ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 มิ.ย.-5 ก.ค.2557  (อ่าน 790 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
1. กัมพูชา ปล่อยตัว “วีระ” แล้วตามคำขอ “บิ๊กตู่” สะพัด แลกปล่อยตัว 14 แรงงานเขมร!

       เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค. ได้เข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หลังเข้าเยี่ยมคารวะ นายสีหศักดิ์ เผยว่า นายกฯ กัมพูชาเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองของไทย พร้อมยืนยันจะไม่แทรกแซงและไม่สนับสนุนกลุ่มหรือองค์กรใดที่จะต่อต้านรัฐบาลไทย ทั้งยังเชื่อมั่นว่าแนวทางที่ฝ่ายไทยกำลังดำเนินการอยู่ จะสามารถนำประเทศเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยและสร้างเสถียรภาพในอาเซียนได้
       
       นายสีหศักดิ์ เผยด้วยว่า ได้หยิบยกเรื่องการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และแกนนำภาคีเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ที่ได้รับโทษคุมขังอยู่ในเรือนจำเปรยซอว์ ในกรุงพนมเปญ มาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งตามกฎหมายของกัมพูชานายวีระจะต้องรับโทษ 5 ปี จากที่ศาลตัดสินจำคุก 8 ปี จึงจะมีสิทธิขออภัยโทษได้ แต่ตนได้หารือตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ขอให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาปล่อยตัวนายวีระโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ พร้อมยืนยันว่า ไทยไม่ได้ประสงค์จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา
       
       นายสีหศักดิ์ เล่าต่อว่า “หลังจากที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้รับฟังคำอธิบาย ก็ได้หยิบกระดาษขึ้นมา 1 แผ่น คือ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษให้กับนายวีระ โดยลงวันที่ 1 ก.ค. พร้อมกับถามว่าจะรับตัวนายวีระวันใด วันนี้(1 ก.ค.) หรือพรุ่งนี้(2 ก.ค.) จึงเรียนว่า พ.ร.ฎ.ลงวันที่ 1 ก.ค. จึงขอให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย เดินทางไปรับตัวนายวีระทันที” พร้อมกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 2 ก.ค.
       
       วันเดียวกัน(1 ก.ค.) หนังสือพิมพ์แคมโบเดียเดลีของกัมพูชา รายงานว่า กษัตริย์นโรดม สีหมุนี ของกัมพูชา ได้พระราชทานอภัยโทษให้กับนายวีระ สมความคิด ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว หลังจากที่นายสีหศักดิ์ได้ร้องขอให้กัมพูชาอภัยโทษให้กับนายวีระตามคำขอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช.
       
       วันต่อมา(2 ก.ค.) นายวีระได้เข้าขอบคุณนายสีหศักดิ์ ก่อนเดินทางกลับประเทศพร้อมกัน ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ นายวีระ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า รู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้รับการปล่อยตัว ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้จะทำอะไรต่อไป นายวีระ บอกว่า จะดูแลผลประโยชน์ของประเทศเหมือนอย่างที่เคยทำ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ทันทีที่คณะของนายสีหศักดิ์และนายวีระเดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ พล.ต.ต.สุวิชญ์พล อิ่มใจรัตน์ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) 2 ได้นำเจ้าหน้าที่ ตม.2 สุวรรณภูมิ เข้าแจ้งข้อหานายวีระในความผิดกรณีปิดสนามบินเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2551 และข้อหาก่อการร้าย ซึ่งนายวีระ ไม่ได้ลงนามในเอกสาร โดยขอให้การในชั้นศาล สำหรับบรรยากาศที่สนามบิน ได้มีประชาชนมารอต้อนรับและให้กำลังใจนายวีระเป็นจำนวนมาก ก่อนที่นายวีระจะเดินทางไปยังกองปราบปราม เพื่อยื่นขอประกันตัวในคดีที่ถูกแจ้งข้อหา
       
       ทั้งนี้ ระหว่างที่ตำรวจกองปราบฯ สอบปากคำนายวีระ ได้มีการประสานแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจมาตรวจร่างกายนายวีระด้วย ซึ่งพบว่า สภาพร่างกายสมบูรณ์ปกติดี จากนั้นตำรวจได้แจ้งข้อหานายวีระจากกรณีปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิรวม 8 ข้อหา โดยมีข้อหาก่อการร้ายเป็นข้อหาหลัก
       
       หลังจากนั้น นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่มนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ในฐานะทนายความนายวีระ ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวในชั้นสอบสวนเป็นเงินสด 1 แสนบาท ซึ่งตำรวจอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้นายวีระเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ก.ค. เวลา 10.00น.
       
       ด้านนายวีระ กล่าวอีกครั้งว่า ดีใจที่ได้เดินทางกลับประเทศ และขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดไม่ถึงว่าทางการกัมพูชาจะเปลี่ยนใจปล่อยตัว พร้อมเผย ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เคยมีการเสนอข้อแลกเปลี่ยนเพื่อแลกกับอิสรภาพ 3 ครั้ง แต่ตนรับไม่ได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่ทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ และว่า การดำเนินการของฝายกัมพูชาทำให้รู้สึกเสียใจไม่มากเท่ากับฝ่ายเรา
       
       ทั้งนี้ มีข่าวแพร่สะพัดว่า การที่ทางการกัมพูชาปล่อยตัวนายวีระ เป็นการปล่อยแบบมีเงื่อนไข โดยแลกเปลี่ยนกับการที่ไทยต้องปล่อยตัวแรงงานชาวกัมพูชา 14 คนที่ถูกทางการไทยจับกุมฐานใช้พาสปอร์ตปลอมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง คสช.และสมเด็จฯ ฮุน เซน ต่างออกมายืนยันว่า การปล่อยตัวนายวีระเป็นการปล่อยแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ อย่างไรก็ตามสมเด็จฯ ฮุน เซน ยอมรับว่า ตนได้ขอให้ทางการไทยพิจารณาปล่อยตัวแรงงานทั้ง 14 คน แต่ขึ้นอยู่กับไทยว่าจะปล่อยตัวหรือไม่
       
       ซึ่งต่อมา ไทยได้ตัดสินใจปล่อยตัว 14 แรงงานชาวกัมพูชาตามคำขอของสมเด็จฯ ฮุน เซน โดยนายเนตร เสรี กงสุลใหญ่กัมพูชาประจำอำเภออรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้ส่งเจ้าหน้าที่กงสุลฯ เดินทางมารับตัวแรงงานชาวกัมพูชาทั้ง 14 คนที่เรือนจำ จ.สระแก้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา
       
       2. “บิ๊กตู่” เตือนสื่อ หยุดเสนอข่าวเท็จ -Hate Speech ถ้าไม่ฟัง ต้องรับผิดชอบ ด้าน “วิษณุ” เผย ธรรมนูญชั่วคราวปรับแก้อำนาจ คสช.!

       เมื่อวันที่ 4 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในหลายประเด็น โดยเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับสื่อต่างๆ ว่า คสช.ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันอีกต่อไป จึงขอร้องให้ลดการนำเสนอข่าวที่จะเพิ่มหรือขยายความขัดแย้ง และว่า ขณะนี้ข่าวสารกระจายอย่างรวดเร็ว หากเสนอข่าวไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม จะสร้างความเกลียดชังหรือที่เรียกว่า Hate Speech ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น “ผมขอร้องอีกครั้งให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้สื่อข่าว สำนักพิมพ์ บรรณาธิการ กรุณากำหนดมาตรฐาน มีมาตรการควบคุมเนื้อหาสาระของสื่อ ให้ช่วยเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง หากสื่อใดนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง หรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ท่านต้องรับผิดชอบด้วย”
       
       พล.อ.ประยุทธ์ ยังพูดถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โรดแมป 3 ระยะของ คสช.ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ด้วยว่า “บางครั้งผมก็รู้สึกน้อยใจเหมือนกันว่า ท่านฟังเวลาเราพูดหรือไม่ รู้ว่าทุกท่านมีความห่วงใย มีความหวังดีต่อประเทศชาติ แต่ขอให้กรุณาฟังเราบ้าง หากท่านไม่ฟังเลย จะไม่ได้เป็นการติเพื่อก่อ แต่จะเป็นการติเหมือนจะทำลายกัน”
       
       สำหรับความคืบหน้าในการร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกว่า จะมีการทูลเกล้าฯ และบังคับใช้ภายในเดือน ก.ค.นี้ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประชุม คสช.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาเนื้อหาสาระร่างธรรมนูญชั่วคราว โดยมีนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ คสช.ในฐานะหัวหน้าทีมร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ร่วมประชุมด้วย
       
       หลังประชุม พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช. เผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปรับแก้เนื้อหาของร่างธรรมนูญฯ แค่เล็กน้อย ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายที่รับผิดชอบไปปรับแก้ตามที่ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกต ส่วนกำหนดเวลาที่จะนำร่างธรรมนูญฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้า คสช. โดยเป็นไปตามกำหนดที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวไว้คือ ภายในเดือน ก.ค.
       
       ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ไม่เผยรายละเอียดของการปรับแก้ร่างธรรมนูญฯ ดังกล่าวเช่นกัน โดยบอกว่า อยู่ในขั้นรับฟังหลักการ และว่า เบื้องต้นทราบว่าธรรมนูญชั่วคราวนี้มีประมาณ 45 มาตรา ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน ยืนยันว่า คสช.จะทำหน้าที่จนกว่าจะปฏิรูปประเทศแล้วเสร็จตามโรดแมป คสช. คือตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดย คสช.จะยังคงทำงานร่วมกับ ครม.ชุดใหม่ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ก่อนเลือกตั้งต่อไป ส่วนจะบัญญัตินิรโทษกรรมให้ คสช.ในธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่นั้น พล.อ.อ.ประจิน บอกว่า ยังไม่เห็นรายละเอียด แค่รับฟังที่นายวิษณุพูดในหลักการให้ฟัง เพื่อให้ คสช.แสดงความเห็นเท่านั้น ส่วนจะทำประชามติก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุป
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ คสช.จะไม่ยอมเผยรายละเอียดการปรับแก้ร่างธรรมนูญชั่วคราว แต่นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญชั่วคราว ได้เผยผลประชุมร่วมกับ คสช.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ว่า คสช.ให้ปรับแก้ในบางประเด็น เช่น เรื่องอำนาจของ คสช.ที่ต้องการคงอำนาจหน้าที่ด้านความมั่นคงไว้ แต่เกรงว่าอาจจะมีปัญหาทับซ้อน หาก คสช.บางคนเข้ารับตำแหน่งใน ครม.
       
       นายวิษณุ ยังเผยกรอบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยว่า มี 10 ประเด็น เช่น การสร้างกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ , การทบทวนการมีองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยให้คงอยู่เท่าที่จำเป็น ,การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินและการป้องกันการนำงบประมาณไปใช้ในนโยบายหรือโครงการประชานิยม จนส่งผลกระทบต่อการเงินการคลัง โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีเวลายกร่างให้แล้วเสร็จ 120 วัน ก่อนส่งให้สภาปฏิรูปเห็นชอบภายใน 15-30 วัน จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย คาดว่าใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 9 เดือน
       
       3. กต.ถอนพาสปอร์ต 6 เสื้อแดงหนีหมายจับแล้ว ทั้ง “จักรภพ-จารุพงศ์-โรส-ตั้ง อาชีวะ” ด้าน “บิ๊กตู่” แย้ม เร็วๆ นี้มีหมายจับเพิ่มเอี่ยวอาวุธ!

       ความคืบหน้ากรณีที่ศาลทหารได้อนุมัติหมายจับนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำคนเสื้อแดงและผู้ต้องหาหลายคดี กับพวกรวม 4 คน ในข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพบข้อมูลว่า นายจักรภพพัวพันกับอาวุธสงครามที่ตรวจยึดได้ในหลายพื้นที่ และเตรียมประสานกับประเทศที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อส่งตัวนายจักรภพกลับมาดำเนินคดีนั้น ปรากฏว่า นายจักรภพได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องอาวุธสงครามเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. โดยยืนยันว่า ข้อกล่าวหาที่คณะรัฐประหารใช้กดดันตน ไม่เป็นความจริง ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้แบบติดอาวุธ
       
        “ผมขอพูดอย่างชัดเจนว่า ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถเชื่อมโยงผมกับอาวุธที่ทหารยึดมาได้ และขอท้าทายให้แสดงหลักฐานเหล่านั้น แน่นอนว่า แม้แต่การยึดอาวุธเหล่านั้นมีกลิ่นของความน่าสงสัยโชยออกมา เพราะไม่มีการสอบสวนที่เป็นอิสระเรื่องการยึดอาวุธ ไม่มีการเก็บลำดับขั้นตอนหลักฐาน และข้อกล่าวหาไม่มีความน่าเชื่อถือ”
       
       ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านความมั่นคง ได้ออกมาชี้แจงว่า การขออนุมัติหมายจับนายจักรภพนั้น มาจากการจับกุมอาวุธปืนในพื้นที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้ต้องหาให้การซัดทอดว่า นายจักรภพมีส่วนรู้เห็นกับการนำมาซึ่งอาวุธ รู้เห็นการจัดหาอาวุธ ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างไรบันทึกอยู่ในสำนวนคดี ส่วนที่นายจักรภพออกมาโวยวายว่าตำรวจและ คสช.สร้างหลักฐานขึ้นมาเพื่อดำเนินการใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น บอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องใช้ตรงนี้ นายจักรภพมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 215-216 กรณีนำมวลชนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปก.) ปิดล้อมบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 ซึ่งคดีนี้ดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้อยู่แล้ว
       
       ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยความคืบหน้าการเพิกถอนหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต) ของนายจักรภพและแนวร่วมเสื้อแดงที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและถูกศาลออกหมายจับว่า ได้ดำเนินการถอนพาสปอร์ตบุคคลทั้ง 6 คนแล้ว ประกอบด้วย นายจักรภพ เพ็ญแข ,นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ,นายสุนัย จุลพงศธร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ,น.ส.ฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือโรส แนวร่วมคนเสื้อแดงและผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน ,นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ แนวร่วมคนเสื้อแดงและผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน และนายอรรถชัย อนันตเมฆ แกนนำคนเสื้อแดง ส่วนกรณีที่นายจักรภพ หลบหนีอยู่ที่ฮ่องกงนั้น นายสีหศักดิ์ บอกว่า จากการตรวจสอบ ประเทศไทยกับฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน จึงต้องหารือว่าจะใช้ช่องทางใดได้บ้าง อยู่ระหว่างการประสานงาน และต้องมีคำขออย่างเป็นทางการจากอัยการสูงสุด เข้าใจว่าขณะนี้อยู่ในกระบวนการดำเนินการ
       
       ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเลขาธิการองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ได้ออกมาตอบโต้ คสช.กรณีที่ตนเองถูกถอนพาสปอร์ต “คสช.สั่งถอนพาสปอร์ต พาสปอร์ตคือบัตรประจำตัวของคนไทยที่ใช้เดินทางไปต่างประเทศทุกคน การถอนพาสปอร์ตถือว่าเป็นการถอนสิทธิความเป็นคนไทย โดยที่ คสช.ไม่มีสิทธิ”
       
       สำหรับความคืบหน้าการจับกุมตรวจยึดอาวุธสงครามโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนั้น ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ ได้เปิดแถลงข่าวผลการจับอาวุธสงคราม เครื่องกระสุน และยุทธภัณฑ์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดย คสช.ได้เชิญผู้ช่วยทูตทหาร 11 ประเทศเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการแถลงครั้งนี้ด้วย
       
       ทั้งนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช.แถลงว่า ผลการติดตามจับกุมตรวจยึดอาวุธสงครามในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กองกำลังรักษาความสงบภาค 1-4 สามารถยึดอาวุธได้จำนวนมาก ประกอบด้วย ปืนเล็กยาวและปืนกลชนิดต่างๆ 144 กระบอก ปืนยาว ปืนลูกซอง 258 กระบอก ปืนพกชนิดต่างๆ 2,490 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 จำนวน 23 เครื่อง เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 9 เครื่อง ลูกระเบิดขว้างชนิดต่างๆ 330 ลูก และระเบิดชนิดต่างๆ ระเบิดทีเอ็นที 134 รายการ “กระสุนปืน ประกอบไปด้วย กระสุนปืนเล็กยาว และปืนกลชนิดต่างๆ 20,999 นัด กระสุนปืนยาว และปืนลูกซอง 557 นัด กระสุนปืนพกชนิดต่างๆ 33,200 นัด กระสุนระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 166 นัด ลูกจรวดอาร์พีจี 57 ลูก และยุทธภัณฑ์อื่นๆ เช่น เสื้อเกราะ 426 รายการ”
       
       พ.อ.วินธัย บอกด้วยว่า หลักฐานทั้งหมดที่นำมาแสดงในการแถลงครั้งนี้ ยืนยันว่าสังคมไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ และเป็นสิ่งที่น่ากลัวหากอาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้ทำลายประชาชนในพื้นที่ใดก็ตาม จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก และว่า อาวุธสงครามทั้งหมดที่จับได้ บางส่วนเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 บางส่วนเป็นของใหม่ ต้องตรวจสอบประวัติว่าเคยก่อเหตุหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในปีใดอีกหรือไม่
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่า เจ้าหน้าที่หมุนเวียนอาวุธมาสร้างภาพการจับกุมหรือไม่ โดยยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะหมุนเวียนอาวุธมาสร้างภาพการจับกุม พร้อมเผยว่า ยังมีอาวุธอีกจำนวนมากที่จะจับกุม โดยเร็วๆ นี้ จะมีการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก
       
       4. คสช.เมินกระแสต้าน ไฟเขียว “ปิยสวัสดิ์” นั่ง ปธ.บอร์ด ปตท. -ทุ่ม 4.8 พันล้านช่วยชาวนา -ให้ 11 ส.ค.เป็นวันหยุด กระตุ้นท่องเที่ยว!

       สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท ปตท.ชุดใหม่บางคน โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.เครือข่ายพลังงานภาคประชาชนหลายกลุ่ม นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้นัดแต่งชุดดำพร้อมนำพวงหรีดไปวางที่หน้ากองทัพบก รวมทั้งได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ทบทวนการแต่งตั้งบอร์ด ปตท.ใหม่ 3 คน ประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ อมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ,นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน โดยชี้ว่า บุคคลทั้งสามไม่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อครั้งนายปิยสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้อนุญาตเปิดสัมปทานปิโตรเลียมจำนวนมากที่สุด เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนด้านพลังงาน
       
       ด้านนายปิยสวัสดิ์ ได้ออกมาปฏิเสธว่า เรื่องที่มีการกล่าวหาตนไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยัน ไม่เคยทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง ทำเพื่อประเทศชาติมาตลอด และว่า การเข้ามาเป็นบอร์ด ปตท.ครั้งนี้ จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง
       
       ทั้งนี้ แม้จะมีกระแสต้านนายปิยสวัสดิ์เป็นบอร์ด ปตท. แต่นอกจาก คสช.จะไม่ทบทวนแล้ว ที่ประชุมบอร์ด ปตท.ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ยังมีมติแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์เป็นประธานบอร์ด ปตท.คนใหม่ด้วย โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากนายปิยสวัสดิ์มีประสบการณ์ด้านพลังงานมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี มีประสบการณ์ในการประสานงานกับเอกชนในวงการพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย
       
       ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้นายปิยสวัสดิ์ พูดให้ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับท่อส่งก๊าซที่เป็นเส้นเลือดหลักทำให้ ปทต.ผูกขาดตลาดพลังงานทั้งประเทศเพียงผู้เดียว ทั้งที่การวางท่อก๊าซได้ใช้อำนาจมหาชนเวนคืนที่ดินจากประชาชนสมัยที่หุ้น ปตท.ยังเป็นของรัฐทั้งหมด แต่ต่อมามีการแปรรูป ปตท.สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งท่อก๊าซเป็นสมบัติชาติ ไม่สามารถขาย จนสุดท้ายศาลมีคำตัดสินให้ ปตท.คืนสิ่งที่ใช้อำนาจมหาชน ซึ่งควรจะหมายถึงการคืนท่อทั้งระบบ แต่รัฐบาลชุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ที่มีนายปิยสวัสดิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตีความคำพิพากษาว่า ส่งระบบท่อก๊าซคืนหลวงได้เฉพาะท่อบนบกที่ได้โดยการเวนคืน ไม่รวมท่อก๊าซในทะเล และศาลก็รับทราบตามนั้น
       
       นายอรรถวิชช์ เผยด้วยว่า ขณะนี้ ท่อก๊าซบนบกที่ใช้อำนาจมหาชนเวนคืนมา ปตท.ได้เช่ากลับไป ทำให้ ปตท.เป็นผู้จัดการท่อทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะกล้าสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่ม เพราะท่อส่งเป็นของ ปตท. จึงขอให้นายปิยสวัสดิ์มีนโยบายเรื่องท่อส่งก๊าซให้ชัดเจน
       
        ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.พยายามหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่น โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช.ได้ประชุมหัวหน้าฝ่ายและปลัดกระทรวงต่างๆ ก่อนเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ด้วยการขยายเวลาการปรับลดภาษี 3 รายการ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ต่อไปอีก 1 ปี โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปรับเป็น 7 ขั้นอัตรา จากเดิม 5 ขั้นอัตรา อัตราเสียภาษี 5-35% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-ธ.ค.2558 การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตรา 20% จากเดิม 30% และคงภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตรา 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557-30 ก.ย.2558 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและลดภาระค่าครองชีพ
       
        นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือชาวนา ปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 3 แนวทาง วงเงิน 4,804.1 ล้านบาท แนวทางที่1 ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ชาวนา 3% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท วงเงิน 2,292 ล้านบาท แนวทางที่ 2 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้ชาวนาเพื่อรวบรวมข้าว วงเงิน 700 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 ให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก วงเงิน 1,100 ล้านบาท ซึ่งโครงการที่อนุมัติครั้งนี้รวมโครงการประกันภัยข้าว วงเงิน 376 ล้านบาทแล้ว
       
        ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้วันที่ 11 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นวันหยุดราชการด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ประชาชนมีโอกาสใช้เวลาในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน
       
        ด้านที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ได้มีมติให้ ขสมก.ต่ออายุมาตรการรถเมล์ฟรีออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2557-30 ม.ค.2558 จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ก.ค.นี้ โดย ขสมก.จะนำมติดังกล่าวเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณาต่อไป คาดว่าต้องใช้เงินอุดหนุนเพื่อจ่ายชดเชยรายได้ให้กับ ขสมก.เดือนละละ 250 ล้านบาท รวม 6 เดือน 1,500 ล้านบาท
       
       ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ที่มีนายประภัสร์ จงสงวน เป็นผู้ว่าการฯ ก็เล็งชงบอร์ด ร.ฟ.ท.ต่ออายุมาตรการรถไฟฟรีออกไปอีก 6 เดือนเช่นกัน จากเดิมที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ก.ค.นี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 กรกฎาคม 2557