ผู้เขียน หัวข้อ: ดันพนักงานมหา'ลัย ใช้สิทธิ สปสช.  (อ่าน 966 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
ดันพนักงานมหา'ลัย ใช้สิทธิ สปสช.
« เมื่อ: 14 สิงหาคม 2013, 15:28:52 »
พนักงานมหาวิทยาลัย จ่อพบ “เฉลิม” ขอไม่ใช้สิทธิประกันสังคม วอนโยกอยู่ สปสช.แทน ชี้เป็นข้าราชการเหมือนกัน ไม่เข้าข่ายระบบ สปส.แม้ยังไม่ชัดเจน เสนอส่งกฤษฎีกาตีความ

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังเข้าเรียกร้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการขอตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย เหมือนกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานท้องถิ่น ว่า หลังจากได้หารือกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เบื้องต้นมีความเห็นร่วมกันว่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการย่อยขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ โดยขณะนี้เหลือเพียงรอเข้าพบ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข หากเห็นด้วยก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร หลังจากนั้นทางศูนย์ประสานงานฯ ก็จะขอเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เพื่อหารือขอให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนมาอยู่ในการดูแลของ สปสช.แทน
       
        ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถโอนย้ายจาก สปส.มา สปสช.ได้จริงหรือไม่ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมยังไม่ชัดเจนในเรื่องพนักงานมหาวิทยาลัย เพราะผู้ที่จะอยู่ในประกันสังคมต้องไม่ใช่ข้าราชการ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยจริงๆ ก็คือข้าราชการ แต่ยังไม่ชัดเจน ต้องมีการตีความ ซึ่งอยากให้ สปส.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้ให้ชัดเจน
       
        “พวกตนออกมาเรียกร้อง เพราะต้องการความเป็นธรรมในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลที่เทียบเท่าอาจารย์ข้าราชการคนอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในช่วงปี 2540 -2542 ทุกคนเข้าใจว่า เมื่อกลับมาใช้ทุนการศึกษาทุกคนจะได้รับราชการ แต่เมื่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2542 ที่ยกเลิกการบรรจุข้าราชการใหม่ ทำให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมต้องถูกผลักไปอยู่ในสิทธิประกันสังคม ซึ่งพวกเรามองว่า แม้สิทธินี้จะดี แต่ในแง่ศักดิ์ศรี พวกเราก็เหมือนข้าราชการคนหนึ่งก็ควรได้เท่าเทียมกัน” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว
       
        รศ.ดร.วีรชัย กล่าวอีกว่า สิทธิรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัยย่อมไม่เท่ากับข้าราชการ เนื่องจากยังเหลื่อมล้ำอยู่มาก และเมื่อเทียบกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศยังมีพัฒนาการด้านสิทธิประโยชน์ดีกว่าด้วยซ้ำ ยกตัวอย่าง ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือการใช้หัตถการทางการแพทย์ต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามสิทธิ แต่ข้าราชการกับ 30 บาทไม่มี ที่สำคัญสิทธิข้าราชการและ 30 บาท ยังใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้หลังเกษียณอีก แต่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง
       
        อนึ่ง สำหรับนักเรียนทุนที่แปรสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นน่าจะมีประมาณกว่า 30,000 คน ซึ่งในเรื่องของปัญหาสิทธิรักษาพยาบาลที่ไม่เท่าเทียมสิทธิข้าราชการนั้น ไม่เพียงแต่นักเรียนทุนที่ถูกปรับเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ยังมีพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ต้องการสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการเช่นกัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 สิงหาคม 2556