ผู้เขียน หัวข้อ: คุยนอกกรอบ : 'ธรรมนูญสุขภาพอำเภอ'  (อ่าน 635 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
คุยนอกกรอบ : 'ธรรมนูญสุขภาพอำเภอ'
« เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2014, 01:08:48 »
 คุยนอกกรอบ : คนสูงเม่นออกแบบระบบสุขภาพ ผ่าน 'ธรรมนูญสุขภาพอำเภอ' : เรื่อง...สินีพร มฤคพิทักษ์
 
                            คนไทยคงคุ้นเคยกับคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แล้ว "ธรรมนูญสุขภาพ” เคยได้ยินไหม?
 
                            “คม ชัด ลึก” ได้ยินคำนี้เมื่อคราวไปทำข่าวการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี และมีการมอบรางวัลด้วย ล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน ที่ผ่านมา
 
                            รางวัลสุขภาพแห่งชาติ มาจากแนวคิดที่ต้องการยกย่อง เชิดชูเกียรติ สร้างกำลังใจ ให้แก่คนทำงานในพื้นที่ เป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ภาคีเครือข่ายที่สนใจนำเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไปใช้เพื่อการพัฒนาหรือขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
 
                            ปี 2556 มีรางวัลสามประเภท ได้แก่ รางวัลหนึ่งจังหวัด, หนึ่งพื้นที่ และหนึ่งกรณีศึกษา โดยรางวัลหนึ่งพื้นที่เป็นของธรรมนูญสุขภาพ อ.สูงเม่น จ.แพร่ และธรรมนูญสุขภาพ ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ
 
                            อ.สูงเม่น จ.แพร่ เป็นอำเภอแห่งแรกในประเทศไทยที่จัดทำ "ธรรมนูญสุขภาพระดับอำเภอ" เมื่อปี 2552 โดยสมาชิกทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และประกาศใช้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2552
 
                            ธรรมนูญดังกล่าวมี 11 หมวด 37 ข้อ อาทิ หมวดที่ 1 ปรัชญาแนวคิดของระบบสุขภาพชาวอำเภอสูงเม่น หมวดที่ 2 การจัดระบบสุขภาพที่พึ่งประสงค์ต่อสุขภาวะ หมวดที่ 3 การควบคุมป้องกันปัจจัยคุกคามต่อสุขภาพ และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม หมวดที่ 4 การติดตามประเมินผล และควบคุมคุณภาพ หมวดที่ 5 การสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข เป็นต้น
 
                            สูงเม่นเป็น 1 ใน 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง รองจาก อ.เมือง ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล 110 หมู่บ้าน 12 องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลตำบล 1 แห่ง มีประชากรภายใต้การดูแล 83,065 คน
 
                            ถามว่าทำไมต้องมีธรรมนูญสุขภาพ? นพ.แสงชัย พงศ์พิชญ์พิทักษ์ ผอ.รพ.สูงเม่น ตอบว่า เห็นผู้มารับบริการและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอด ประกอบกับช่วงนั้นมีแนวคิดระบบสุขภาพแนวใหม่ว่า สุขภาพไม่ใช่เรื่องแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ช่วงนั้นมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เลยศึกษา และพบว่าจริงๆ แล้วทำได้ และมีเครื่องมือสมัชชา ธรรมนูญสุขภาพ เอามาใช้ได้ เริ่มจากในทีมสาธารณสุข นายอำเภอ ชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พูดคุยกัน
 
                            เมื่อคิดจะเอาจริงจึงขอคำปรึกษาจาก นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง นพ.อำพล ตอบว่าให้ตั้งได้เลย ส่วนในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สานิต เขมวัฒนา นายอำเภอสูงเม่นขณะนั้น และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
 
                            ส่วนที่ว่ายากไหม นพ.แสงชัย บอกว่า เนื่องจากเป็นแห่งแรก จึงลำบากใจเล็กน้อย แต่ก็ท้าทาย อยากทำ
 
                            “เราอยู่โรงพยาบาล เวลามีคนไข้ประสบอุบัติเหตุส่งไปโรงพยาบาลจังหวัดเพื่อผ่าตัดสมอง เราเป็นแพทย์เย็บแผล รักษา และอยู่ปลายเหตุ พอไล่ดูรายละเอียดจริงๆ พบว่า คนนี้ทะเลาะกับคนในครอบครัว ไม่มีความสุข ดื่มสุรา ขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน ถนนไม่ดี ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ฯลฯ มันไม่เกี่ยวกับแพทย์เลย ถ้าเราจัดการดีๆ คนนี้จะไม่ป่วย ไม่ต้องมาหาเรา ก็คุยกัน ทดลองเล่าหลายเรื่อง ขายไอเดียให้แก่แนวร่วมในภาคส่วนต่างๆ"
 
                            เรียกว่าเป็นการคิดย้อนศร เพราะหน้าที่ของสาธารณสุขคือการรักษาผู้เจ็บป่วย แต่คุณหมอแสงชัย คิดว่าทำอย่างไรจะทำให้คนมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยลง
 
                            “ต้องยอมรับว่าเป็นระบบสุขภาพแนวใหม่ เราได้ความรู้จากตอนมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พอดีผมรับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช กลับมาย้อนดูมีแนวความคิดว่า เราทำคนเดียว เหนื่อยมาก แต่เรากลับดูแลรักษาคนไข้ได้น้อยราย ทำยังไงจะให้ได้มากกว่านี้ สร้างเครือข่ายออกไปให้กว้างกว่านี้ดีไหม ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่พอมีแนวคิดเรื่องระบบสุขภาพแนวใหม่ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่ประกาศออกมา ทำให้เริ่มมองเห็นแนวทาง ยิ่งไปเห็นกองทุนสุขภาพตำบลที่เจอปัญหาว่าเอาเงินไปใช้ผิดทาง จึงคิดว่าน่าจะกำหนดแผนแม่บทด้านสุขภาพของอำเภอ ก็ได้พูดคุยกับสาธารณสุขอำเภอ ทีมงาน ท่านนายอำเภอ หาข้อมูล พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และเข้าไปคุยกับนายอำเภอสานิต เขมวัฒนา”
 
                            ตอนนั้นกำลังมีการทำธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรามองเห็นของระดับประเทศ ซึ่งคิดว่าคงทำได้ยาก ส่วนระดับอำเภอเป็นกลุ่มที่เราดูแลอยู่แล้ว น่าจะจัดการได้ง่ายกว่า ศึกษาดูว่ามีหมวดไหน อะไรบ้าง ค่อยๆ ศึกษา มีของชะแล้ที่กำลังเปิด ก็ศึกษาทางอินเทอร์เน็ต และกลับมาพูดคุยกันว่า เราน่าจะทำ หลังจากนั้นทำสมัชชาทุกตำบล แล้วรวมเป็นสมัชชาระดับอำเภอ มีการยกร่างธรรมนูญ และประกาศใช้เดือนธันวาคม เสร็จแล้วก็ลงนามในเอ็มโอยูร่วมกัน ตั้งสำนักธรรมนูญอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพราะมีเครือข่ายเป็น รพ.สต.ในพื้นที่
 
                            หลังจากนั้นเชิญปลัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกแห่ง มาพูดคุยหารือกัน หาแนวทางที่จะนำธรรมนูญไปใช้ ดำเนินการผ่านกองทุนสุขภาพในแต่ละตำบล ซึ่งมีหมวดที่เรียกว่าระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ บางที่ก็เอาไปตั้ง รพ.สต.ในตำบลของเขาเลย บางพื้นที่ทำเรื่องสมุนไพร บางพื้นที่ทำเรื่องนมแม่ แล้วแต่ว่าแต่ละตำบลมีความจำเป็นหรือต้องการเรื่องอะไร ประเด็นไหน เขาก็จะดึงหมวดนั้นไปใช้ พอปลายปีก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้เห็นว่าตำบลไหนทำอะไรได้ดี ก็นำไปปรับเพิ่มในตำบลของตน
 
                            “มีการสร้างแกนนำระดับตำบลมาร่วมกัน เราทำไปเรียนรู้ไป ตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด ในเรื่องวิชาการ ประชาสัมพันธ์ ยกร่างรัฐธรรมนูญ พอมีแนวคิดก็อาศัยนักวิชาการมาช่วย นำไปสู่การปฏิบัติทำสมัชชาทุกตำบล”
 
                            สำหรับวิธีการขอความร่วมมือจากชาวบ้าน ผอ.รพ.สูงเม่น บอกว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยค่อนข้างดี เรามี รพ.สต.ทุกตำบล และยังมี อสม.ในชุมชน ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ตอนหลังก็มีชมรมผู้สูงอายุ บางครั้งพบว่า อสม.ไปเป็นนายก อบต.
 
                            ผู้นำชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี?
 
                            “ตอนนี้ผมเชื่อว่า ทุกแห่งโอเคหมด อย่างสาธารณสุขอำเภอ เวลามีประชุมก็จะเชิญนายก อบต.เข้ามาร่วมด้วย มีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน ซึ่งผมมองว่ามันสามารถทำความเข้าใจและสื่อสารกันได้”
 
                            ส่วนที่ว่าทุกพื้นที่จำเป็นต้องมีธรรมนูญสุขภาพหรือไม่นั้น คุณหมอแสงชัยตอบว่า นี่เป็นข้อตกลงร่วมกัน บางแห่งอาจไม่เรียกว่าธรรมนูญ
 
                            ประการสำคัญคือ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นเหมือนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เกิดจากชุมชนเอง ชุมชนอยากได้แบบนี้ ใครมีอะไรก็บอกมา ทำให้เกิดความร่วมมือกัน บางเรื่องที่เคยเป็นปัญหามันหายไปเลย
 
                            ผอ.รพ.สูงเม่น อธิบายว่า ที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่มาจากเบื้องบน แต่ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ ชุมชนเป็นคนออกแบบเอง เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติจึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น การสนับสนุนงบประมาณ เดิม ผอ.รพ.สต.ของบสนับสนุนจากชุมชนยากมาก ตอนหลังกลับเป็นการสอบถามว่า เมื่อไรจะส่งโครงการมาให้
 
                            ในอดีตสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกองทุนสุขภาพระดับพื้นที่ มีเงินส่วนหนึ่งเคยให้แก่สถานีอนามัยทำงานร่วมกับชุมชน ตอนนี้ สปสช.เอามาให้กับกองทุนนี้ โดยมีนายกอบต.เป็นประธาน ปลัดอบต.เป็นเลขาฯ
 
                            “เราพบว่าบางพื้นที่ไม่ค่อยมีความชัดเจน พื้นที่บางแห่งใช้งบไปศึกษาดูงาน และอื่นๆ ไม่ตรงกับงานด้านสาธารณสุข เราพยายามบอกว่าน่าจะมีแผนแม่บทอะไรสักอย่าง และธรรมนูญสุขภาพเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เป้าหมายในการทำงานไม่หลุดไปเลย”
 
                            รู้สึกกดดันไหมในฐานะผู้บุกเบิกทำธรรมนูญอำเภอเป็นแห่งแรกของประเทศไทย แล้วจะไปทางไหนต่อ?
 
                            “ผมมองว่า เราก้าวไปก่อน ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขบอกว่า มี district health system ซึ่งเราทำนานแล้ว ดังนั้นเราปรับเพิ่มเติมเล็กน้อย ก็ตอบตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรต้องทำ และเราได้ทำไปก่อนหน้า”
 
 
----------------------------------
 
 
                            ตอบคำถามด้านสาธารณสุขของชาว อ.สูงเม่น จ.แพร่ อย่างรอบด้านขนาดนี้ ทว่า นพ.แสงชัย พงศ์พิชญ์พิทักษ์ มิได้เป็นคนเมืองแพร่แต่กำเนิด แต่เป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และสอบเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จบการศึกษาปี 2531 และเลือกไปทำงานที่โรงพยาบาลวังชิ้น จ.แพร่ ขณะนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง มีหมอเพียงคนเดียวประจำการที่ รพ.วังชิ้น 2 ปี ได้รับคำสั่งให้มาช่วยงานที่ รพ.สูงเม่น และตอนย้ายมาต้องทำทุกอย่าง ทั้งรักษาคนไข้ บริหารงานโรงพยาบาล กระทั่งปี 2536 จึงมีหมอมาเพิ่มและขยายเป็น 30 เตียง 
 
                            ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ รพ.สูงเม่น ทำงานที่นี่มา 26 ปีแล้ว เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีหมอ 8 คน
 
                            “ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่ได้กำหนดไว้ว่า 4 ปีต้องย้าย แล้วแต่ความสมัครใจ ตอนนี้ยังไม่มีแพลนที่จะย้ายครับ”
 
                            ปี 2550 ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ในโอกาสนั้นได้กล่าวสรุปบทบาทของแพทย์ชนบทว่ามีหน้าที่สำคัญ 2 ประการคือ
 
                            1.ให้บริการ ให้การรักษา ให้คำปรึกษา ต้องใช้วิชาความรู้ มาตรฐานวิชาชีพ ทักษะด้านการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค มีการวางแผนการรักษา การสื่อสารที่ดี 
 
                            2.ผู้นำ เป็นบทบาทที่เราแทบไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าเลย แต่ด้วยความคาดหวังของบุคลากรในโรงพยาบาลและสังคม มักยกย่องว่าหมอต้องเก่งทุกอย่าง จึงมักได้เป็นประธานกรรมการชุดต่างๆ เช่น ประธานวิชาการ ประธานข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยทักษะหลายด้านที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การวางแผน การจัดการประชุมที่ดี การจัดสรรทรัพยากร มนุษยสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม การเจรจาต่อรอง เป็นต้น

คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 27-07-2557