ผู้เขียน หัวข้อ: อภ.เล็งวิจัย-ผลิต “ซิตีซีน” ยาเลิกบุหรี่ตัวใหม่ หลังยุโรปใช้ได้ผลดี ไม่มีสิทธิบั  (อ่าน 591 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
อภ. เตรียมผลิตยาเลิกบุหรี่ “ซิตีซีน” เผยเป็นยาไม่มีสิทธิบัตร ใช้แพร่หลายในยุโรปตะวันออกกว่า 30 ปี ได้ผลดี เล็งจับมือคลินิกฟ้าใสวิจัยประสิทธิภาพ ก่อนขอขึ้นทะเบียนเป็นยา คาดใช้เวลา 2 ปี ชี้หากผลิตเองได้ราคาถูกลง 10 เท่า
       
       ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ คลินิกฟ้าใส กล่าวว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติด การเลิกสูบจึงเป็นเรื่องยาก คนที่เลิกเองมักจะเกิดโอกาสกลับมาสูบซ้ำ ซึ่งพบว่าผู้ที่สูบมานานจำเป็นต้องใช้ยาเลิกสูบบุหรี่ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม โดยเครือข่ายฯ ได้ข้อมูลจากจากการประชุมวิชาการบุหรี่โลกเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า มียาช่วยเลิกบุหรี่ ชื่อ “ซิตีซีน (Cytisine)” ซึ่งเป็นยาไม่มีสิทธิบัตรและมีการใช้อย่างแพร่หลายในยุโรปตะวันออกมานานกว่า 30 ปี ถือเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี มีการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ว่าเป็นยาที่ใช้ดีไม่ด้อยกว่านิโคตินทดแทน หรือ แผ่นแปะนิโคติน ถือเป็นยาต้นแบบที่มีการเปลี่ยนโครงสร้างเคมีและนำออกขายโดยบริษัทยา
       
       ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ยาช่วยเลิกบุหรี่ ถือเป็นยาที่ยังไม่มีในบัญชียาหลัก ได้มีการเสนอแนวคิดดังกล่าวกับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.อภ. ได้เห็นด้วยในแนวทางผลิตยาดังกล่าวเพื่อช่วยผู้ติดบุหรี่ ซึ่งจะร่วมมือกันทำงาน โดยเครือข่ายฯ จะดำเนินการวิจัยทางคลินิก ซึ่งอยู่ระหว่างการวางโครงสร้างการวิจัยและกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง และดำเนินการขอขึ้นทะเบียนยาต่อไป โดย อภ. จะสามารถเริ่มผลิตยาได้ช่วง ก.ย.- ต.ค. นี้ เพื่อนำมาใช้ในการทดลอง ทดสอบประสิทธิภาพ คาดว่า จะใช้เวลาทั้งกระบวนการก่อนที่จะผ่านการขึ้นทะเบียน 2 ปี
       
       “หาก อภ. สามารถผลิตยาดังกล่าวได้เอง จะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงอย่างมาก โดยราคายาต่อคอร์ส 3 เดือน ไม่เกิน 600 บาท เมื่อเทียบกับยาจากบริษัทยาที่จำหน่ายอยู่ พบว่ายาแผงละ 1,200 บาท ใช้ได้ 2 สัปดาห์ ซึ่งราคาต่างกันประมาณ 10 เท่า ทั้งนี้ สารตั้งต้นในการผลิตยา มาจากเมล็ดจามจุรีเทศ ที่ปลูกได้ในอเมริกาใต้ เป็นพันธุ์ที่มีพิษ แต่นำส่วนมีประโยชน์มาใช้ได้ โดยมีโรงงานผลิตสารตั้งต้นในประเทศจีน หากประเทศไทยสามารถผลิตยาดังกล่าวได้ ก็จะมีการผลักดันให้บรรจุในบัญชียาหลัก เพื่อให้ใช้ในชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อช่วยผู้ติดบุหรี่ได้ต่อไป" ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 พฤษภาคม 2558