีฝังที่เมืองสปริงฟีลด์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม หรือเกือบสามสัปดาห์หลังจากเสียชีวิต

            ผมพบว่าหลุมศพออกจะน่าผิดหวัง มีการสร้างใหม่สองครั้งนับตั้งแต่ปี 1865 ครั้งล่าสุดคือช่วงทศวรรษ 1930 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอลังการศิลป์ (Art Deco) สภาพภายในดูเหมือนล็อบบี้สำนักงานไม่มีผิด (มีการย้ายโลงศพของลิงคอล์นไม่น้อยกว่า 14 ครั้งในช่วงหลายสิบปีหลังการทำพิธีฝังครั้งแรกสุด ราวกับไม่มีใครรู้ว่าควรทำอย่างไรกับมันดี) เรื่องราวที่จารึกยาวเหยียดบนผนังสาธยายประวัติชีวิตอย่างละเอียด ยกเว้นเพียงการประกาศเลิกทาส มัคคุเทศก์คนหนึ่งบอกกลุ่มนักท่องเที่ยวว่า ร่างของเขาฝังอยู่ใต้พื้นคอนกรีตลึกสามเมตร

            หลายชั่วโมงต่อมา ผมไปเยือนสุสานอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร ผมไม่เห็นใครสักคนตอนไปถึงมีเพียงป้ายหลุมศพหินสีขาวเหมือนๆกันเรียงรายแถวแล้วแถวเล่า นี่คือสุสานแห่งชาติแคมป์บัตเลอร์ที่ฝังศพผู้เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองกว่าหนึ่งพันคน ส่วนใหญ่ล้มตายจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะสภาพอันเลวร้ายของค่ายฝึกและเรือนจำทหารที่อยู่ใกล้ๆ ทุกคนล้วนเท่าเทียมกันภายใต้แผ่นป้ายหินอ่อนเรียบๆ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารหรือพลทหาร ผิวดำหรือผิวขาวชาวเหนือหรือชาวใต้ เพราะที่นี่มีนักโทษฝ่ายสมาพันธรัฐหลายร้อยชีวิตที่ทอดร่างอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินเกิดที่พวกเขาสละชีวิตปกป้อง

            ป้ายหินจำนวนมากไม่มีชื่อ แต่เกือบทั้งหมดระบุวันที่ ป้ายหลุมศพจำนวนหนึ่งระบุวันในช่วงสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน ซึ่งรวมถึงสองสามป้ายที่ระบุวันที่ 14 และ 15 เมษายน วันเดียวกับที่เกิดเหตุลอบสังหารในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งอยู่ไกลออกไป หนึ่งในนั้นเป็นทหารนายหนึ่งจากกองทหารผิวสีของสหรัฐฯ

            หากเลือกได้ ผมคงให้ลิงคอล์นพำนักอยู่ที่นี่ด้วย เคียงข้างสหายร่วมชาติเหล่านี้ ท่ามกลางวงล้อมแน่นหนาของเหล่าผู้วายชนม์อันทรงเกียรติ


 เรื่องโดย แอดัม กู๊ดฮาร์ต
เมษายน 2558