ผู้เขียน หัวข้อ: ‘3 งานวิจัยโลก’ ชี้ชัด กทม.-ปริมณฑลจมบาดาล หาดพัทยาหายไป จี้รัฐบาลมีแค่ 2 ทาง  (อ่าน 173 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
เชื่อหรือไม่! ว่า กทม.และปริมณฑลจะจมบาดาลในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ยืนยัน 3 งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัด กทม.และปริมณฑลจมน้ำในอนาคต 100% เสนอตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ตัดสินใจเลือกจะสร้างแนวป้องกันหรือย้ายเมืองหลวง ชี้ส่วนตัวไม่ต้องการย้ายเมืองหลวง เพราะเมืองมีชีวิตและมีมูลค่าเชิงวัฒนธรรมสูงมาก มั่นใจหาดพัทยาจะหายไปจากสารบบ ขณะที่ข้อมูลการย้ายเมืองเคยเสนอมาหลายยุคสมัย แต่มาจบท้ายที่ ‘บิ๊กตู่’ ให้สภาพัฒน์ศึกษาที่เหมาะสม มีเสนอ ‘นครนายก-โคราช’ แต่ในที่สุดก็เงียบ

กทม.และปริมณฑล จะจมบาดาล! ในอีก 20 ปีข้างหน้า กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ออกมาเตือนภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐและประชาชนต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะช่วงแรก ต้องรับมือกับฝน 100 ปีที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง ก.ย.-พ.ย.65 นี้ ซึ่งประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น เป็นระยะเวลายาวขึ้น จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้พายุอาจจะเข้าไทย 2-3 ลูก ซึ่งอาจมีโอกาสเป็นฝน 100 ปี เมื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์ฝนที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ที่เกิดปรากฏการณ์ฝนหนักมากในรอบ 80 ปี ในปริมาณ 140 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง

อีกทั้งในระยะอันใกล้นี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์จะเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะปริมาณน้ำฝนเท่ากัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำได้ไม่ลืม ภาพของสนามบินดอนเมืองที่เต็มไปด้วยปริมาณน้ำมหาศาลและพื้นที่อื่นๆ วิกฤตหนัก

 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

แต่ที่สำคัญและน่าห่วง รศ.ดร.เสรี ย้ำว่าจากการติดตาม และศึกษาข้อมูลงานวิจัยในระดับโลกที่มีการศึกษากันนั้น ชี้ให้เห็นว่า กทม.และปริมณฑลมีความเสี่ยงสูงมากที่จะจมใต้น้ำ 100% เพราะปริมาณน้ำฝน น้ำเหนือหลากที่จะเกิดขึ้นในหน้าฝน ขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงถาวร ซึ่งใน 30 ปีข้างหน้าจะสูงขึ้นอีก 30-40 เซนติเมตร จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะจากงานวิจัยพบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในลำดับ 7 เสี่ยงน้ำท่วมชายฝั่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ผมเป็นคนไทยคนเดียวที่ทำงานกับคณะทำงาน กับ IPPC คือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate ) เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ผมจึงเห็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ 3 งานวิจัยมันชัดมากๆ ว่าน้ำทะเลหนุนสูง ปี 2030 พบว่า ชายฝั่งทะเลทั้งหลายจะหายไป ไม่ใช่พูดกันแบบลอยๆ ผมถึงอยากกระตุ้นให้รัฐบาลได้เตรียมรับมือให้พร้อมที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา”

ที่ผ่านมา มีการพูดกันถึงวิกฤตน้ำท่วม กทม.จะจมบาดาล และควรย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ออกไปที่ไหนมากมาย แต่ในที่สุดก็เงียบไม่มีการดำเนินการต่อ รศ.ดร เสรี บอกว่านั่นเป็นเพราะประเทศไทยเป็นเช่นนี้ มองว่าสิ่งที่มีการพูดถึง 20-30 ปีข้างหน้า กทม.จะจมน้ำเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้มีการวิจัยกันในระดับโลก เป็นวิทยาศาสตร์จะพบว่าบริเวณพื้นที่ตรงไหนที่มีความเสี่ยงกันบ้าง และวันนี้รัฐบาลควรจะตั้งเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญมาประเมินกันเลยว่าเราจะมีวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ที่ถูกที่สุด และลดผลกระทบด้านความขัดแย้งให้น้อยที่สุด จะทำกันอย่างไร

“ต้องไม่ลืมว่าเราจะสร้างอะไรก็ตาม จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะสร้างเป็นเขื่อน เป็นถนน จะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ตรงไหนอย่างไร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร พวกประมงชายฝั่ง จะทำอย่างไร มันต้องใช้เวลาในการศึกษาทั้งสิ้น ไม่ใช่ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็ทำได้ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาต้องไปศึกษาแนวทางว่าอย่างไรจะดีและเป็นประโยชน์ที่สุด”

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรจัดทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ยิ่งช้าจะยิ่งเสียโอกาส เพราะจากข้อมูล 3 งานวิจัย ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัย Delft Technology ในปี 2017 2) Dr.Kulp & Strauss วารสาร Nature Communication ในปี 2019 3) Dr.Tebakari วารสาร Hydrological Research Letter ในปี 2021 ชี้ถึงความเสี่ยงของพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จมน้ำในอนาคต!

“ข้อมูลจาก 3 งานวิจัยมันเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่พูดกันลอยๆ ลำพัง กทม.ไม่มีพลังที่จะแก้ไขหรือป้องกันได้ จะต้องทำตลอดแนวพื้นที่ชายฝั่งที่มีน้ำทะเลหนุนสูง ตั้งแต่ชะอำ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ไปจนถึงพัทยา ชลบุรี ว่าจะทำกันอย่างไร”

รศ.ดร.เสรี บอกอีกว่าได้ไปพูดคุยและเก็บข้อมูลพื้นที่บางส่วนที่มีน้ำทะเลหนุนสูงต่อเนื่องพบว่าชาวบ้านต้องหาวิธีการแก้ไขเพื่ออยู่กับตรงนั้นให้ได้ ซึ่งพื้นที่บางส่วนได้หายไป เช่น ที่บางขุนเทียน สมุทรปราการ รวมทั้งตลาดปากน้ำ ต้องพากันดีดบ้าน ดีดตลาดขึ้นเพื่อหนีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมาตลอด 5 ปี หากรัฐบาลจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้คนรุ่นลูก รุ่นหลานจะได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส และควรรีบตัดสินใจตั้งแต่บัดนี้ว่าจะเลือกแนวทางไหน ใน 2 ทางเลือกระหว่างสร้างแนวป้องกันต่างๆ เพื่อรับมือกับน้ำทะเลหนุนสูง ปริมาณน้ำฝน น้ำหลากที่จะเกิดขึ้น หรือจะเลือกย้ายเมืองหลวงจาก กทม.ออกไปอยู่ที่อื่น

“พูดเรื่อง กทม.จมบาดาล ต้องย้ายเมืองหลวง จะมีพวกที่มองว่าเราเป็นนักวิชาการเพื้ยนๆ พวกวิทยาศาสตร์เพี้ยนๆ ไม่สนใจอยากจะฟัง แต่จริงๆ ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เวลานี้เรามีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือถ้าไม่สร้างแนวป้องกัน ก็ต้องย้ายเมือง นี่คือหลักการที่ถูกต้อง แต่ในความเห็นส่วนตัวผมแล้วไม่ต้องการให้มีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่นแน่นอน”

รศ.ดร.เสรี บอกว่า ที่ไม่ต้องการให้ย้ายเมืองหลวงออกไปนั้นเป็นเพราะว่า เมืองคือสิ่งมีชีวิต เมืองมีวัฒนธรรมที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ มีโบราณสถาน มีวัดวาอาราม มีศิลปะที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากมาย หากเราย้ายเมืองหลวงออกไปเท่ากับเราทิ้งสมบัติอันล้ำค่าที่มีมูลค่ามหาศาลนั้นไป โดยเราจะยังไม่พูดถึงว่าเมื่อมีการย้ายเมืองออกไปจะต้องมีการใช้เงินทุนมหาศาลในการไปสร้างเมืองใหม่

“เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า เราต้องรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้อยู่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของเรา เพียงแต่ว่ารัฐบาลต้องกล้าพูดความจริง บอกกับประชาชนถึงเหตุผลที่ต้องทำ ต้องสร้างก็จะต้องมีคนเสียประโยชน์เกิดขึ้นแน่นอน”

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ประเทศไทย เมื่อเทียบอินโดนีเซีย ที่เลือกย้ายเมืองหลวงจาการ์ตาไปอยู่ที่เมืองหลวงแห่งใหม่คือ ‘นูซันตารา’ เพราะประเทศเขามีทั้งเรื่องแผ่นดินทรุดและระดับน้ำทะเลหนุนสูง หากจะเลือกสร้างระบบป้องกัน กับการย้ายเมือง จากการประเมินของประเทศเขาเชื่อว่าการย้ายเมืองมีผลดีกว่าและไม่มีความเสี่ยงในอนาคตจากผลกระทบทางธรรมชาติ

“ของไทยเราต่างจากอินโดฯ ตรงที่ว่าแผ่นดินทรุดน้อยมาก จึงควรมาดูเรื่องสร้างระบบป้องกันจะดีกว่าโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันออกแบบป้องกัน”

ตัวอย่างเช่น 1.เลือกสร้างเขื่อนปิดอ่าว พร้อมพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เป็นทั้งถนน เป็นทั้งเขื่อน หรือจะให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมด้วย อาจจะสร้างจากพัทยาไปถึงชะอำ ผลที่ได้ตามมาคือคนที่ต้องการเดินทางจากพัทยาไปชะอำก็ไม่ต้องอ้อม กทม. หรือจะสร้างเป็นแนวทางรถไฟ ที่ประเทศเกาหลีทำก็ได้

ทางเลือกที่ 2 อาจจะทำแค่ริมทะเล คือพื้นที่ริมทะเลจะเป็นพื้นที่ของเอกชน จำเป็นแค่ไหนต้องมีการเวนคืนเพื่อสร้างแนวป้องกัน ก็ต้องไปคุยให้ชัดเจนเพื่อลดความขัดแย้ง

ทางเลือกที่ 3 สร้างถนนริมทะเลที่เป็นของรัฐขึ้นมา

“จะสร้างถนนริมทะเลก็ต้องไปประเมินระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลของแต่ละพื้นที่ว่าจะสูงแค่ไหน อย่างไร ความยาวน่าจะประมาณ 80 กิโลเมตร จากสมุทรสงครามไปถึงสมุทรปราการ เพียงพอหรือไม่ ส่วนเมืองพัทยาผมไม่ค่อยห่วง เพราะอยู่เหนือน้ำทะเล ประมาณ 5-6 เมตร แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวหาดพัทยาที่สวยงามจะหายไปเหมือนกัน”

นั่นหมายความว่าระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงนั้น จะทำให้ตัวหาดพัทยาที่สวยงามหายไปได้ในอนาคต เพียงแต่ว่าพื้นที่เศรษฐกิจไม่กระทบมาก เพราะยังจัดว่าสูงกว่าระดับน้ำทะเลพอสมควร ดังนั้น อาจมีความจำเป็นต้องสร้างหาดเทียมขึ้นมาทดแทนหรือไม่ ก็ต้องมาร่วมศึกษาหาทางออกกัน และถ้าเป็นหาดเทียมนักท่องเที่ยวอาจจะไม่สนใจมาท่องเที่ยวเท่ากับหาดที่เป็นธรรมชาติ ส่วนที่สมุทรสงคราม ไปถึงสมุทรปราการจะเป็นอ่าวดิน เป็นดินเลน ไม่ได้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวจะสามารถสร้างแนวป้องกันได้ง่ายกว่า

“ควรจะศึกษาทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน จะเป็นเขื่อนปิดยาวเลยหรือไม่ เพื่อ control ระดับน้ำทะเล หรือเป็นแนวเขื่อน แนวถนนที่มีประตูระบายน้ำปิดเปิดได้หรือไม่ และจะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องประมงชายฝั่งตามมาหรือไม่ รัฐบาลต้องรีบคิดและตัดสินใจ หรือจะอยู่เฉยๆ ต่อไป หรือถ้าประชาชนรอไม่ได้ก็ต้องลุกมาต่อต้าน รัฐบาลต้องคิดอย่ารอให้ทุกอย่างกลายเป็นจุดระเบิดจะแก้ไขยาก เพราะทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาและความขัดแย้งจะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย เมื่อทุกอย่างได้ข้อสรุป รัฐบาลก็มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานราชการเป็นผู้ดำเนินการปฏิบัติต่อไป”

รศ.ดร.เสรี ย้ำอีกว่า ประเทศต่างๆ มีการรับมือจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน เช่น ประเทศสิงคโปร์ ทุ่มงบประมาณทำคันกันน้ำทะเลตามแนวชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นประตูกั้นและทำเขื่อนปิดทะเล ประเทศญี่ปุ่นก็สร้างเขื่อน สร้างกำแพงป้องกันชายฝั่งที่พร้อมรับมือกับการยกตัวของคลื่นยักษ์ที่ซัดจากทะเลเข้ามา และยังมีการสงวนพื้นที่บางส่วนริมทะเลไว้ทั้งหมด ขณะที่เกาหลี ได้ตัดสินใจสร้างเขื่อนจำนวนมากเพื่อป้องกันน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนไว้เช่นกัน

ยังมีประเทศนอร์เวย์ มีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล มีการสร้างประตูน้ำปิดกั้นไม่ให้น้ำทะเลไหลสู่พื้นที่อยู่อาศัย รวมไปถึงสหราชอาณาจักร จากนอร์เวย์ ไปสกอตแลนด์ ไปอังกฤษต่อด้วยฝรั่งเศส มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลหนุน และเมืองเวนิสของอิตาลี ได้มีการสร้างเขื่อนเป็นประตูอัตโนมัติ

นั่นคือความพร้อมของแต่ละประเทศ ขณะที่ประเทศไทยนั้น รศ.ดร.เสรี บอกว่ามักจะวางแผนป้องกันแค่ระยะสั้นๆ 2-4 ปี โดยลืมไปว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า กทม.และปริมณฑล จมหายไป 100% หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาวย่อมจะส่งผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคตได้

โดยก่อนหน้านี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยจุดประกายว่าจะมีการย้ายเมืองหลวงและมอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาการย้ายเมืองหลวงหรือจะขยายไปรอบนอกอย่างไร และหากจะย้ายควรย้ายไปที่ไหน ใช้งบประมาณอย่างไร เพื่อลดความแออัด แต่ในความเป็นจริงเพื่อแก้วิกฤตโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนสูงซึ่งเป็นข้อมูลจากทั่วโลกที่บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการ รวมทั้งของไทยได้เคยออกมาเตือนให้รัฐบาลเตรียมรับมือจากสภาวะโลกร้อน น้ำแข็งในขั้วโลกละลาย จะส่งผลกระทบถึง กทม.ในอีก 10 ปี 20 ปี และ 40 ปีข้างหน้าที่อาจส่งผลให้ กทม.ถึงขั้นจมบาดาล จากสภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นปีละ 4 มิลลิเมตร ขณะที่แผ่นดิน กทม.ทรุดปีละประมาณ 1.5 มิลลิเมตร เท่ากับว่า กทม.ทรุดลงในระดับ 5.5 มิลลิเมตรต่อปี

สำหรับข้อมูลเรื่องการย้ายเมืองหลวง กทม.นั้น ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี 2486 มีแนวคิดจะย้ายเมืองหลวงไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอสร้างเมืองใหม่ท่าตะเกียบ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็น รมช.มหาดไทย ก็เคยศึกษาที่จังหวัดนครปฐม

ส่วนยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 สภาพัฒน์ได้ทำการศึกษาเห็นว่า อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก มีความเหมาะสม ทั้งในด้านภูมิศาสตร์และทางกายภาพที่สามารถพัฒนาโดยใช้ TAMA New Town (TNT) ของประเทศญี่ปุ่นเป็นโมเดลในการพัฒนา

ปัจจุบัน รัฐบาลบิ๊กตู่ ยังได้มีโครงการระบบขนส่งที่เชื่อมกับแผนพัฒนา EEC มีรถไฟไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และเชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์ รวมทั้งมีถนนมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมต่อไปยังนครนายก ไปสระบุรี และนครราชสีมาได้ง่าย

ส่งผลให้นครนายก ได้รับความสนใจ รวมไปถึงมีการพูดถึงเมืองใหม่นครราชสีมาขึ้นมาอีก 1 ทำเล เพราะมีระบบสาธารณูปโภคพร้อม มีทั้งมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช มีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กทม.-โคราช-หนองคาย มีรถไฟทางคู่ กทม.-โคราช-หนองคาย มีสนามบินพาณิชย์ และเป็นที่สูง แต่มีข้อด้อยตรงที่ระยะทางไกลเกิน 100 กม.

ทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลต่อน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ กทม.และปริมณฑลจมบาดาล รวมไปถึงการผุดพื้นที่ก่อสร้างเมืองหลวงแห่งที่ 2 ตามมา แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันหรือรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะเลือกตัดสินใจอย่างไร!

2 ก.ย. 2565  ผู้จัดการออนไลน์