ผู้เขียน หัวข้อ: เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเจ็บป่วย  (อ่าน 448 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเจ็บป่วย
« เมื่อ: 17 กันยายน 2014, 00:10:05 »
งบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็น “ภาระ” ของประเทศจริงหรือ
       ดูเหมือนว่าคำถามนี้จะดังขึ้นทุกครั้งเมื่อเริ่มต้นวงรอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี หากดูจากตัวเลขงบประมาณโดยรวมก็น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะปีแรกของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้งบประมาณเพียงหกหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันผ่านมาสิบปี งบประมาณเพิ่มขึ้นไปถึงกว่าแสนล้าน แต่ถ้านำคนไทยที่มีสิทธิหลักประกันกว่า 48 ล้านคน มาหาร จะพบว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับประชาชนไทยในระบบ เป็นเพียงคนละ 1,202 บาทในปีแรก และขยับมาเป็น 2,895 บาท ในปีปัจจุบันเท่านั้นเอง
       คำว่าเท่านั้นเอง ก็เพราะว่าหากนำตัวเลขไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ บนโลกนี้ก็จะพบว่า รัฐให้การสนับสนุนน้อยกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นที่ใช้งบคนละ 96,000 บาท ออสเตรเลีย 114,000 บาท หรือถ้าเปรียบเทียบกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ใช้งบประมาณราว 12,000 บาท/คน ก็ยังห่างไกลกับตัวเลขรายหัวคนละ 2,895 บาทอยู่หลายเท่า
       คำถามเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น เมื่อปี 2544 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเริ่มสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเพิ่งจะเริ่มฟื้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารโลกในเวลานั้นก็ไม่เห็นด้วย จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบันได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ในงานประชุมรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลปี 2557 ว่า
       “หลายปีก่อนหน้านั้น ในปี 2540 เศรษฐกิจประเทศไทยฟองสบู่แตก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทรุด เงินบาทลดค่าลงไปร้อยละ 45 การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นเสียมูลค่าไปสามในสี่ รัฐบาลกู้เงิน 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯจาก IMF เพื่อแก้วิกฤตทางการเงิน การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดและทำให้การเสนอโครงการใหม่ๆ เป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมาก
       มีน้อยคนนักที่จะมองว่าช่วงนี้เป็นฤกษ์ดีในการสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน แต่ก็มีผู้ที่มีวิสัยทัศน์จำนวนหนึ่งที่วาดฝันเอาไว้และวางแผนเรื่องนี้ไว้เป็นทศวรรษ
       แต่คนเหล่านี้ก็มีศัตรูอยู่มากมาย อย่างน้อยที่สุดหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มธนาคารโลก ใช่แล้วครับ สถาบันที่ตอนนี้ผมรับตำแหน่งเป็นประธานเป็นปรปักษ์ต่อต้านความปรารถนาของประเทศไทยในการให้หลักประกันสุขภาพกับคนไทยทุกคนอย่างชัดเจน ทางธนาคารและผู้อื่นบอกว่า เวลานั้นเป็นช่วงที่ไม่เหมาะสมสำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บอกว่าความพยายามนั้นจะไม่สัมฤทธิ์ผล และบอกว่าการทำเช่นนั้นเป็นการฆ่าตัวตายทางการคลัง”
       แต่ประเทศไทยก็ทำในสิ่งตรงข้ามกับคำแนะนำของธนาคารโลก จิม ยอง คิม ได้กล่าวต่อไปว่า
       “ในช่วงสิบปีแรกของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้ให้ทรัพยากรทางการคลังสำหรับการปฏิรูปให้อยู่รอดและคงอยู่ได้ และผู้ที่ยากจนที่สุดก็ได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ด้วย การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นเพียงประเทศเดียวที่ผู้บริโภครายได้ต่ำได้เพิ่มส่วนแบ่งการบริโภครวม
       โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่คนไทยชื่นชอบ คนไทยร้อยละ 90 มีความพึงพอใจกับโครงการนี้ เสียงที่เข้มแข็งของพวกเขาได้ช่วยยืนยันว่าโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและการพัฒนา และแม้ว่าตอนที่เริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลที่น้อยที่สุดกว่าประเทศใดๆ ที่บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
       โครงการดังกล่าวไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ ยังคงมีปัญหามากมายที่ก่อตัวขึ้นเนื่องจากมีคนใช้บริการมากขึ้น เมื่อประชากรมีอายุมากขึ้น และเมื่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และโรคไม่ติดต่ออย่างโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก การบริหารระบบให้บริการทางสุขภาพก็เหมือนการแต่งสวนเมืองร้อน มีวัชพืชที่ต้องถอน มีดอกไม้ที่ต้องปลูก และกิ่งก้านที่ต้องตัดแต่งมากกว่า
       ระหว่างที่ผมเดินทางไปทั่วโลก ผมบอกเล่าเรื่องราวโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยว่าเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ปรารถนาที่จะได้มาซึ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเดียวกันให้กับประชากรของตนเอง
       ผมขอขอบคุณ และแสดงความยินดีด้วยสำหรับความสำเร็จนี้ รวมทั้งได้บทเรียนหลายประการ
       ประการที่หนึ่ง เราได้เรียนรู้ว่าการลงทุนกับผู้คน ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกทางศีลธรรมที่ถูกต้อง แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างแท้จริง
       คณะกรรมการแลนเซ็ตด้านการลงทุนทางสุขภาพ ประเมินว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 24 ในประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำและกลางมาจากสุขภาพที่ดีขึ้น ผลตอบแทนนั้นมหาศาล นั่นคือ การใช้จ่ายทางสุขภาพก่อให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนตั้งแต่เก้าถึงยี่สิบเท่า และรายงาน Growth Commission นำโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ไมเคิล สเปนซ์ รายงานว่า ไม่มีประเทศใดที่รักษาการเจริญเติบโตให้ยั่งยืนได้โดยไม่อัตราการลงทุนสาธารณะขนาดใหญ่ได้ เช่น การศึกษาและสุขภาพ นอกเหนือไปจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในผู้คนแบบนี้ไม่ได้ไปบดบังการลงทุนของเอกชน แต่กลับทำให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม กิจการใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นและผลตอบแทนก็เพิ่มสูงขึ้นเพราะคนงานมีสุขภาพดีและได้รับการศึกษารักษา”
       โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่เพียงประกอบด้วยการพัฒนาระบบการคมนาคมเท่านั้น แต่การลงทุนทางสุขภาพยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะไม่เพียงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ แต่ยังสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศ อย่างยั่งยืนอีกด้วย


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
 ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 กันยายน 2557