ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-19 พ.ค.2555  (อ่าน 1140 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-19 พ.ค.2555
« เมื่อ: 21 พฤษภาคม 2012, 00:07:04 »
1. ศาล รธน.มีมติ 7 ต่อ 1 ให้ “จตุพร” พ้น ส.ส. เหตุขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้าน ปชป. เล็งยื่นยุบ “เพื่อไทย”!

       เมื่อวันที่ 18 พ.ค. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(4) ประกอบมาตรา 101(3) หรือไม่ เนื่องจากนายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เพราะอยู่ระหว่างถูกคุมขังโดยหมายของศาล
       
       ทั้งนี้ นายจตุพร พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หลายคนได้เดินทางมาฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมาให้กำลังใจกว่า 100 คน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนอ่านคำวินิจฉัย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งว่า การวินิจฉัยครั้งนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ขอถอนตัวจากองค์คณะ เนื่องจากภรรยาของนายจรัญมีคดีพิพาทกับนายจตุพร ซึ่งศาลอนุญาตให้นายจรัญถอนตัว ส่งผลให้องค์คณะเหลือเพียง 8 คน
       
       จากนั้นองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยสรุปว่า นายจตุพรถูกคุมขังโดยหมายของศาลในคดีอาญา กรณีร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.2554 และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลอาญาให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพรจึงไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 3 ก.ค.2554 ทั้งนี้ องค์คณะฯ เห็นว่า การที่นายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จัดว่าอยู่ในข่ายเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100(3) คือถูกคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       นอกจากนี้การที่นายจตุพรถูกคุมขังตั้งแต่ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะส่งรายชื่อนายจตุพรลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ย่อมส่งผลให้นายจตุพรขาดจากความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(3) ระบุว่า ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไม่น้อยกว่า 90 วันจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของนายจตุพรสิ้นสุดลง เพราะถูกคุมขังโดยหมายของศาล จึงทำให้นายจตุพรขาดคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งส่งผลให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลงด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(4) ด้วยเหตุนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้มีมติ 7 ต่อ 1 ให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(4) ประกอบมาตรา 101(3) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
       
       สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียงที่เห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรไม่สิ้นสุดลง ก็คือ นายชัช ชลวร โดยเห็นว่า การสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่สามารถนำกฎหมายอื่นที่มีศักดิ์ต่ำกว่ามาพิจารณาได้ อีกทั้งเมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว ถือว่า กกต.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติของนายจตุพรแล้ว
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า คนเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจนายจตุพร ไม่พอใจ ต่างพากันส่งเสียงโห่ร้องและตะโกนด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ ขณะที่นายจตุพรน้ำตาคลอเบ้า พร้อมกับบอกว่า วันนี้ตนต้องเก็บความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และยอมรับในชะตากรรมของตัวเอง ทั้งนี้ นายจตุพร ได้แถลงข่าวเปิดใจในเวลาต่อมา โดยพูดทำนองตำหนิ กกต.และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย “ผมได้ทำใจมาตั้งแต่ต้น ถ้าพี่น้องจำความกันได้ว่า ในวันที่ กกต.มีมติแขวนผม ซึ่ง กกต.ชุดเดียวกันนี้ เป็น กกต.ชุดที่รับรองผมเป็นคนสุดท้าย แล้วก็แขวนผมเป็นคนแรก และก็เป็น กกต.ชุดเดียวกับที่รับรองว่าผมมีคุณสมบัติถูกต้องในการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อ กกต.มีมติที่จะแขวนผม แล้วส่งเรื่องไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผมเนี่ยตอบชะตากรรมผมได้ทันทีว่า ในศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีผู้พิพากษาองค์คณะอยู่ 9 คน ได้เกลียดผมถึง 10 คน”
       
       ทั้งนี้ หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 ให้นายจตุพรพ้นจากการเป็น ส.ส. เพราะเข้าข่ายเป็นบุคคลต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย จากการถูกคุมขังโดยหมายของศาล ปรากฏว่า นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาชี้ว่า การที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้รับรองว่านายจตุพรเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย จึงถือว่าเป็นการรับรองเท็จ เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา และพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ เพราะนายจตุพรได้เป็น ส.ส. ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยก็อาจถูกยุบพรรคได้ เพราะให้การรับรองนายจตุพรเป็นเท็จ และว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นจะยื่นต่อ กกต.เพื่อยุบพรรคเพื่อไทยเป็นครั้งที่ 3
       
       ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนนายจตุพรว่า หากขึ้นเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงในงานรำลึก 2 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 19 พ.ค.ระวังจะถูกถอนประกัน เพราะผิดเงื่อนไขการประกันตัวในคดีก่อการร้าย ที่ศาลสั่งห้ามเข้าร่วมชุมนุมหรือปลุกระดมทางการเมือง
       
       2. สภาถกแก้ รธน.วาระ 2 จบแล้ว -5 มิ.ย.ลงมติวาระ 3 ด้าน ปชป. เตรียมยื่นผู้ตรวจการฯ ตีความ!

       เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ 2 ต่อเป็นวันที่ 15 โดยก่อนประชุม กรรมาธิการ(กมธ.) เสียงข้างน้อยได้สงวนคำแปรญัตติโดยขอเพิ่มมาตรา 291/18 ถึง 291/26 จากร่างของ กมธ.ที่มีมาตราย่อยเพียงแค่ 291/17 เท่านั้น
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตราที่ กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอให้เพิ่มขึ้นมา มีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ มาตรา 291/18 ซึ่งเสนอให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ต้องไม่มีผลกระทบต่อองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ ส.ส.ร. ต้องไม่จัดทำในลักษณะให้มีผลย้อนหลังไปลบล้างข้อกล่าวหาหรือลบล้างความผิดใดใด ที่องค์กรตุลาการหรือองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายได้ลงมติแล้วว่า บุคคลหรือคณะบุคคลนั้นมีความผิดตามการสืบสวนสอบสวนทุกๆ ข้อกล่าวหา หรือกล่าวโทษ หรือได้มีการตัดสินคดีไปแล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมมีการลงมติข้อเสนอดังกล่าว ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ 448 ต่อ 99 เห็นด้วยกับร่างเดิมของ กมธ.ให้มีแค่มาตรา 291/17 เท่านั้น จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 5 ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดกรอบเวลาการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ตามมาตรา 291/5 และ 291/6 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ซึ่งหลังจากอภิปรายแล้วเสร็จ ที่ประชุมได้ลงมติ โดยเสียงส่วนใหญ่ 340 ต่อ 101 เห็นด้วยให้คงถ้อยคำตามร่างเดิมของ กมธ.
       
       หลังจากนั้น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา แจ้งที่ประชุมว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ 2 ได้เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ลงมติวาระ 3 หลังจากลงมติวาระ 2 แล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยตอนแรกนายสมศักดิ์นัดลงมติวาระ 3 ในวันที่ 1 มิ.ย. แต่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล เสนอว่า ขอหารือวิป 3 ฝ่าย(วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา)ก่อนว่าควรลงมติวาระ 3 ในวันใด เพราะวันที่ 30-31 พ.ค. รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเศรษฐกิจโลก ครั้งที่ 2 ส่วนวันที่ 1 มิ.ย.เป็นวันศุกร์ จะมี ส.ว.บางส่วนติดภารกิจ ทั้งนี้ หลังวิป 3 ฝ่ายหารือแล้ว ได้ข้อสรุปว่า จะลงมติวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเป็นห่วงกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน แถลง ว่า พรรคฯ ห่วงว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะมีการล็อกสเปก รับใบสั่งรัฐบาลใน 5 ประเด็น คือ 1.การเลือก ส.ส.ร. 22 คน ที่ให้อำนาจประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นคนของรัฐบาลเป็นคนกำหนดองค์กรที่จะเสนอคนเข้ามาเป็น ส.ส.ร. และยังให้ ส.ส.-ส.ว.เลือก ส.ส.ร.ได้คนละ 22 คน ทำให้รัฐบาลสามารถบล็อกโหวตได้ 2.การให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย
       
       3.หลัง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ แทนที่จะส่งให้รัฐสภา กลับนำไปออกเสียงประชามติ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นไปตามใบสั่งได้ 4.กมธ.เสียงข้างมากไม่กล้ากำหนดห้าม ส.ส.ร.เขียนรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ล้มคดีที่องค์กรอิสระและศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว 5.ไม่กำหนดห้าม ส.ส.ร.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีหลังรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ ซึ่งอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการต่างตอบแทนให้ ส.ส.ร.ยอมเขียนรัฐธรรมนูญตามใบสั่งได้
       
       ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า สัปดาห์หน้า พรรคฯ จะยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เพราะมีหลายส่วนส่อว่าขัด เช่น มาตรา 291 เดิมกำหนดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพียงมาตรา ไม่ใช่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแบบนี้ และว่า หลังการลงมติวาระ 3 ผ่าน พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่
       
       3. ศาล ปค. พิพากษาให้ กทม.จ่ายเงินชดเชยเหยื่อซานติก้า ผับ 5 ราย หลังละเลยไม่ควบคุมสถานบริการ!

       เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ผู้เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ ย่านเอกมัย กทม.เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2552 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยญาติผู้เสียชีวิต 5 รายได้ฟ้องต่อศาลปกครองให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) จ่ายค่าชดเชย ฐานละเลยไม่ควบคุมดูแลสถานบริการซานติก้า ผับ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้
       
       ทั้งนี้ ศาลฯ ได้พิพากษาให้ กทม.จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ประกอบด้วย 1.ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายประเสริฐ คุ้มผล บิดาของ น.ส.ภัชรีย์ คุ้มผล ผู้เสียชีวิต จำนวน 212,000 บาท 2.ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายหนูสิน แสนเมืองชิน บิดาของนายปุณณรัตน์ แสนเมืองชิน ผู้เสียชีวิต จำนวน 139,600 บาท 3.ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางวรรณา ขำคง มารดาของ น.ส.วัลยา ขำคง ผู้เสียชีวิต จำนวน 140,000 บาท 4.ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางแปลก บัวมาก มารดาของ น.ส.พรรณทิพา บัวมาก ผู้เสียชีวิต จำนวน 140,000 บาท และ 5.ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางมณี หวังทวีวงศ์ มารดาของนายทรงพล หวังทวีวงศ์ ผู้เสียชีวิต จำนวน 164,000 บาท
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี ได้ชี้แจงต่อทนายและญาติผู้เสียหายที่มาฟังคำพิพากษาด้วยว่า กรณีนี้ทาง กทม.รับผิดฐานละเลยต่อหน้าที่ ไม่ได้รับผิดฐานผู้ละเมิดโดยตรง ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า กทม.ไม่ต้องชดเชยค่าสินไหม แต่องค์คณะฯ เห็นว่า กทม.มีส่วนต้องรับผิดในลักษณะการเฉลี่ยค่าเสียหายด้วย ซึ่งศาลเคยใช้หลักการเดียวกันนี้กับคดีอื่นมาแล้ว เช่น คดีสารโคบอลต์รั่ว ,คดีห้วยคลิตี้ที่มีสารพิษเจือปนในแหล่งน้ำสาธารณะ
       
       ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี ยังประเมินด้วยว่า “คดีนี้อาจถึงศาลปกครองสูงสุด เพราะมีแนวโน้มที่ทาง กทม.อาจยื่นอุทธรณ์ เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ กทม.ต้องยอมรับต่อไป ไม่ว่ากรณีเหตุที่เกิดจากไฟไหม้ คนตกท่อ หรือถนนชำรุดเสียหาย”
       
       ด้านนายหนูสิน แสนเมืองชิน อาชีพชาวนา อยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี บิดาของนายปุณณรัตน์ แสนเมืองชิน ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้า ผับ เผย ว่า พอใจกับคำพิพากษาของศาลปกครอง อยากให้ทุกอย่างจบสิ้นไปและสบายใจกันทุกฝ่าย ส่วนตัวไม่คิดอุทธรณ์ และหวังว่าต่อไปภาครัฐจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบ อย่าให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก หากสถานบริการใดจะเปิดกิจการ ขอให้เจ้าหน้าที่ออกระเบียบและตรวจสอบสถานที่ให้เรียบร้อยก่อน
       
       4. ล่าตัว “พ.ต.อ.-ส.ต.อ.” ปล้นรถขนเงินแบงก์กสิกรฯ ด้าน ตร.สั่งออกจากราชการ พร้อมฟันวินัย-อาญา!

       ความคืบหน้ากรณีคนร้ายใช้รถปิคอัพยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ทะบียน ศธ 6097 กรุงเทพมหานคร เป็นพาหนะ ก่อเหตุใช้อาวุธปืนอาก้ายิงถล่มและปล้นรถขนเงินของธนาคารกสิกรไทย บริเวณถนนสุขาภิบาล 1 ทางเข้าตลาดอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีเมื่อวันที่ 26 มี.ค. เป็นเหตุให้นายธเนศ วรยาโณ พนักงานขนเงินธนาคารกสิกรไทย ถูกยิงเข้าที่ขาขวา 1 นัด อาการสาหัส ส่วนคนร้ายได้เงินไป 4.1 ล้านบาท ก่อนขับรถไล่ยิงรถขนเงินที่ขับหลบหนีเพื่อลงมือซ้ำ แต่ไม่สำเร็จนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ตำรวจกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 สามารถจับกุมผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวได้ 1 ราย คือ นายคมกริช กล้าณรงค์ หลังก่อเหตุร่วมกับพวกรวม 7 คน โดยมีนายตำรวจยศ “พ.ต.อ.” ซึ่งเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่งทางภาคเหนือรวมอยู่ด้วย จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวนายคมกริชไปขอศาลฝากขังพร้อมค้านการประกันตัว ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
       
       ซึ่งต่อมา ตำรวจสามารถจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้อีก 2 ราย คือ นายนิรุธ เพชรรัตน์ และนายพรชัย พูลเกษม โดยนายนิรุธเป็นผู้ใช้ปืนอาก้ายิงถล่มรถขนเงิน ส่วนนายพรชัยใช้ปืนขนาด .38 ยิง ทั้งนี้มีรายงานว่า ทั้งสองคนเป็นลูกน้องของนักการเมืองระดับชาติ และรับสารภาพว่า เคยรับงานยิงผู้รับเหมาก่อสร้างใน อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์
       
       สำหรับ พ.ต.อ.ที่ร่วมขบวนการปล้นรถขนเงินครั้งนี้ มีรายงานว่า วันเกิดเหตุ ได้ขับรถเก๋งยี่ห้อนิสสัน เซฟีโร่ สีดำ ทำหน้าที่คุ้มกันให้กลุ่มคนร้ายร่วมกับ ส.ต.อ.คนหนึ่ง สังกัดกองบังคับการในจังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งยังเป็นผู้คอยวางแผนให้กลุ่มคนร้ายลงมือก่อเหตุด้วย ซึ่งตำรวจ สภ.อินทร์บุรีได้ออกหมายจับตำรวจทั้งสองแล้ว รวมทั้งออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 2 คน คือ นายมนต์ธร หาวัน ชาว อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี และนายศิวัช วารี ชาว อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตำรวจยศ พ.ต.อ.ดังกล่าวก็คือ พ.ต.อ.พิจิตร กรมประสิทธิ์ ผู้กำกับการ สภ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร ส่วน ส.ต.อ.ก็คือ ส.ต.อ.นารายณ์ ทิพย์ปรีชาธร ผู้บังคับหมู่งานสืบสวน กองกำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่ง พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการไปยังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ให้ พ.ต.อ.พิจิตร และ ส.ต.อ.นารายณ์ ออกจากราชการไว้ก่อน โดยให้มีผลทันที พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมี พ.ต.อ.ประวิทย์ เจียมตระกูล รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กำแพงเพชร เป็นประธาน
       
       ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า “คดีนี้ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญ นอกจากดำเนินการทางวินัยและอาญากับตำรวจทั้ง 2 นายแล้ว พล.ต.อ.ปานศิริได้สั่งการให้เอาผิดกับผู้บังคับบัญชาของนายตำรวจทั้ง 2 นายด้วย ขณะเดียวกัน หากสืบสวนข้อเท็จจริงพบมีบุคคลอื่นเกี่ยวข้อง ก็จะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาอย่างเด็ดขาด”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนแรกมีข่าวว่า พ.ต.อ.พิจิตร ติดต่อจะเข้ามอบตัว แต่ภายหลัง พล.ต.ต.ประเสริฐ กาฬรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กำแพงเพชร บอกว่า มีการเปลี่ยนแปลง โดย พ.ต.อ.พิจิตรบอกว่ายังไม่พร้อม และสุภาพจิตแย่มาก ส่วนจะมอบตัววันไหนยังบอกไม่ได้ สำหรับความเคลื่อนไหวของ ส.ต.อ.นารายณ์นั้น พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูตร ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นครสวรรค์ บอกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อ ส.ต.อ.นารายณ์ได้ ทราบว่ามีการลาพักร้อน 15 วัน
       
       ด้าน พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยอีกครั้ง(16 พ.ค.)ว่า เบื้องต้นพบว่า พ.ต.อ.พิจิตรยังอยู่ในประเทศ โดยมีชุดติดตาม แล้ว หากไม่มามอบตัว ก็ต้องจับ และหากมอบตัว ก็ไม่มีสิทธิ์ต่อรองใดใด ส่วนจะให้ประกันตัวหรือไม่ อยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ขณะนี้หมดเวลาเข้ามอบตัวแล้ว ได้จัดชุดไล่ล่าพร้อมแล้ว และเชื่อว่าจะติดตามจับกุมได้ไม่ยาก
       
       วันต่อมา(17 พ.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงความคืบหน้าคดีนี้ว่า พ.ต.อ.พิจิตรได้หนีไปกบดานอยู่ที่ประเทศพม่าแล้ว อย่างไรก็ตาม คำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม สวนทางกับ พล.ต.ต.ประเสริฐ กาฬรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กำแพงเพชร ที่บอกว่า พ.ต.อ.พิจิตรหลบหนีไปอยู่แถวๆ ภาคเหนือ จึงได้ประสานให้ตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ ติตดามจับกุมและป้องกันการหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว
       
       ขณะที่ พ.ต.อ.ณัฏฐวุฒิ ยุววรรณ ผู้กำกับการ สภ.แม่สาย จ.เชียงราย เชื่อว่า หาก พ.ต.อ.พิจิตรหลบหนีมาที่เชียงรายจริง ก็อาจจะเข้าไปฝั่งพม่าแล้ว เพราะ พ.ต.อ.พิจิตรไม่มีญาติในเชียงราย ประกอบกับชายแดนด้านนี้มีความยาวหลายสิบกิโลเมตร โดยเฉพาะแม่น้ำสาย ซึ่งช่วงนี้น้ำแห้ง ทำให้สามารถเดินข้ามได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านจุดผ่อนปรนหรือด่านพรมแดน ส่วน ส.ต.อ.นารายณ์ รวมทั้งนายมนต์ธร และนายศิวัช ที่ยังคงหลบหนีอยู่นั้น มีรายงานว่า อาจจะยังอยู่ใน จ.อุทัยธานี โดยซุกปีกผู้กว้างขวางคนหนึ่ง
       
       ล่าสุด(18 พ.ค.) พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยความคืบหน้าการติดตามตัว พ.ต.อ.พิจิตรว่า ชุดสืบสวนได้พบรถฮอนด้าแอคคอร์ดของ พ.ต.อ.พิจิตร จอดทิ้งอยู่ในทุ่งนา ห่างจาก สภ.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ประมาณ 6 กม. หลังตรวจสอบ พบมีสร้อยคอทองคำอยู่ในรถด้วย โดยรถดังกล่าวถูกจอดทิ้งมาประมาณ 1-2 วัน ส่วนช่วงเวลาที่พบรถก็เป็นช่วงที่มีข่าวว่า พ.ต.อ.พิจิตรจะเข้ามอบตัว แต่คาดว่าเจ้าตัวเกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน จึงได้จอดรถทิ้งไว้ก่อนหลบหนี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 พฤษภาคม 2555