ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 มิ.ย.-4 ก.ค.2558  (อ่าน 892 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9805
    • ดูรายละเอียด
 1. “อียู-แอมเนสตี้” จี้ไทยปล่อย 14 นักศึกษา อ้างแค่นักโทษทางความคิด ด้าน “บิ๊กตู่” ชี้ กม.ต้องเป็น กม. แต่พร้อมเปิดช่องพูดคุย!

        ความคืบหน้ากรณีนักศึกษากลุ่มดาวดินและกลุ่มหอศิลป์เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหารที่หน้าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำ 33 คน ก่อนปล่อยตัวทั้งหมด และภายหลังได้มีการออกหมายเรียกนักศึกษาที่เข้าข่ายกระทำผิดมาชี้แจงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวดังกล่าวจำนวน 14 คน แต่นักศึกษาไม่ได้เข้าพบตำรวจตามหมายเรียก หลังออกหมายเรียก 2 ครั้ง ตำรวจจึงขอศาลทหารออกหมายจับข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ซึ่งศาลทหารได้อนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ปรากฏว่า วันต่อมา(24 มิ.ย.) นักศึกษาทั้ง 14 คน ได้มารวมตัวที่ สน.ปทุมวัน เพื่อยืนยันว่าจะไม่หลบหนี พร้อมออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับข้อกล่าวหาและจะแจ้งความดำเนินคดีพนักงานสอบสวนชุดจับกุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. อ้างว่าได้ใช้กำลังประทุษร้าย ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พวกตนพึงมีตามรัฐธรรมนูญ แถลงการณ์ของนักศึกษายังโจมตีการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พร้อมตำหนิว่า รัฐบาลทหารไม่ทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าขึ้นเลย ทั้งยังเรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจให้ประชาชน ให้ประชาชนกำหนดวิถีทางทางการเมืองด้วยตัวเอง
      
       หลังจากนั้น 2 วัน(26 มิ.ย.) ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนักศึกษาที่ถูกศาลออกหมายจับข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 83 ซึ่งมีโทษจำคุกเกิน 3 ปี ก่อนนำตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนไปศาลทหารกรุงเทพ เพื่อฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน จากนั้นได้นำตัวนักศึกษาชาย 13 คน ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่นักศึกษาหญิงอีก 1 คน ถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดานักศึกษา 14 คนที่ถูกจับดังกล่าว มี 1 คนเคยถูกจับคาบ่อนหรูในคอนโดมิเนียมภายในซอยสุขุมวิท 24 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับพวกอีก 25 คน โดยนักศึกษาคนดังกล่าว คือ นายพรชัย ยวนยี หรือ แซม ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,500 บาท โดยโทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี แต่เมื่อนายพรชัยมากระทำความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองอีก หากศาลพิพากษาอย่างไร จะต้องนำโทษจำคุก 3 เดือนดังกล่าวไปรวมด้วย
      
       ด้านทีมทนายความของ 14 นักศึกษา ได้แก่ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ได้แถลงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ถึงสิ่งที่ 14 นักศึกษาต้องการสื่อสารให้ประชาชนทราบ 4 ข้อ 1. พวกเขาคือนักโทษการเมือง ตั้งใจจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ 2.ยังไม่คิดเรื่องการประกันตัว 3.ไม่ยอมรับอำนาจศาลทหาร เพราะถือว่าเป็นพลเรือน และ 4.เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แต่ละวันได้มีอาจารย์ กลุ่มญาติและเพื่อนนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ไปขอเข้าเยี่ยม 14 นักศึกษาที่เรือนจำ ขณะที่บางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มประชาชนผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ออกแคมเปญ “ปล่อยตัวนักศึกษาทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข”
      
       ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี 14 นักศึกษาเคลื่อนไหวและถูกหมายจับขึ้นศาลทหารว่า เมื่อไม่ขอประกันตัว กระบวนการก็จะดำเนินต่อไปตามกระบวนการของศาล และว่า กฎหมายในขณะนี้ นักศึกษาทั้งหมดไม่สามารถขึ้นศาลพลเรือนตามที่เรียกร้องได้
      
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ไปอ่านแถลงการณ์ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังเข้าเยี่ยมนักศึกษาแล้ว โดยในแถลงการณ์มีอาจารย์ร่วมลงชื่อสนับสนุน 280 คน เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่ตั้งข้อหา พร้อมอ้างว่า การจับกุมคุมขังนักศึกษาด้วยข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เพราะการรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น สำหรับอาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้แก่ นายเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัว 14 นักศึกษา เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(โอเอชซีเอชอาร์) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ว่า นักศึกษาชุมนุมอย่างสันติในพื้นที่สาธารณะ ด้านคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย(อียู) ออกแถลงการณ์ชี้ว่า การจับกุม 14 นักศึกษาดังกล่าวเป็นพัฒนาการที่น่ากังวลใจ พร้อมเรียกร้องให้ไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ ขณะที่สำนักงานเลขาธิการใหญ่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องให้สมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ,พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษา โดยอ้างว่า นักศึกษาดังกล่าวเป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการชุมนุมอย่างสงบ
      
        ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พูดถึงกรณีที่อียูเรียกร้องให้ไทยหยุดดำเนินคดี 14 นักศึกษาว่า “กฎหมายคือกฎหมาย ประเทศไทยคือประเทศไทย ถ้ามีกฎหมาย คนนี้ทำคนนี้ไม่ทำ วันหน้าจะมีออกมากันอีกหรือไม่ วันนี้เขาทำอะไร เขาแสดงความคิดเห็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศกับผมบ้างหรือไม่ มาสิ แต่ถ้าจะมาโต้แย้งกับผม มันไม่ใช่ อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าการแสดงความคิดเห็น... ผมใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง ไม่ได้ไปละเมิดอะไรใคร เว้นแต่คนไม่ปฏิบัติตามกติกาที่ผมจำเป็นต้องใช้แค่นั้นเอง”
      
        อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(1 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยอมรับว่าไม่สบายใจกับการใช้กฎหมายกับนักศึกษา และอยากให้เรื่องยุติ โดยบอกว่า ขณะนี้กำลังหามาตรการเปิดช่องทางการพูดคุยเพื่อให้เกิดการยุติ เพราะไม่สบายใจในการใช้กฎหมายกับนักศึกษา แต่ขณะเดียวกัน ต้องมองอีกมุมหนึ่งว่า พฤติกรรมที่แสดงออกมาเป็นอย่างไร เป็นกิริยาของเด็กที่บริสุทธิ์หรือไม่ มีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ
      
        ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ได้ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาโดยไม่ดำเนินคดีใดๆ พร้อมพูดเหมือนเหน็บนายกฯ และ คสช.ว่า การยืนกรานรักษากฎหมายจากคณะที่ลงมือฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คำอธิบายที่สังคมประชาธิปไตยจะเข้าใจได้
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายฝ่ายต้องการให้ 14 นักศึกษาทำเรื่องขอประกันตัวเพื่อออกมาสู้คดีตามกระบวนการ แต่นักศึกษากลับไม่สนใจ โดยอ้างว่า พวกตนไม่ได้ทำอะไรผิดตามที่ถูกกล่าวหา
      
       2. เรือประมงหลายจังหวัดแห่จอดเรือ หวั่นถูกจับ วอน รบ.ผ่อนผันเรือผิด กม. ก่อนกระทบเป็นลูกโซ่ ด้าน “บิ๊กตู่” บอกเตือนนานแล้ว ทำไมไม่แก้!

        จากกรณีที่รัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎหมายจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม(ไอยูยู) หรือใบเหลืองธุรกิจประมงของสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งรัฐบาลได้ผ่อนผันให้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า กลุ่มผู้ประกอบการประมงหลายจังหวัดได้เรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันการจับกุมเรือประมงที่ผิดกฎหมาย มีใบอาชญาบัตรผิดประเภทหรือไม่มีอาชญาบัตรออกไปอีกระยะหนึ่ง โดยอ้างว่าแก้ปัญหาไม่ทัน ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการประมงหลายจังหวัดจะหยุดเดินเรือ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
      
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ได้มีการผ่อนผันมา 2 เดือนแล้ว ตอนแรกเรือประมงกว่า 3,000 ลำที่พูดคุยกันและตรวจพบว่าผิดอาชญาบัตรทั้งหมด ต่อมากลับบอกว่าไม่มีบัตรนายท้าย ไม่มีบัตรช่างเครื่อง รวมทั้งบัตรคนใช้วิทยุ ทั้งที่ 3 สิ่งนี้เป็นระเบียบที่ออกมานานแล้วโดยกรมประมง แต่มาอ้างว่าทำไม่ทัน เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ.ไกรสร บอกว่า ได้สั่งให้กรมประมง กรมเจ้าท่า และบริษัท กสท โทรคมนาคม ไปเปิดอบรมนายท้ายเรือ ช่างเครื่อง และการใช้วิทยุอย่างเร่งด่วนภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าเรือลำใดพร้อม จะออกใบอนุญาตให้ เรือที่ไม่พร้อมต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนเรือประมงที่ประกาศจะหยุดเรือ คิดว่าไม่เป็นไร คงต้องหยุดไป เพราะไม่มีความพร้อม ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อเรือประมงถูกกฎหมายประมาณ 20,000 ลำได้
      
        ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พูดถึงกรณีที่ผู้ประกอบการประมงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันการจับกุมเรือประมงที่มีใบอาชญาบัตรผิดประเภทหรือไม่มีอาชญาบัตรว่า ประกาศเตือนมานานแล้ว ไม่ใช่มาประกาศวันนี้หรือพรุ่งนี้ ตีเส้นให้สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. แต่ไม่ทำกัน มาบอกว่าทำไม่ได้ วันนี้มีเรือ 80% ที่ผิดกฎหมาย แต่ก็แก้ไม่ทัน ให้รัฐบาลชะลอกฎหมาย แล้วองค์กรต่างประเทศชะลอให้ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ แล้วถามตนทำไม จะต้องผ่อนผันกันอีกเท่าไร พอสามเดือน วันหน้าก็ขอต่ออายุกันอีก เป็นแบบนี้ไปตลอดไม่ได้
      
        ขณะที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอความร่วมมือชาวประมงให้มาแจ้งขึ้นทะเบียนเรือ ขออนุญาตทำประมงโดยใช้เครื่องมือทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีคนเรือที่มีใบอนุญาตแรงงานอย่างถูกต้อง หากมีครบ 3 ส่วนก็สามารถออกไปทำประมงได้ตามปกติ ส่วนที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียน สามารถไปยังหน่วยจดทะเบียนเคลื่อนที่แบบวันสต๊อปเซอร์วิสได้ถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้ และยังสามารถติดต่อกับกรมเจ้าท่าและกรมประมงได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. นายปีติพงศ์ ยังคาดด้วยว่า ทางอียูจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บข้อมูลการแก้ปัญหาไอยูยูของไทยในเดือน ส.ค. ก่อนประเมินผลประมาณเดือน ต.ค.   
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังครบกำหนดผ่อนผัน 30 มิ.ย. ปรากฏว่า ชาวประมงหลายจังหวัดต่างพากันหยุดเรือตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เพราะเป็นเรือที่ใช้เครื่องมือทำประมงผิดประเภท จึงกลัวถูกจับ ส่งผลให้อาหารทะเลลดลงและเริ่มมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน พยายามเสนอทางออกให้รัฐบาล เพราะหากเรือหยุดจำนวนมากและยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ที่ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสงคราม เห็นว่า รัฐบาลควรผ่อนผันการกวดขันจับกุมเรือไปอีก 2 เดือน ขณะเดียวกันให้ภาครัฐกำหนดโซนนิ่งการประมงแต่ละประเภทในการจับปลาให้เหมือนต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาชาวประมงทะเลาะกัน
      
       ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา แนะให้รัฐนำหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มาใช้ ควรจะนิรโทษกรรมความผิดทั้งหมด แล้วมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ให้เรือที่มีอาชญาบัตรเก่าที่หมดอายุมาขอต่อใหม่ เจ้าของเรือที่ไม่มีอาชญาบัตรให้มาทำใหม่ โดยขีดเส้นตายให้เวลากี่วันกี่เดือน หากเรือประมงลำใดยังไม่ทำอาชญาบัตร ให้จับกุมทันทีและบอกให้ชัดเจนด้วยว่า เรือประมงใดจะไม่อนุญาตออกอาชญาบัตรให้
      
       3. ศาลฎีกาฯ นัดสอบคำให้การ “บุญทรง” กับพวก คดีทุจริตระบายข้าว พร้อมออกหมายจับ “นพ.วีระวุฒิ-สุธี” ส่อหลบหนี!

        เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกและสอบคำให้การคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก รวม 21 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือฮั้วประมูล พ.ศ.2542 มาตรา 4 , 9 ,10 และ 12 , ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 4 , 123 และ 123/1 พร้อมขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นเงิน 35,274,611,007 บาท กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)
      
        ทั้งนี้ นายบุญทรงและพวกได้ทยอยเดินทางมาศาล ขาดเพียง นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 และนายสุธี เลื่อมไธสง จำเลยที่ 16 ศาลจึงให้ออกหมายจับ เพื่อนำตัวมาฟังการพิจารณาคดี เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติกรรมหลบหนี ส่วนจำเลยที่มาศาล ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง สรุปว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2554 ถึง 12 ก.พ.2556 จำเลยที่ 1-6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้เสนอราคาซื้อขายข้าวกับบริษัท กวางตุ้ง และไห่หนาน ของประเทศจีน ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เป็นการเจรจาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ แต่ไม่มีการซื้อขายจริง และมีการนำข้าวไปขายให้ผู้ค้าข้าว โดยมีจำเลยที่ 7-21 เป็นผู้รับมอบข้าว ซึ่งจำเลยทั้งหมดที่มาศาลให้การปฏิเสธและขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างละเอียดภายใน 60-120 วัน
      
        ด้านศาลพิเคราะห์แล้ว มีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดยื่นคำให้การภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายในวันที่ 29 ก.ย. หลังสอบคำให้การเสร็จ ศาลได้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตามเหตุและพฤติการณ์ของแต่ละราย โดยให้ประกันตัวทุกราย ยกเว้นนายนิมนต์ รักดี จำเลยที่ 15 ที่หลักทรัพย์ไม่น่าเชื่อถือเพราะเป็นโฉนดที่ดินทางสาธารณะ ศาลจึงสั่งถอนประกัน และให้ออกหมายขังเพื่อส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำ จนกว่าจำเลยจะมีหลักทรัพย์ใหม่มายื่น สำหรับนายบุญทรง ใช้หลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝาก โดยศาลตีราคาประกัน 20 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
      
        วันเดียวกัน(29 มิ.ย.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำสั่งยกเลิกนัดตรวจพยานหลักฐานคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องข้อหาละเลยไม่ระงับยับยั้งทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 21 และ 28 ก.ค. ออกไปเป็นวันที่ 31 ส.ค.แทน เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอขยายเวลายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9805
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 28 มิ.ย.-4 ก.ค.2558(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2015, 16:53:45 »
4. ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้อภัย “ไทยพาณิชย์” ไม่บอยคอตแล้ว หลังขอโทษบกพร่องรับสมัครงาน 14 สถาบัน!

        เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สื่อมวลชนได้เผยแพร่ทวิตเตอร์ของผู้ใช้นามแฝงว่า “@LadyGunga” ที่โพสต์ภาพคุณสมบัติการรับสมัครงานของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีข้อความทำนองว่า ธนาคารเลือกรับสมัครงานจากชื่อมหาวิทยาลัยแล้วเหรอ ประเทศไทย พร้อมบอกว่าไม่เอ่ยชื่อธนาคาร แต่สมมติว่าชื่อไทยพาณิชย์
       
        ทั้งนี้ ในภาพระบุคุณสมบัติของผู้สมัครงานว่า เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 จากมหาวิทยาลัย 14 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ธรรมศาสตร์ ,เกษตรศาสตร์ ,มหิดล ,ศรีนครินทรวิโรฒ ,พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ,อัสสัมชัญ ,กรุงเทพ ,บูรพา ,ขอนแก่น ,เชียงใหม่ ,สงขลานครินทร์ ,หอการค้าไทย ,แม่ฟ้าหลวง
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ทำนองตำหนิธนาคารที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรี ทั้งๆ ที่สังคมมองว่าชื่อมหาวิทยาลัยไม่สำคัญ ซึ่งต่อมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ส่งหนังสือชี้แจงถึงสื่อมวลชนว่า กรณีที่ธนาคารได้ลงประกาศโฆษณารับสมัครงานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด Financial Advisor Trainee ทางเว็บไซต์หางาน โดยระบุชื่อมหาวิทยาลัยจำนวน 14 สถาบันนั้น ธนาคารขออภัยอย่างสูงที่มีการผิดพลาดในการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวการรับนิสิตนักศึกษาเข้าทำงาน ซึ่งความจริง นโยบายของธนาคารเปิดรับนิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และได้ดำเนินการตามนโยบายนี้มาตลอด
       
        อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำชี้แจงของธนาคารไทยพาณิชย์จะฟังไม่ขึ้น เพราะได้เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ผู้บริหารและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) ทั้ง 40 แห่งเป็นอย่างมาก โดยมีข่าวว่า มรภ.ทั้ง 40 แห่งอาจจะยกเลิกการทำธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งนายนิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.เพชรบุรี และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) เผยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ยอมรับว่ามีแนวคิดดังกล่าวจริง แต่ยังไม่ได้ลงมติ เตรียมนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุม ทปอ.มรภ.วันที่ 3 ก.ค. นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่อาจจะร่วมบอยคอตธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย
       
        ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ทางธนาคารคงต้องไปทำความเข้าใจกับกลุ่ม มรภ. แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ มรภ.ต้องมองย้อนกลับด้วยว่า เหตุใดธนาคารจึงออกประกาศเช่นนั้น หรือว่ากลุ่ม มรภ.ยังไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร หากกลุ่ม มรภ.ทบทวนแล้วว่าการจัดการเรียนการสอนของ มรภ.ยังบกพร่องอยู่ ก็ควรแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน
       
        ด้านผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ พยายามดับความไม่พอใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เดินสายขออภัยและชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหาร มรภ.แต่ละสถาบันทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด พร้อมยืนยันด้วยว่า กรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารในโซเชียลมีเดียว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีการแบ่งกลุ่มสถาบันการศึกษาไว้ 3 กลุ่ม คือ AA , AB , BB นั้น ไม่ใช่เอกสารของธนาคารไทยพาณิชย์แต่อย่างใด
       
        นอกจากนี้เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังได้ออกหนังสือขออภัยในความบกพร่องที่เกิดขึ้นกรณีประกาศรับสมัครงานที่มีการกำหนดคุณสมบัติ 14 สถาบัน พร้อมมีคำสั่งยกเลิกและนำประกาศดังกล่าวออกจากสื่อทุกสื่อแล้ว รวมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเรื่องดังกล่าว และกำชับผู้เกี่ยวข้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้อีก
       
        ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) จะพิจารณากรณีไทยพาณิชย์เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ปรากฏว่า ทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขอส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วย คือนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หลังประชุม ทั้งสองฝ่ายได้เปิดแถลงร่วมกัน โดยนายญนน์ ได้กล่าวขออภัยอีกครั้งกับเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมยอมรับว่าเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการทำงานของทางธนาคาร และขอบคุณคณะอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ให้โอกาสและรับฟังคำชี้แจง พร้อมย้ำว่า ธนาคารมีนโยบายรับนักศึกษาจากทุกสถาบัน ไม่มีการปิดกั้นหรือแบ่งแยก โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพและความสามารถเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีพนักงานกว่า 22,000 คน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลายสถาบัน ล่าสุด ปี 2557 ถึง พ.ค.2558 ได้รับพนักงานใหม่ 4,348 คน เป็นผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลับราชภัฏ 860 คน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 429 คน หรือ 30% ของพนักงานทั้งหมด
       
        ด้านนายนิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และนายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้ร่วมกันชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขอขอบคุณกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ให้เกียรติและให้ความสำคัญต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งสองกลุ่มสถาบันรับคำขอโทษจากผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และขอยืนยันว่า การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) และเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ ควรจะร่วมมือกันอย่างกัลยาณมิตรและให้โอกาสแก่บัณฑิตได้เพิ่มพูนศักยภาพบนพื้นฐานของความเสมอภาค
       
       5. มือปืน จ่อยิง “สมยศ สุธางค์กูร” เจ้าของพระราม 9 คาเฟ่ ดับคาลานจอดรถ ด้านตำรวจตั้ง 3 ปมชนวนสังหาร!

        เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.เวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.คลองตัน ได้รับแจ้งมีชายถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหลังร้านเฮงหูฉลาม ถนนพัฒนาการ แขวง-เขตสวนหลวง จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นลานจอดรถ พบศพนายสมยศ สุธางค์กูร อายุ 62 ปี อดีตเจ้าของสถานบันเทิงพระราม 9 คาเฟ่ ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ 1 นัด ไหล่ข้างซ้าย 1 นัด โหนกแก้มขวา 1 นัด และกลางหลังอีก 1 นัด ใกล้กันพบรถเบนซ์ รุ่นอี 200 สีดำ หมายเลขทะเบียน ฌร 3636 กรุงเทพมหานคร จอดติดเครื่องยนต์อยู่ บริเวณด้านท้ายรถฝั่งซ้ายมีร่องรอยถูกเฉี่ยวชนจนบุบ
       
       เบื้องต้นทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายพาภรรยามาทานอาหารที่ร้านดังกล่าว กระทั่งทานเสร็จเวลา 20.00 น. ขณะที่ผู้ตายกำลังเดินออกไปขึ้นรถที่ภรรยาติดเครื่องรออยู่ด้านหลังร้าน จู่ๆ มีชายเดินมาจ่อยิงหลายนัด ก่อนขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไป จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ รปภ.และพนักงานของร้านอาหารดังกล่าว สังเกตเห็นรถจักรยานยนต์ต้องสงสัย มาขับวนเวียนเหมือนดูลาดเลาหลายรอบ ก่อนจะนั่งรอ เมื่อสบโอกาสจึงก่อเหตุ ทั้งนี้ ตำรวจได้ตั้งปมสังหารไว้ 3 ประเด็นคือ 1. เรื่องหนี้สินการพนันที่มีการโกงกันเป็นเงิน 4 ล้านบาท 2. เรื่องเงินค่าวิ่งเต้นล้มคดี 25 ล้านบาท และ 3.ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินย่านพระราม 9
       
       สำหรับนายสมยศ สุธางค์กูร เป็นเจ้าของคาเฟ่ชื่อดังของเมืองไทย “พระราม 9 คาเฟ่” ซึ่งเป็นสถานบันเทิงที่ถือเป็นศูนย์รวมของนักร้องและตลกชื่อดัง อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องจนต้องปิดตัวลงในที่สุด ทั้งนี้ เมื่อครั้งนายบุญเลี้ยง อดุลย์ฤทธิกุล เจ้าของวิลล่าคาเฟ่และดาราคาเฟ่ ถูกมือปืนยิงเสียชีวิตในลิฟท์ของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง โดยอ้างว่า เพื่อชิงทรัพย์เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2541 นายสมยศ สุธางค์กูร ซึ่งเคยเป็นเพื่อนสนิทไปไหนมาไหนด้วยกันกับนายบุญเลี้ยงราวกับฝาแฝด ก่อนแตกคอกันเพราะเรื่องผลประโยชน์ ได้ถูกกระแสสังคมในขณะนั้นเคลือบแคลงว่ามีส่วนพัวพันกับการยิงนายบุญเลี้ยง อดุลย์ฤทธิกุล หรือไม่
       
       ส่วนคดียิงนายสมยศนี้ จากการสอบปากคำนางรัศมี ภรรยานายสมยศ เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุไม่นาน นายสมยศได้ทวงหนี้จากนางศุภนิดา นรรัตน์ หรือก้อย อายุ 48 ปี กว่า 20 ล้านบาท และหนี้พนันที่ถูกโกงไปอีก 4 ล้านบาท แต่ไม่เคยได้เงินคืน เป็นปัญหาคาราคาซังมาร่วมปี โดยนายสมยศพูดคุยให้ฟังเป็นระยะถึงเรื่องนี้ และเคยเล่าให้ฟังด้วยว่า มีคนขู่จะทำร้าย และว่า 1 สัปดาห์ก่อนนายสมยศถูกยิง ได้นัด เสธ.ณุ ที่ร้านลาบเป็ดหน้าปากซอยบ้านพัก ให้ไปพูดคุยเรื่องทวงหนี้นายเล็ก สามีนางศุภนิดากว่า 20 ล้านบาท ซึ่งสังเกตได้ว่า หลังจากกลับมา นายสมยศมีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นนายสมยศได้นำอาวุธปืนที่เก็บไว้บนห้องนอนชั้น 2 มาไว้ด้านล่างไม่ให้ห่างตัว แต่ไม่เคยพกออกไปนอกบ้าน และว่า ช่วงบ่ายวันเกิดเหตุ(29 มิ.ย.) นางศุภนิดาได้โทรศัพท์มาหาตน เพื่อยืมเงิน 2 แสนบาท แต่ได้ปฏิเสธไป จากนั้นนางศุภนิดาได้สอบถามว่าวันนี้จะไปไหนกันบ้าง ตนจึงตอบไปว่า ช่วงบ่ายจะพานายสมยศไปโรงพยาบาล จากนั้นจะไปรับประทานอาหารกันก่อนกลับบ้าน กระทั่งมาเกิดเหตุดังกล่าว
       
       นางรัศมี กล่าวด้วยว่า นางศุภนิดาสนิทสนมกับนายสมยศมากว่า 20 ปี มีกุญแจเข้าออกบ้านได้ นายสมยศไว้ใจนางศุภนิดามากกว่าตนเสียอีก ส่วนเรื่องที่นายสมยศถูกหลอกเงินไปประมาณ 20 ล้านบาทนั้น นางรัศมี บอกว่า นางศุภนิดาได้มาสารภาพเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อนว่า ได้นำเงินไปให้นายสมชัย นิตยา หรือเล็ก ซึ่งเป็นสามี ไปใช้จ่ายเล่นการพนัน และไปซื้อที่ดิน 2 แปลงที่ จ.ชุมพร ซึ่งนายสมยศได้จดทุกอย่างลงในสมุดบันทึก ไม่ว่าจะเรื่องหนี้สินหรือปัญหาต่างๆ โดยตนสงสัยนางศุภนิดา และอยากถามว่า นายสมยศผิดอะไร ถึงต้องมาทำแบบนี้ ทั้งที่ถูกคนอื่นโกงเงินไป
       
       ทั้งนี้ ตำรวจได้สอบปากคำนางศุภนิดาแล้ว ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่า เป็นคนสนิทของนายสมยศ และว่า นายสมยศเปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย โดยตนเป็นผู้ประสานงานด้านคดีความระหว่างนายสมยศกับลูกความ พร้อมยอมรับว่า ตนได้นำเงินของลูกความที่ให้เคลียร์คดี ซึ่งนายสมยศให้ตนมา 1 ล้านเพื่อเป็นตัวแทนไปจัดการอีกทอดหนึ่ง แต่ตนกลับนำไปให้นายเล็ก สามี นำไปเล่นการพนัน ซึ่งต่อมา นายสมยศให้เงินอีก 10 ล้าน แต่ตนก็ไม่เคยนำเงินไปจัดการเรื่องคดีความตามที่ตกลงกันไว้ จากนั้นนายเล็กได้วางแผนให้ชักชวนนายสมยศไปเล่นการพนันที่บ้านพรรคพวกย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยนัดแนะกันว่าจะรุมกินโต๊ะนายสมยศ เมื่อนายสมยศไปตามนัด จึงเสียพนันไปกว่า 3 ล้านบาท
       
       นางศุภนิดา ยังบอกด้วยว่า แม้ตนจะคบกับนายเล็กฉันสามีภรรยา แต่ตนเคารพนับถือนายสมยศมากกว่า ภายหลังจึงสารภาพกับนายสมยศ ทำให้นายสมยศโมโหและเริ่มทวงเงินที่ใช้วิ่งเต้นคดีและเรื่องที่เสียพนัน โดยได้ไปทวงกับนายเล็ก 28 ล้าน แต่นายเล็กปฏิเสธ นางศุภนิดา ยังบอกอีกว่า “นายสมยศได้ติดต่อ เสธ.คนหนึ่งให้ไปทวงเงินกับนายเล็ก โดยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. เสธ.ได้นัดหมายให้นายเล็กออกมาเจอเพื่อไกล่เกลี่ยเรื่องหนี้ แต่นายเล็กไม่ได้ไป กระทั่งประมาณวันที่ 26-27 มิ.ย.นายสมยศมาบอกดิฉันว่า จะให้ เสธ.ไปอุ้มนายเล็ก หากไม่ยอมคืนเงิน”
       
       มีรายงานว่า ตำรวจได้คุมตัวนายเล็กมาสอบปากคำแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. โดยนายเล็กปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นหนี้หลายล้านบาท แค่หลักแสนบาทเท่านั้น และไม่รู้เห็นการเสียชีวิตของนายสมยศแต่อย่างใด ส่วนผลการสอบปากคำ เสธ.ณุ หรือ พ.อ.ภาณุ จันทร์ศรี อดีตนายทหารสังกัดทหารบก เจ้าตัวยอมรับว่าได้พูดคุยเจรจาเรื่องหนี้สินกับนายเล็กตามที่นายสมยศไหว้วาน แต่ไม่ได้ใช้กำลังหรือไปอุ้ม ขณะที่การสอบปากคำนายปริญญา หรือนายปีเตอร์ ปิยะภาค และนางมุกรินทร์ นิตยา หรือเรียม น้องนายเล็ก ทั้งคู่ยอมรับว่า ได้เล่นพนันกับนายสมยศจริง แต่ไม่ได้มาก ประมาณ 7-8 แสนบาท พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการโกงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ชุดคลี่คลายคดีทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ นายสมยศได้แจ้งความดำเนินคดีนางศุภนิดา-นายเล็ก-นายปีเตอร์-นางมุกรินทร์ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ด้วย ส่วนมือปืนที่ก่อเหตุครั้งนี้ ตำรวจได้สเก็ตช์ภาพและขอศาลออกหมายจับแล้ว 2 คน เป็นชายไทย คนขี่จักรยานยนต์ผิวคล้ำ ผมสั้น ส่วนมือปืนผมยาว ผิวคล้ำ สวมหมวกแก๊ปสีน้ำเงิน ทั้งคู่อายุประมาณ 30 ปี สูงประมาณ 165-170 ซม.



 ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 กรกฎาคม 2558