ผู้เขียน หัวข้อ: คนกินอาหารมังสวิรัติตายด้วยโรคอะไร? (ตอนที่ 1)  (อ่าน 807 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
       
        เป็นที่เชื่อกันว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัตินั้นโดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุยืนยาวกว่า เจ็บป่วยน้อยกว่า และมีสุขภาพที่ดีกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่ผลจากกงานวิจัยที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัตินั้นดีอย่างไร มีผลเสียและข้อควรระวังอย่างไร เมื่อเทียบกับคนที่รับประทานเนื้อสัตว์
       
        การศึกษาและวิจัยสำรวจประชากรที่รับประทานอาหารมังวิรัติในโลกนี้มีอยู่หลายชิ้น ได้แก่ การศึกษาการเสียชีวิตของชาว เซเว่น เดย์ แอดเวนติสต์ ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปี พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2508, การศึกษาสุขภาพของชาว เซเว่น เดย์ แอดเวนติสต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ.2527 - พ.ศ. 2540, การศึกษาของเฮลท์ ฟู้ด ชอปเปอร์ส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2531, การศึกษาผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติของ อ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ระหว่าง พ.ศ. 2524- พ.ศ. 2543, การศึกษาของ ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ระหว่าง พ.ศ. 2521, การสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน (META – ANALYSIS) บูรณาการการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2521 ในปี พ.ศ. 2542, รวมถึงการศึกษาของ EPIC จาก อ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ระหว่าง พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน และ การศึกษาสุขภาพของชาว เซเว่น เดย์ แอดเวนติสต์ ประเทศสหรัฐอเมริการอบที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2545 - ปัจจุบัน งานวิจัยเหล่านี้ทำให้เรามีความเข้าใจสุขภาพของคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติได้ดีขึ้น
       
        การศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 90 ปี ต่อประชากร 100,000 คน พบว่าในช่วงการสำรวจอัตราการเสียชีวิตของประชากรที่รับประทานอาหารมังวัรัตินั้นต่ำกว่าคนที่รับประทานอาหารโดยทั่วไปประมาณครึ่งหนึ่ง เช่น การศึกษาของ EPIC จาก อ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร พบว่าอัตราการเสียชีวิตของคนรับประทานอาหารมังสวิรัติต่ำกว่าประชากรทั่วไปถึง 52%, อัตราการเสียชีวิตของชาวมังสวิรัติ เซเว่น เดย์ แอดเวนติสต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่ำกว่าประชากรทั่วไป 49%, การศึกษาของ ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติต่ำกว่าประชากรทั่วไป 48%
       
        จากการสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน (META – ANALYSIS) บูรณาการงานวิจัยผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติที่กล่าวมาข้างต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2503 -2521 ในปี พ.ศ. 2542 พบว่า คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) น้อยกว่าคนทั่วไป 24% แต่กลับพบว่าอัตราการเสียชีวิตโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคอื่นๆนั้นมีความแตกต่างกันไม่มากนัก
       
        สำหรับผู้รับประทานอาหารมังสวิรัตินั้นยังสามารถแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์แต่ยังดื่มนมและรับประทานไข่อยู่ (Lacto-ovo vegetarians) กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิดโดยที่ไม่ดื่มนมและไม่รับประทานไข่ด้วย (Vegan) จากการศึกษาของเฮลท์ ฟู้ด ชอปเปอร์ส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2531 โดยสำรวจ 11 ปีเพื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร 31,766 คน ที่รับประทานเนื้อสัตว์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พบผลการวิจัยในเชิงเปรียบเทียบดังนี้
       
        1. ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นครั้งคราว จำนวน 8,135 คน ซึ่งเป็นผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ "น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์" พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อเทียบกับคนทั่วไปลดลง 20% และมีอัตราการเสียชีวิตด้วยสาเหตุการเสียชีวิตโดยรวมลดลงไป 10%
       
        2. ผู้ที่ "ไม่รับประทานเนื้อสัตว์" แต่ยังกินปลาอยู่ จำนวน 2,375 คน มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงไป 34% และอัตราการเสียชีวิตด้วยสาเหตุการเสียชีวิตโดยรวมลดลงไป 18%
       
        3. กลุ่มรับประทานอาหารมังสวิรัติแต่ยังดื่มนมและรับประทานไข่ (Lacto-ovo vegetarians) จำนวน 23,265 คน พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดลดลงไปถึง 38% และมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงไป 34%, มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมลดลงไป 15%
       
        4. กลุ่มมังสวิรัติที่ไม่ดื่มนม ไม่กินผลิตภัณฑ์จากนม และไม่รับประทานไข่ (Vegan) จากจำนวน 753 คน พบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงไป 23% และอัตราการเสียชีวิตโดยรวมใกล้เคียงกับคนทั่วไป และจากการสำรวจไม่พบความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยยะสำคัญในสาเหตุการเสียชีวิตระหว่างคนกลุ่มนี้กับคนที่รับประทานเนื้อสัตว์
       
        ในระหว่างการสำรวจจำนวนกลุ่มมังสวิรัติที่ไม่ดื่มนม ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากนม และไม่รับประทานไข่ (Vegan) พบว่ามีการเสียชีวิตทั้งสิ้น 68 คน และสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดเรียงลำดับจากมากไปน้อยดังนี้
       
        อันดับ 1 เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 17 คน ( คิดเป็น 25% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 68 คน)
       
        อันดับ 2 เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 4 คน ( 5.88% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 68 คน)
       
        อันดับ 3 เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 2 คน ( 2.94% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 68 คน)
       
        อันดับ 4 เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 2 คน ( 2.94% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 68 คน)
       
        อันดับ 5 เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ 2 คน ( 1.47% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 68 คน)
       
        อันดับ 6 เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆที่แยกย่อยที่ไม่สามารถแยกเป็นรายโรคได้ 42 คน
       
        อย่างไรก็ตามจากการสำรวจชิ้นนี้ไม่พบการเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากแต่ประการใด
       
        งานวิจัย EPIC - อ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการศึกษาเรื่องอัตราการเกิดโรคหัวใจของชาวมังสวิรัติเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่รับประทานอาหารมังสวิรัติเลย โดยได้มีการติดตามผลและคำนวณระหว่างปี พ.ศ. 2536 ถึง พ.ศ. 2552 โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นโรคหัวใจมาก่อนในการศึกษาเริ่มต้น ผลการศึกษาพบตัวเลขที่มีนัยยะสำคัญทางสถิติว่า
       
        คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติมีอัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจลดลงประมาณ 30% โดยนักวิจัยเชื่อว่าความแตกต่างของอัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจมีความแตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับระดับ HDL (High Density Lipoprotein) หรือที่เรียกว่าไขมันตัวดีอยู่ในระดับต่ำ และระดับความดันเลือดของกลุ่มมังสวิรัติที่ต่ำกว่า
       
        งานวิจัย EPIC - อ๊อกซ์ฟอร์ด ในปี พ.ศ. 2554 จากการติดตามผลต่อเนื่องมา 11.6 ปี พบว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ มีความเสี่ยงโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular disease) ต่ำกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ 31%
       
        งานวิจัย EPIC - อ๊อกซ์ฟอร์ด ในปี พ.ศ. 2554 พบว่าสำหรับประชากรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จากพบสถิติที่มีนัยยะสำคัญว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติมีความเสี่ยงโรคต้อกระจกน้อยกว่าผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์อย่างมาก ดังนี้
       
        ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ระหว่าง 50-99 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงโรคต้อกระจกต่ำกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ 100 กรัมต่อวัน 4%
       
        ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ต่ำกว่า 5 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงโรคต้อกระจกต่ำกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ 100 กรัมต่อวัน 15 %
       
        ผู้ที่รับประทานปลาจะมีความเสี่ยงโรคต้อกระจกต่ำกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ 100 กรัมต่อวัน 21 %
       
        กลุ่มมังสวิรัติ แต่ยังดื่มนม และรับประทานไข่ (Lacto-ovo Vegetarian) มีความเสี่ยงโรคต้อกระจกต่ำกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ 100 กรัมต่อวันถึง 30%
       
        กลุ่มมังสวิรัติที่ไม่ดื่มนม ไม่กินผลิตภัณฑ์จากนม และไม่รับประทานไข่ (Vegan) มีความเสี่ยงโรคต้อกระจกต่ำกว่าคนที่รับประทานเนื้อสัตว์ 100 กรัมต่อวันถึง 40%
       
        งานวิจัย EPIC - อ๊อกซ์ฟอร์ด ในปี พ.ศ. 2550 พบปัญหาของผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ Vegan (ที่ไม่ดื่มนมและรับประทานไข่) มีอัตราการเกิดโรคกระดูกเปราะสูงกว่าผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ 37% แต่เมื่อปรับโดยให้ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติรับประทานแคลเซียมเพิ่มมากขึ้นก็ไม่พบอัตราการเกิดโรคกระดูกแตกสูงอีกต่อไป โดยให้รับประทานเพิ่มแคลเซียม 525 มิลลิกรัมต่อวัน ก็จะมีอัตราการเกิดโรคกระดูกเปราะเหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ
       
        งานวิจัย EPIC - อ๊อกซ์ฟอร์ด ในปี พ.ศ. 2546 จากการศึกษาจากการเปรียบเทียบของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรกลุ่มตัวอย่าง 46,562 คน โดยในกลุ่มนี้มีผู้ที่เสียชีวิตที่เป็นคนรับประทานอาหารมังสวิรัติประมาณ 33% รายงานชิ้นนี้กลับไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติกับผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ รวมถึงโรคมะเร็ง โรคการไหลเวียนของโลหิต โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆ
       
        จากงานวิจัยข้างต้นดูเหมือนว่าจะมีบางอย่างที่ดูขัดแย้งกันเองอยู่พอสมควร แต่บางอย่างก็ดูเหมือนจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น แต่งานวิจัยที่กล่าวถึงข้างต้นนี้มีตัวแปรอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน และยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่สำคัญและจะต้องกล่าวถึงต่อไปในตอนหน้า
       
        เพื่อหาความจริงต่อไปว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัตินั้นดีจริงหรือไม่อย่างไร มีข้อดีอย่างไร และมีข้อเสียอย่างไร และสำคัญที่สุดคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติจะทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคร้ายได้มากกว่าเดิม

ASTVผู้จัดการรายวัน    5 กันยายน 2557