ผู้เขียน หัวข้อ: เหมืองแร่ ความมั่งคั่งบนทุกขลาภ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 980 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
กว่าจะได้แร่ธาตุล้ำค่าอย่างเงินหรือทองคำเพียงหยิบมือ เราต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

ทองคำเรืองระยิบด้วยมนต์ความฟู่ฟ่ามั่งคั่ง  สะกดให้เชื่อว่าเป็นสิ่งเลอค่า  หลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามนุษย์เมื่อ 6,000 ปีก่อนรู้จักใช้ทองคำกันแล้ว  จนปัจจุบันมีตัวเลขระบุว่า มนุษย์ขุดเนื้อโลกนำทองขึ้นมาใช้แล้วราว165,000 ตัน ขณะที่นักค้าทองคำนวณต้นทุนการผลิตทองคำ 18 เค  ซึ่งมีเนื้อทองอยู่ 75 เปอร์เซ็นต์ว่ามีราคาหน้าเหมืองประมาณ 18,000 บาทต่อน้ำหนักทองหนึ่งบาทหรือ15.16 กรัม ส่วนทองแท่งหรือทองรูปพรรณที่มีเนื้อทองอยู่ 96.5 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่าจะมีราคาสูงกว่านั้น  หากแต่ราคาที่ว่ายังไม่รวมต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของคนในระยะยาว ถ้าหากรวมราคาอันเป็นเนื้อแท้แห่งทองคำย่อมสูงขึ้นอีกมากโข ด้วยว่าทองคำหนึ่งบาทต้องป่นบดมูลดินสินแร่ราว 20 ตันหรือ 20,000 กิโลกรัม

สถิติจากสำนักเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า แร่ทองคำมีมูลค่าผลผลิตสูงเป็นอันดับที่ 4 ของไทย รองจากถ่านหินลิกไนต์ หินปูน และยิปซัม ในปี 2553 มีการผลิตทองคำจำนวน 3.4 ตัน มูลค่า 4,000 ล้านบาท และคาดจากปริมาณสำรองในพื้นที่ศักยภาพแร่ต่อกำลังการผลิตทองคำในปัจจุบัน ประเทศไทยจะสามารถผลิตทองคำได้อีก 47 ปี โดยปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำอยู่สองแห่งคือ บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ที่จังหวัดพิจิตร และบริษัททุ่งคำ จำกัด จังหวัดเลย

ทั้งสองเหมืองเป็นการทำเหมืองหาบ (open pit) โดยใช้เครื่องจักรขุดเปิดหน้าดินและเจาะระเบิด ก่อนจะขุดขนหน้าดินที่ไม่ต้องการไปกองบนลานทิ้งดิน ส่วนดินที่อยู่ในสายแร่จะบรรทุกไปเทไว้ในยุ้ง ก่อนจะนำเข้าเครื่องบดหยาบ ส่งไปบดละเอียดให้ได้ขนาด 75 ไมครอน กลายเป็นผงดินละเอียดส่งผ่านไปยังถังชะหรือถังโซเดียมไซยาไนด์ หมักแช่อยู่ในถังราว 16 ชั่วโมง แร่ทองคำกับเงินที่ต้องการจะถูกชะออกมาในรูปสารละลายทองคำและเงิน แล้วส่งต่อไปยังถังดูดซับโลหะโดยเม็ดถ่านกัมมันต์ประมาณ 14 ชั่วโมง ก่อนจะนำไปแยกเม็ดถ่านกัมมันต์โดยใช้โซเดียมไซยาไนด์และโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) ได้เป็นสารละลายทองคำและเงินเข้มข้น นำไปแยกโลหะด้วยระบบเซลล์ไฟฟ้าเพื่อจับเอาทองคำและเงินออกจากสารละลาย แล้วนำไปหลอมในเตา ก่อนเทลงเบ้าหลอมเป็นแท่งโลหะผสมทองคำและเงิน หรือ "แร่ดิบ" ซึ่งทั้งหมดที่ผลิตได้จะส่งออกไปถลุงให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ที่ต่างประเทศ

ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนตั้งอยู่บริเวณบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งถูกระเบิดขุดเจาะเป็นบ่อเหมืองมาแล้วร่วม 10 ปี ปรากฏว่าน้ำในห้วยต่างๆที่มีต้นน้ำจากภูทั้งสองบัดนี้ปนเปื้อนมลพิษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยออกประกาศห้ามใช้น้ำในบ่อธรรมชาติสำหรับดื่มหรือหุงข้าวต้มแกง ส่วนน้ำใช้หากฝืนใช้อาจทำให้เกิดอาการคันตามเนื้อตัว และเป็นผดผื่นเรื้อรังได้

ต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย และโรงพยาบาลอำเภอวังสะพุง ได้สุ่มตรวจเลือดชาวบ้านใน 6 หมู่บ้านรอบเหมือง พบปริมาณไซยาไนด์ สารหนู และปรอท ในเลือดสูงกว่ามาตรฐานหลายราย นอกจากนี้ ยังได้ตรวจน้ำประปาพบโลหะหนักคือสารหนู ปรอท แมงกานีส และแคดเมี่ยม ในระบบประปาบาดาล จึงออกประกาศเตือนห้ามใช้และดื่มน้ำประปาบาดาล ห้ามเก็บผัก หาปลา หอย หรือสัตว์น้ำในห้วยมาเป็นอาหาร อีกทั้งเมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา  เกิดเหตุการณ์คันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในเหมืองซึ่งตั้องอยู่บนภูเขาสูงแตก ส่งผลให้น้ำจากเหมืองไหลลงสู่เรือกสวนไร่นา เหตุเหล่านี้ได้จุดชนวนการต่อต้านเหมืองทองคำของประชาชนใน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองซึ่งรวมตัวกันในนาม "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" ให้เข้มข้นและกว้างขวางขึ้น

ทว่าการเคลื่อนไหวใดๆ ในเงามืดไม่น่าไว้วางใจอีกต่อไป หลังเกิดเหตุกองกำลังชายชุดดำสวมไอ้โม่งคลุมใบหน้าบุกเข้าจับตัวชาวบ้าน 30 คนเป็นตัวประกัน ยิงปืนข่มขู่ตั้งแต่เวลาสี่ทุ่มของคืนวันที่ 15 พฤษาคม 2557 จนกระทั่งตีสี่ของวันถัดไป แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าระงับเหตุ แม้จะแจ้งความไปหลายครั้ง

ทองคำได้ก่อความขัดแย้งเกลียดชังในหลายระดับและเรื้อรังมาเรื่อยๆ ฝ่ายชุมชนอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอันเป็นสิทธิส่วนร่วม ขณะที่ฝ่ายเจ้าของเหมืองแร่อ้างสิทธิอันมั่นคงตามกฎหมายแร่ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานที่จ่ายค่าภาคหลวงและผลประโยชน์พิเศษหลายประการแก่รัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

จังหวัดเลยเป็นเมืองแห่งทะเลภูเขา ทัศนียภาพงดงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของอีสาน แต่อีกด้านหนึ่งนอกจากเหมืองทองคำแล้ว ในจังหวัดเลยได้มีการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่แล้ว 48 แปลง รวมพื้นที่ 6,753 ไร่ และกำลังยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองอีก 276 แปลง รวมพื้นที่ 74,690 ไร่ มีทั้งทองคำ ทองแดง ถ่านหิน เหล็ก หินก่อสร้าง แบไรต์ และอื่นๆ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ยื่นขอทำเหมืองทองแดง 15,000 ไร่ ที่ภูหินเหล็กไฟ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ในเขตอำเภอเมืองเลย


กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดนับเป็นกลุ่มประชาชนที่กุมข้อมูลเรื่องเหมืองในจังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงมากที่สุด การเคลื่อนไหวคัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตหรือขยายเหมืองอย่างต่อเนื่องย่อมกระเทือนกลุ่มอำนาจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหมืองแร่ ดังนั้นเหตุผลความรุนแรงในชุมชนจึงอาจไม่ใช่เพียงเรื่องขนแร่เท่านั้น

เรื่องโดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์
กรกฎาคม 2557