ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ค.2558  (อ่าน 772 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ค.2558
« เมื่อ: 14 มิถุนายน 2015, 00:29:38 »
1. “หลวงพ่อคูณ” ละสังขารแล้วอย่างสงบ สิริรวมอายุ 91 ปี 71 พรรษา - “ในหลวง” พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจา!

        เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลา 05.00 น. พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มีอาการอาพาธอย่างหนัก โดยหัวใจหยุดเต้น ทีมแพทย์ที่ดูแลอยู่ที่วัดรีบช่วยกันปั๊มหัวใจ ก่อนแจ้งให้ นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณ ทราบ ก่อนนำหลวงพ่อคูณส่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ขณะที่ศิษยานุศิษย์ที่ทราบข่าว ต่างพากันไปเฝ้าสอบถามอาการอาพาธจนแน่นโรงพยาบาล แต่แพทย์ติดป้าย “งดเยี่ยม”
      
        ด้าน นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ดูแลหลวงพ่อคูณอย่างใกล้ชิด จากนั้นได้มีการออกประกาศเกี่ยวกับอาการของหลวงพ่อคูณ ฉบับที่ 1 ว่า หลวงพ่อคูณมีลมรั่วในปอดด้านซ้าย มีเสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ และสัญญาณชีพยังไม่คงที่ พร้อมของดเยี่ยมอาการอาพาธ ขณะที่ นพ.พินิศจัย เผยว่า เบื้องต้นคาดว่า อาการอาพาธน่าจะเกิดจากภาวะปอดแตก เนื่องจากมีปัญหาระบบปอดมาโดยตลอด ส่วนแนวทางการรักษา เนื่องจากหลวงพ่อคูณมีอายุมาก ต้องรักษาตามอาการแบบประคับประคองไปก่อน และจะประเมินอีกครั้งว่า จะรักษาอย่างไร หรือจะย้ายหลวงพ่อคูณไปโรงพยาบาลศิริราชหรือไม่ นพ.พินิศจัย เผยด้วยว่า หลวงพ่อคูณออกจากโรงพยาบาลมหาราชฯ มานานจะครบ 2 ปี ในเดือน ก.ค.นี้
      
        ทั้งนี้ คืนวันเดียวกัน(15 พ.ค.) โรงพยาบาลมหาราชฯ ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 ว่า สัญญาณชีพของหลวงพ่อคูณยังไม่คงที่ ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจและเครื่องช่วยหายใจ เลือดออกในทางเดินอาหารมาก ไตหยุดทำงาน ไม่มีปัสสาวะออก เป็นผลจากภาวะแทรกแซ้อนจากปอดและหัวใจหยุดทำงานเป็นเวลานาน
      
        ช่วงสายวันต่อมา(16 พ.ค.) โรงพยาบาลมหาราชฯ ได้ออกประกาศฉบับที่ 3 ว่า หลวงพ่อคูณมีอาการเทรกซ้อนเพิ่มขึ้น จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องทรวงอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงาน ได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม อาการโดยรวมทรุดลง
      
        กระทั่งเวลา 12.30 น. นพ.สมอาจ และ นพ.พินิศจัย ได้เปิดแถลงพร้อมกับที่ทางโรงพยาบาลมหาราชฯ ได้ออกประกาศฉบับที่ 4 ว่า อาการโดยรวมของหลวงพ่อคูณทรุดลง และมรณภาพแล้วเมื่อเวลา 11.45 น. สิริรวมอายุ 91 ปี 71 พรรษา
      
        สำหรับประวัติของหลวงพ่อคูณ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ต.ค.2466 ที่บ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ครอบครัวเป็นชาวไร่ชาวนา บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ หลวงพ่อคูณ นางคำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
      
        หลวงพ่อคูณอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2487 ได้รับฉายาว่า “ปริสุทโธ” หลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ อ.ด่านขุนทด ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด ทั้งยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง
      
        ต่อมาหลวงพ่อแดง ได้พาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร เมื่อรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว ได้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขา เพื่อฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูง โดยได้ธุดงค์จาริกทั้งใน จ.นครราชสีมา รวมไปถึงประเทศลาวและกัมพูชา ก่อนกลับประเทศไทยมาสร้างวัด สร้างโรงเรียน ที่บ้านเกิดที่บ้านไร่ นอกจากนี้หลวงพ่อคูณยังนำเงินที่ศิษยานุศิษย์ถวายไปสร้างโรงพยาบาล ช่วยเหลือด้านสาธารณสุข สาธารณกุศล ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว หลวงพ่อคูณ เคยบอกว่า ที่ทำแบบนี้เพราะ “หลวงพ่อเป็นคนยากจนมาแต่กำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น...”
      
        หลวงพ่อคูณ มีเอกลักษณ์ประจำตัวคือ ท่านั่งยอง ซึ่งหลวงพ่อคูณให้เหตุผลว่า เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่จะลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่าย และสะดวกในการทำงาน หลวงพ่อคูณมักถูกมองว่าเป็นพระที่เก่งกล้าอาคม แต่หากได้พบและได้สนทนาธรรม จะทราบทันทีว่า หลวงพ่อคือ “ปราชญ์แห่งที่ราบสูง” สนทนาธรรมแบบตรงไปตรงมา พูดจา “มึง-กู” หลวงพ่อคูณมีจิตเมตตาเป็นที่ตั้ง แม้ในยามที่วัดบ้านไร่มีปัญหา หรือมีความขัดแย้งระหว่างลูกศิษย์ หลวงพ่อคูณก็ตัดสินใจเดินจากวัดบ้านไร่ไปอย่างเงียบๆ พร้อมกับปรัชญาที่ว่า “เป็นธรรมดา เปรียบเสมือนต้นไม้ หากมีลูกไม้ ย่อมจะเป็นที่จิกกินของสัตว์ หรือนก แม้กระทั่งคน หากแม้นเมื่อหมดลูกหมดผล ก็หมดการแก่งแย่ง แต่อีกไม่นาน ต้นไม้นั้นก็จะออกลูกออกผลมาให้ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป”
      
       ทั้งนี้ ไม่เคยมีใครเคยเห็นหลวงพ่อคูณกราดเกรี้ยว หรือทุกขเวทนาต่อเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นภายในวัด ทั้งที่วัดมีรายได้มากมายจากประชาชนที่ศรัทธาในบารมีของหลวงพ่อคูณ แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อมีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส และเป็นที่พึ่งทางธรรมอย่างแท้จริง
      
       ด้านนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้ประสานไปยังสำนักพระราชวังเกี่ยวกับการมรณภาพของพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ซึ่งทางสำนักพระราชวังได้รับทราบแล้ว ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โกศโถบรรจุศพพระเทพวิทยาคม พร้อมฉัตรเบญจา เป็นกรณีพิเศษ และพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ในวันที่ 17 พ.ค. เวลา 16.00 น. ส่วนสถานที่จะมีการกำหนดอีกครั้ง
      
       ขณะที่นายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ มส. กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่า หลวงพ่อคูณได้บริจาคร่างกายให้แก่โรงพยาบาลขอนแก่น และมีการกำหนดแนวทางการจัดงานศพไว้ ดังนั้นกรรมการวัด และศิษยานุศิษย์ กำลังหารือกับทางโรงพยาบาลขอนแก่นว่า จะดำเนินการอย่างไรบ้าง
      
       2. วันพืชมงคลฯ ปีนี้ พระยาแรกนาหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก ขณะที่พระโค “กินหญ้า” น้ำท่าจะบริบูรณ์!

        เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ซึ่งเป็นวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นประธานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2558 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยเสด็จพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
      
        ทั้งนี้ ได้มีบรรดาข้าราชการ ประชาชน เกษตรกร เดินทางมาร่วมพิธีจำนวนมากท่ามกลางฝนที่โปรยปรายลงมา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเข้าสู่พิธี ปรากฏว่า ท้องฟ้าสว่างขึ้นทันที และหลังเสร็จสิ้นพิธี ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักอีกครั้ง
      
        สำหรับผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาในปีนี้ คือ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.ฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมการข้าว และ น.ส.จารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร ส่วนเทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.อมรรัตน์ แขวงโสภา นักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ ว่าที่ร้อยตรีหญิงณฐมน อยู่เล่ห์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กรมชลประทาน ขณะที่พระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคเลิศ โดยกรมการข้าวได้เตรียมพันธุ์ข้าวเพื่อใช้ในพิธีไถหว่านจำนวน 2,695 กิโลกรัม รวม 11 สายพันธุ์
      
        ด้านนายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์เสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนาและพระโคกินเลี้ยง โดยพระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย หยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ สำหรับการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ผลเสี่ยงทายพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
      
       3. อนุ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา “ครม.ยิ่งลักษณ์” เยียวยาเสื้อแดงมิชอบ -“พระสุเทพ” ใช้อำนาจมิชอบกรณี 396 โรงพัก - “จุติ” ส่อทุจริต 3จี!

        เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังประชุม นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. ได้แถลงมติของคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น รวมทั้งนายปกรณ์ พันธุ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 โดยไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนมีมติว่า กรณีนายปกรณ์ ถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาในการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง และเป็นการปฏิบัติตามมติ ครม. จึงยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพียงพอตามข้อกล่าวหา จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
      
        ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ครม. ที่มีมติอนุมัติและจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว โดยไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับ คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2 พันล้านบาท โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราเยียวยาขึ้นมาใหม่ และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับ และไม่ใช่การใช้จ่ายเงินที่เป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตาม พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2502 “แต่เป็นการจ่ายเงินลักษณะเงินสงเคราะห์ และเงินจำนวนดังกล่าวมีจำนวนที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการเยียวยากรณีอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้”
      
        คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ครม. รวม 34 คน ฐานหลีกเลี่ยง ละเว้น ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ ที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวเป็นจำนวน 1,921,061,629.46 บาท ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนภายใน 15 วัน หลังรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช. ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลทั้งหมดรับทราบแล้ว
      
        อนึ่ง เมื่อครั้ง ครม.ยิ่งลักษณ์ อนุมัติงบ 2,000 พันล้านเพื่อเยียวยาผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า ตัวเลขการเยียวยาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ สูงเกินความเหมาะสม โดยกรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินเยียวยาสูงถึงรายละ 7.75 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ มีค่าเยียวยาความสูญเสียทางจิตใจด้วยจำนวน 3 ล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนให้แบบนี้มาก่อน
      
       นอกจากนี้ นายวิชา ยังแถลงมติของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (พระสุเทพ) อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท. สุพร พันธ์เสือ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง จากจัดจ้างเป็นรายภาค เปลี่ยนเป็นจัดจ้างรวมกันที่ส่วนกลางในครั้งเดียว เพื่อช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใด ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง
      
        โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนพบว่า นายสุเทพ ขณะเป็นรองนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้พิจารณา โดยนายสุเทพย่อมทราบอยู่แล้วว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างเป็นรายภาค ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอและคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้แล้ว หรือหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้าง ก็ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติก่อนดังเช่นที่เคยมีการปฏิบัติกันมา แต่นายสุเทพกลับลงนามอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรี กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ไปดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางแทนรายภาค โดยมีผู้รับจ้างเพียงรายเดียวก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและทางราชการอย่างร้ายแรง อนุกรรมการไต่สวนฯ จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งทางอนุกรรมการได้แจ้งข้อกล่าวหาให้นายสุเทพทราบแล้ว โดยนายสุเทพมีเวลาชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ซึ่งนายสุเทพจะเข้าแก้ข้อกล่าวหาต่ออนุกรรมการฯ ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่น อนุกรรมการไต่สวนต้องรอตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป
      
        นายวิชา ยังแถลงถึงความคืบหน้าการไต่สวนคำร้องขอให้ถอดถอนนายจุติ ไกรฤกษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กรณีลงนามให้ดำเนินการร่วมธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และสัญญาระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กับกลุ่มบริษัท เอสแอล คอนซอเตียม ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่า นายจุติมีพฤติการณ์เร่งรีบนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2553 ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบในฐานะที่มีหน้าที่กำกับดูแล นอกจากนี้การดำเนินการเพื่อให้มีการลงนามสัญญาการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ระหว่างบริษัท ทีโอทีกับกลุ่มบริษัท เอสแอล คอนซอเตียม ก็พบว่า บริษัทกลุ่มร่วมค้าเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด แต่กลับได้รับสิทธิเข้าทำสัญญาสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จีกับทีโอที “จึงมีมูลเพียงพอหรือส่อว่าจะกระทำการทุจริต ส่อว่าประพฤติผิดต่อหน้าที่ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหานายจุติ โดยให้มารับทราบข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน”
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 พ.ค.2558(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 14 มิถุนายน 2015, 00:29:55 »
4. กมธ.ยกร่างฯ มีมติเอกฉันท์ให้ทำประชามติร่าง รธน. ด้าน “คสช.-ครม.” รอเคาะ 19 พ.ค.!

        ความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน อยู่ระหว่างรอข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ต้องส่งให้ กมธ.ยกร่างฯ ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 25 พ.ค. จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะเชิญผู้ขอแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาชี้แจง และอาจเชิญพรรคการเมืองมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ก่อนส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้ สปช.เพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. ขณะที่กระแสสังคมเริ่มพุ่งเป้าไปที่เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าควรทำประชามติ แต่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. โดยบอกทำนองว่า หากทำประชามติ ต้องใช้เงิน 3,000 ล้าน จะคุ้มค่าหรือไม่ โดยขอรอฟังความเห็นของแม่น้ำ 5 สาย(คสช.-ครม.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ) ก่อน
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. กมธ.ยกร่างฯ ได้ประชุม ก่อนมีมติให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมมีเอกฉันท์ต้องการให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลังจาก สปช.มีมติในวันที่ 6 ส.ค. โดยใช้เวลาทั้งหมด 90 วันนับจากวันแจกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน คาดว่าจะทำประชามติได้ภายในสิ้นปีนี้
       
       ทั้งนี้ ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ให้เหตุผลที่ควรทำประชามติว่า 1.ในทางทฤษฎี รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเสมือนเป็นสัญญาประชาคม จึงควรที่ประชาชนจะให้ความเห็นชอบ 2.ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เน้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงควรทำประชามติ 3.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ยกเลิกไปนั้นมีการทำประชามติ ดังนั้นการจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ จึงควรให้ประชาชนพลเมืองเห็นชอบเช่นกัน 4.การทำประชามติถือเป็นโอกาสสำคัญที่ กมธ.ยกร่างฯ จะได้อธิบายที่มาที่ไปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ผู้ใช้ได้เข้าใจ 5.กมธ.ยกร่างฯ ได้กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติ ดังนั้นจึงควรมีการทำประชามติตั้งแต่แรก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
       
       ส่วนจะทำประชามติแบบไหน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับ กมธ.ยกร่างฯ เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ คือ ครม.และ คสช. โดยการทำประชามติต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ตามมาตรา 46 ซึ่ง สนช.จะใช้เวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 เดือน คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ค. และว่า การทำประชามติต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ที่กำหนดว่า จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47 ล้านคน ดังนั้นต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 23.5 ล้านคน และต้องมีเสียงเห็นชอบ 11.75 ล้านคนขึ้นไป และหากประชามติไม่ผ่าน คสช.จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่อไป เช่น ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับที่เคยใช้แล้วมาใช้แทน หรือให้ กมธ.ยกร่างฯ นำไปปรับแก้ไขใหม่ หรือตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ขึ้นมา เป็นต้น
       
       ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในส่วนของ ครม.และ คสช.จะหารือกันในวันที่ 19 พ.ค.เพื่อหาข้อสรุปว่า จะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และว่า หาก สปช.และ สนช.มีข้อเสนอเข้ามาด้วยว่าควรทำประชามติหรือไม่ ก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง
       
       ขณะที่ท่าทีของนักการเมือง 2 พรรคใหญ่ต่อการทำประชามตินั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ทำประชามติ แสดงว่ายังรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ อยู่บ้าง ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ เสนอว่า หากลงประชามติแล้วประชาชนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาเป็นตัวเลือก แล้วมาแก้ไขในส่วนที่มีปัญหา หรือไม่ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือเสียเวลา ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป และต้องใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำให้ คสช.อยู่ยาวกว่าโรดแมปที่วางไว้ ถ้าเสียเงินเสียเวลา แต่ได้รัฐธรรมนูญที่ดีก็เป็นเรื่องที่ยอมได้ ประชาชนเข้าใจ ดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่นี้ออกไป จะเป็นอันตราย อนาคตเศรษฐกิจจะเสียหาย
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าทำประชามติแล้วไม่ผ่าน อาจจะนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับปรุงเล็กน้อย น่าจะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คำตอบแก่สังคมได้ ทุกคนยอมรับได้ เพราะทุกอย่างยังอยู่ตามโรดแมป และต้องช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญดีกว่าฉบับที่ร่างฉบับนี้ แต่ถ้าบอกว่าไม่เอาตามโรดแมป น่าจะเป็นปัญหาและเป็นปมขัดแย้งได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ได้มี สปช.บางส่วน เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเป็น กมธ.ยกร่างฯ ด้วย ,นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และนายศิระ เจนจาคะ สปช. เปิดแถลงข่าวเสนอแนวคิดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปี แล้วค่อยเลือกตั้ง โดยขั้นตอนคือ ให้ระบุในร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดให้มีการออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน ว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการปฏิรูปประเทศและบริหารราชการแผ่นดินให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมก่อนเป็นเวลา 2 ปี แล้วค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งหากประชาชนเห็นชอบ ก็ปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง แต่หากประชาชนไม่เห็นชอบ ก็จัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ยืนยันว่า ข้อเสนอนี้ไม่ใช่การต่ออายุ สปช.และ สนช.แต่อย่างใด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมในการกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดทิศทางประเทศว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือไม่
       
       5. ศาลไม่รับฎีกาคดี “แพรวา” ซิ่งซีวิคชนรถตู้ดับ 9 ศพ ด้านญาติผู้เสียชีวิตเตรียมนำผล ประกอบคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายจำเลย 120 ล้าน!

        เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.แพรวา(นามสมมติ) อายุ 21 ปี เป็นจำเลย ฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายต่อร่างกาย บาดเจ็บสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2553 น.ส.แพรวา จำเลย ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นทางยกระดับโทลล์เวย์ และพุ่งชนรถตู้โดยสาร ทะเบียน 13-7795 กรุงเทพมหานคร ซึ่งวิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ศพ
       
        ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2555 ว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ให้จำคุก 3 ปี แต่คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติจำเลย 3 ปี และให้จำเลยรายงานตัวทุกๆ 3 เดือน พร้อมทั้งให้ทำงานบริการสังคม โดยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง รวมทั้งห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถนั้น ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่
       
        ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2557 โดยขยายเวลารอลงอาญาจาก 3 ปี เป็น 4 ปี และให้บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลารวม 4 ปี ส่วนโทษอื่น ให้คงตามศาลชั้นต้น ซึ่งต่อมา จำเลยได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดี
       
       ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย เนื่องจากคำร้องฎีกาไม่มีสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับฎีกา ด้าน น.ส.อิสรีย์ยา ธนะชวาลย์ ทนายความญาติผู้เสียหาย เผยหลังฟังคำสั่งศาลว่า คดีนี้จำเลยเป็นฝ่ายยื่นฎีกา โดยก่อนหน้านี้จำเลยได้ยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลไม่รับฎีกา จำเลยจึงได้ยื่นคำร้องฎีกาต่อศาลฎีกาอีกครั้ง ซึ่งจำเลยยื่นต่อสู้ว่าไม่มีเจตนากระทำการประมาท แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องฎีกาของจำเลยไม่เป็นประเด็นที่จะรับไว้พิจารณา ดังนั้น คดีอาญาจึงถือว่าสิ้นสุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 4 ปี และห้ามขับรถจนกว่าจะอายุ 25 ปีบริบูรณ์
       
        น.ส.อิสรีย์ยา เผยด้วยว่า หลังจากนี้จะขอคัดคำสั่งของศาลฎีกา และนำไปยื่นต่อศาลแพ่ง เพื่อให้สืบพยานต่อในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องบิดา-มารดาจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหาย 120 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลแพ่งได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพื่อรอผลทางอาญา
       
        ด้านนางทองพูน พานทอง มารดาของ น.ส.นฤมล คนขับรถตู้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกาที่จำเลยยื่น และว่า ในฐานะญาติผู้เสียชีวิตยอมรับตามกระบวนการของกฎหมาย พร้อมขอบคุณสื่อที่ให้ความสนใจและไม่ลืมกัน นางทองพูน เผยด้วยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากจำเลย และจำเลยไม่เคยคุยหรือโทรศัพท์มาหา สำหรับเงินชดเชยได้มาจากประกันเท่านั้น
       
       นางทองพูน ยังกล่าวทั้งน้ำตาด้วยว่า "เราอยากให้คดีจบโดยเร็ว วันนี้เหมือนแผลกำลังหายแล้ว แต่ก็มาเจอสะกิดอยู่เรื่อยๆ ขอให้เหลียวมองเราสักนิดก็ยังดี แค่นั้นเอง ไม่ต้องมากมาย แค่มองเห็นเราเป็นคนบ้าง เจอหน้ากันคุยกันบ้าง ถามว่าเรารู้สึกยังไง หรือแค่บอกว่าเสียใจด้วยนะ เราก็ชื่นใจแล้ว เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน คำนั้นเราไม่เคยได้ยินจากปากเขาเลย"
       
       6. ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ ให้จำคุกป้าอ้างจิตฟั่นเฟือน 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่นเบื้องสูง!

        เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางฐิตินันท์ แก้วจันทรานนท์ อายุ 65 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
       
       คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 นางฐิตินันท์ได้กระทำการมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ระหว่างที่รอฟังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่จะอ่านคำวินิจฉัยคำร้องร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยจำเลยให้การว่าขณะกระทำผิดมีความบกพร่องทางจิต
       
        ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 ว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยยังสามารถรู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี และไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อน จึงให้โอกาสบำบัดรักษาอาการจิตฟั่นเฟือนเพื่อประโยชน์ต่อตัวจำเลยและสังคม ดังนั้นโทษจำคุกจึงให้รอลงการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี และให้พบแพทย์เพื่อรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้ศาลพิจารณาลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อถึงเวลานัด นางฐิตินันท์ จำเลยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมญาติ ด้วยท่าทางเรียบเฉย ไม่แสดงอาการผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยมีความร้ายแรง เพื่อไม่ให้การกระทำเป็นเยี่ยงอย่าง อีกทั้งขณะกระทำผิด จำเลยยังสามารถบังคับตัวเองได้บ้าง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น พิพากษาแก้ ให้จำคุก 1 ปีโดยไม่รอการลงโทษ และให้รายงานการบำบัดรักษาจำเลยทุก 6 เดือนต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฟังคำพิพากษา นางฐิตินันท์ยังคงมีสีหน้าเรียบเฉยเช่นเดิม


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 พฤษภาคม 2558