ผู้เขียน หัวข้อ: ทีดีอาร์ไอพบมารดาตายขณะตั้งท้องสูงกว่าสธ.สำรวจถึง5เท่า ชี้ยังห่างจากประเทศพัฒนา  (อ่าน 1167 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ได้ทำงานวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” โดยผลการศึกษาพบว่าอัตราส่วนการตายของมารดาขณะตั้งครรภ์สูงกว่าตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบถึง 4-5 เท่า เนื่องจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ได้ประเมินข้อมูลการเสียชีวิตจากข้อมูลการตายของมารดาจากฐานข้อมูลผู้ป่วยใน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสํานักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) รวมถึงฐานข้อมูลการเกิดและตายจากทะเบียนราษฎรมาประมวลผล ต่างจากข้อมูลของสธ.ที่ให้โรงพยาบาลรายงานโดยตรง ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนพอสมควร และสธ.ก็ยอมรับความคลาดเคลื่อนดังกล่าวเพื่อเตรียมพัฒนาระบบ และใช้การเก็บข้อมูลแบบที่ผู้วิจัยทำต่อไป

ทั้งนี้ อัตราตายที่ผู้วิจัยพบในปี 2550 อยู่ที่ 62.51 คนต่อแสนคน หรือ 421 คนต่อปี ส่วนของสธ.พบว่าอยู่ที่ 12.2 ซึ่งต่างกันเกิน 5 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดในปี 2554 อยู่ที่ 290 คน หรือ 36.69 คน ต่อแสนคนซึ่งห่างกันประมาณ 4 เท่า ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น มีอัตราการตายของมารดา อยู่ที่ประมาณ 5 คนต่อแสนคนเท่านั้น ส่วนประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

นางวรวรรณกล่าวอีกว่า การศึกษายังพบว่าในเขตบริการสุขภาพที่12 หรือในจังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาสูงถึง 69.29 คนต่อแสนคน ซึ่งอาจมาจากปัจจัยด้านวัฒนธรรม เช่น ผู้ที่ทำคลอดต้องเป็นสุภาพสตรีเท่านั้น หรืออาจมาจากปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มารดา มีปัญหาในการเดินทางมาทำคลอด

การศึกษายังพบว่าในเขตบริการสุขภาพที่ 2 ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และเขตบริการสุขภาพที่3 เขตพื้นที่ภาคกลาง ก็มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาในระดับที่สูงเช่นกัน โดยสาเหตุการตายมีทั้ง การทำแท้งในมารดาวัยรุ่น รวมถึงความไม่สมบูรณ์ของร่างกายในมารดาที่อายุสูงกว่า 35 ปี

นางวรวรรณกล่าวว่า การศึกษายังพบอีกว่าอัตราส่วนการตายสูงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่รายได้ต่อหัวประชากรต่ำอีกด้วย ซึ่งข้อเรียกร้องสำคัญไปยังสธ. ก็คือการกำหนดนโยบายสาธารณสุข ศึกษาสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว เพื่อกำหนดเป็นนโยบายเฉพาะของแต่ละพื้นที่มากกว่าจะกำหนดนโยบายจากระดับชาตินโยบายเดียว เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป

งานวิจัยยังได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่องค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 365 วันก่อนตาย เปรียบเทียบสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค) และสวัสดิการข้าราชการ โดยพบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในระบบบัตรทอง อยู่ที่5.2 หมื่นบาท ส่วนสวัสดิการข้าราชการอยู่ที่ 9.8 หมื่นบาท และยังพบอีกว่าค่าใช้จ่ายของบัตรข้าราชการในการรักษาโรคเดียวกัน สูงกว่าบัตรทองถึง 38% โดยหากตายในโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายบัตรทองอยู่ที่ 6.4 หมื่นบาท และสวัสดิการข้าราชการอยู่ที่ประมาณ 1.47 แสนบาท

ขณะเดียวกันก็พบอีกด้วยว่า อัตราของผู้สูงอายุที่ครองเตียงในโรงพยาบาลก่อนเสียชีวิตมีค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากไม่ทำอะไร เตียงส่วนใหญ่ในโรงพยาบาล จะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ และทำให้โอกาสในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นผู้สูงอายุน้อยลง

โพสต์ทูเดย์   25 สิงหาคม 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
“อานนท์” ท้วงงานวิจัยทีดีอาร์ไอรายงานอัตราแม่ตายระหว่างคลอดสูงกว่าตัวเลข สธ. หลายเท่า ชี้เหมารวมการตายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการคลอดทำตัวเลขพุ่ง ด้านหมอสูติฯ เผยอัตราแม่ตายดูจากภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด ชี้ภาวะเสี่ยงอย่างมากไม่เกิน 7 วันหลังคลอด พบงานวิจัยทีดีอาร์ไอใช้ตัวเลขแม่ตายใน 42 วันหลังคลอด
       
       วันนี้ (27 ส.ค.) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณี ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ที่ศึกษาพบอัตราการเสียชีวิตของมารดาต่ออัตราการเกิดมีชีพแสนคน (MMR) สูงกว่าตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานมากกว่าหลายเท่าตัว ว่า จากการศึกษางานวิจัยเรื่องดังกล่าวฉบับเต็มของทีดีอาร์ไอแล้ว พบว่า การคำนวณอัตราการเสียชีวิตมารดาจากการคลอดนั้น กระทำโดยขาดความรู้ทางการแพทย์และระบาดวิทยา เนื่องจากนิยามอัตราตายจากการคลอดที่องค์การอนามัยโลกนิยามไว้จะต้องเป็นการตายที่เกี่ยวกับการคลอดเท่านั้น แต่งานวิจัยดังกล่าวกลับรวบรวมการเสียชีวิตของมารดาทั้งจากการตายจากรถชน เป็นเอดส์ ฆ่าตัวตาย ถูกยิงตายเข้ามารวมกันไว้ทั้งหมด อย่างพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความไม่สงบ ตัวเลขจึงสูงมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงทำให้ตัวเลขอัตราการตายของมารดาจากการคลอดของทีดีอาร์ไอสูงกว่าของ สธ. หลายเท่า
       
       ด้าน ศ.นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม อดีตประธานราชวิทยาสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นงานวิจัยดังกล่าว จึงไม่แน่ใจว่าทีดีอาร์ไอมีการคำนวณอัตราการตายของมารดาที่เกิดจากการคลอดอย่างไร แต่โดยหลักการทางการแพทย์นั้น จะพิจารณาว่าช่วงระหว่างตั้งครรภ์มีภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตหรือไม่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ตำแหน่งของรกไม่ดี หรือเกิดบางโรคขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น ตับหยุดทำงานหรือทำงานไม่ดี จนส่งผลให้เสียชีวิต เป็นต้น ส่วนช่วงระหว่างคลอด ก็จะมีเรื่องของการตกเลือด น้ำคร่ำอุดตัน การติดเชื้อระหว่างคลอด ขณะที่ช่วงหลังคลอดนั้นความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มักอยู่ในช่วง 7 วันเช่นเดียวกับเด็กทารก เช่น การติดเชื้อหลังคลอด เป็นต้น แต่หากเกิน 1 เดือนไปแล้วคงไม่น่านำมาพิจารณาคำนวณ
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงโรคเอดส์ วัณโรค ที่ทำให้มารดาเสียชีวิตจะนับเป็นอัตราการตายจากการคลอดด้วยหรือไม่  ศ.นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า โรคดังกล่าวเหล่านี้ รวมไปถึงพวกโรคหัวใจ โรคไต ต้องพิจารณาว่าเป็นในช่วงตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนแล้วควบคุมได้ดี แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วแล้วอาการแย่ลงก็ต้องถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แต่หากก่อนตั้งครรภ์ก็เป็นหนักอยู่แล้ว และมาเป็นมากขึ้นอีกระหว่างตั้งครรภ์จนเสียชีวิตตรงนี้บอกได้ยากว่าเป็นการตายจากการตั้งครรภ์ หรือการคลอดหรือไม่ ตรงนี้ต้องมาดูที่รายละเอียดว่าการคำนวณของทีดีอาร์ไอนั้นพิจารณาอย่างไร ทั้งนี้ การฝากครรภ์เป็นประจำสม่ำเสมอจะสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้  เพราะหากมีความผิดปกติแพทย์จะสามารถตรวจพบได้ทันทีและให้การรักษา ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตลงได้ ยกเว้นบางภาวะที่ป้องกันไม่ได้ เช่น น้ำคร่ำไหลเข้าไปในเส้นเลือดของมารดาแล้วอุดตัน ซึ่งอัตราการเกิดภาวะนี้จะน้อย แต่ป้องกันไม่ได้ หากอาการไม่รุนแรงก็อาจรักษาได้ แต่หากรุนแรงแม้แพทย์จะดูแลรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็อาจเสียชีวิตได้ตามพยาธิสภาพ
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” การนับจำนวนมารดาที่ตายเมื่อมีการเกิดมีชีพ ได้อาศัยข้อมูลจำนวนมารดาจากฐานข้อมูลการเกิดและตายจากทะเบียนราษฎรปี 2550 - 2554 โดยเป็นจำนวนมารดาที่ตายภายใน 42 วันหลังเด็กเกิด ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก โดยสาเหตุการตายไม่ใช่อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย หรือถูกฆาตกรรม และใส่ชื่อโรคของการตาย ส่วนมารดาตายที่ยังไม่มีการคลอด อาศัยฐานข้อมูลผู้ป่วยในจาก สกส. และ สปสช. ปี 2550 - 2554 โดยนับการตายของมารดาภายใน 270 วันหลังตั้งครรภ์ หรือภายใน 42 วันหลังการคลอด โดยสาเหตุการตายที่นับคือ ตกเลือด เชื้อราในสมอง พิษแห่งครรภ์ ติดเชื้อ น้ำคร่ำอุดตัน ความดัน คลอดติดขัด แท้งโดยแพทย์ แท้งอื่น ๆ (ไม่แพทย์) มะเร็ง เอดส์ วัณโรค ไม่ทราบ และอื่น ๆ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 สิงหาคม 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
หมอห้องคลอดเดือด ซัดนักวิจัยทีดีอาร์ไอหมิ่น “แพทย์ - สธ.” ปกปิดการตายของมารดา แจงตัวเลขตายน้อย เพราะนับการตายแค่ใน รพ. จี้แสดงความรับผิดชอบ เผยข้อมูลแม่ตายของกรมอนามัยชัดเจนสุด ตัวเลขใกล้เคียงทีดีอาร์ไอ เหตุใดไม่ยกมาเทียบ เสนอแก้ภาวะตกเลือด 30 นาที ช่วยป้องกันการตาย แนะโรคทางอายุกรรมวางแผนมีบุตรก่อนตั้งครรภ์
       
        พล.อ.ต.หญิง พญ.สุรีย์พร บุญจง กองสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาเปิดเผยงานวิจัยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” กรณีอัตราการเสียชีวิตของมารดาต่อการเกิดมีชีพแสนคน (MMR) โดยตัวเลขของทีดีอาร์ไอสูงกว่าตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลายเท่า เพราะแพทย์ไม่ได้รายงานว่าเป็นการเสียชีวิต เพราะการคลอดทั้งหมด ว่า งานวิจัยของทีดีอาร์ไอเป็นการดูหมิ่นสูตินรีแพทย์ เพราะแสดงข้อมูล MMR ของทีดีอาร์ไอ และ สธ. ที่แตกต่างกันมาก ทั้งที่รู้ว่ารายงานของ สธ. เป็นข้อมูลที่ได้จากสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้รวมการตายของมารดาทั่วประเทศที่เกิดขึ้นนอกสถานพยาบาล เพราะต้องการปรับปรุงการดูแลมารดาและทารกในครรภ์ในสถานพยาบาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า MMR ลดลงเป็นลำดับ เหตุใดจึงไม่แสดงในบทวิจารณ์ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อนำมาสู่การร่วมมือจากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อลด MMR ในระดับประเทศ แต่กลับนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกันไว้ลอย ๆ ให้คนคิดเอาเองว่า ข้อมูลจาก สธ. เชื่อถือไม่ได้ เมื่อเกิดการตายของมารดา แพทย์มักปกปิด จึงควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเห็นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สูตินรีแพทย์ และ สธ.
       
       ด้าน นพ.สุธิต คุณประดิษฐ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมสาขาสูติ - นรีเวชกรรม หัวหน้ากลุ่มงานสูติ - นรีเวชกรรม รพ.ลำพูน กล่าวว่า สธ. เก็บข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของมารดาภายในสถานพยาบาลเท่านั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ตัวเลขจะน้อยกว่าทีดีอาร์ไอ แต่หลักเกณฑ์ในการเก็บตัวเลขนั้นเหมือนกัน คือ การเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด 42 วัน ยืนยันว่า สธ. ไม่ได้มีการปกปิดข้อมูลการเสียชีวิต เพราะอย่างกรมอนามัยที่เพิ่งทำข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของมารดา โดยอาศัยข้อมูลการเสียชีวิตของผู้หญิงจากทั่วประเทศแล้วมาแยกดูความเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ โดยอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกับทีดีอาร์ไอ ซึ่งผลเพิ่งออกมาเมื่อ มิ.ย.- ก.ค. ที่ผ่านมา ก็พบว่าภาพรวมของประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตของมารดา หรือ MMR อยู่ที่ 32 ต่อแสนประชากร ตัวเลขก็ใกล้เคียงกับทีดีอาร์ไอ เหตุใดทีดีอาร์ไอไม่เอาตัวเลขตรงนี้มาพูดด้วย แต่กลับนำตัวเลขของ สธ. ที่รายงานโดยแพทย์ ซึ่งทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ได้รวมการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล
       
       นพ.สุธิต กล่าวว่า สธ. ตั้งเป้าหมายว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาให้ได้เหลือ 15 ต่อแสนประชากร ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เร่งดำเนินการกันอยู่ โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอาการตกเลือดหลังคลอด และความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถป้องกันได้ อย่างเขตสุขภาพที่ 1 ก็พบว่าการเสียชีวิตของมารดา 40% มาจากการตกเลือดหลังคลอด ก็มีการวางหลักเกณฑ์ว่าต้องช่วยเหลือให้ได้ภายใน 30 นาที เพราะมีรายงานจากต่างประเทศ ว่า หากไม่สามารถรักษาได้ภายใน 2 ชั่วโมง มักจะเสียชีวิต ซึ่งการดูแลรักษาก็จะมีการให้ยาเพิ่มการหดรัดตัวของมดลูกให้ดีขึ้น แต่ปัญหาคือ มักจะรอการตอบสนองของยา เพราะฉะนั้นหากให้ยาแล้วยังไม่พบการตอบสนองของมดลูก ก็ต้องมีการประเมินแล้วว่าเกิดจากสาเหตุอื่นใดหรือไม่ ต้องผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเสนอทั้งกรมอนามัย กรมการแพทย์ และ สธ. แล้วว่าต้องดำเนินการเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการในเรื่องของการฝากครรภ์คุณภาพ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
       
       “ ส่วนการเสียชีวิตจากเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และการคลอด แต่ส่งผลให้มารดาเสียชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) วัณโรค ก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย เพราะเมื่อตั้งครรภ์หัวใจจะทำงานหนักมากขึ้นเป็น 2 เท่ากว่าคนไม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น หากมีโรคหัวใจก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้น ผู้ที่มีโรคทางอายุรกรรมเหล่านี้ก็ไม่ควรตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามมีลูกเลย แต่หากจะมีลูกก็ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนครอบครัว วางแผนการมีบุตร ว่า อาการ หรือโรคที่เป็นอยู่สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ หากตั้งครรภ์แล้วเสี่ยงเสียชีวิตสูงก็ไม่ควรตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์ได้ก็ต้องมาฝากครรภ์เป็นประจำ ดูแลเป็นพิเศษมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ” นพ.สุธิต กล่าว


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กันยายน 2558