ผู้เขียน หัวข้อ: สุดขมขื่นของทหารไทยที่ต้องจำจนวันตาย! ถูกส่งไปรบเพื่อชาติ หลังชัยชนะ ต้อง “เดิน  (อ่าน 479 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9810
    • ดูรายละเอียด
ในสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ไทยทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น มีสัญญาลับอยู่ข้อหนึ่งให้ไทยบุกขึ้นไปยึดรัฐฉานที่อังกฤษยึดจากไทยไปให้พม่า เอากลับมาเป็นของไทยเอง และเป็นปีกขวาให้กองทัพญี่ปุ่นในการบุกพม่า ไทยได้จัดตั้งกองทัพพายัพขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีกำลังพลราว ๓๕,๐๐๐ นายจากหลายจังหวัด ทั้งภาคอีสานและภาคกลาง มีภารกิจรุกจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงรายขึ้นไป ยึดเมืองเชียงตุงและเมืองต่างๆในสหรัฐไทยใหญ่หรือรัฐฉานไปจนจดแดนจีน

๓ กองพลของกองทัพพายัพ ได้แยกทางกันเคลื่อนขึ้นไปมีเป้าหมายพบกันที่เชียงตุง ขณะนั้นอังกฤษถอยออกไปแล้วให้กองทัพจีนป้องกันแทน แต่ทุกเส้นทางล้วนเป็นทางวิบาก

ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นโคลนเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน แม้แต่เกวียนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้ ทั้งยังถูกข้าศึกระเบิดภูเขาปิดเส้นทาง ทหารต้องบุกป่าฝ่าโคลนไปท่ามกลางพายุฝนและอากาศที่หนาวเหน็บโดยไม่มีเวลาได้พัก ที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่านั้นก็คือ ถูกไข้ป่ากระหน่ำจนกำลังพลล้มตายลงไปมากมาย เพราะยามีแต่ควินินเม็ด เสบียงอาหารก็ขาดแคลนส่งมาไม่ถึง ต้องขุดหัวเผือกหัวมันและหน่อไม้ประทังชีวิต

แต่ทหารไทยก็ทรหดทายาทบุกไปถึงเชียงตุงจนได้ทั้ง ๓ กองพล โดยมีกองพลที่ ๓ ในบังคับบัญชาของ พลตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) ไปถึงก่อน และยึดป้อมปืนที่ป้องกันเมืองได้เป็นอันดับแรก โดยมีเครื่องบิน ๑๐ เครื่องจากกองบินน้อยที่ลำปางร่วมปฏิบัติการด้วยการทิ้งระเบิดเปิดทาง

เมื่อยึดเชียงตุงได้แล้ว กองพลที่ ๓ ได้รับมอบหมายให้ยึดครอง ส่วนอีก ๒ กองพลรุกต่อไปจนถึงเขตแดนจีน จนสำเร็จภารกิจจึงได้ถอนกำลังลงมาตั้งหลักที่เชียงรายและลำปาง
รัฐบาลไทยได้สถาปนารัฐฉานหรือสหรัฐไทยใหญ่ขึ้นเป็น “สหรัฐไทยเดิม” แต่งตั้ง พลตรีผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งข้าหลวง พร้อมกับเลื่อนยศขึ้นเป็นพลโท เร่งปรับปรุงบ้านเมืองจัดระเบียบการปกครอง พร้อมกับตั้งศาลขึ้น ๓ แห่ง ที่เมืองเชียงตุง เมืองสาด และเมืองหาง สำหรับการรักษาความสงบให้เป็นหน้าที่ของตำรวจสนาม

ต่อมาในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖ หลังจากที่ไทยยึดสหรัฐไทยเดิมมาปีเศษ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ได้ลงนามร่วมกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยอมรับการรวมสหรัฐไทยเดิมเข้าเป็นอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย พร้อมกับกลันตัน ตรังกานู เคด้า ปะลิส และบรรดาเกาะทั้งหลายที่ขึ้นกับรัฐต่างๆ โดยมีจอมพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น บินมาทำพิธีมอบให้ด้วยตนเองถึงทำเนียบรัฐบาล ไทยจึงได้ดินแดนที่เสียไปในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ คืนมาทั้งหมด

แต่แล้วเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ ไทยก็รีบประกาศสันติภาพ คืนดินแดนเหล่านี้ให้อังกฤษแต่โดยดี คำว่า “สหรัฐไทยเดิม” จึงปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ส่วนที่ได้มาทางด้านอินโดจีนและมลายูก็จำต้องคืนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษไปด้วย

กระทรวงกลาโหมได้เร่งถอนทหารออกจากดินแดนยึดครองโดยเร็วเพื่อการส่งมอบ การถอนกำลังออกจากเชียงตุงนั้น กระทรวงกลาโหมได้กำหนดตารางการขนย้ายไว้แล้ว แต่ฝ่ายอังกฤษต้องการใช้ยานพาหนะทุกอย่างขนทหารญี่ปุ่นที่ตกเป็นเชลยลงมาก่อน จึงจำต้องให้ทหารเดินเท้าออกจากเชียงตุง มารอรถไฟที่ลำปางเพื่อกลับบ้าน โดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆจากทางราชการ ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะ เพราะภาวะการเงินการคลังของเราในตอนนั้นตกต่ำมาก มีภาระใช้จ่ายมากมาย ถูกกำหนดให้ต้องเลี้ยงดูทั้งทหารสหประชาชาติที่เข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นและเลี้ยงดูทหารญี่ปุ่นที่เป็นเชลยศึก รวมทั้งคนงานที่ญี่ปุ่นเกณฑ์จากชาติต่างๆมาเป็นแสน ค่าเงินบาทก็ตกต่ำลงอย่างหนัก จากเคยมีค่า ๑๑ บาทต่อ ๑ ปอนด์ เหลือเป็นกว่า ๘๐ บาทต่อ ๑ ปอนด์ เลยไม่มีเงินจะจ่ายให้ทหาร

ทหารที่ถูกปลดครั้งนี้ไม่ใช่มีแต่ทหารเกณฑ์ มีทุกระดับยศ เมื่อได้รับคำสั่งปลดกะทันหันต่างมึนไปตามกัน เพราะรับราชการหลายปีก็อยู่บ้านหลวง กินเงินเดือนหลวง ถูกปลดจึงไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน หากมีรถไฟก็ยังไม่รู้จะลงสถานีไหน ทำเอาหลายคนสติแตก

การคอยรถไฟก็เกือบหมดความหวัง นอกจากจะไม่มีรถแล้ว เส้นทางรถไฟโดยเฉพาะสะพานยังถูกระเบิดทำลายเป็นอันมาก ความจริงที่เชียงรายและลำปางก็มีค่ายทหารให้พักได้ แต่ทหารที่จากครอบครัวมาเป็นแรมปี ทางบ้านไม่รู้ชะตากรรมว่าร้ายดีประการใด ทุกคนต่างอยากกลับบ้านกันทั้งนั้น จึงตัดสินใจเดินเท้าลงมาตามทางรถไฟแม้จะต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน โดยอาศัยกินข้าวชาวบ้านมาตลอด คำว่า “เดินนับไม้หมอน” จึงเป็นคำที่ถูกกล่าวขานกันมากในขณะนั้น บางคนที่บอบช้ำมาจากสมรภูมิได้หมดแรงลงกลางทางไปไม่ถึงบ้าน

บางคนไม่ได้เดินลงมาด้วย ก็หางานทำแถวนั้น มีครอบครัวลงหลักปักฐานอยู่ที่ลำปาง โรงงานน้ำตาลลำปางได้รับทหารปลดประจำการไว้มาก

ยังมีทหารไทยอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้เดินเท้าออกจากเชียงตุง ปักหลักยึดครองหัวใจสาวเชียงตุงต่อไปจนมีลูกเต้าด้วยกัน แต่คนไทยอยู่ที่ไหนก็ “ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา” เมื่อแก่เฒ่าก็อยากจะกลับมาตายที่บ้าน แต่หลักฐานแสดงว่าเป็นทหารที่ตกค้างไม่มีแล้ว จึงเข้าเมืองไม่ได้ ในที่สุดกระทรวงกลาโหมได้จัดการค้นหาให้จนหมดปัญหา

มีบางกระแสกล่าวว่า ที่รัฐบาลไทยลอยแพทหารในครั้งนี้ ความจริงไม่ใช่เรื่องไม่มียานพาหนะหรือการเงิน แต่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาหลังสงครามจะเอาใจอังกฤษ เพราะตอนนั้นอังกฤษเป็นตัวแทนของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ควบคุมในย่านนี้ พยายามกดดันไทยอย่างหนักจะเอาเป็นผู้แพ้สงครามให้ได้ รัฐบาลจึงแสดงว่าไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารไปยึดรัฐฉานของอังกฤษ เลยให้ทหารหน่วยนี้ต้องรับกรรมไป

ถ้าเป็นเหตุนี้จริง ทหารเหล่านี้ก็คงจะพูมิใจที่ไปเสี่ยงตายเพื่อชาติมาแล้ว ยังได้แบกทุกข์เพื่อชาติอีกครั้ง มีเกียรติกว่าที่ถูกใช้ไปเสี่ยงตาย เสร็จงานแล้วก็ถูกทอดทิ้งอย่างไม่มีเยื่อใย แต่อย่างไรก็คงไม่มีทหารเหล่านี้ลืมเหตุการณ์ครั้งนี้ได้จนวันตาย

และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการตั้ง “องค์การทหารผ่านศึก” ในปี ๒๔๙๑ โดยรัฐบาลชุด พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

21 พ.ค. 2564  โรม บุนนาค