ผู้เขียน หัวข้อ: “บุหรี่” ตัวการก่อมะเร็ง 17 ชนิด แพทย์เผยพบผู้ป่วยใหม่สูงถึงปีละกว่า 2 หมื่นคน  (อ่าน 435 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
แพทย์จุฬาฯ ชี้บุหรี่ตัวการก่อมะเร็ง 17 ชนิด พบ 1 ใน 3 ป่วยมะเร็งปอด ทำค่าใช้จ่ายบานขึ้นหลักล้าน โอกาสรักษาหายต่ำ พบผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 2 หมื่นคน วอนคนไทยร่วมหนุน พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ เร่งป้องกัน ลดนักสูบ


        วันนี้ (18 มี.ค.) ที่หน่วยมะเร็งวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และเลขาธิการศูนย์โรคมะเร็งครบวงจรแห่ง รพ.จุฬาลงกรณ์ แถลงข่าว “โรคมะเร็ง...กับบุหรี่” ว่า บุหรี่ทำให้เกิดโรคในหลายระบบ โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่เป็นได้มากถึง 17 ชนิดในอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ มะเร็งคอ ช่องปาก หลอดลม ปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ เต้านม และปากมดลูก เป็นต้น โดยมะเร็งปอดเป็น 1 ใน 3 โรคที่พบมากที่สุด โดยพบมากเป็นลำดับ 2 ของการป่วยมะเร็งทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ร้อยละ 60 - 70 เกิดจากการสูบบุหรี่ ปัจจุบันผู้ชายถือว่ามีความเสี่ยงมะเร็งปอดมากกว่า เนื่องจากมีอัตราการสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 40 แต่กลุ่มแม่บ้านหรือผู้อยู่บ้านเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านก็มีอัตราเสี่ยงพอๆ กัน จากการได้รับควันบุหรี่มือสอง
       
        รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากมะเร็งปอดยังพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเกิดโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานมากกว่าปกติ และยังทำให้ร่างกายตอบสนองการรักษาได้ไม่ดี อีกทั้งยังทำให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ โดยพบว่าค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคโดยเฉพาะมะเร็งปอด เฉพาะค่าผ่าตัดปอดจะอยู่ที่ 2 แสนบาท ค่าตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ค่าใช้จ่ายภายหลังการผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการฉายแสง ค่าใช้จ่ายการให้ยาเคมีบำบัด การรักษาโรคแทรกซ้อน รวมแล้วค่ารักษาพยาบาลคนละประมาณ 1 ล้านบาทขึ้นไป หากพบว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่น ค่ารักษาพยาบาลก็จะแพงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอด โอกาสรักษาได้จะขึ้นอยู่กับระยะที่พบโรค โดยหากพบในระยะต้นๆ ครึ่งหนึ่งจะสามารถผ่าตัดได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะพบโรคในระยะท้าย ประมาณร้อยละ 60 - 70 จะอยู่ในระยะ 3 - 4 ซึ่งการรักษาหายมีโอกาสน้อยมาก และจะยิ่งมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้นไปอีก
       
        “สถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ปีละราว 2 หมื่นราย จำนวนนี้สามารถผ่าตัดได้ร้อยละ 30 หรือ ประมาณเกือบ 6,000 คน หากคิดค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนผู้ป่วยที่สามารถผ่าตัดได้ ได้รับการผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด 6,000 ราย ค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่คนละ 1 ล้านบาท ก็เท่ากับจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายถึง 6 พันล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยในระยะ 3 และ 4 ส่วนใหญ่จะรักษาไม่หาย ซึ่งเท่ากับค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปนั้น สามารถใช้ยืดชีวิตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ถือว่าแย่ เพราะผู้ป่วยจะแทบหายใจไม่ได้ เหนื่อยมาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ระยะท้ายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลยาวนาน ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งผู้ป่วยและครอบครัว” รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าว
       
        รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องช่วยกันผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ที่กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายสุขภาพกว่า 700 องค์กร ร่วมกับประชาชนจากทุกสาขาอาชีพกว่า 1 แสนคน ร่วมสนับสนุน หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะช่วยให้มาตรการลดผู้สูบบุหรี่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเหตุผลที่ต้องลดปริมาณผู้สูบบุหรี่นั้น ตรงไปตรงมา เพราะต้องการลดปัญหาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ลดคนที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ลง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือครอบครัว รวมทั้งงบประมาณด้านสาธารณสุข ที่ควรนำไปใช้ให้เพื่อสร้างสุขภาพให้กับคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคที่ป้องกันไม่ได้ หรือการให้วัคซีนกับเด็กเพื่อป้องกันโรค ถือเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่คุ้มค่ากว่าการรักษาที่สุดท้ายจะไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ได้



ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 มีนาคม 2558