ผู้เขียน หัวข้อ: “พาณิชย์” ตรวจโรงพยาบาลเอกชน คุมเข้มปิดป้ายค่ายา ค่ารักษาพยาบาล  (อ่าน 561 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
 “พาณิชย์”ลงพื้นที่ตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคายาและค่ารักษาพยาบาล 2 โรงพยาบาลเอกชน รพ.วิภาวดี และ รพ.นนทเวช พบมีการปิดป้ายแสดงราคาถูกต้อง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศพร้อมกันด้วย ด้านโรงพยาบาลยันไม่ได้คิดกำไรเกินจริง ได้ส่วนกำไรเพียง 10% ด้านกรมทรัพย์สินฯ ยันไม่ได้เป็นทาสบริษัทยา และยังไม่ได้รับจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสตับอักเสบซี
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 พ.ค.) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน พร้อมด้วยผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจสอบการแสดงราคายารักษาโรคและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน โดยนำร่องในการตรวจสอบโรงพยาบาลวิภาวดี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลนนทเวช จ.นนทบุรี ขณะเดียวกัน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศด้วย
       
       นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ กรมฯ จะมีการตรวจสอบราคายาและค่ารักษาพยาบาลอย่างเข้มข้น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้แสดงป้ายราคายาและค่าบริการรักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนที่เข้าไปใช้บริการได้รับทราบ หากไม่ดำเนินการ จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เบื้องต้นพบว่าโรงพยาบาลเอกชนทั้งสองแห่งมีการปิดป้ายราคายาและค่าบริการเป็นอย่างดี
       
       “จากการลงพื้นที่โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ได้มีจุดให้ประชาชนที่เข้าไปใช้บริการสามารถตรวจสอบค่ายา ค่ารักษาพยาบาลได้”
       
       สำหรับการกำหนดราคายาและค่ารักษาพยาบาลนั้น ในวันที่ 25 พ.ค. 2558 คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้ามาดูราคาค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการหารือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคายาและค่ารักษาพยาบาล
       
       นายชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า โรงพยาบาลคิดค่าบริการของผู้ที่เข้ามาใช้บริการด้วยความเป็นธรรม แต่การทำธุรกิจก็ต้องยอมรับว่าต้องมีเรื่องของผลกำไร เพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการกิจการต่อไปได้ ประกอบกับโรงพยาบาลเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งโรงพยาบาลวิภาวดีได้บวกเพิ่มกำไรเพียง 10% จากค่าบริการที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางโรงพยาบาลมีข้อมูลอยู่ในระบบซึ่งผู้ใช้บริการสามารถตรวจเข้าสอบได้
       
       “การที่ทางโรงพยาบาลเอกชนคิดค่าบริการค่อนข้างสูง เพราะมีค่าใช้จ่ายแฝงที่นอกเหนือจากค่ายาและค่ารักษาพยาบาล ทำให้ต้องเรียกเก็บจากผู้บริโภค โดยเฉพาะการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ความสะดวกในการใช้บริการ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรที่ต้องเข้าเวร ซึ่งในใบเสร็จไม่ได้แสดงต้นทุนในส่วนนี้ไว้ โดยทางโรงพยาบาลไม่ได้นำมารวมค่ายา แต่ต่อไปจะเปิดเผยค่าใช้จ่ายนี้ให้ประชาชนรับทราบ พร้อมกันนี้ ก็ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าศึกษาต้นทุน ค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลทั่วไป เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริง ถึงต้นทุน ค่าใช้จ่ายอื่น เพราะแต่ละที่ไม่เหมือนกัน โดยต้องการให้นำมาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้”
       
       นางปัทมา พรมมาส ประธานกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลนนทเวช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลได้จัดจุดบริการให้ประชาชนได้ตรวจสอบค่าย่า ค่ารักษาพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการได้ทราบถึงราคา ส่วนผลกำไรของทางโรงพยาบาล ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นประมาณ 10%
       
       อย่างไรก็ตาม หากข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดราคายาและค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีมติอย่างไร ทางโรงพยาบาลก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
       
       ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรณีที่มีบริษัทเอกชนมายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับตัวยาโซฟอสบูเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีนั้น กรมฯ ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง โดยจากการตรวจสอบ พบว่า มีผู้ยื่นคำขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับตัวยาโซฟอสบูเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี จำนวน 8 คำขอ ระหว่างปี 2541-2554 และกรมฯ ได้ประกาศโฆษณาแล้ว 3 คำขอ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถคัดค้านได้ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ประกาศโฆษณา ซึ่งไม่มีผู้คัดค้าน
       
       ทั้งนี้ แม้จะเลยระยะเวลา 90 วันของการให้ยื่นคัดค้านได้ แต่กรมฯ ก็ไม่ได้ปิดโอกาส โดยล่าสุดได้รับเรื่องจากเครือข่ายองค์กรเอดส์ที่ได้นำส่งข้อมูลเข้ามาให้พิจารณา โดยไม่เห็นด้วยการรับจด เพราะจะทำให้คนไทยเข้าถึงยายากขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้ ก็จะนำไปเป็นข้อมูลพิจารณาในขั้นตอนของการตรวจสอบว่าคำขอที่ยื่นจดนั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือไม่ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ซึ่งจะมีคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรยาฉบับที่ปรับปรุงใหม่ ที่เกิดขึ้นจากการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมถึงเครือข่ายองค์กรด้านเอดส์มาใช้ ดังนั้น การพิจารณาของกรมฯ จะเป็นไปอย่างรอบคอบและสอดคล้องกับหลักกฎหมาย
       
       “ประเด็นที่เครือข่ายเอ็นจีโอระบุว่ากรมฯ เป็นทาสบริษัทยา ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง เมื่อมีผู้ยื่นขอจดสิทธิบัตรก็ต้องพิจาณาตามกฎหมายให้ หากไม่รับจดจะกลายเป็นประเทศไทยที่ไม่มีหลักเกณฑ์”
       
       สำหรับกรณีที่ทางเครือข่ายเอ็นจีโอขอให้มีกระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) กับยารัสตับอักเสบซีนั้น ยืนยันว่ายาดังกล่าวยังไมได้มีการจดคุ้มครองสิทธิบัตร จึงยังไม่สามารถที่จะบังคับใช้ซีแอลได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 พฤษภาคม 2558