ผู้เขียน หัวข้อ: “ประดิษฐ” เคลียร์! ปฏิรูประบบ สธ.-ตรวจสอบ อภ.-ขายยาใกล้หมดอายุ  (อ่าน 644 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
 “หมอประดิษฐ” เคลียร์หลายเรื่อง ย้ำปฏิรูประบบสาธารณสุขเพราะระบบขยายตัว แต่ประสิทธิภาพไม่ชัดเจน ย้ำตรวจสอบ อภ.เพื่อความโปร่งใส ไม่เคยพูดว่ามีการทุจริต ส่วนการมาประท้วงขอให้มีเหตุผล พร้อมรับฟังแน่ แต่อย่ากล่าวหาพล่อยๆ หรือคาดคะเนอย่างเรื่องเอื้อเอกชน พร้อมแจงเรื่องขายยาใกล้หมดอายุ
       
       วันนี้ (23 เม.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุข ว่า สาเหตุที่ตนมีแนวคิดในการปฏิรูประบบสาธารณสุข เนื่องจากปัจจุบันระบบมีการขยายตัวทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ จำนวนผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากปี 2545 เกือบ 4 เท่า แต่ยังไม่มีตัวชี้วัดเรื่องประสิทธิภาพว่าเป็นเพราะประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น หรือประชาชนเจ็บป่วยมากขึ้นกันแน่ รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพที่มีที่มาแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุข เลยเป็นแนวคิดจัดองค์กรเพื่อกำหนดนโยบายให้มีทิศทางเดียวกัน โดยแบ่งเป็นเขตบริการสุขภาพ ซึ่งแต่ละเขตสามารถแบ่งทรัพยากรกันได้ มีอำนาจในการต่อรองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบธุริจอย่างหนึ่งทำให้หลายฝ่ายยังไม่เข้าใจ
       
       “การมีองค์กรกลางขึ้นมากรองนโยบายสาธารณสุข เป็นเพราะที่ผ่านมามีองค์กรเกิดขึ้นตามแรงขับดันเป็นจำนวนมาก คือเหล่าคณะกรรมการแห่งชาติทั้งหลาย หากไม่มีหน่วยงานขึ้นมากรองเรื่องทุกอย่างจะไปตกอยู่ที่นายกฯ จึงต้องมีองค์กรกำหนดทิศทางให้ทุกหน่วยงานทำงานสอดคล้องกัน แต่ไม่ใช่การครอบงำ ตามที่เข้าใจผิดๆ ว่าไปครอบงำตระกูล ส แต่เป็นแนวคิดว่าต้องมีเซ็นเตอร์ก่อนเข้า ครม.” รมว.สาธารณสุข กล่าว

       นพ.ประดิษฐ กล่าวถึงกรณีเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เอดส์ และไต จะร่วมกับสหภาพรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และชมรมแพทย์ชนบท เตรียมบุก สธ.วันที่ 24 เม.ย. เพื่อขับไล่ตนให้พ้นจากตำแหน่งหลังเดินหน้าตรวจสอบ อภ.จนส่งผลให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ ว่า ตนมีหน้าที่ดูแล อภ.ซึ่งเป็นองค์กรในการลดต้นทุนการซื้อยาต่างๆ ทั้งการผลิตยาเอง และเป็นตัวแทนการต่อรองราคายา จึงต้องทำให้ อภ.มีภาพลักษณ์ที่โปร่งใสจากข้อสงสัยต่างๆ ทั้งการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และปัญหาการปนเปื้อนวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะอย่างในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาเวชภัณฑ์ฯ ก็มีกลุ่มผู้ใช้ยากังวลว่า ยาของ อภ.มีคุณภาพหรือไม่ บ้างก็พูดว่าถูกบังคับให้ซื้อยาจาก อภ.ซึ่งราคาถูกลง แต่ในแง่คุณภาพยอมรับหรือไม่ จึงต้องไปสร้างความเชื่อมั่นทั้งหมด
       
       “ผมไม่ได้มีเจตนาเอาผิดใคร แต่เป็นการตั้งคำถาม ผมไม่เคยพูดว่าทุจริต พูดแค่ว่าผิดปกติ อย่างการสร้างโรงงานล่าช้า 1-2 ปี ก็ถือว่าผิดปกติ แต่หากอธิบายได้ก็จบ และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้ อย่างโรงงานผลิตยาเอดส์ที่ล่าช้า โดยให้เหตุผลว่าติดปัญหาเรื่องระบบทำความเย็น ผมก็ให้ อภ.ไปหาเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงล่าช้า ซึ่งต้องหาผู้รับผิดชอบให้ได้ หากผู้รับเหมาทำงานช้าก็ควรต้องมีการเรียกปรับ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนในระดับกระทรวงหรือไม่ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้ทาง อภ.ไปดำเนินการหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลมา ซึ่งหากมีทุกอย่างชัดเจนก็จบ แต่หากยังไม่กระจ่างก็ต้องพิจารณาว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น ส่วนจะอย่างไรต้องรอ อภ.รายงานกลับมาก่อน
       
       เมื่อถามว่าลำบากใจหรือไม่ที่ถูกโยงว่าการดำเนินการต่างๆ เอื้อเอกชน จนถูกประท้วงขับไล่ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า การพูดว่าเอกชนต้องให้ชัดเจนว่าเป็นเอกชนแบบไหน หากหมายถึงเป็นหมอ รพ.เอกชน ต้องมีหลักฐานว่าตนมีหุ้น หรือมีญาติอยู่ใน รพ.เอกชน แต่หากหมายถึงเป็นหมอที่เคยทำค้าขายก็ยอมรับ เพราะตนเรียนจบหมอก็ไปทำค้าขาย แต่หากมาอ้างโดยไม่มีเหตุผล เป็นการเดา คาดคะเนก็ไม่ถูกต้อง อย่างระบุว่าไปสนับสนุนเมดิคัล ฮับ ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องสนับสนุน เพราะระบบเมดิคัล ฮับของเอกชนก็โตเองอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนหรือเอื้อเอกชน เห็นได้จากเมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีจะมีการทำเวิร์กชอปโรงพยาบาลรัฐทั้งหมดว่าจะแบ่งด้านความเป็นเลิศอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนหรือเอื้อเอกชนอย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ หากจะมาประท้วงเรื่องใดๆก็ตามก็เป็นสิทธิ แต่ต้องสมเหตุสมผล ซึ่ง สธ.ก็พร้อมรับฟังปัญหา และจะอธิบายเหตุผลทั้งหมดให้เข้าใจได้
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องคุณภาพยา อยากย้ำว่าต้องมีการจัดระบบสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น โดยอย่างเรื่องยาใกล้หมดอายุในเรื่องของยาโคลพิโดเกรล (Clopidogral) ซึ่งเป็นยาโรคหัวใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ อภ.เสนอให้บริจาค ซึ่งคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ไม่เห็นด้วย และผู้อำนวยการ อภ.บอกว่าจะส่งคืนนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นประสบการณ์ว่า หากมียาใกล้หมดอายุควรทำอย่างไร และต้องมีการป้องกันหรือบริหารอย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งมอบให้ปลัด สธ.ดูเรื่องนี้ว่า การผลิตยาหรือซื้อ หรือขายยาตัวใดต้องมีมาตรฐานว่า ระยะเวลาของวัตถุดิบต้องไม่ใกล้หมดอายุที่ระยะเวลาเท่าใดด้วย
       
       ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะเข้าไปดูรายละเอียดที่จะออกมาเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของเงื่อนไขมาตรฐานจีเอ็มพี โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตยาต้องดำเนินการให้ได้ตามแนวทางจีเอ็มพี คือ การผลิตยาอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะระยะเวลาของวัตถุดิบยาที่ต้องไม่ใกล้หมดอายุ ตรงนี้ต้องจะมีการนำเข้าคณะกรรมการอาหารและยาอีกครั้ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 เมษายน 2556