ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏลัทธิเหมาในอินเดีย-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1077 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เผยโฉมกลุ่มกบฏผู้อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งภายในประเทศที่หยั่งรากลึกที่สุดและดำเนินมายาวนานที่สุดของอินเดีย

ชายมือปืนซึ่งอาศัยอยู่ในแถบชายป่าผู้นี้มีชีวิตและลาโลกไปพร้อมชื่อหลากหลาย บางคนรู้จักเขาในชื่อปราชานต์  คนอื่นๆอาจรู้จักเขาในชื่อปรัมจิต  บางครั้งเขาเรียกตัวเองว่าโคปัลชี  นัยว่าเป็นการแลกเปลี่ยนชื่อปลอมกับหัวหน้ากลุ่มกบฎอีกรายเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ทางการอินเดียที่พยายามตามล่าเขา

ตอนที่เราพบกัน  เขาเพิ่งฆ่าคนมาหมาดๆ และแนะนำตัวด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า "สหายมนัส"  ขณะนำร่างผอมบางก้าวออกมาจากเงามืดใต้ต้นวอลนัตพร้อมปืนกลในมือ

เย็นย่ำแล้ว ดวงตะวันคล้อยต่ำ  เงามืดของมือปืนคนอื่นๆอีกสิบกว่าคนหลบซุ่มอยู่ท่ามกลางนาข้าวสีเขียวเข้มที่อยู่ใกล้ๆพวกเขาคอยระแวดระวังและเฝ้ารอ มนัสและพรรคพวกกำลังออกเดินทาง จึงไม่มีเวลาพูดคุยมากนัก

ในอินเดีย พวกเขาเป็นที่รู้จักในชื่อซึ่งเป็นคำคำเดียวว่า  “นักซาไลต์” (Naxalite)  หรือกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ผู้เป็นตัวการสำคัญของความขัดแย้งภายในประเทศที่รากหยั่งลึกที่สุดและดำเนินมายาวนานที่สุดของอินเดีย ทุกวันนี้ สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปีของพวกเขาทำให้ผู้คนล้มตายมากกว่าความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์ที่เริ่มคลี่คลายลงเสียอีก มานโมฮัน ซิงห์ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยเรียกสงครามนี้ว่า "ภัยคุกคามความมั่นคงภายในที่ร้ายแรงที่สุด"

ระหว่างเหตุรุนแรงที่ประทุขึ้นในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนการนัดพบของเรา  มนัสซึ่งมีอายุแค่ 27 ปีกับพลพรรคของเขา สังหารตำรวจไปหกนาย และทำให้อีกแปดนายได้รับบาดเจ็บระหว่างการซุ่มโจมตีตามแนวเนินเขาเตี้ยๆ อันเป็นฐานที่มั่นของเขาที่เรานัดพบกันวันนี้

หากว่ากันตามจริงแล้ว  พวกนักซาไลต์ควรเป็นเพียงเศษซากจากอดีต  มากกว่าจะเป็นกลุ่มกบฎที่ฆ่าฟันผู้คนในนามเหมาเจ๋อตง  ผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวจีนผู้สิ้นชีพไปนานแล้ว  ซ้ำยังเกิดขึ้นในประเทศที่เขาไม่เคยเหยียบย่างไปด้วยซ้ำ แถมยังเป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย กระนั้น สงครามของพวกเขาที่สู้รบท่ามกลางความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมพลังงานของอินเดีย กลับได้รับการต่อลมหายใจด้วยความต้องการการพัฒนาและแรงขับจากระบบเศรษฐกิจในระดับโลกเมื่อการแสวงประโยชน์จากสินแร่และสิทธิในที่ดินกลายเป็นตัวกระตุ้นให้การก่อความไม่สงบฟื้นคืนอีกครั้ง

ในแง่นี้ ความต้องการพลังงานของอินเดียและความกระหายวัตถุดิบของวงการอุตสาหกรรมข้างต้น ไม่เพียงเชื่อมโยงนักฆ่าผู้กราดเกรี้ยวในป่าดงเข้ากับถ่านหิน เหล็ก และการผลิตไฟฟ้า แต่ยังหลอมรวมกลุ่มนักซาไลต์ให้เป็นปึกแผ่นกับชุมชนด้อยโอกาสที่สุดกลุ่มหนึ่งของอินเดีย  นั่นคือชนเผ่าอาทิวาสี  ชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มแรกที่ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย   และแทนที่จะเป็นความด่างพร้อยจากอดีต กลุ่มกบฎนักซาไลต์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกลไกอย่างการข่มขู่  การรีดไถ และความรุนแรง กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่ชี้นำอนาคต ทำให้การพัฒนากลายเป็นคู่ขัดแย้งกับขนบประเพณี โดยมีรัฐต่างๆที่มีสินแร่มั่งคั่งที่สุดของอินเดียเป็นจุดศูนย์กลาง

แน่ล่ะว่า สหายมนัสซึ่งเป็นถึง "ผู้บัญชาการระดับเขต" ของนักซาไลต์ ทั้งๆที่อายุยังน้อย  ดูมั่นอกมั่นใจมากว่า  ความทุกข์ระทมของคนยากไร้ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะช่วยให้การต่อสู้ของเขาได้รับชัยชนะในที่สุด เขามองไกลไปถึงว่าการโค่นล้มรัฐบาลที่กรุงเดลีเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

"เสือที่โตเต็มวัยย่อมแก่ตัว  แล้วก็ตายครับ" เขารับประกันกับผม ดวงตาเป็นประกายลุกโชนแบบเดียวกับสหายร่วมอุดมการณ์หัวรุนแรงที่พบเห็นได้ทั่วโลก  "ไม่ต่างจากรัฐบาลที่พวกเราพยายามโค่นล้ม ซึ่งแก่ตัวและผุพังลงเรื่อยๆ จนใกล้ตายอยู่รอมร่อ การปฏิวัติของพวกเรายังเยาว์วัยและมีแต่จะเติบโตงอกงาม นี่คือกฎแห่งจักรวาลครับ ในการต่อสู้ระหว่างนักการเมืองกับสังคมใหม่ที่ปกครองโดยประชาชน  ประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะ"

เขาพูดจนแสงสุดท้ายของวันลับหายไปหลังแนวไม้  ก่อนจะเดินหายลับไปในเงามืดอย่างเงียบเชียบพร้อมคนของเขา กองกำลังความมั่นคงกำลังคืบใกล้เข้ามา พวกเขาไม่อยากถูกตีวงล้อม

ครั้งต่อมาที่ผมเห็นหน้าเขา สหายมนัสเสียชีวิตแล้ว ใบหน้าเขาจ้องมองผมมาจากภาพถ่ายบนแท่นบูชาข้างทางแห่งหนึ่งในหมู่บ้านยากไร้อันเป็นบ้านเกิดของเขา  ชาวบ้านที่นั่นบอกผมว่า เขาถูกฆ่าในเหตุยิงต่อสู้กันไม่นานหลังเราพบกัน เมื่อได้อ่านข้อความจารึกบนแผ่นหินหน้าหลุมศพ ผมถึงได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของชายกบฎผู้มีหลายนามคนนี้ เขาชื่อ ลาเลศ

 

กลุ่มนักซาไลต์ตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้านนักซาลบารีในรัฐเบงกอลตะวันตก  ย้อนหลังไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1967 เกิดเหตุชาวไร่ชาวนาลุกฮือต่อต้านต่อเจ้าของที่ดิน แต่ล้มเหลว  เหตุการณ์นั้นทำให้สารวัตรตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตจากคมธนู เหตุนองเลือดดังกล่าวให้กำเนิดขบวนการเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจาย ปราศจากรูปร่างชัดเจน และยึดการปฏิวัติเกษตรกรรมของลัทธิเหมาเป็นต้นแบบอย่างหลวมๆ นับจากนั้นมา กลุ่มกบฏลัทธิเหมาก็เป็นที่รู้จักในชื่อ นักซาไลต์

แหล่งพักพิงของพวกเขาคือป่าทัณฑะการันยะ  ผืนป่ากว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 92,200 ตารางกิโลเมตร  ชื่อภาษาสันสกฤตนี้แปลคร่าวๆได้ว่า  ป่าแห่งการลงทันฑ์   ป่าทัณฑะการันยะซึ่งแผ่กว้างคร่อมพื้นที่หลายรัฐรวมถึงรัฐฉัตติสครห์และรัฐอานธรประเทศ  เปรียบเหมือนฐานที่มั่นหรือป้อมปราการของกลุ่มนักซาไลต์  นั่นคือป่าอพุชมรห์ ป่าดงกลางพงไพรและหนึ่งในดินแดนผืนสุดท้ายของอินเดียที่เข้าถึงได้ยากและยังไม่รับการสำรวจอย่างทั่วถึง

ความตายปรากฏโฉมหลายในหลายรูปแบบกลางป่าแห่งนั้น กลุ่มนักซาไลต์ฆ่าตำรวจและกองกำลังรบกึ่งทหารด้วยระเบิดข้างถนนและการซุ่มโจมตี  ตำรวจฆ่าพวกนักซาไลต์ใน "เหตุเผชิญหน้า" ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นหมายรวมทั้งการยิงปะทะกันซึ่งหน้าและการฆ่าแบบหมายหัว ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสายให้รัฐบาลถูกจับขึ้นศาลประชาชน แล้วสำเร็จโทษด้วยขวานหรือมีด ส่งผลให้อัตราการฆาตกรรมพุ่งสูงขึ้น และไม่รวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บอย่างเป็นทางการจากความขัดแย้งนี้ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 12,000 คนในช่วง 20  ปีที่ผ่านมา

กลุ่มผู้นิยมลัทธิเหมากลุ่มแรกซึ่งเป็นพวกชนชั้นกลางหัวรุนแรงและฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จากรัฐอานธรประเทศมาถึงป่าป่าอพุชมรห์ในปี 1989 โดยหลบหนีการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ขบวนการดังกล่าวอาจล่มสลายไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ป่าอพุชมรห์กลับกลายเป็นดั่งน้ำอมฤตสำหรับนักปฏิวัติลัทธิเหมา ณ ดินแดนกลางป่าลึกแห่งนี้ พวกเขาพบฐานผู้สนับสนุนใหม่อย่างง่ายดายจากชาวเผ่าอาทิวาสี

                คำว่า อาทิวาสี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า "พื้นเมืองดั้งเดิม" หรือ "ผู้ตั้งรกรากดั้งเดิม" ชาวอาทิวาสีได้รับการรับรองสถานะความเป็นกลุ่มชนเผ่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดีย พวกเขามีอยู่ด้วยกัน 84 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของประชากรอินเดีย และอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดภายในและรอบๆป่าทัณฑะการันยะ

คงเป็นการง่ายเกินไปหากจะอธิบายว่า ขบวนการนักซาไลต์ประกอบด้วยชนเผ่าอาทิวาสีล้วนๆ กองกำลังขององค์กรนี้ไม่ได้มีแค่สมาชิกกลุ่มชนเผ่าตามกฎหมายของอินเดีย แต่ยังมีนักศึกษาชนชั้นกลาง กลุ่มดาลิต (คนในวรรณะจัณฑาล) ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุด และรวมถึงนักรบจำนวนมากจากกลุ่มชนด้อยโอกาสทางสังคมของอินเดีย

ความไม่ประสีประสาต่อโลกและความเปราะบางทำให้ชาวอาทิวาสีในป่าอพุชมรห์พร้อมที่จะอ้าแขนรับผู้ร้ายหลบหนีให้อยู่ร่วมชุมชนด้วย และหลังจากสัมผัสอุดมการณ์ลัทธิเหมาติดต่อนานกันหลายปี พวกเขาหลายคนก็กลายเป็นกำลังพลใหม่ของขบวนการนักซาไลต์

ในประเทศที่ประชากรเกือบ 180 ล้านคนมีชีวิตรอดด้วยเงินไม่ถึงสองดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และการสั่งเครื่องดื่มเพียงรอบหนึ่งของคนมีอันจะกินในบาร์กลางกรุงนิวเดลีอาจแพงกว่าเงินเดือนชาวไร่คนหนึ่งหลายเท่าตัว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่กลุ่มกองกำลังลัทธิคอมมิวนิสต์จะเฟื่องฟูขึ้นในพื้นที่ถูกทอดทิ้งและห่างไกลจากการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ 

ทว่าสิ่งที่ทำให้การต่อสู้ของกลุ่มนักซาไลต์ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย และทำให้พวกเขาสร้างผลกระทบต่ออนาคต ของประเทศได้อย่างมหาศาลคือข้อเท็จจริงที่ว่า จุดศูนย์กลางของขบวนการนี้ตั้งอยู่ ณ ดินแดนอันเป็นศูนย์กลางแห่งความมั่งคั่งทางสินแร่ของอินเดีย มรดกทางธรรมชาติอันรุ่มรวยนี้เป็นปัจจัยสำคัญในแผนการของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่จะชุบชีวิตเศรษฐกิจอันร่อแร่ของอินเดีย และส่งกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านเรือนหนึ่งในสามของประเทศ หรือคิดเป็นประชากรร่วม 300 ล้านคนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในความมืด

เรื่องโดย แอนโทนี ลอยด์
พฤกษภาคม 2558