ผู้เขียน หัวข้อ: "เมืองอู่ทอง" อนาคตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นไปได้หรือไม่?  (อ่าน 1219 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
เมื่อถามว่า "เมืองอู่ทอง" อยู่ที่ไหน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างไร นอกจากคนพื้นที่ท้องถิ่นแล้วคงจะไม่มีใครรู้จัก

เช่นเดียวกับเมืองโบราณอีกหลายแห่งของเมืองไทย

จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ได้ว่า "อู่ทองเมืองโบราณ" มีผู้คนมาอาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือเมื่อประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว

เพราะนอกจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้แล้ว ลักษณะภูมิประเทศที่เชื่อมติดกับทะเลเมื่อสมัยก่อน ยังทำให้เมืองอู่ทองกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

จากหลายๆ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังสนับสนุนข้อสมมติฐานว่า อู่เมืองโบราณทองน่าจะเป็นเมืองหลวงหรือจุดกำเนิดของอาณาจักรทวารวดี

แต่สภาพดังกล่าวแทบจะไม่หลงเหลือร่องรอยของเมืองโบราณแม้แต่น้อย

มีแต่หลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือคำบอกเล่าจากรุ่นตายายสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน หรือมีแต่เมืองประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกในหน้ากระดาษเท่านั้น

แล้วคำว่าเมืองโบราณหายไปไหน ถึงเป็นที่สงสัยอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

จากคำถามดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแผนแม่บทการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว หรือเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

ก่อนจะมีการบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

จากความเป็นไปได้ นายดำรงค์ แสงกวี รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึงความพร้อมในการจัดตั้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ให้เป็นพื้นที่พิเศษ กับ "มติชนออนไลน์" ว่า สภาพเมืองโบราณอู่ทองนั้นถือว่ามีศักยภาพทั้งในแง่โบราณสถานและด้านประวัติศาสตร์ รวมถึงในแง่ของชนเผ่า และจากเกณฑ์การประเมินของ อพท.ถือว่าเข้าข่าย มีศักยภาพและมีการบริหารจัดการที่ดี คะแนนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

จากการจัดทำเป็นรายงานการศึกษาความเป็นไปได้นั้น อพท.จะนำเสนอเข้าวาระของบอร์ด อพท. ประมาณกลางเดือน ม.ค. ถ้าผ่านคณะกรรมการแล้วก็จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อประกาศป็นพื้นที่พิเศษในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรืออย่างช้าสุดในต้นเดือน ก.พ.

ตรงนี้ นายดำรงค์ได้ย้ำว่า กระบวนการดำเนินการได้เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจะเห็นได้ว่าทางจังหวัดมีการเดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจากการถามความคิดเห็นนั้น ประชาชนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็เห็นด้วย เมื่อผ่าน ครม.แล้ว อพท.จะตั้งสำนักงานในพื้นที่และมีบุคลากรประจำ ทำหน้าที่บูรณาการแผนงานเข้ากับพื้นที่ ก่อนจะนำไปสู่การกำหนดกรอบการพัฒนา เพื่อของบฯพัฒนาเป็นรายปี

เมื่อถามว่าแนวคิดการพัฒนาเมืองอู่ทองมาได้อย่างไรนั้น นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี บอกกับ "มติชนออนไลน์" ว่า เมื่อคนที่เข้ามาเที่ยวหรือจากการศึกษาจะพบว่า อู่ทองเป็นเมืองโบราณ แต่คำว่าเมืองโบราณนั้น สภาพพื้นที่จริงแทบไม่เห็นการเป็นเมืองโบราณเลย เห็นแต่สภาพที่เป็นตลาดทั่วไป ก็เลยสงสัยว่า คำว่าโบราณหายไป อยู่ตรงไหน พอไปดูที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในคูเมืองโบราณ หรือที่เรียกว่าเกาะเมืองโบราณ ก็ไม่เห็นสภาพ เจดีย์เก่าๆ ที่เป็นโบราณสถานก็ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ เป็นชุมชนแออัดที่เข้าไปบุกรุกอยู่อาศัยโดยรอบ

"สิ่งดังกล่าว ผมมีความรู้สึกว่า ต้องมีการรื้อฟื้นและพัฒนาขึ้นมาให้ได้ในแง่ของการฟื้นฟูเมืองโบราณ ร่วมกับนายอำเภอ (นายพิภพ บุญธรรม) คิดว่า จุดกำเนิดเมืองโบราณเราจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาวอู่ทองได้ตระหนักก่อนว่า ตั้งแต่อดีตหลาย 10 ปีก็ไม่เคยคิดถึงความสำคัญถึงเมืองโบราณ มีแต่การพัฒนาโดยอาศัยกรมศิลปากร ซึ่งมีหน้าที่หลักของการทำแผนแม่บทเท่านั้นเอง" นายสมศักย์กล่าว

แต่ละภาคส่วนเข้ามาร่วมอย่างไร?

แผนนี้จะทำได้นั้น ผู้ว่าฯสุพรรณบุรีกล่าวว่า ต้องมาจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนนั้น สิ่งแรกคือใจ ตามมาก็คือเงิน ถ้ามีทั้งสองสิ่งก็ทำได้และสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่จะดึงมาร่วมได้นั้น เรามีคนทำงานแล้ว แต่เราจะต้องกระตุ้นให้คนอู่ทองรู้จักตัวเอง อาศัยการเผยแพร่ โดยการเล่าเรื่องสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏว่า คำว่าโบราณสถานหรือพิพิธภัณฑ์มีวัตถุที่สามารถสืบค้นได้อย่างไร

ส่วนการดำเนินแผนแม่บทนั้น เราแบ่งตามความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทานได้แบ่งเป็น 3 เฟส เสร็จไปแล้ว 2 เฟส ใช้งบประมาณไป 100 กว่าล้านบาท และเฟสสุดท้ายคือการขุดถนนมาลัยแมนอีก 55 ล้านบาท เมื่อตรงนี้จบ ในเรื่องของการนำน้ำมาสู่เมืองโบราณก็จะสมบูรณ์ และความฝันของชาวอู่ทองที่จะพายเรือรอบเมืองอู่ทองก็จะเกิดขึ้น

คุยกับชาวบ้านหรือให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างไร?

ในส่วนนี้ต้องอาศัยนายอำเภอในการจัดเสวนาหลายครั้ง เสวนาในระดับชุมชน ชุมชนที่เป็นพื้นที่ใหม่ เพราะเมืองโบราณอยู่ในเกาะ เราจะสร้าง Storyline ให้เชื่อมกันได้อย่างไร ทั้งนี้จะสร้างได้ก็คือการนำชนเผ่าไทยเชื้อสายต่างๆ หรือตำนาน 5 ขุนเขา 1 ศาลเจ้า มาโยงกันได้ เป็นเรื่องราวแต่ละยุคแต่ละสมัย

"เราต้องกระตุ้นให้เขารู้จักตัวเองให้ดีพอ เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว เราต้องให้เขารู้จักว่าขายอะไร ถ้าขายซากโบราณวัตถุหรือขายพิพิธภัณฑ์ ก็ขายได้ในระดับหนึ่ง แต่เราต้องขาย Storyline หรือขายตำนาน ขายประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นอยู่ ถ้าคนอู่ทองไม่รู้จักตัวเอง แล้วจะไปเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างไรล่ะ" ผู้ว่าฯย้ำ

สิ่งที่ขาดก็คือในเรื่องของการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพราะเราไม่เน้นเมืองโบราณอย่างเดียว สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นมติ ครม. เมื่อปี 2516 ที่บอกว่าที่สาธารณประโยชน์ต้องจัดสรรให้ประชาชนได้อยู่อาศัย เราก็จะผนวกด้วยกัน บูรณาการด้วยกัน เอาสิ่งที่เป็นเรื่องราวปัจจุบัน และอดีตมาผสานให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน เช่นเดียวกับเหมืองหินที่เสื่อมสภาพแล้วนั้นก็สามารถมาทำร่วมกันได้

เยาวชนมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง?

อันนี้แน่นอน เพราะนอกเหนือจากการพัฒนาพุทธมณฑลแล้ว เราได้ศาสนามาเชื่อมใจ ที่ย้ำก็คือพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ว่าให้เด็กได้เรียนรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนที่ตลาดสามชุกมีมัคคุเทศก์น้อย ต้องให้เขารู้ก่อนว่าอะไรคืออะไร แต่ตอนนี้ถ้าเราสามารถกระตุ้นคนทุกพื้นที่ ทุกระดับในเมืองอู่ทอง มาช่วยกันสร้าง Storyline ได้ ก็จะเกิดความยั่งยืน คนเราจะภูมิใจได้ต้องทำด้วยตนเอง

ที่ไหนจะนำมาเป็นโมเดลได้นั้น ผมคิดว่ายากนะ นี่เราร่วมมือกันทำงานเอง หลักสำคัญคือผู้บริหารระดับสูงต้องลงมาคลุกคลีด้วย จะปล่อยให้คนทำงานอย่างเดียวก็ยาก เพราะงานต้องขึ้นอยู่กับการประสานระหว่างหน่วยงาน ถ้าผู้บริหารไม่ลงมาช่วยก็ยากที่จะสำเร็จ

โครงการนี้สำเร็จเมืองอู่ทองจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

ผู้ว่าฯสุพรรณบุรีกล่าวว่า ความฝันคงไม่ใช่การเปลี่ยนสภาพเมือง แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือสิ่งที่ลืมไปในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา จะนำมาโยงกันได้อย่างไร เพราะการสร้างพุทธมณฑลกับการที่เมืองอู่ทองเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนาเป็นคนละเรื่องกันเลยนะ แล้วเราจะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร

มองศักยภาพในการเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างไร?

นอกจากสิ่งที่ผู้บริหารพยายามจะสร้างเมืองโบราณแล้ว ยังพยายามสร้างบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวนสวรรค์สุพรรณบุรี หรือที่เรียกว่าศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นแหล่งผลิตดอกไม้นานาพรรณ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยด้วย ฉะนั้นเมื่อเอาทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันก็จะเกิดการประสาน หน่วยงานเล็กๆ เราไม่ได้ละเลย ไม่ใช่แค่ส่งมอบพื้นที่แล้วจบ แต่ดึงมามีส่วนร่วมและช่วยกันรักษา เขาก็มีผลงาน

"ผมอยากใช้คำว่า วันนี้เราพร้อมเดินหน้าเพื่อการพัฒนาเมืองโบราณ นี่คือก้าวสำคัญ ตอนนี้เดินมาด้วยกันเพื่อจะได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แต่ในขั้นพื้นฐานจริงๆ แล้วยังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเรื่องงบประมาณต้องใช้เป็นพันล้าน เราไม่สามารถหาเงินได้พันล้านในปีเดียว ต้องเป็นแผนแม่บท อาจจะเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี ก็ต้องว่ากันไป" นายสมศักย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าคนไทยจะได้อะไรนั้น ตามความรู้สึกแล้ว สิ่งแรกส่วนราชการจะได้รูปแบบจากการพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะการพัฒนาทุกเรื่องจะเกิดขึ้นจากภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยใจของประชาชน ต่อมาคือความเชื่อมโยงขององค์กรภาครัฐที่มีบทบาทในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อันที่สามก็คือรูปแบบของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด

ไม่มีวิธีใดศึกษารูปแบบของการมีส่วนร่วมได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ภาคอื่นๆ อาจจะมีรูปแบบอีกลักษณะหนึ่งก็ได้ ไม่เหมือนกับเมืองอู่ทอง ที่มีคนไทยเชื้อสายต่างๆ หลายชนเผ่า ซึ่งจะต้องบูรณาการให้ได้
ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่พอจะขับเคลื่อนเมืองอู่ทองให้กลายเป็นเมืองโบราณ
ก่อนจะผลักดันให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
.......................
จากการศึกษาที่มาของเมืองอู่ทอง นายประทีป เพ็งตะโก สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กล่าวว่า เมืองอู่ทองนั้นมีหลักฐานที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ ไม่ใช่แค่สมัยทวารวดี แต่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่านั้น หรือสมัยยุคหินใหม่ และน่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมาตั้งแต่อดีต มีลำน้ำเก่า (แม่น้ำจรเข้) ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน เมืองอู่ทองมีความเป็นมาเมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว เพราะปรากฏร่องรอยศิลปกรรมทางพุทธศาสนาที่เมืองอู่ทอง พุทธรูปสามองค์ที่เป็นศิลปะแบบอัมราวดี ประเทศอินเดีย เมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 หรือก่อนหน้านั้น เป็นพื้นที่ปรากฏร่องรอยพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีหลักฐานอยู่ แม้กระทั่งเจดีย์ที่ก่อสร้างด้วยอิฐก็มีกระจายอยู่ทั้งพื้นที่ มีธรรมจักรหลายแห่ง

เมื่อพูดถึงการบูรณาการพุทธศาสนากับแผนแม่บทของทางจังหวัดอย่างไรนั้น นายประทีปกล่าวว่า เรื่องของโบราณสถานหรือโบราณวัตถุถือเป็นทรัพยากรสำคัญด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้วมิติหนึ่ง นอกจากความเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเก่าแก่หรือที่เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อทางจังหวัดมีโครงการที่จะพัฒนาเป็นเมืองโบราณอู่ทอง โบราณสถานก็ถือว่าเป็นทรัพยากรตั้งต้นอันหนึ่งที่ต้องการให้ดูแล และนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการท่องเที่ยวได้

โดย : วุฒิพงษ์ ภาชนนท์, เชตวัน เตือประโคน
มติชนออนไลน์  5 มกราคม พ.ศ. 2555