ผู้เขียน หัวข้อ: มัชฌิมาปฏิปทา หลักธรรมสำคัญแห่งวันอาสาฬหบูชา  (อ่าน 3643 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด

สุข = สงบ; สุข ≠ สนุก

สุขภาพ    = สุข + ภาวะ = ภาวะแห่งความสงบ เป็นประโยชน์อันยิ่ง (ปรมัตถ์ = ปรม + อัตถ) ในพุทธศาสนา มี ๔ ประการ ได้แก่

กายสงบ = สงบจากความเจ็บความป่วย เป็นลาภอย่างยิ่ง (อโรคยา ปรมา ลาภา)
จิต (วิญญาณ) สงบ = สงบจากความทะยานอยาก พอเพียง (สันโดษ) เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง (สนฺตุฏฺฐํ ปรมํ ธนํ)
สังคมสงบ = สงบจากการเบียดเบียนกันและกัน แบ่งปันกัน เป็นญาติอย่างยิ่ง (วิสาสา ปรมา ญาติ)
สงบที่สุด = สงบจากการเกิด การเป็น การปรุงแต่ง (สังขาร) ทั้งปวง เป็นสุขอย่างยิ่ง (นิพพานํ ปรมํ สุขํ)
สนุก  (กามสุขาลิกานุโยค) เป็นทางสุดโต่งด้านหนึ่ง ที่ผู้มีปัญญาไม่พึงเสพ เพราะเป็นเหตุเป็นปัจจัยนำมาซึ่ง "ทุกขภาพ" ในภายหน้าได้ สนุกตา สนุกหู (ดูการละเล่น เล่นเกมส์ อันเป็นข้าศึกแก่กุศล) สนุกจมูก สนุกลิ้น (กิน อร่อย โรคอ้วน โรคหัวใจ พยาธิ มะเร็ง) สนุกกาย (คงคิดได้ว่านำมาซึ่งสิ่งใด) สนุกใจ (เกียรติ ยศ สรรเสริญ ฌาน)

สนุกทั้งหมดดังกล่าวนี้ ผู้มีปัญญาน้อย มักหลงว่า "สนุก" เป็น "สุข" แต่จริงแล้วเป็น "เหยื่อ" ล่อให้ไปติดกับดักแห่ง "ทุกขภาพ" ในภายภาคหน้า  แต่ผู้ได้เจริญปัญญาแล้วทราบดี จึงไม่เสพ

 

ในทางตรงกันข้าม การทรมานตน (อัตถิกิลมถานุโยค) หมกมุ่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไป ไม่เสพสิ่งที่ควรเสพ ก็เป็นทางสุดโต่งอีกทางหนึ่ง ซึ่งพระบรมโลกนาถบรมศาสดาแสดงแก่บรรดาสาวกทั้งหลายว่าไม่พึงทำเช่นกัน

 

ความพอดี พอเพียง (มัชฌิมาปฏิปทา) ต่างหากที่เป็นทางพึงดำเนินตามรอยแห่งพระปุริสสัทธัมมสารถิ (พระผู้สามารถฝึกบุคคลที่ฝึกได้อย่างไม่มีใครเทียบได้) ด้วยมีใจรัก (ฉันทะ) พากเพียรทำ (วิริยะ) นำจิตฝักใฝ่ (จิตตะ) ใช้ปัญญาสอบสวน (วิมังสา)

 

ต้องระลึกไว้เสมอๆ ว่า "พอใจ" ไม่ใช่ "พอดี" หากแต่ต้อง "ใช้ปัญญาสอบสวน" ให้เห็นชัดว่า "พอดี" เช่น เพียงรู้สึกว่า กินน้อยและออกกำลังมากแล้ว แต่อ้วนขึ้นทุกทีๆ อย่างนี้ไม่พอดี แสดงว่า ยังกินมากไป ออกกำลังน้อยไป นั่นเอง ดังนั้นจึงต้องฝึกตนทำให้แต่พอดี "ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้"

 

เนื่องในวันอันเป็นที่ระลึกแห่งการเกิดขึ้นแห่งพระรัตนตรัยครบ ๓ ประการ ขอศรัทธา-ความเชื่อมั่น ปสาทะ-ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย-คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่า เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้จริง จงมีแด่ท่าน ดังแสดงไว้ใน "เขมาเขมสรณทีปิกคาถา" อันเป็นพระคาถาว่าด้วยสรณะอันเกษมสูงสุด ความว่า

 

ผู้คนเป็นอันมากเมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาวัตถุภายนอกต่างๆ เช่น ภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง วัตถุมงคลต่างๆ บ้าง หรือแม้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก (สรณะ) แต่วัตถุภายนอกดังกล่าวนั้นไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด เพราะเมื่ออาศัยที่พึ่งที่ระลึกดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่อาจพ้นจากทุกทั้งหลายได้

 

ส่วนผู้ใดพยายามศึกษา (ค้นคว้า ปฏิบัติ) ซึ่งคำสั่งสอนแห่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก จนกระทั่งได้เห็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔  คือเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และทางทั้ง ๘ ซึ่งมีความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) เป็นประธานอันเป็นทางเข้าไปถึงความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบของตนเองแล้ว ผู้นั้นย่อมเข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกอันเกษม ได้รับที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด เพราะเมื่อได้อาศัยที่พึ่งที่ระลึกดังกล่าวแล้ว ย่อม พ้นจากทุกข์ทั้งหลายได้

 

สุข สันติ (สงบ) ในวันแห่งการบูชาในอาสาฬหฤกษ์ (อาสาฬหบูชา) ทั่วกันนะครับ

--
นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
Re: มัชฌิมาปฏิปทา หลักธรรมสำคัญแห่งวันอาสาฬหบูชา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 16 กรกฎาคม 2011, 22:08:52 »
สาธุ