ผู้เขียน หัวข้อ: เพชฌฆาตความเครียด  (อ่าน 1015 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เพชฌฆาตความเครียด
« เมื่อ: 12 เมษายน 2015, 10:09:24 »
เพชฌฆาตความเครียด (ตอนที่ 1) : สำหรับคนขี้หงุดหงิด เกรี้ยวกราด และควบคุมอารมณ์ไม่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณกว่า 30 ปีที่แล้ว มีรายการตลกหลังข่าวทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อสมท. ชื่อรายการ เพชฆาตความเครียด โดย กลุ่ม ซูโม่สำอาง ซึ่งทีมงานส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี ชีวิตแต่ละคนได้เดินทางไปในเส้นทางที่แตกต่างกัน บางคนเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต บางคนเป็นนักดนตรี บางคนเป็นผู้กำกับ บางคนเป็นนักเขียน บางคนเป็นพิธีกรชื่อดัง บางคนเป็นนักพูด เช่น ซูโม่ตู้ (จรัสพงษ์ สุรัสวดี), ซูโม่เจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม), ซูโม่โญ (ภิญโญ รู้ธรรม), ซูโม่อิฐ (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์), ซูโม่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล), ซูโม่กิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ), ซูโม่ตั้ว (ศรันยู วงษ์กระจ่าง) ฯลฯ ซึ่งถือว่ารายการดังกล่าวมีความสำเร็จสูงรายการหนึ่งในยุคนั้นเลยทีเดียว
       
        แม้ว่าคณะบุคคลดังกล่าวจะได้สร้างความทรงจำดีๆให้กับคนในยุคนั้น แต่ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคณะบุคคลดังกล่าว เพียงแต่ต้องการนำชื่อของรายการดังกล่าวมาประกอบการเขียนบทความเผยแพร่ข้อมูลว่า ความเครียดนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เจ็บป่วยง่าย ทำให้แก่เร็ว และทำให้อายุสั้นด้วย ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่จะช่วยกันกำจัดความเครียดได้ เสียงหัวเราะและอารมณ์ขันเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในการกำจัดความเครียด
       
        เพราะในชีวิตจริงมีความเครียดอยู่มาก ทำให้รายการตลก โฆษณาตลก เกมโชว์ตลก พิธีกรตลก นักแสดงและนักพูดตลก เรื่องตลกในไลน์ และเฟซบุ๊ก กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกสังคม
       
        จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าความเครียดเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย ทำให้แก่เร็ว และอายุสั้นได้ เป็นไข้ หรือไข้หวัด โรคซึมเศร้า โรคผื่นคัน โรคผิวหนัง ความผิดปกติหลังความเครียดสะเทือนใจ แผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคหอบหืด และโรคมะเร็ง ฯลฯ
       
        จากงานทบทวนวรรณกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ "Expression of Hypothalamic-Pituitary-Adrenal Axis in Common Skin Disease: Evidence of its Association with Stress-related Disease Activity" โดย Jung Eun KIM และคณะพบว่าความเครียดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลทำให้เกิดการอักเสบ เป็นโรคผิวหนัง และทำให้เกิดสภาวะความเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่อนุมูลอิสระมีมากกว่าสารต้านอนุมูลอิสระ
       
        การที่ระบบภูมิคุ้มกันตกลงจากสภาวะความเครียดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2539 ในหัวข้อ Chronic stress alters the immune response to influenza virus in older adults โดย Janice K. Kiecolt-Glaser และคณะ พบว่าคนที่สูงวัยและมีภาวะเครียดเรื้อรัง แม้ต่อให้ได้วัดซีนไข้หวัดใหญ่ร่างกายก็จะมีผลตอบสนองกับวัคซีนลดลง
       
        แม้ต่อให้กินอาหารดี อากาศดี น้ำดื่มดี แต่ความเครียดเพียงประการเดียวก็อาจจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมหนักได้ไม่เว้นแม้แต่โรคมะเร็ง จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2550 ในหัวข้อ Psychological Stress and Disease. พบว่าความเครียดซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจะไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นจากการทดลองในสัตว์พบว่าความเครียดยังทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง และเมื่อเกิดมะเร็งแล้วยังทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตและแพร่กระจายขึ้นได้ด้วย
       
        ฮอร์โมนชนิดหนึ่งชื่อว่า คอร์ติโคโทรปิน รีลิสซิ่งฮอร์โมน (Corticotropin releasing hormone) หรือที่เรียกสั้นๆว่า CRH ซึ่งจะหลั่งออกมาจากไฮโพทาลามัส โดยการกระตุ้นจากความเครียด การได้รับการบบาดเจ็บ ซึ่งฮอร์โมนนี้จะส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของร่างกาย (Inflammatory diseases)
       
       
        ด้วยเหตุผลนี้งานวิจัยในปี พ.ศ. 2551 ในหัวข้อ Corticotropin-releasing hormone and inflammation. โดย Webster และคณะ พบว่าคนที่เป็นโรคข้ออักเสบ หรือรูมาตอยด์ จะพบฮอร์โมน CRH ในเนื้อเยื่อที่อักเสบมาก สะท้อนให้เห็นว่า ฮอร์โมน CRH ที่มาจากความเครียดนั้นก่อให้เกิดการอักเสบของร่างกายจริง
       
        นอกจากนี้ Webster และคณะ ยังพบอีกด้วยความความเครียดได้กระตุ้น Mast Cells ทำให้เกิดการหลังฮีสตามีมากทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ และภูมิแพ้ผิวหนังได้ ดังนั้นความเครียดจึงทำให้เกิดการอักเสบในรูปของผื่นคันได้
       
        เช่นเดียวกับงานวิจัยในหัวข้อ Corticotropin Releasing Hormone (CRH) system and inflammation. โดย Katia Karalis และคณะยังพบว่า ฮอร์โมน CRH ที่ได้มาจากความเครียดนั้นยังทำให้ลำไส้เกิดการอักเสบได้ด้วย และเป็นอันตรายต่อระบบลำไส้ นี้คือเหตุผลว่าทำไมคนที่มีภาวะเครียดถึงได้ปวดท้องได้ด้วย
       
        แต่ต่อมหมวกไตเมื่อรู้ว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นก็จะสังเคราะห์ฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติโซล (Cortisol) เพื่อมาต้านความเครียดและต้านการอักเสบของ CRH เพียงแต่ว่าฮอร์โมน คอร์ติโซล นั้นสังเคราะห์มาจากวัตถุดิบคือคอเลสเตอรอล ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราอายุมากขึ้นร่างกายจะสังเคราะห์คอเลสเตอรอลน้อยลง มีอัตราการเผาผลาญต่ำลง การทำงานของไทรอยด์ต่ำลง จึงส่งผลไม่ใช่เพียงแค่การสังเคราะห์คอเลสเตอรอลให้มาเป็นวัตถุดับน้อยลงเท่านั้น แต่ความสามารถนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์ฮอร์โมนคอร์ติโซลผลิตได้ต่ำลงกว่าความต้องการใช้จริงของร่างกายได้ด้วย ดังนั้นคนส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นจึงเกิดโรคเกี่ยวกับการอักเสบได้มากขึ้น
       
        มิพักต้องพูดถึงคนที่มีความเครียดเกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนคอร์ติโซลมากขึ้น ก็อาจจะมีวันที่ต่อมหมวกไตเกิดความล้าจึงสังเคราะห์ฮอร์โมนคอร์ติโซลได้น้อยลง หรือแม้แต่ใช้เสตรียรอยด์ฮอร์โมนมากไปจนต่อมหมวกไตไม่ผลิตฮอร์โมนด้วยตัวเอง จึงเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน เป็นผลทำให้หลายคนเมื่ออายุมากขึ้นจะทนความเครียดน้อยลงในเรื่องที่ตัวเองเคยทนได้
       
        ข้อสำคัญคือปัจจัยนี้ยังสำคัญไปถึงเรื่องการทนทานต่อความเครียดก็จะลดน้อยลงไปด้วย นี่คือสาเหตุว่าทำไมคนสูงวัยถึงได้หงุดหงิดง่าย และทนความเครียดได้น้อยลง
       
        จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2547 ในหัวข้อ Acceterated telomere shortening in response to life stress โดย Epel Es และคณะ ได้พบว่ากลุ่มคนที่มีความเครียดที่สูงมีผลทำให้เทโลเมียร์ (หางของโครโมโซม) สั้นลงเร็วกว่าคนที่มีภาวะเครียดต่ำ นั้นย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าคนที่อยู่มีภาวะเครียดนั้นจะแก่เร็วและอายุสั้น
       
        ดังนั้นผู้นำประเทศบางคน ที่อาจจะดูควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โกรธง่าย เกรี้ยวกราดง่าย ขาดวุฒิภาวะ ก็อาจะเป็นเพราะเริ่มเข้าสู่วัยทอง และเกิดความผิดปกติของฮอร์โมน จึงควรจะพบแพทย์หรือผู้รู้เพื่อบำบัดรักษาโดยด่วน


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    27 มีนาคม 2558

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
  จากความเดิมตอนที่แล้วที่เปิดเผยผลงานการวิจัยพบว่าความเครียดทำให้กดภูมิคุ้มกัน ทำให้เจ็บป่วยติดเชื้อง่าย ทำให้มะเร็งลุกลาม อีกทั้งยังสร้างการอักเสบในร่างกายได้ด้วย ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดท้อง ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ และยังทำให้เกิดโรคหัวใจ
       
        งานวิจัยในรหัสพันธุกรรมยังพบด้วยว่าความเครียดยังทำให้หางของโครโมโซม ที่เรียกว่า เทโลเมียร์สั้นลงได้ด้วย นั่นหมายความว่าความเครียดยังทำให้แก่ง่าย และอายุสั้น
       
        จากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2549 ของ Simmon และคณะในหัวข้อ Telomere Shortening and mood disorders : preliminary support for a chronic stress model of accelerated aging. ซึ่งวิจัยการวัดความยาวของเทโลเมียร์จากกลุ่มตัวอย่าง 44 คนที่ป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่มีภาวะเครียดเรื้อรัง พบว่าความยาวของเทโลเมียร์ของกลุ่มคนเหล่านี้สั้นลงเร็วในอัตราเร่งมากว่าอายุที่ควรจะเป็นถึง 10 ปี
       
        งานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 ของ Cherkas และคณะ ในหัวข้อ The effects of social status on biological aging as measured by white blood cell telomere length. พบว่ากลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำพบว่ามีเทโลเมียร์สั้นด้วย ทั้งนี้คนกลุ่มเหล่านี้มักไม่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และอ้วน
       
        และเนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการใช้ความคิดและมีอารมณ์ที่สลับซับซ้อนกว่าสัตว์ทั่วไป จึงมีความน่าสนใจที่จะหากลไกของความเครียดที่ทำให้ แก่เร็ว ก่อให้เกิดโรคมากและอายุสั้น เพื่อจะนำไปสู่การลดความเครียดเหล่านั้นให้น้อยลง
       
        "ความเครียด" เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นการศึกษาที่มีชื่อเสียงในปี พ.ศ. 2527 โดย Lazarus และ Folkman ในหัวข้อ Stress, appraisal, and coping. นั้นได้กล่าวถึงความเครียดนั้นมีความสัมพันธ์กับปัจจัย เป้าหมายที่วางเอาไว้ การประเมินว่าจะไปสู่จุดเป้าหมายอย่างไร และการไล่ตามเป้าหมายนั้นทำได้เพียงใด
       
        เพราะเป้าหมายของแต่ละคนนั้นมีการใช้ทรัพยากรต่างกัน บางคนทุ่มแรงกาย บางคนลงทุนเพื่อให้ได้เป้าหมายด้วยทรัพย์สินเงินทอง บางคนทุ่มเทด้วยความรักและศรัทธา ทั้งหมดนี้คือ "ต้นทุน" เพื่อสนองความคาดหวังตามเป้าหมายของแต่ละคน
       
        การตั้งเป้าหมายหรือความคาดหวังของแต่ละคนไม่เท่ากันอย่างแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทุ่มเทลงไปของแต่ละคนไม่เท่ากัน เมื่อตั้งเป้าหมายไปแล้วก็จะมีการประเมินต่อมาว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งถ้าประเมินแล้วมีสิ่งที่มาคุกคามเป้าหมายให้ไกลออกไปหรือจะเป็นไปไม่ได้ เราจะเข้าสู่การประเมินแล้วว่าเราเริ่มถูกคุกคามเป้าหมายให้เริ่มเป็นไปไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้นความเครียดก็จะเริ่มเกิดขึ้นโดยทันที ส่วนจะเครียดมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เรามีความคาดหวังและความทุ่มเททรัพยากรไปนั้นมีมากน้อยเพียงใด และทำใจได้แค่ไหน ความเครียดจากความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมายนี้เองที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย แก่เร็ว และอายุสั้นได้ในรหัสพันธุกรรม
       
        แต่สิ่งที่น่าสนใจตามมาก็คือ หากแม้เป็นเป้าหมายเดียวกัน แต่เราประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่จะไล่ทันตามเป้าหมายนั้น แม้เป็นเรื่องเดียวกันที่ยังไม่เกิดและเป็นเรื่องอนาคต แต่การประเมินจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นความท้าทายแทนการรู้สึกว่าถูกคุกคาม จากงานวิจัยกลับพบว่าในปี พ.ศ. 2554 โดย O'Donovan และคณะในหัวข้อ Stress appraisals and cellular aging : a key role for anticipatory threat in the relationship between psychological stress and telomere length. พบว่าแม้ความเครียดจะทำให้เทโลเมียร์(หางของโครโมโซม)สั้นลง เป็นผลทำให้เซลล์แก่ตัวเร็วและอายุสั้น แต่ความรู้สึกท้าทายกลับไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นเท่ากับความรู้สึกถูกคุกคามแต่ประการใด
       
        จะเห็นได้ว่าเรื่องเดียวกัน และยังไม่รู้ผลท้ายที่สุดในอนาคตเหมือนกัน หากเรามองว่าเรากำลังถูกคุกคามเป้าหมายก็จะทำให้เกิดความเครียดที่บั่นทอนสุขภาพ และอายุขัย แต่ถ้าเรื่องเดียวกันถ้าเราเชื่อมั่นและประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้เราจะเปลี่ยนสถานการณ์นั้นเป็นความท้าทายที่ไม่ได้บั่นทอนสุขภาพและอายุขัยเหมือนกับความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมายที่เราได้ตั้งเอาไว้
       
        ไม่ว่าจะมีความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมาย หรือ รู้สึกท้าทายในเป้าหมาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการประเมินก่อนถึงวันเป้าหมายทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงวันและเวลาที่จะรู้ผลว่าเราสามารถไล่ทันเป้าหมายแล้วก็จะรู้ผลว่าการประเมินบนการรู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกท้าทายก็จะสิ้นสุดลง
       
        ถ้าเราได้รับผลสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะรู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกท้าทาย ก็จะสร้างความพึงพอใจในที่สุด แม้มีความเครียดที่มีในประเด็นเดิมก็จะสูญหายมลายไปสิ้นหลังความสำเร็จนั้น
       
        แต่ความสำเร็จก็อาจทำให้เราไม่มีความพึงพอใจและแสวงหาเป้าหมายใหม่ที่ไปมากกว่าเดิม ยิ่งชนะบ่อยครั้งความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ความรู้สึกท้าทายก็สูงขึ้น ภาวะความเป็นผู้นำสูงขึ้น และอัตตาก็จะสูงง่ายขึ้นไปอีก
       
        ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในปี พ.ศ. 2541 ในหัวข้อ Testosterone Changes during vicarious experiences of winning and losing among fans at sporting events. โดย Bernhardt และคณะ พบว่าจากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 21 คนที่เป็นชายเป็นแฟนฟุตบอลซึ่งรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกทางสถานีโทรทัศน์ ในเกมการแข่งขันฟุตบอลคู่ปรับที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน แล้วทำการวัดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชายที่แสดงถึงความเชื่อมั่นและมีภาวะความเป็นผู้นำ) จากน้ำลายทั้งก่อนและหลังผลการแข่งขัน ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของแฟนฟุตบอลที่เชียร์ทีมชนะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงขึ้น ในขณะที่แฟนฟุตบอลที่เชียร์ทีมที่แพ้กลับมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง
       
        แต่ความสำเร็จก็อาจทำให้เราไม่มีความพึงพอใจและแสวงหาเป้าหมายใหม่ที่ไปมากกว่าเดิม ยิ่งชนะบ่อยครั้งความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ความรู้สึกท้าทายก็สูงขึ้น แม้แต่อัตตาก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก หากวันหนึ่งเกิดความผิดหวังก็อาจจะเครียดหนัก เจ็บป่วยหนัก สภาพจิตใจเสียหายหนักได้
       
        ในทางตรงกันข้ามเมื่อถึงวันและเวลาที่เราต้องรับทราบผลลัพธ์ว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ไม่สามารถบรรลุได้ หากเราจมอยู่ในความรู้สึกความพ่ายแพ้ในอดีตนั้นไปเรื่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง แก่เร็ว เจ็บป่วยง่าย อายุสั้น ในบางกรณีอาจถึงขั้นเกิดอาการซึมเศร้าเรื้อรัง เสียใจจนฆ่าตัวตาย เพราะการจมอยู่กับผลลัพธ์ในอดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว
       
        และเคล็ดลับสำคัญประการหนึ่งของความผิดหวังที่ทำให้เกิดความเครียด ก็คือ "การยอมรับความจริงกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เร็วที่สุด และตั้งเป้าหมายใหม่ที่เป็นไปได้ให้เร็วที่สุด" ความเครียดก็จะค่อยๆลดลงไปตามลำดับ ดังนั้นคนที่ผิดหวังบ่อยแต่ยอมรับความจริงปรับตัวอยู่กับปัจจุบันได้เร็ว แม้จะมีความเชื่อมั่นและภาวะผู้นำน้อยกว่าคนที่ได้รับชัยชนะเป็นประจำ แต่อัตตาและความยึดมั่นถือมั่นก็จะลดลงไป ความทนทานต่อความผิดหวังก็อาจจะมีมากกว่า
       
        การวางเป้าหมายเพื่อทุ่มเททรัพยากร (ทรัพย์สิน เงินทอง แรงกาย แรงใจ) นั้นต้องอยู่บนความพอดีและพอเพียงมีความเป็นไปได้ก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดความเครียดได้น้อยลง การประเมินสถานการณ์ด้วยทัศนคติเชิงบวกเปลี่ยนจากความรู้สึกถูกคุกคามเป็นความท้าทาย และการยอมรับความจริงเมื่อรู้ผลลัพธ์แล้ว พร้อมกับปล่อยวางกับผลลัพธ์ในความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่ไม่จีรังยั่งยืน ก็จะทำให้รู้เท่าทันความเครียดในตัวเราเองได้ดีที่สุด


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    3 เมษายน 2558

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เพชฌฆาตความเครียด (ตอนที่ 3) : ดับความเครียด
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 12 เมษายน 2015, 10:11:12 »
 นอกจากการคิดบวกต่อสถานการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายจะทำให้เปลี่ยนความรู้สึกว่าเป้าหมายถูกคุกคามให้มาเป็นความท้าทายที่จะช่วยลดความเครียดแล้ว ความสำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นดังหวังแล้วก็ต้องเร่งกลับมาสู่ความจริงในปัจจุบันให้เร็วที่สุดและวางเป้าหมายใหม่ให้เป็นไปได้ในสถานการณ์ใหม่เพื่อหยุดความเครียดเรื้อรังจากการผิดหวังเพราะพลาดเป้าหมายที่วางเอาไว้ หรืออีกนัยหนึ่งคือการยอมรับความจริงที่เป็นไป ปล่อยวางให้เร็ว แล้วมุ่งหน้าวางเป้าหมายใหม่
       
        จะเห็นได้ว่าการวางเป้าหมายเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะถ้าวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ยากก็จะทำให้เครียดง่าย ในขณะเดียวกันการประเมินที่เผื่อใจที่จะผิดหวังเอาไว้ก่อน ก็จะทำให้ความเครียดเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นเพราะความผิดหวังก็จะบรรเทาเบาบางไปได้ด้วย
       
        เพราะถ้าเราวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ การประเมินจะเป็นเชิงบวกมากขึ้น และเมื่อได้รับชัยชนะมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความสมหวังและความพึงพอใจในผลลัพธ์นั้นได้ง่ายขึ้น
       
        ถึงแม้กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีประเด็นที่ตามมาว่าระหว่างสิ่งเร้าให้ลุ้นว่าจะสำเร็จหรือไม่ในสิ่งที่เป็นไปได้ที่เรียกว่า "สิ่งเร้าเชิงบวก" กับการทำให้จิตใจสงบอารมณ์และฮอร์โมนเราจะต่างกันอย่างไร และอะไรจะดีกว่ากัน?
       
        จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2551 โดย Mendes และคณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาในรายงานในหัวข้อ When Stress is good for you : Neuroendocrine concomitants of physiological thriving. พบว่าสถานภาพที่เผชิญกับสิ่งเร้าเชิงบวก เช่น การแข่งกันกีฬา ประสบการณ์ที่ได้รับชัยชนะ หรือ ประสบการณ์ในการประเมินว่าได้รับชัยชนะ ในขณะที่ประสบความสำเร็จในการไล่ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ทัน ร่างกายก็จะกระตุ้นฮอร์โมนกลุ่มแอนนาโบลิก อันได้แก่การเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่สร้างสภาวะความเป็นผู้นำซึ่งมีในฮอร์โมนเพศชายให้สูงขึ้น ในขณะเดียกันฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอ-เอส. ก็จะเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย
       
        ในขณะที่งานวิจัย 2 ชิ้น ได้แก่ งานวิจัยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดย Gramzow และคณะในหัวข้อ Big tales and cool heads: academic exaggeration is related to cardiac vagal reactivity. c และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปีเดียวกัน โดย Whitmore และคณะในหัวข้อ Relaxation increases DHEA; Paper presented at : Society of Behavioral Medicine. พบว่า สถานการณ์ที่อยู่ในภาวะอารมณ์ที่มีสิ่งเร้าต่ำ เช่น อารมณ์ที่มีความสงบ สันติ จะส่งผลทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้นและรวมถึงทำให้ ฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่นกัน
       
        ด้วยเหตุผลนี้คนที่อยู่บนสถานการณ์การแข่งขันและต้องลุ้นตลอดเวลา หรือ การสงบนิ่ง ต่างก็มีฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอก็จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งคู่ จะต่างกันก็ตรงที่ว่าคนที่ต้องคอยลุ้นตลอดเวลานั้นเมื่อได้รับชัยชนะก็จะมีฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนสูงขึ้นกว่าคนที่สงบนิ่ง และจะว่าไปแล้วอัตตาของคนที่ได้รับชัยชนะจากสถานการณ์การแข่งขันย่อมสูงกว่าคนที่สงบนิ่ง
       
        ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ คนๆหนึ่งประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะเป็นประจำจึงมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากและแก่ช้าด้วย ในขณะที่อีกคนหนึ่งที่ยึดมั่นในความพอเพียงพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นแม้จะชะลอวัยแก่ช้าเหมือนๆกันแต่อัตตาการยึดมั่นถือมั่นจะลดน้อยกว่าคนที่อยู่ในภาวการณ์แข่งขันเป็นประจำ ดังนั้นคนที่ได้รับชัยชนะเป็นประจำแม้จะดูมีภาวะเป็นผู้นำสูงกว่า แต่หากผิดหวังขึ้นมาคนที่ประสบความสำเร็จมากๆก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้มากกว่า ในขณะเดียวกันคนที่ประเมินพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น สงบนิ่งก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าต่อความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้น
       
        คนเราทุกคนต้องผ่านประสบการณ์สำคัญที่จะทำให้เกิดการวางเป้าหมาย การประเมิน และการไล่ทันเป้าหมาย ดังเช่นการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดย Pastorino และคณะ ในห้วข้อ What is Psychology. พบตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของมนุษย์นั้นรวมถึง การแต่งงาน การเข้ามหาวิทยาลัย การสูญเสียคนรัก การเกิดของลูก เหตุการณ์เหล่านั้นสามารถเป็นได้ทั้งบวกและลบ งานวิจัยยังพบว่าเหตุการณ์เหล่านี้ที่ไม่ได้พบเจอบ่อยครั้งในชีวิตจะเป็นสาเหตุของความเครียด
       
        และถ้าเราพลาดหวังแต่ไม่สามารถทำใจได้และยังติดอยู่กับอดีต ก็จะทำให้เราป่วยง่ายและแก่เร็ว
       
        และจากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2543 โดย Nolen-Hoeksema S. ในหัวข้อ The role of rumination in depressive disorders and mixed anxiety/depressive symtoms. ได้พบว่าการคิดใคร่ครวญแบบย้ำคิดเป็นประจำจะทำให้สามารถทำนายว่าคนๆนั้นอาจมีอาการซึมเศร้าได้
       
        เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกหลายชิ้น เช่น งานวิจัยในปี พ.ศ. 2546 โดย Brosschot และคณะในหัวข้อ Heart rate response is longer after negative emotions than after positive emotions. งานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Gerin และคณะในหัวข้อ The role of angry rumination and distraction in blood pressure recovery from emotional arousal. และงานวิจัยในปี พ.ศ. 2545 ในหัวข้อ The role of rumination in recovery from reactivity: cardiovascular consequences of emotional states. พบว่าการหมกมุ่นแล้วคิดใคร่ครวญแบบย้ำคิดในเชิงลบกับความผิดหวังของตัวเองอาจนำไปสู่การฟื้นฟูระบบหลอดเลือดช้าลง
       
        ความเครียดนั้นทำให้อายุสั้น เพราะจากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Epel และคณะ ในหัวข้อ Cell aging in relation to stress arousal and cardiovascular disease risk factors. พบว่าคนที่มีหางโครโมโซมหรือที่เรียกว่าเทโลเมียร์สั้นซึ่งมีความหมายว่าอายุขั้นสั้นนั้นจะพบว่าเวลาปัสสาวะตอนกลางคนจะมีฮอร์โมนต้านความเครียดที่เรียกว่าคอร์ติโซลซึ่งจะหลั่งมามากในภาวะที่มีความเครียดมาก และ ฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่จะมาพร้อมกับความตื่นเต้นตกใจ ซึ่งจะพบฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ในระดับที่สูงของกลุ่มคนที่มีเทโลเมียร์สั้น หรือรหัสพันธุกรรมที่จะแสดงถึงอายุขัยสั้นด้วย
       
        อย่างไรก็ตามนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ว่ามีนักวิจัยจำนวนมากต่างยอมรับและยกย่องการทำสมาธิของศาสนาพุทธนั้นสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความเครียดได้อย่างดีที่สุด โดยงานวิจัยในปีพ.ศ. 2551 โดย Lutz และคณะในหัวข้อ Attention regulation and monitoring in mediation. และ การศึกษาในปี พ.ศ. 2550 ในอังกฤษ โดย Rosch และคณะในหัวข้อ More than mindfulness: When you have a tiger by the tail, let it eat you" พบว่า
       
        จิตสมาธิของพุทธศาสนาดั้งเดิมทั้งในด้านเทคนิคและความรู้ทำให้เกิดความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสติ ได้ถูกต่อยอดพัฒนาไปอย่างอิสระทางด้าน กระบวนทัศน์ ทฤษฎี และเป้าหมาย
       
        จิตที่เป็นสมาธินั้นยังได้ถูกประยุกต์ใช้กับกลุ่มคนที่สิ้นหวังในชีวิตในผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยงานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Robins และคณะ ในหัวข้อ Research on psychoneuroimmunology : tai chi as a stress management approach for individuals with HIV disease. พบว่า แม้กระทั่งกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ที่ไม่สามารถที่จะหายได้ต่างก็จะมีจิตคิดเชิงบวกมากขึ้นจากการรำมวยไทเก็กเป็นประจำ
       
        จะเห็นได้ว่าถ้าจะกล่าวถึงความเจ็บป่วยและสุขภาพนั้น ความเครียดและสภาพจิตใจนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    10 เมษายน 2558