ผู้เขียน หัวข้อ: จากอ่าวเม็กซิโกถึงอ่าวไทย-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2483 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับ ประเทศ เมื่อชาวเกาะสมุยนัดกันออกมาแสดงพลังด้วยการจับมือเรียงแถวกันรอบเกาะในอีก สองวันข้างหน้า เพื่อประกาศเจตนารมณ์อันแรงกล้าว่า คนบ้านนี้เมืองนี้ไม่เอาบ่อน้ำมัน  งานนี้คนจัดงาน หวังจะเกณฑ์คนมาให้ได้ไม่น้อยกว่าสามหมื่นคน ประสานมือกันรอบเกาะคิดเป็นระยะทางราว 50 กิโลเมตร นัยว่าเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ต่อต้านบริษัทน้ำมันที่มาสำรวจและ (อาจ) ผลิตปิโตรเลียมใกล้ๆเกาะบ้านเขา
                จุด เริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดก็คือว่า มีโครงการสำรวจปิโตรเลียมของบริษัทน้ำมันสองสามราย มาป้วนเปี้ยนสำรวจหาแหล่งพลังงานใหม่ๆในแปลงที่ได้รับสัมปทานกลางอ่าวไทย ใกล้เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อติดอันดับโลก ความกังวลร้อนถึงทนงศักดิ์ สมวงศ์ หรือ “พี่แป๊ะ” เจ้าของรีสอร์ทหรูริมหาดเฉวง และประธานกลุ่มรักษ์เฉวง ที่ ได้กลิ่นไม่ชอบมาพากลก่อนใครเพื่อน แกเลยอาสาเป็นหัวเรือใหญ่คัดค้านเรื่องนี้ วันที่พบกันเขาเล่าให้ผมฟังว่า "ผมมาดูแผนที่ โอ้ มันใกล้บ้านเรามากครับ แค่ 40 กว่ากิโล เกิดมีผลกระทบขึ้นมา เราจะทำยังไงกัน"
                ความกังวลของชาวสมุยมีรากฐานมาจากการท่องเที่ยวที่พวกเขาอุตส่าห์ปลุกปั้นขึ้นมา ธุรกิจที่มีเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบ 15,000 ล้านบาทต่อปี (ยังไม่รวมที่อยู่นอกระบบ) อาจจะพังครืนลงในพริบตา หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดอย่างในอ่าวเม็กซิโกเข้าให้
                "นักการเมืองบ้านเราติดสินบนสินบาปกันเละเทะ ต้องถามว่าคุณจะเอาน้ำมันหรือการท่องเที่ยว แค่นี้ชัดไหม"    “โกฉุย” หรือ วิรัช พงศ์ฉบับนภา เจ้าของโรงแรมหรูแห่งหนึ่งริมหาดละไม กล่าวอย่างหงุดหงิด

                วิกฤติพลังงานเมื่อ 40 ปีก่อนทำเอาไทยหัวคะมำไม่เป็นท่า เมื่อจู่ๆชาติอาหรับซึ่งผูกขาดพลังงานมานานรวมหัวกันโก่งราคาพลังงานจนแพง หูฉี่ รัฐบาลไทยที่ยังคงติดลมกับการพัฒนาชาติอย่างรวดเร็วจึงเร่งรัดให้มีการสำรวจ แหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพื่อรองรับความต้องการพลังงานปริมาณมหาศาล โดยแผนการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่  4 (พ.ศ. 2520 – 2524) เป็นต้นมา
                นับ แต่นั้นมานักลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานก็แวะเวียนมาเคาะประตูบ้านจนหัวกระได ไม่แห้ง โชคดีเหลือเกินที่ภายใต้ผืนธรณีอ่าวไทยนั้นอุดมไปด้วยปิโตรเลียมปริมาณ มหาศาลจนบรรดาเสือหิวเหล่านั้นพากันขอบคุณความบังเอิญทางธรณีวิทยาและยอมรับ ว่า อ่าวไทยมีศักยภาพเป็นขุมพลังงานชั้นเลิศแห่งหนึ่งในภูมิภาค และสามารถนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า จากนอกประเทศ สมกับคำขวัญคุ้นหูในยุคหนึ่งที่ว่า “โชติช่วงชัชวาล” จนบัดนี้ล่วงถึงปี 2553 อ่าวไทยมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ 32 แหล่ง แต่ละแหล่งเจาะสำรวจและผลิตรวมกันแล้วมากกว่า 5,000 หลุม ที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม (ทั้งบนบกและในทะเล) ไปแล้ว 20 ครั้ง

                แดดบ่ายคล้ายคล้อย จับอยู่กาบเรือกอและ ผมย่างเท้าฝ่าเปลวทรายและลมทะเลไปยังชุมชนหัวถนน ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมแห่งเดียวบนเกาะสมุย ชาวบ้านที่นี่ยังคงประกอบอาชีพหลักด้วยประมงพื้นบ้านและหากินเช่นนั้นมารุ่น ต่อรุ่นอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง หากผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลเกิดขึ้นจริงดังที่กังวล พวกเขาจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ
                ความ เคลือบแคลงฉายฉาบเมื่อผมไปถึง ผมกลายเป็นบุคคลต้องสงสัยว่ามาจากฝ่ายใด ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวอย่างระแวดระแวงว่าผมคงเป็นพวกบริษัทน้ำมันมาหาข้อมูล แม้ผมปฏิเสธ ทว่าความอึมครึมกลับยังคงอวลวนอยู่ระหว่างบรรทัดของบทสนทนา " ถ้ามันรั่วออกมาอย่างที่เห็นในทีวีล่ะ อิหม่ามว่ามันไม่คุ้มนะ ไหนน้ำจะเสีย ปูปลาก็ไม่มี ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ลำบากอยู่แล้ว" อิหม่าม สมหมาด โต๊ะหาด ชาวประมงเคราขาวและโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดนูรุลเอี๊ยะห์ซาน ชุมชนหัวถนน บอกผม "เราต้องทำให้เขารู้ว่าเราไม่ยอม ผลเป็นอย่างไรขึ้นกับพระเจ้า"
                สิ่ง ที่รัฐบาลพยายามสื่อสารกับชาวบ้านคือความแตกต่างทางธรณีวิทยาระหว่างอ่าวไทย กับอ่าวเม็กซิโก ด้วยรายละเอียดทางเทคนิคและตัวเลขยุบยั่บ อาทิ  อ่าว ไทยมีความลึกตั้งแต่ 30 - 80 เมตร เป็นแหล่งปิโตรเลียมค่อนข้างเล็ก มีโครงสร้างไม่ต่อเนื่อง มีแรงดันต่ำ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ส่วนน้อยเป็นน้ำมันดิบ ตามแท่นมีอุปกรณ์ป้องกันการพุ่ง (blowout preventer) มาตรฐานสากลติดตั้งอยู่ การขุดเจาะต้องผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีการจัดซ้อมแผนรับมือ และมีเครื่องไม้เครื่องมือในการควบคุมและกำจัดคราบน้ำมันครบครัน (อยู่ที่ศรีราชา)
                แต่ สำหรับชาวบ้านใครจะสนใจ ในเมื่อการมีแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมใกล้บ้านมิได้ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดี ขึ้นแต่น้อย ชาวประมงคนหนึ่งตัดพ้อถึงจำนวนสัตว์ทะเลที่ลดลงจากอุตสาหกรรมประมงของเรือ ใหญ่ บางคนโทษว่าเป็นเพราะสภาพอากาศอันผิดเพี้ยน บางคนหวนระลึกถึงปลาตัวโตที่เคยจับได้เมื่อสิบปีที่แล้ว แต่ที่แน่ๆ ไม่มีใครเอาแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม อิหม่าม สมหมาด บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีบริษัทน้ำมันมาถามความเห็นพวกเขาก่อนเลย ทั้งที่พวกเขาเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกๆที่จะได้รับผลกระทบจากการสำรวจหรือขุด เจาะครั้งนี้

                ทันทีที่นัก ธรณีวิทยาสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมใต้ธรณี พวกเขาจะแจ้งกลับมายังบริษัทเพื่อประเมินศักยภาพการลงทุน เมื่อได้รับอนุมัติให้เดินหน้า วิศวกรจะเป็นผู้ดำเนินการขุดปิโตรเลียมเหล่านั้นขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีอันทัน สมัย หากพบก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ก๊าซซึ่งมีแรงดันสูงจะวิ่งไปตามท่อ แต่หากพบน้ำมันดิบเป็นหลัก เนื่องจากแรงดันในอ่าวไทยที่ต่ำ และน้ำมันมีความหนืดสูง (จากอุณหภูมิที่ต่ำลงเมื่อผ่านน้ำ) บางหลุมวิศวกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำมันขึ้นมาด้วยซ้ำ "ในทางสิ่งแวดล้อม ถือเป็นโชคดีครับที่ในอ่าวไทยมีแรงดันต่ำ" ดร.สราวุธ จงรัตนเกียรติ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ส่วนแหล่งน้ำทะเล กรมควบคุมมลพิษ กล่าว
                นั่นแสดงว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เห็นน้ำมันพุ่งพล่านออกมาจากปากหลุมอย่างอุบัติเหตุกลางอ่าวเม็กซิโก
                แต่ ในกรณีเลวร้ายสุดๆ หากเกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหล (ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด) เป็นข้อตกลงร่วมกันว่าบริษัทที่ได้รับสัมปทานต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหยุด การรั่วไหลและดำเนินการขจัดคราบให้เร็วที่สุดโดยมีหน่วยงานสนับสนุนอีกยาว เป็นหางว่าว ดร.สราวุธบอกว่า แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติของไทย กำหนดภาระรับผิดชอบได้ครอบคลุมดีทีเดียว
                อย่าง ไรก็ตาม สถิติการรั่วไหลของน้ำมันในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากการขนส่งทางน้ำหรือกิจกรรมทางทะเลเป็นส่วนใหญ่ เช่น เรือชน ลักลอบทิ้ง อุบัติเหตุระหว่างขนถ่ายน้ำมัน เป็นต้น และเป็นการรั่วไหลในปริมาณเล็กน้อยซึ่งส่วนใหญ่ระงับเหตุได้ทันการ ส่วนการรั่วไหลอันเกิดจากการผลิตหรือขุดเจาะกลางอ่าวไทยยังไม่เคยเกิดขึ้นมา ก่อน
                ทว่าแม้จะไม่มีการรั่วไหล ของปิโตรเลียมมาก่อน ทว่าเรื่องของปรอทที่เป็นของเสียในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับเป็นประเด็น ร้อนได้ทุกครั้งที่มีคนพูดถึง มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งยืนยันว่าหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งอุดมไปด้วยสาร ประกอบไฮโดรคาร์บอน  มักปะปนไปด้วยโลหะหนักมากมาย ทั้งปรอท แคดเมียม และสารหนู เป็นต้น เมื่อมีการสูบปิโตรเลียมเหล่านั้นขึ้นมา ปรอทและโลหะหนักทั้งหลายจะติดร่างแหขึ้นมาพร้อมน้ำเสียและเศษหิน เมื่อก่อนไม่มีใครรู้ว่าของเสียเหล่านั้นกลับสู่ธรรมชาติไปมากน้อยเพียงใด ทว่าทุกวันนี้ทางการบังคับให้ผู้ผลิตอัดของเสียเหล่านี้ลงหลุมเดิมหมดแล้ว "แต่ตอนนี้เราบังคับให้อัดน้ำเสียกลับหลุมเดิมแล้ว แต่จะมีการลักลอบทิ้งหรือไม่ ต้องเป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบแล้วครับ" ดร.สราวุธ กล่าว
                นอกเหนือ จากกระบวนการผลิตซึ่งเต็มไปด้วยโลหะหนักแล้ว สัญญาสัมปทานปิโตรเลียมมากมายยังคงเต็มไปด้วยความน่าสงสัย หนึ่งในนั้นคือการรื้อถอนซึ่งไม่มีระบุไว้ชัดเจน วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน จับตาเรื่องนี้มานานแล้ว เขาบอกผมว่า "ผมเคยศึกษาแล้วพบว่าการรื้อถอนแท่นขุดเจาะในทะเลเหนือใช้เงินมหาศาลครับ แต่ของบ้านเรากลับไม่มีในสัญญา โดยทั่วไปจะต้องมีกองทุนเก็บตั้งแต่เริ่มนะครับ แต่นี่เขาอาจทิ้งภาระไว้ให้คุณก็ได้"
                เรา อาจให้อภัยผู้มีอำนาจในยุคนั้นได้ว่า พวกเขาไม่มีประสบการณ์และร้อนใจเนื่องจากวิกฤติพลังงาน สัมปทานยุคนั้นจึงให้กันง่ายอย่างกับเชื่อขนมด้วยเงื่อนไขที่หลวมโพรก แต่วิฑูรย์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลยุคต่อๆมา ซึ่งยังคงให้สัมปทานกันอย่างสะบัดช่อก็ยังคงซ้ำรอยเดิม "เรื่องก๊าซหรือเรื่องที่เกิดขึ้นในอ่าวไทยมันไกลหูไกลตาครับ อย่างที่บอกว่ามีการอัดน้ำเสียกลับลงหลุม แต่ทำแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ ตะกอนที่เคยปล่อยไปเป็นยังไง แล้วถ้าถึงวันรื้อถอนจะเป็นยังไง คุณเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้บ้างไหม เห็นไหมครับ นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้”

                “ป้าถุน” – มนตรีญา สุวรรณเกิด บอกผมว่า วันนี้แกจะไปร่วมประท้วงกับเขาด้วย  วิธี การของแกก็น่ารักเชียว เพราะป้าถุนจะเอาน้ำมันเบนซินใส่ขวดวางเทินบนศีรษะขี่รถเครื่องไปรอบเกาะ แล้วตะโกนให้ลั่นตลอดทางว่า ฉันก็ไม่เอาบ่อน้ำมันเหมือนกันนะเจ้าคะ
                พอ ฟ้าแจ้งแกก็ตื่นมาช่วยลูกสาวต้มน้ำยากะทิปักษ์ใต้ จัดแจงไปซื้อเส้นขนมจีนมาห้าสิบกิโล กับบรรดาสารพัดผักแผ้วอีกพะเรอเกวียน พอสายหน่อยป้าถุนก็กวักมือเรียกคนนั้นคนนี้ให้ไปกินขนมจีนบ้านแก ผมเองก็ไปกินกับเขาด้วย บรรยากาศช่างครึกครื้นเกินกว่าจะเป็นม็อบประท้วง ป้าถุนเกณฑ์ลูกหลานบ้านหาดงาม ใกล้ๆกับหาดเฉวงมาช่วยงานนี้กันตะพึดตะพือ มีทั้งป้ายประท้วง ผ้าคาดหัว ทั้งมือตบและตีนตบ พอใกล้เวลานัดหมาย ชาวเกาะก็ออกมาจับมือเรียงกันเป็นแถวยาวตลอดแนวถนน ตามสายตาผม คงต้องบอกว่าไม่ได้ยาวเฟื้อยรอบเกาะอย่างที่คนจัดงานเขาต้องการ เพราะแดดร้อนเหลือเกิน
                หลัง อิ่มขนมจีน ป้าถุนเลือกชุดมาสองสามชุดเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก เพราะไม่แน่ใจว่าสีไหนจะสวยกว่า ระหว่างสีเหลืองกับสีแดง สุดท้ายแกเลยใส่ทับไปทั้งสองสี แกกรอกน้ำมันเต็มขวดวางเทินบนหัวและทรงตัว เผลอแผลบเดียวก็ขี่รถเครื่องหายไปอย่างชำนิชำนาญ ตะโกนลั่นเป็นคำใต้ไปตลอดทางว่า "เอาหรือไม่เอาน้ำมัน" คนประท้วงได้ยินอย่างนั้น ก็สวนกลับมาอย่างเฮฮาว่า "ม่ายเอ้า!"
                เพียงแค่ห้านาที แกก็กลับมาบ้านพร้อมกับบ่นอุบว่า
                "น้ำมัน รถหมดแล้ว เดี๋ยวป้าต้องเติมก่อน" จากนั้นแกก็เอาน้ำมันจากขวดที่เทินบนหัวนั่นแหละ เติมใส่ถังมอเตอร์ไซค์คู่กาย ก่อนติดเครื่อง แล้วบึ่งหายลับโค้งไปทางโน้นเอง

ตุลาคม 2553