ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์พันธุกรรมแพ้ยาคนไทย  (อ่าน 1248 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
วิเคราะห์พันธุกรรมแพ้ยาคนไทย
« เมื่อ: 08 มิถุนายน 2012, 20:17:11 »
รร.ริชมอนด์ * กรมวิทย์เผยผลสำเร็จวิจัยการวิเคราะห์พันธุกรรมคนไทยแพ้ยา 3 รายการ ยากันชัก ยาลดกรดยูริก และยาต้านไวรัส ค่าตรวจถูกกว่าต่างประเทศ 4-5 เท่า ช่วยผู้ป่วยลดผลกระทบรุนแรงและเสียชีวิต

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานแถลงข่าว "การตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันภาวะการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง"ว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแพ้ยารุนแรง ผิวหนังหลุดลอก พุพองทั่วร่างกาย 2,000-3,000 ราย ในจำนวนนี้บางรายถึงขั้นตาบอดและเกือบเสียชีวิต ที่ผ่านมา สธ.จึงให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาวิจัยพัฒนาเทคนิคการตรวจสารพันธุกรรม เพื่อป้องกันภาวะการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง หรือที่เรียกว่า "เภสัชพันธุศาสตร์" ได้เริ่มศึกษาการตรวจวิเคราะห์แพ้ยา 3 ชนิด ได้แก่ ยา Carbamazepine (ยากันชัก) ยา  Allopurinol (ยาลดกรดยูริกในเลือด) และยา  Abacavir (ยาต้านไวรัส) ที่มีผู้ใช้มากและมีอัตราการแพ้ยา


 
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาในชาวเอเชียและชาวไทย พบว่าพันธุกรรม HLA-B*1502 อัลลีล เป็นปัจจัยเสี่ยงแพ้ยากันชัก พันธุกรรม  HLA-B*5801 อัลลีล เป็นปัจจัยเสี่ยงแพ้ยาลดกรดยูริกในเลือด และพันธุกรรม HLA-B*5701 อัลลีล ปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในคนเอเชีย โดยการตรวจพันธุกรรมเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการแพ้ยา ที่เป็นการป้องกันและสร้างความมั่นใจในการสั่งจ่ายยาให้กับแพทย์

"การตรวจสารพันธุกรรมแพ้ยานี้เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงมาก หรือเกือบ 100% ทำให้แพทย์สามารถเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นแทนได้ลดความเสี่ยงให้ผู้ป่วย รวมถึงการเสียชีวิต เพิ่มความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมวิทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เปิดให้บริการตรวจแก่ รพ.แล้ว" รมช.สธ.กล่าว

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การศึกษาข้างต้นอยู่ภายใต้ "โครงการวิจัยพัฒนาเทคนิคการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อป้องกันภาวะการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง"เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นวิธีการตรวจสารพันธุกรรมที่พัฒนาขึ้นบนเทคนิคพีซีอาร์ ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง ใช้ตัวอย่างเลือดที่เก็บในสารกันเลือดแข็งชนิด  EDTA อย่างน้อย 1 มิลลิลิตร หรือใช้วิธีเก็บเซลล์จากเยื่อบุกระพุ้งแก้มใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ประมาณ 5 วัน ก็ทราบผลแล้ว ค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์เพียง 1,000 บาทต่อราย ซึ่งถูกกว่าการตรวจด้วยเทคนิคที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ 2-5 เท่า หรือ 4,000-5,000 บาท

นพ.บุญชัยกล่าวว่า ขณะนี้ยังมียาอีกหลาย ชนิดที่ต้องสงสัยว่าทำให้เกิดการแพ้ยารุนแรง เช่น cotrimoxazole,  phenytoin,  amoxicillin,  phenobarbital, ibuprofen,  rifampicin,  isoniazid เป็นต้น จึงจะขยายโครงการวิจัยต่อเนื่องอีก2 ปี เพื่อค้นหายีนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาที่มีอุบัติการณ์แพ้ยารุนแรงที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดอุบัติการณ์การแพ้ยารุนแรงลงอีก.
 

ไทยโพสต์