ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 ต.ค.2557  (อ่าน 740 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9790
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 ต.ค.2557
« เมื่อ: 27 ตุลาคม 2014, 10:45:28 »
1. คณะแพทย์ ตัดไหมแผลผ่าตัด “ในหลวง” แล้ว ผลน่าพอใจ ด้าน “ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ” เสด็จประชุมวิชาการที่เซี่ยงไฮ้ -แพทย์ขอให้ทรงงานน้อยที่สุด!

        ความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 3 ต.ค.เนื่องจากทรงมีพระปรอท(ไข้) สูง 38.2 องศาเซลเซียส ซึ่งผลการตรวจพระโลหิตพบว่ามีภาวะติดเชื้อ นอกจากนี้ยังพบพระปิตตะ(ถุงน้ำดี) อักเสบบวมมาก คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถระงับความรู้สึกทั่วพระวรกาย ก่อนส่องกล้องเข้าในช่องพระนาภี(ช่องท้อง) เพื่อตัดถุงพระปิตตะ(ถุงน้ำดี) ออก ซึ่งพระอาการหลังผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ผลการตรวจทางพยาธิวิทยาของพระปิตตะ(ถุงน้ำดี) ที่ตัดออกมา พบว่ามีการอักเสบ แต่ไม่พบความผิดปกติของเซลล์ในผนังของพระปิตตะ(ถุงน้ำดี) แต่อย่างใด
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ต.ค. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 7 เกี่ยวกับพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า อุณหภูมิพระวรกายเป็นปกติ พระชีพจร การหายพระทัย ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ บรรทมได้ดี คณะแพทย์ฯ ได้ตัดไหมแผลผ่าตัดและหยุดถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิตแล้ว อีกทั้งเห็นว่าสภาวะทางโภชนาการดีขึ้นแล้ว จึงได้หยุดถวายสารอาหารเสริมทางหลอดพระโลหิต แต่เนื่องจากระบบการย่อยพระกระยาหารยังไม่เป็นปกติ จึงต้องถวายพระกระยาหารที่ย่อยง่ายสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ การถวายตรวจรอยแผลผ่าตัด ปรากฎผลเป็นที่พอใจของคณะแพทย์
       
       สำหรับความคืบหน้าพระอาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ว่า ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครรราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เพื่อทรงรับการรักษาพระอาการประชวรพระอามาสัย(กระเพาะอาหาร) อักเสบ และตับอ่อนอักเสบ ซึ่งเกิดจากการแพ้ภูมิต้านทานตัวเอง(SLE) ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. ขณะนี้พระอาการประชวรอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว และได้เสด็จไปประทับพักฟื้น ณ ตำหนักพิมานมาศ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.นั้น
       
       ปรากฏว่า สถาบันมาเตเรีย เมดิกา แห่งเซี่ยงไฮ้ ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค. เพื่อทรงร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ครั้งที่ 28 และการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 8 และทรงบรรยายเปิดประชุมตามคำกราบทูลเชิญของคณะกรรมการเปิดการประชุม คณะแพทย์มีความเห็นว่า หากทรงมีความจำเป็นที่ต้องเสด็จฯ เยือนนครเซี่ยงไฮ้ สามารถเสด็จฯ ได้ แต่อย่างไรก็ดี ขอพระราชทานให้ทรงงานน้อยที่สุด
       
       2. คดีถอดถอน “ขุนค้อน-นิคม” เจอโรคเลื่อน หลัง สนช.ไม่กล้าลงมติมีอำนาจถอดหรือไม่ อ้างต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล ด้าน ปชป. ซัด เตะถ่วง!

        เมื่อวันที่ 14 ต.ค.คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิป สนช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งสำนวนการชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ไม่ชอบ มาให้ สนช.เพื่อพิจารณาถอดถอนบุคคลทั้งสองออกจากตำแหน่งต่อไป ซึ่งที่ประชุมวิป สนช.มีมติให้นำสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช.ในวันที่ 17 ต.ค. เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.อภิปรายและเสนอญัตติว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนได้หรือไม่ ซึ่งจะลงมติเป็นความเห็นของ สนช.เนื่องจากยังมีความเห็นที่แตกต่างเรื่องจะถอดถอนบุคคลที่กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่
       
       นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะเลขานุการวิป สนช.บอกว่า หากที่ประชุม สนช.วันที่ 17 ต.ค.มีมติรับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ก็จะเข้าสู่กระบวนการ และกำหนดวันเรียกผู้ถูกกล่าวหาคือนายสมศักดิ์และนายนิคมมาชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. หากที่ประชุมเห็นว่าไม่มีความผิดตามกฎหมายใด อาจจะลงมติเพื่อยุติเรื่อง หรือส่งเรื่องกลับไปยัง ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้สภาชุดใหม่ดำเนินการภายหลังมีการเลือกตั้งแล้ว
       
       ขณะที่ สนช.สายทหารส่วนใหญ่มองว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม โดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช.และวิป สนช. บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่า สนช.ไม่ควรรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากสำนวนถอดถอนที่ ป.ป.ช.ส่งมานั้น เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 272 วรรค 2 ,มาตรา 273 เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว สนช.คงไม่สามารถเอาผิดบุคคลทั้งสองได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการ และว่า หาก สนช.ทำแบบส่งเดชไป มีหวังถูกฟ้องกลับแน่ จึงต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง
       
       ด้านอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ออกมาเคลื่อนไหว เช่น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ,นายอำนวย คลังผา ,นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และนายสิงห์ทอง บัวชุม ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่ออดีต ส.ส.ของพรรคและประชาชนกว่า 90 รายชื่อ ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เพื่อคัดค้านการที่ สนช.จะพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนอื่น โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากการถอดถอนดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ได้บัญญํติเรื่องการถอดถอนไว้
       
       ขณะที่อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เห็นต่าง โดยนายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรค ตั้งข้อสังเกตว่า คดีถอดถอนที่ ป.ป.ข.ส่งให้ สนช.นั้น โดยข้อเท็จจริงพบว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริง เพราะมีการสอดไส้เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. และการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งการที่ผู้คัดค้านอ้างว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนโดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่อยู่แล้วนั้น ไม่ใช่การเถียงในข้อเท็จจริง แต่เถียงในข้อกฎหมาย แต่กลับไม่พูดว่ายังมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ที่ยังรองรับและระบุโทษของผู้กระทำผิดอยู่ ไม่เช่นนั้น ป.ป.ช.จะกล้าลงมติให้ถอดถอนและส่งเรื่องให้ สนช.หรือ อีกทั้งยังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 5 และ 6 รองรับอีก เพราะระบุชัดถึงการทำหน้าที่ สนช. ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สนช.ที่ถูกแต่งตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาการใช้อำนาจของฝ่ายการเมือง จะกล้าผ่าตัดเนื้อร้ายเพื่อเยียวยารักษาหรือไม่
       
       ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด(17 ต.ค.) ที่ประชุม สนช.ได้มีมติให้ประชุมลับเพื่อพิจารณาว่าจะรับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมที่ ป.ป.ช.ส่งมา ไว้พิจารณาถอดถอนหรือไม่ หลังประชุมแล้วเสร็จ ไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด ซึ่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.เผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นแค่การหารือ ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงมีการเสนอให้เลื่อนพิจารณาเรื่องนี้ออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.ได้พิจารณาสำนวนอย่างครบถ้วน
       
       ด้านนายวิทวัส บุญสถิตย์ สมาชิก สนช.ก็บอกเช่นกันว่า ที่ประชุมยังไม่ลงมติว่าจะรับสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลที่ สนช.ได้รับยังไม่เพียงพอ เป็นแค่ใบปะหน้า 3-4 แผ่น ทั้งที่สำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้ สนช.มีถึง 4,000 หน้า ดังนั้นต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล นอกจากนี้ที่ประชุมได้ขอยกเว้นข้อบังคับการประชุมที่ระบุว่า ประธาน สนช.ต้องบรรจุวาระเพื่อพิจารณาถอดถอนภายใน 30 วัน นับจากวันที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาให้ โดยที่ประชุมมีมติ 165 เสียงให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมดังกล่าว และว่า หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธาน สนช.ว่าจะบรรจุวาระเรื่องนี้กลับเข้าสู่ที่ประชุม สนช.เมื่อใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องภายใน 30 วัน เพราะยกเว้นข้อบังคับการประชุมแล้ว
       
       ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. พูดถึงเหตุที่ต้องเลื่อนพิจารณาสำนวนถอดถอนออกไปว่า เนื่องจากต้องการให้สมาชิก สนช.ศึกษารายงานการไต่สวนสำนวนถอดถอนของ ป.ป.ช.ที่มีหลายพันหน้าให้รอบคอบก่อน พร้อมยืนยันว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 6
       
       ด้าน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิก สนช. ยืนยันว่า ที่ สนช.มีมติเลื่อนพิจารณาถอดถอนนักการเมืองออกไป ไม่ใช่เพราะไม่กล้า แต่เนื่องจากสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง จับอะไรไม่ได้ สนช.มีหน้าที่อยู่แล้ว แต่การทำอะไรอย่าผลีผลาม ทุกคนมองว่านิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ต้องแน่น ต้องมองแบบองค์รวมเพื่อการปฏิรูป
       
       ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ สนช.มีมติเลื่อนพิจารณารับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมออกไปว่า ไม่แปลกใจที่ผลประชุมออกมาเช่นนี้ เพราะคนเหล่านี้ไม่กล้าตัดสินใจ และว่า ข้ออ้างที่ว่าต้องศึกษาเอกสาร 4 พันกว่าหน้าไม่ใช่ประเด็น เพราะการหารือครั้งนี้ไม่ใช่พิจารณาว่าจะถอดถอนหรือไม่ เพียงแต่เป็นการลงมติว่าจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ หากรับไว้พิจารณา สมาชิกมีเวลาศึกษาเอกสารเหล่านี้ได้ ดังนั้นถือเป็นการเตะถ่วงมากกว่า ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจของการปฏิรูป
       
       สำหรับความคืบหน้าสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีรับจำนำข้าวนั้น นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. เผยเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ว่า ได้ลงนามสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว พร้อมส่งสำนวนให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ในวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งสำนวนมีทั้งหมด 11 แฟ้ม รวมกว่า 3,000 หน้า จึงถือว่าหมดหน้าที่ ป.ป.ช.แล้ว หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับ สนช.ว่าจะดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่
       
       ส่วนสำนวนถอดถอนอดีต 39 ส.ว.กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยมิชอบนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 16 ต.ค.พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา ยังไม่สมบูรณ์เพียง จึงให้เจ้าหน้าที่กลับไปพิจารณาเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งว่า นอกจากความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ยังมีความผิดในกฎหมายอื่นอีกหรือไม่ ทั้งยังต้องนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของนายสมศักดิ์และนายนิคมว่ามีข้อกฎหมายและความผิดแตกต่างกันอย่างไร แล้วค่อยนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมได้ในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้
       
       3. ศาลเกาะสมุย สืบพยานล่วงหน้าคดีเกาะเต่า หลังอัยการอ้างกลัวพยานหนี ด้านทนายผู้ต้องหาชี้ รีบเกินส่งผลเสีย ด้านชาวพม่าจี้อังกฤษยื่นมือสอบ!

        ความคืบหน้าคดีข่มขืนและฆ่า น.ส.ฮันนาห์ วิทเธอร์ริตจ์ และนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเช้ามืดวันที่ 15 ก.ย.หลังตำรวจจับกุมนายวิน หรือเวพิว อายุ 21 ปี และนายซอ หรือซอริน หรือโซเรน อายุ 21 ปี 2 แรงงานต่างด้าวชาวพม่า โดยระบุว่า ทั้งสองนั่งเล่นกีตาร์อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ และดีเอ็นเอของทั้งคู่ตรงกับดีเอ็นเอที่บุหรี่ซึ่งพบใกล้ที่เกิดเหตุ รวมทั้งตรงกับอสุจิที่ช่องคลอดและทวารหนักของ น.ส.ฮันนาห์ แต่หลายฝ่ายคลางแคลงใจว่าทั้งคู่อาจเป็นแพะ รวมทั้งข้อกังขาว่านายวรท ตู้วิเชียร บุตรชายนายวรพันธุ์ ตู้วิเชียร หรือผู้ใหญ่วอ เกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ เพราะตำรวจไม่ยอมตรวจดีเอ็นเอ อ้างว่าตรวจดีเอ็นเอพ่อแล้ว ไม่ต้องตรวจลูกก็ได้ ซึ่ง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม บอกแล้วว่า การตรวจดีเอ็นเอพ่อ ไม่สามารถนำมายืนยันดีเอ็นเอลูกได้ว่าไม่เกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น ขณะที่ภาพนิ่งจากกล้องวงจรปิดที่นายวรทนำมายืนยันว่าตนไม่ได้อยู่ที่เกาะเต่าในวันเกิดเหตุ ก็พบพิรุธที่อาจมีการตัดต่อ จนเกิดเสียงเรียกร้องให้นายวรทนำภาพเคลื่อนไหวจากล้องวงจรปิดมายืนยัน แต่ก็เงียบ
       
       ด้านตำรวจรีบปิดคดี โดยนำสำนวนคดีที่มีความหนาเกือบ 900 หน้า ส่งให้อธิบดีอัยการภาค 8 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.เพื่อสั่งฟ้องต่อไป ขณะที่สื่อของพม่ารายงานเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ว่า เจ้าหน้าที่ของสถานทูตพม่า ซึ่งทำหน้าที่ทนายความให้ 2 ผู้ต้องหา ได้แถลงถอนคำรับสารภาพของนายวินและนายซออย่างเป็นทางการแล้ว รวมทั้งเผยด้วยว่า นายวินและนายซอบอกว่าไม่ได้ก่อเหตุตามที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกตำรวจไทยทำร้ายจนต้องรับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้ทำ ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงยืนยันว่า ตำรวจไม่ได้จับแพะ และไม่ได้ซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพแต่อย่างใด
       
       ขณะที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เผยความคืบหน้าของคดีเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ว่า หลังจากอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้งสองเพิ่มอีก 1 ข้อหา ฐานปกปิดความผิด หลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาที่กระทำไว้ ทางพนักงานสอบสวนได้นำผลการแจ้งข้อหาเพิ่มลงในสำนวนและส่งให้อัยการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการที่จะส่งฟ้องต่อศาล และว่า อัยการเตรียมเบิกตัวพยาน 3 ราย ขึ้นสืบพยานล่วงหน้าต่อหน้าผู้ต้องหาทั้งสองที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยในวันที่ 14 ต.ค. พล.ต.ต.ปวีณ ยังย้ำด้วยว่า “ผู้ต้องหาทั้งสองยังคงให้การยอมรับสารภาพ และยอมรับผลการกระทำผิดของตัวเองเหมือนเดิม”
       
       วันต่อมา(13 ต.ค.) นายธวัชชัย เสียงแจ้ว อธิบดีอัยการภาค 8 เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสำนวน และว่า อัยการได้ให้ตำรวจสอบเพิ่ม 2 ประเด็น เรื่องแจ้งข้อหาเพิ่มผู้ต้องหาทั้งสอง และเรื่องพยานหลักฐานที่ยังไม่สมบูรณ์ให้มีการสอบเพิ่ม ซึ่งตำรวจได้ส่งมอบในส่วนของการแจ้งข้อหาเพิ่มแล้ว แต่ยังขาดเรื่องการสอบพยานหลักฐานเพิ่ม ที่ยังไม่เสร็จและยังไม่ส่งมา คาดว่าน่าจะเป็นสัปดาห์หน้า
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค.นายฮิวโก สไวร์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษ ได้เชิญนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อุปทูตไทยประจำกรุงลอนดอน เข้าพบที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ โดยได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการสืบสวนคดีฆาตกรรม น.ส.ฮันนาห์และนายเดวิด ขณะที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ออกแถลงการณ์ด้วยว่า อังกฤษมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดของทางการไทยในคดีดังกล่าว และเป็นเรื่องสำคัญที่กระบวนการสอบสวนต้องยุติธรรมและโปร่งใส พร้อมย้ำว่า ต้องมีการแจ้งความคืบหน้าการสอบสวนให้ทางการอังกฤษและครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบเป็นระยะ นอกจากนี้ตำรวจอังกฤษยังพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในการสืบสวนสอบสวน รวมถึงกระบวนการด้านกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในภายหลังด้วย
       
       ขณะที่ท่าทีของไทย หลังรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษเชิญอุปทูตไทยเข้าพบ ปรากฏว่า วันต่อมา(14 ต.ค.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้เข้าพบหารือกับนายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และอู วิน หม่อง เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย เพื่อชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ หลังหารือกว่า 3 ชั่วโมง นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ได้ข้อสรุป 4 ประเด็น คือ 1.ผบ.ตร.ตั้งผู้ประสานงานเพื่อให้ทูตทั้งสองได้ข้อมูลที่ชัดเจน 2.ผบ.ตร.จะส่งเอกสารความคืบหน้าการดำเนินคดีให้ทูตทั้งสอง 3. อังกฤษและพม่าพร้อมจะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา ซึ่ง ผบ.ตร.ยินดี แต่ต้องหารือรายละเอียดต่อไป 4.หากทูตทั้งสองมีคำถามเพิ่มในอนาคต สามารถเปิดการหารือในลักษณะนี้ได้อีก
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พูดถึงกรณีที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษเรียกอุปทูตไทยเข้าพบว่า “เขาไม่ได้เรียกเรา เพียงแต่เราไปชี้แจง คือเขาขอความร่วมมือไปชี้แจง ก็ไม่เห็นว่าทางอังกฤษเขาจะติดใจอะไร เพียงแต่เขาขอเวลาทำใจหน่อย เพราะสามารถจับกุมผู้ต้องได้เร็ว...”
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(14 ต.ค.) ศาลจังหวัดเกาะสมุยได้นัดสืบพยานล่วงหน้าตามที่อัยการร้องขอ ปรากฏว่า ก่อนจะมีการสืบ ทนายความของนายวินและนายซอ 2 ผู้ต้องหา ได้ร้องขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานล่วงหน้าออกไปอีก 3-4 สัปดาห์ เนื่องจากทนายเพิ่งได้เข้าพบผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเวลาสั้นๆ ทำให้ยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามศาลได้ยกคำร้องขอของทนายผู้ต้องหา หลังอัยการอ้างว่า พยานเป็นชาวต่างประเทศ(ชาวพม่า) เกรงว่าจะหลบหนี
       
       ด้านนายแอนดี้ ฮอล์ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เผยว่า เพิ่งแต่งตั้งทนายความให้กับนายวินและนายซอ 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า โดยทีมทนายเพิ่งเข้าพบผู้ต้องหาเป็นเวลาสั้นๆ ทำให้ได้ข้อมูลไม่เพียงพอ และอาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการทำคดีนี้ และว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐรีบสืบพยานล่วงหน้าเป็นสิ่งที่เร็วเกินไป อาจเสียหายแก่ทุกฝ่าย
       
       ขณะที่สื่อพม่าอย่าง เดโมเครติก วอยซ์ ออฟ เบอร์มา(ดีวีบี) รายงานว่า สมาชิกรัฐสภาพม่ามีมติเอกฉันท์เตรียมยื่นคำร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายต่อ 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า หลังจากทราบว่าผู้ต้องหาถูกทรมาณและถูกชกโดยล่าม ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทางครอบครัวของ 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า เตรียมเดินทางมาประเทศไทยแล้ว และต้องการให้ตำรวจสากลเข้ามาช่วยสืบหาและเปิดโปงฆาตกรตัวจริง ทั้งนี้ นางเมย์ เต็ง แม่ของนายวิน 1 ในผู้ต้องหา เผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า การที่ลูกชายถูกจับ ทำให้อยากฆ่าตัวตาย เพราะรักลูกคนนี้มาก พร้อมยืนยันทั้งน้ำตาว่า ลูกชายตนเองไม่ได้เป็นคนทำผิด
       
       ด้านเว็บไซต์เบอร์มานิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล(บีเอ็นไอ) รายงานว่า ชาวพม่าในสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับการจับกุม 2 แรงงานชาวพม่าในคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ พร้อมนัดรวมตัวกันที่หน้าสถานกงสุลไทยในนครนิวยอร์กในวันที่ 17 ต.ค. เพื่อเรียกร้องให้ไทยนำตัวผู้กระทำผิดตัวจริงมาลงโทษ
       
       ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวพม่าได้มีการรวบรวมรายชื่อ 1 แสนรายชื่อไปยื่นต่อทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษจัดการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอย่างอิสระ นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังมีแผนจะชุมนุมประท้วงบนถนนไวท์ฮอลล์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมต่อกับถนนดาวนิ่ง ที่ตั้งของทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษด้วย
       
       4. ทนาย นปช.ยื่นขอความเป็นธรรมให้ 5 ชายชุดดำ อ้างถูกซ้อมให้สารภาพ ด้านอธิบดีอัยการฯ ส่งสำนวนให้ดีเอสไอสอบเพิ่มแล้ว!

        เมื่อวันที่ 14 ต.ค.นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน(กนส.) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เป็นทนายให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) มาตลอด ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกมล ธรรมเสรีกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับ 5 ผู้ต้องหาชายชุดดำ ที่ใช้อาวุธปืนก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 โดยอ้างว่า 5 ผู้ต้องหาชายชุดดำถูกทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพและการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       นายวิญญัติ ยังบอกด้วยว่า ทีมทนายความ กนส.ได้เข้าพบผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ จากการพูดคุยกับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน กลับคำรับสารภาพ โดยระบุว่าถูกซ้อมและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพ หากปฏิเสธจะถูกทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง และเกรงว่าทางครอบครัวจะไม่ปลอดภัย จึงยอมรับสารภาพ
       
       นายวิญญัติ ยังอ้างด้วยว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามจึงไม่มีอำนาจสอบสวน ขอให้ทางอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนคดีนี้ใหม่อีกครั้ง และขอให้อัยการไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เพื่อที่ทนายความจะได้ยื่นประกันตัวต่อไป
       
       ด้านนายกมล ธรรมเสรีกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา บอกว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ประสานมายังตนเพื่อขอสำนวนคดีดังกล่าวกลับไปสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากเห็นว่าอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ซึ่งตนได้ส่งสำนวนคืนกลับไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. หากพนักงานสอบสวนดีเอสไอสรุปสำนวนมาให้อัยการอีกครั้ง จะต้องส่งสำนวนไปยังอัยการฝ่ายคดีพิเศษในการพิจารณาสั่งฟ้องคดี
       
       5. สกอ.สนองนโยบาย “บิ๊กตู่” สั่งปิด “อุเทนถวาย” สาขาวิศวโยธา-โลจิสติกส์ 9 วัน ด้าน “ปทุมวัน” โดนปิดวิศวไฟฟ้า 3 วัน เซ่น นร.ตีกัน!

        เมื่อวันที่ 16 ต.ค.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ประชุมหารือกับนายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และนายปัญญา มินยง อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พร้อมด้วยผู้บริหารของทั้ง 2 สถาบัน หลังเกิดปัญหานักศึกษาของทั้ง 2 สถาบันทะเลาะวิวาทเมื่อวันที่ 15 ต.ค.
       
       โดยเหตุเกิดขณะที่นายอติชาติ รอดศาสตรา อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ชั้นปี 2 ของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ได้ขึ้นรถประจำทางสาย 29 จากหมอชิต เมื่อมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีนักศึกษาจากอุเทนถวายขึ้นมาบนรถ 3 คน คือ นายกฤษฎา ดวงเงิน อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา ชั้นปี 1 ,นายกิติพงศ์ แนวโอโล อายุ 20 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์และการจัดการระบบขนส่ง ชั้นปี 1 และนายวัชรพงศ์ ปุริตังสันโต อายุ 20 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ฯ ชั้นปี 1 จากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกันขึ้น แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เนื่องจากนักศึกษาทั้ง 2 ฝ่ายยังให้การไม่ตรงกัน
       
       นพ.กำจร บอกว่า เหตุทะเลาะวิวาทกันดังกล่าว มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทราบแล้ว โดย พล.ร.อ.ณรงค์ ได้สั่งการให้ดำเนินการตามนโยบายที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และทั้ง 2 สถาบันได้ตกลงกันไว้ ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ปิดสถาบันที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท “หลังเกิดเหตุดังกล่าว ผมได้เชิญผู้บริหารทั้ง 2 สถาบันมารับทราบข้อมูล โดยขอให้มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง ปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท สำหรับสถาบันปทุมวันให้ปิดสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งมีนักศึกษาได้รับผลกระทบ 70 คน ส่วนอุเทนถวายให้ปิดสาขาวิศวกรรมโยธาและสาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ฯ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 เป็นเวลา 9 วัน มีนักศึกษาได้รับผลกระทบกว่า 300 คน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กหลาบจำ และไม่ให้มาซ่องสุมรวมตัวกันพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การแก้แค้น”
       
       ส่วนจะเริ่มปิดตั้งแต่วันใดนั้น นพ.กำจร บอกว่า เป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยที่จะต้องไปดูแล สำหรับจำนวนวันที่สั่งปิดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท และว่า ต่อไปถ้าสถาบันใดรวมตัวกันก่อเหตุทะเลาะมากเท่าไหร่ ก็จะถูกปิดนานขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าไม่รู้ว่าเด็กที่ก่อเหตุเรียนอยู่สาขาใด ต้องสั่งปิดทั้งสถาบัน ถ้าถึงขั้นเสียชีวิต ก็ต้องปิดอย่างน้อย 1 ภาคเรียน ถึง 1 ปีการศึกษา ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก
       
       ด้านนายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย บอกว่า มาตรการปิดสถาบันเป็นแค่มาตรการหนึ่ง แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ การแก้ปัญหาต้องทำให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างสถาบัน ซึ่งต้องใช้เวลา และว่า มาตรการปิดสถาบันหรือปิดคณะ ช่วยป้องปรามการก่อเหตุได้ แต่ถ้าช่วงที่ปิดเรียน นักศึกษาไปรวมตัวกันก่อเหตุอีก ต้องถูกไล่ออก


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    19 ตุลาคม 2557