ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-11 ม.ค.2557  (อ่าน 779 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-11 ม.ค.2557
« เมื่อ: 20 มกราคม 2014, 00:13:57 »
1. “ยิ่งลักษณ์” เตรียมบัญชาการ ตร.เองวันชัตดาวน์กรุงเทพฯ 13 ม.ค. ด้าน “บิ๊กตู่” จี้ รบ.ถ้ามีตาย ต้องรับผิดชอบ!

       ความคืบหน้าการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ หลังนายสุเทพ นัดชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.เพื่อให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ยอมลาออกจากรักษาการนายกฯ เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ปรากฏว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้พยายามไล่บี้นายสุเทพและแกนนำ กปปส.ด้วยการยื่นศาลขอออกหมายจับ 35 แกนนำ กปปส. โดยอ้างว่า ก่อนหน้านี้ได้ออกหมายเรียกแล้ว แต่ทั้ง 35 คนไม่มา โดยไม่มีเหตุอันควร พร้อมชี้ว่า แกนนำทั้งหมดยังทำผิดอย่างต่อเนื่องและจะร่วมกันปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.
       
       ด้านศาลอาญา พิเคราะห์คำร้องของดีเอสไอและคำคัดค้านของทนายฝ่าย กปปส.แล้ว ได้มีคำสั่งยกคำร้องของดีเอสไอ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้ออกหมายจับ เพราะผู้ต้องหาบางส่วนพร้อมรับทราบข้อกล่าวหา แสดงว่าไม่มีเจตนาขัดหมายเรียก ขณะที่ผู้ต้องหาบางส่วนยังไม่ได้รับหมายเรียก จึงให้ดีเอสไอออกหมายเรียกอีกครั้ง
       
       นอกจากนี้ดีเอสไอยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเร่งไต่สวนกรณีที่ดีเอสไอขอให้ศาลเพิกถอนประกันแกนนำและแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 9 คนที่มาร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส.ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนวันที่ 24 ก.พ. แต่ทางดีเอสไอไม่พอใจ มองว่าช้าเกินไป จึงยื่นขอให้ศาลเร่งไต่สวน ด้านศาลพิจารณาแล้วได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากศาลได้ออกหมายเรียกให้จำเลยทราบนัดการไต่สวนในวันที่ 24 ก.พ.แล้ว จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว
       
       ขณะที่ดีเอสไอยังไม่ละความพยายามที่จะเอาผิด กปปส. โดยมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแกนนำ กปสส.เพิ่มอีก 1 ล็อต (แถวที่ 3) จำนวน 20 คน ข้อหาร่วมกบฏ โดยในจำนวนนี้มีหลวงปู่พุทธะอิสระรวมอยู่ด้วย โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ บอกว่า จะออกหมายเรียกทั้ง 20 คนดังกล่าวในวันที่ 14 ม.ค. และให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 24 ม.ค.
       
       ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยถึงรูปแบบการปิดกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.เป็นต้นไปว่า จะมีการปิดถนน 7 แห่ง และมี 7 เวที ประกอบด้วย 1.ถนนแจ้งวัฒนะ จะมี กปปส.นนทบุรี ราชบุรี สิงห์บุรี นครปฐม รวมทั้งหลวงปู่พุทธะอิสระ ดูแล ไม่ให้ศูนย์ราชการทำงานได้ 2.แยกลาดพร้าว มีนายอิสสระ สมชัย แกนนำ กปปส.ดูแล 3.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีนายถาวร เสนเนียม ดูแล 4.สี่แยกปทุมวัน มีประชาคมชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ดูแล โดย กปปส.จะใช้เวทีที่สี่แยกปทุมวันเป็นเวทีที่ถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมงทางสถานีโทรทัศน์บลูสกาย 5.เวทีสวนลุมพินี มีนายวิทยา แก้วภราดัย ดูแล 6.สี่แยกราชประสงค์ มีนายชุมพล จุลใส กับนายเสรี วงษ์มณฑา ดูแล 7.แยกอโศก มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายสกลธี ภัททิยกุล ดูแล ส่วนนายสุเทพและกรรมการ กปปส.จะหมุนเวียนไปทุกเวที และว่า จะมีการปิดสถานที่ราชการ เพื่อไม่ให้ราชการทำงานได้ แต่จะเป็นลักษณะไปเช้าเย็นกลับมายังเวที ไม่พักค้างสถานที่ราชการ
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ยืนยันว่า วันที่ 13 ม.ค. จะติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเองที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ซึ่งจะยังอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ย้ายไปที่อื่น เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย โดยอ้างว่า เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแบ่งแยกย่อยเป็นคณะกรรมการด้านต่างๆ อีก 5 ด้าน แต่ละด้านมีรัฐมนตรีดูแล เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ และบังคับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ออกอาการดีใจที่นายกฯ เรียกใช้ พร้อมประกาศกร้าวว่า จะเอาจริงในการจับนายสุเทพ โดยให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มาร่วมวางแผนด้วย
       
       ร.ต.อ.เฉลิม ยังส่งสัญญาณเหมือนให้ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมนายสุเทพได้ด้วย โดยบอก ตนจะเตรียมหมายจับไว้ 200 ฉบับ ให้ตำรวจมารับได้ที่แผนกประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “หากเจอนายสุเทพก็นำหมายศาลเข้าจับกุมได้ทันที หากต่อสู้ก็ขอให้ตำรวจใช้ดุลพินิจในการดำเนินการ”
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าห่วงกังวลกรณีที่ กปปส.จะปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.โดยหวังว่าจะไม่เกิดความรุนแรงหรือเกิดการปะทะ พร้อมย้ำ ทหารจะดูแลประชาชนทุกฝ่ายไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย และว่า ใครก็ตามที่ทำให้เกิดความรุนแรง คนนั้นจะต้องรับผิดชอบ ถ้าประชาชนตีกัน มีการบาดเจ็บล้มตาย จลาจล รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีข้าราชการกล้าเปิดตัวหนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของ กปปส.มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดต่างๆ ครู-อาจารย์-นักเรียนโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งแพทย์และพยาบาล โดยล่าสุด ประชาคมสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจาก 8 สาขาวิชาชีพ ซึ่งมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนหนุนให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกทันที เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปที่เป็นกลางและยุติธรรม นอกจากนี้ยังยืนยันที่จะไม่ทำงานกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว
       
       ด้านรัฐบาลไม่พอใจท่าทีของประชาคมสาธารณสุขเป็นอย่างมาก โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ถึงกับสั่งให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) เรียก นพ.ณรงค์ มาสอบเรื่องดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังพูดเชิงตำหนิ นพ.ณรงค์ด้วยว่า หน้าที่ของข้าราชการทุกคน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขคือการดูแลประชาชน หากข้าราชการระดับสูงไม่ทำงาน เชื่อว่ายังมีคนพร้อมที่จะทำงานดูแลประชาชน
       
       ขณะที่ นพ.ณรงค์ เผยว่า หลังออกแถลงการณ์แล้ว รู้สึกสบายใจ เพราะเป็นตัวของตัวเองในการตัดสินใจ พร้อมยืนยัน จะไม่หยุดให้บริการประชาชน เพราะไม่ต้องการเอาประชาชนเป็นตัวประกัน
       
       2. ศาล รธน.ชี้ แก้ ม.190 ไม่ชอบทั้งเนื้อหา-กระบวนการ ขัด ม.68 เอื้อฝ่ายบริหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ!

       เมื่อวันที่ 8 ม.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ,นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 383 คน ที่ร่วมกันดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นการจำกัดอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองและกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
       
       ซึ่งนายทวีเกียรติ แถลงคำวินิจฉัยสรุปว่า การพิจารณาแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.กระบวนการแก้ไขมาตรา 190 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหามาตรา 190 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยก่อนจะอ่านคำวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ตุลาการได้วินิจฉัยยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องนี้
       
       ทั้งนี้ ตุลาการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในวาระที่ 1 แล้วเห็นว่า มีการรวบรัดปิดการอภิปรายของสมาชิก และมีการกำหนดวันแปรญัตติโดยนับเวลาย้อนหลัง ซึ่งตุลาการเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขก็ตาม แต่กระบวนการแก้ไขต้องทำด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาให้ฝ่ายบริหารทำข้อตกลงผูกพันกับนานาประเทศได้สะดวกราบรื่น โดยไม่คำนึงถึงการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ หากเสียงข้างมากใช้ความได้เปรียบ โดยไม่รับฟังความเห็นของเสียงข้างน้อย ย่อมกลายเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่ง เรียกว่าเผด็จการโดยเสียงข้างมากหรือเผด็จการโดยรัฐสภา ซึ่งขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย การรวบรัดการอภิปรายและปิดประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ ขัดต่อหลักนิติธรรม ตุลาการจึงเห็นว่าการปิดอภิปรายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง
       
       ส่วนการกำหนดวันแปรญัตติ 15 วันโดยนับเวลาย้อนหลังนั้น ตุลาการเห็นว่าไม่สามารถนับเวลาย้อนหลังได้ ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป เพราะการนับเวลาย้อนหลังทำให้เหลือเวลาแปรญัตติเพียง 1 วัน จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และขัดต่อหลักนิติธรรม มาตรา 3 วรรคสอง
       
       ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า มาตรา 190 ร่างขึ้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ให้ฝ่ายบริหารแถลงเหตุผลให้สาธารณชนรับทราบและรับฟังความเห็นจากรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง
       
       และว่า ที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศโดยรวม การแก้ไขเพิ่มเติมคำว่า “โดยชัดแจ้ง” ต่อท้ายหนังสือสัญญาในมาตรา 190 เป็นการลิดรอนอำนาจในการตรวจสอบของรัฐสภา ที่เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และเพิ่มอำนาจคณะรัฐมนตรีให้มากขึ้น การกระทำดังกล่าวจึงส่งผลต่อการถ่วงดุลและคานอำนาจ ก่อให้เกิดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับฝ่ายบริหาร คณะตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 1 ,มาตรา 125 วรรค 1 ส่วนเนื้อหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ,4 ,5 ,87 และ 122 และเป็นการกระทำที่ให้บุคคลได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
       
       ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องกรณีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า หลังจากนี้จะคัดคำวินิจฉัยของศาลฯ พร้อมกับรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการถอดถอนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากตำแหน่งต่อไป
       
       ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ดาหน้าออกมาตอบโต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค บอกว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ยอมรับการวินิจฉัยมาตรา 190 ใช่หรือไม่ นายพร้อมพงศ์ บอกว่า ไม่ได้หมายความว่าไม่ยอมรับ แต่เมื่อศาลวินิจฉัยมาแล้ว พรรคจะดำเนินการทุกช่องทางในการชี้แจง พร้อมยืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างสุจริตตามมาตรา 291 ที่ให้อำนาจไว้
       
       ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาชี้ให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ของพรรคเพื่อไทยว่า “ผมอยากให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ของคนเหล่านี้ ว่าทำไมเขาต้องมุ่งมั่นให้มีการเลือกตั้งเพราะหวังใช้เสียงประชาชนฟอกขาวตัวเอง เป็นเครื่องมือทุจริตและสร้าง “ฉันทามติเทียม” ว่าประเทศไทยเห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรม และอ้างความชอบธรรมในการแก้รัฐธรรมนูญ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าการเลือกตั้งผ่านพ้นไปผมเชื่อว่าประเทศไทยเข้าสู่กลียุค เพราะมีบุคคลที่ไม่ยอมรับกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และกระบวนการตรวจสอบของประเทศ กำลังใช้กระบวนการเลือกตั้งมาทำลายประเทศไทย”
       
       3. ป.ป.ช. แจ้งข้อหา 308 ส.ส.-ส.ว.แก้ รธน.ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ ขัด ม.68 ด้าน “ยิ่งลักษณ์” รอด!

       เมื่อวันที่ 7 ม.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณาคำร้องกรณีมีผู้กล่าวหา ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 381 คน ว่ากระทำผดต่อตำแหน่งหน้าที่และร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง จากกรณีเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วว่า ทั้งกระบวนการและเนื้อหาของร่างแก้ไขดังกล่าวไม่ชอบ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ว่ากระทำการส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ไปแล้ว พร้อมนัดให้บุคคลทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ม.ค.
       
       ทั้งนี้ หลังประชุม นายวิชา มหาคุณ และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.แถลงผลประชุมว่า ป.ป.ช.ทั้งคณะมีมติแจ้งข้อกล่าวหา ส.ส.และ ส.ว.โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแรกที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา มี 293 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขที่มา ส.ว.และลงมติเห็นชอบทั้ง 3 วาระ โดยกลุ่มนี้มีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันรวมอยู่ด้วย กลุ่มที่สองที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามี 15 คน คือ ส.ส.และ ส.ว.ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวและลงมติในวาระใดวาระหนึ่ง ส่วน ส.ส.และ ส.ว.ที่เหลือ ไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ที่สมาชิกรัฐสภาใช้ดุลพินิจในการดำเนินการได้ “ทั้งกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 308 คน มีส่วนรับรู้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในเบื้องต้น และมาดำเนินการลงมติไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1 หรือ 2 ดังนั้นจึงมีมูลเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา”
       
       นายวิชา แถลงด้วยว่า ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 308 คน มีพฤติการณ์ส่อว่าจะดำเนินการปลอมแปลงเอกสารด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว “ส่วน ส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามีอยู่ 2 กรณี กรณีที่ 1 ในส่วนของ 65 คน ที่ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 เท่านั้น แต่ไม่ใช่ผู้เสนอร่าง ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าไม่มีพฤติการณ์กระทำผิดเพียงพอและมีเอกสิทธิ์ ทำให้ข้อกล่าวหาตกไป ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีก็อยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วย และกรณีที่ 2 อีก 8 คน ไม่ใช่ผู้เสนอร่างแก้ไขและไม่ได้ลงมติในวาระที่ 3 ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์(ไม่แจ้งข้อกล่าวหา)”
       
       นายวิชา บอกด้วยว่า หลังแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จะนัดผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค. หลังจากนั้นจะให้โอกาสชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน พร้อมย้ำ ในส่วนของนายสมศักดิ์และนายนิคม ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ม.ค. อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนด ปรากฏว่า นายสมศักดิ์และนายนิคมได้ขอเลื่อนชี้แจงและเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นหลังเลือกตั้ง โดยอ้างว่าติดภารกิจ แต่ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว ได้แจ้งรายละเอียดข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ให้บุคคลทั้งสองทราบ และว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองต้องมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในวันที่ 27 ม.ค.นี้ หากไม่มา จะถือว่ารับทราบข้อกล่าวหาและไม่ประสงค์จะชี้แจงเพิ่มเติม โดย ป.ป.ช. จะพิจารณาไต่สวนตามข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่ต่อไป
       
       ทั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเหตุใด ป.ป.ช.จึงแจ้งข้อกล่าวหา ส.ส.-ส.ว.แค่ 308 คน ขณะที่อีกหลายสิบคน รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ รอด โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามว่า การที่ ส.ส.หรือ ส.ว.ใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองในทางที่ไม่สุจริต กลับได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นต้องดูว่าการวินิจฉัยนี้จะเป็นบรรทัดฐานของสมาชิกรัฐสภาต่อไปหรือไม่
       
       ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงชี้แจงว่า เนื่องจากในขณะที่มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคดีนี้รวม 6 คำร้องนั้น มี ส.ส.-ส.ว.ถูกร้อง 312 คน ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าสิ้นสุดที่การลงมติในวาระ 2 เท่านั้น คำร้องที่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีรายชื่อ ส.ส.-ส.ว.65 คน ที่ ป.ป.ช.มีมติไม่แจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ซึ่งใน 65 คนดังกล่าวมีนายกฯ รวมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช.รับคำร้องดังกล่าวมา และภายหลังมีการร้องเพิ่มเติม โดยร้องให้แจ้งข้อกล่วหา ส.ส.-ส.ว.ที่ลงมติในวาระ 3 ด้วย จึงรวมเป็น 383 คน โดย ป.ป.ช.ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นแนวทางในการไต่สวน ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันเฉพาะ ส.ส.-ส.ว.ที่เกี่ยวข้องเพียง 312 คนเท่านั้น คือผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลงมติในวาระ 1 และ 2 ไม่รวมผู้ที่ลงมติในวาระ 3 ทำให้ต้องแยกออกโดยอัตโนมัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ส.ส.-ส.ว.จำนวน 308 คนในคดีถอดถอนผู้ใด ผู้นั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจะสามารถลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้วินิจฉัย
       
       4. สตง.จี้ นายกฯ - กกต.ทบทวนเลือกตั้ง หวั่น 3 พันล้านสูญเปล่า ด้าน กกต.เสนอ “ยิ่งลักษณ์” ออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่!

       ความคืบหน้าหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.56-1 ม.ค.57 แต่ปรากฏว่า มีเขตที่ยังไม่มีผู้สมัคร 28 เขต ใน 8 จังหวัด และมีจังหวัดที่เปิดรับสมัครไม่ได้ 5 จังหวัด 24 เขต เนื่องจากมีการชุมนุมของ กปปส. ณ สถานที่รับสมัคร ซึ่ง กกต.ได้แนะให้ผู้สมัครที่ยังสมัครไม่ได้ ใช้สิทธิยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจะสั่งให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
       
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. แกนนำพรรคเพื่อไทยได้นำว่าที่ผู้สมัครของพรรคทั้ง 29 คนที่ยังไม่สามารถยื่นสมัครรับเลือกตั้งได้ ไปยื่นฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครองสูงสุด อ้างว่า กกต.กระทำการไม่ชอบ ไม่สามารถควบคุมและจัดให้มีการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 28 เขตดังกล่าวได้ ส่งผลให้ว่าที่ผู้สมัครของพรรคเสียสิทธิ จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ฟ้องทั้ง 29 คน อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่จะพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงให้จำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบความ
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีว่าที่ผู้สมัครบางพรรคร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งก่อนหน้าพรรคเพื่อไทย เช่น พรรคประชาสามัคคี ซึ่งศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 219 วรรคสาม จะบัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ก็บัญญัติไว้เป็นการทั่วไป ส่วนการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหลักเกณ์ไว้ด้วย และว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติชัดเจนว่า ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ ต้องเป็นผู้สมัครที่ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตฯ ได้รับใบสมัคร และลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน รวมทั้งออกใบรับรองให้แก่ผู้สมัครนั้นแล้ว และมีการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว แต่ผู้ร้องในคดีนี้ยังไม่ผ่านขั้นตอนการยื่นใบสมัคร การออกใบรับรอง และตรวจสอบคุณสมบัติ จึงมิใช่ผู้สมัครที่ผ่านขั้นตอนการรับสมัครโดยครบถ้วนตามมาตรา 37 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
       
        ด้าน กกต.ได้แถลงผลการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ว่า กกต.ได้มีมติตัดสิทธิผู้สมัคร 87 ราย จาก 25 พรรค แบ่งเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปและท้องถิ่น 60 ราย สังกัดพรรคการเมืองไม่ถึง 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง 25 ราย ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ราย และอายุไม่ถึงเกณฑ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง 1 ราย ส่งผลให้มีผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จาก 1,249 คน เหลือเพียง 1,162 คน ทั้งนี้ กกต.แนะว่า บุคคลใดที่ กกต.ไม่ประกาศรายชื่อให้เป็นผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดาผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูก กกต.ตัดสิทธิดังกล่าว มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย 4 คน เช่น นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และจำเลยคดีก่อการร้าย เป็นต้น
       
        ทั้งนี้ หลายฝ่ายเริ่มไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ขนาดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ยังออกโรงทำหนังสือถึง กกต.และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการจัดเลือกตั้งในวันดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่การใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดการเลือกตั้งจำนวน 3,885 ล้านบาท จะสูญเปล่า และอาจจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหลายครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
       
        ด้าน กกต.ทั้ง 5 ได้ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ก่อนมีมติทำหนังสือเสนอนายกฯ ขอให้มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วง 3-4 เดือนหลังจากนี้ สำหรับเหตุผลที่ กกต.เห็นว่าควรมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ มี 6 ข้อ คือ

1.เนื่องจากมี 28 เขตใน 8 จังหวัดที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากเดินหน้าเลือกตั้ง จะได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 95% ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้

2.มี 22 เขตที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ซึ่งในการเลือกตั้งผู้สมัครอาจได้คะแนนไม่ถึง 20% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น อาจต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกหลายรอบ เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ
       
3.สถานการณ์ขัดขวางการเลือกตั้งมีแนวโน้มจะมีความรุนแรงขึ้น

4.ประสบปัญหาเกี่ยวกับการสรรหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในการสนับสนุนกำลังคนและสถานที่ 5.สตง.มีหนังสือขอให้ กกต.ทบทวนการจัดเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เพราะเกรงจะไม่คุ้มค่ากับการใช้งบประมาณแผ่นดิน 3,885 ล้านบาท 6. การเลือกตั้งในสภาพ 28 เขตในภาคใต้ไม่มีผู้สมัคร อาจถูกตีความว่าไม่ได้เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่กำหนดให้วันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวทั่วประเทศ ซึ่งหลังเลือกตั้งอาจมีผู้ฟ้องร้องจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และงบที่ใช้จัดเลือกตั้งสูญเปล่าได้ ทั้งนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เห็นว่า วันเลือกตั้งที่เหมาะสม คือวันที่ 4 พ.ค.ตามกรอบ 180 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 มกราคม 2557