ผู้เขียน หัวข้อ: ศึกหมอยืดเยื้อ 13 ปีไม่จบ วัดฝีมือ‘บิ๊กตู่’เอาอยู่หรือไม่  (อ่าน 623 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
แม้ในคำสั่งจะให้เหตุผลเพียงว่า มีเหตุจําเป็นต้องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการบางตําแหน่ง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงานอันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปราชการแผ่นดิน

กลายเป็นปมร้อนกระตุกคนไทยให้ส่องไฟไปยังแวดวงเสื้อกาวน์อีกระลอก หลัง“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)งัดมาตรา 44 สะบัดปากกา เซ็นคำสั่งที่ 19/2558 เด้ง 71 ข้าราชการ

คำสั่ง คสช. ครั้งนี้ ปรากฏชื่อนพ.วินัย สวัสดิวรเลขา ธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ติดอยู่ในบัญชีถูกเด้งด้วย

แม้ในคำสั่งจะให้เหตุผลเพียงว่า มีเหตุจําเป็นต้องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการบางตําแหน่ง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงานอันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปราชการแผ่นดิน แต่กรณีของ“หมอวินัย”สะกิดให้คนวงในคิดถึงปัญหาการบริหารงบแสนล้านบาทของกองทุนบัตรทอง ที่ สปสช. ดูแลอยู่

ผลของคำสั่งนี้ ทำเอาคนไทยได้เห็นภาพความขัดแย้งในแวดวงสาธารณสุขปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหาขบเหลี่ยมระหว่าง“นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” รมว.สาธารณสุข กับ“นพ.ณรงค์สหเมธาพัฒน์”ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จนสุดท้าย“หมอณรงค์”ต้องถูกเด้งเข้ากรุไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแทน พร้อมถูกตั้งกรรมการสอบ ซึ่งผลสอบล่าสุดออกมาแค่ว่า เกิดจากปัญหาความเห็นต่างกันเท่านั้น

เลยเกิด 2 ข่าวลือหนาหูทั้งข่าว“หมอณรงค์”ส่อรีเทิร์น คืนรัง สธ. กับข่าวลือ ยุบบอร์ด สปสช. ด้วยอำนาจตาม ม.44 เป็น2ปมร้อนแซ่บ ๆ ปลุกเอาพลพรรคทั้งสองฝั่งตบเท้าเอกเซอร์ไซส์

อย่างกลุ่มประชาคมสาธารณสุข ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมอในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป กลุ่มนี้จัดเป็นแฟนคลับ“หมอณรงค์”พากันตบเท้าวอน“บิ๊กตู่”ให้ตัดสินใจส่ง“หมอณรงค์”คืนรัง พร้อมบี้ให้ตรวจสอบการบริหารกองทุนบัตรทอง

งานนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การรื้อบอร์ด สปสช. ไม่ทำให้ระบบสุขภาพของประเทศถึงกับต้องล่มสลาย เพราะถ้าล่มสลายเท่ากับว่าระบบไม่ดีจนต้องอาศัยคนเพียงกลุ่มเดียวเข้ามาบริหาร พร้อมตั้งคำถามเหตุใดถึงกลัวและต่อต้านไม่ให้“หมอณรงค์”กลับกระทรวง

ขณะที่ฟากชมรมแพทย์ชนบททั้งนพ.วิชัย โชควิวัฒนกรรมการบอร์ด สปสช.นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติประธานชมรมแพทย์ชนบทนพ.มงคลณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข ไปจนถึง เครือข่ายเอ็นจีโอดาหน้าวอน“บิ๊กตู่”คืนความเป็นธรรมให้กับ“หมอวินัย”ผู้บริสุทธิ์ เพราะทำทุกอย่างตามมติบอร์ด สปสช.พร้อมเรียงหน้าค้านหัวชนฝาอย่าส่ง“หมอณรงค์”รีเทิร์น สธ.

แต่เสียงเรียกร้องของกลุ่มแพทย์ชนบท ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก เพราะ“บิ๊กตู่”ออกอาการอุ้ม“หมอณรงค์”โดยให้สัมภาษณ์ทำนองว่า หาก“หมอณรงค์”ไม่ผิด ต้องให้กลับไปที่เดิม ส่วนเรื่องการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ“บัตรทอง”ที่แม้จะเกิดประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้ายังบริหารอย่างนี้นับถอยหลังโรงพยาบาลจะมีแต่เจ๊ง กับเจ๊ง

“บิ๊กตู่”ยังบ่นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า“บางคนทำให้เกิดความขัดแย้งมีการขยายความกันเรื่อยเปื่อยไม่จบ ทุกวันนี้ทั้งหมอชนบท หมอสาธารณสุข และอีกหลายหมอวุ่นกันไปหมด”

หากย้อนไปดูข้อมูลที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในแวดวงสาธารณสุขเป็นมหากาพย์ยาวนานถึง 13 ปี โดยเริ่มส่งสัญญาณขึ้นมาพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของ สปสช. เมื่อปี2545องค์กรที่แพทย์ชนบทเป็นผู้ก่อร่างสร้างตัว บทบาทหน้าที่คือผู้กำเงินซื้อการรักษาให้ประชาชน45ล้านคน จนเพิ่มเป็นกว่า49ล้านคนในปัจจุบัน

หลังจากนั้นก็มี หน่วยงาน สถาบันอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาทีหลัง กลายเป็นที่รู้กันดีในนาม“ตระกูล ส.”โดยมี ลูกหม้อชมรมแพทย์ชนบท นั่งคุมอยู่

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน กองทุนสปสช.ถูกบริหารงานโดยคนของชมรมแพทย์ชนบทมาโดยตลอด ด้วยระบบและระเบียบที่ร่างกันขึ้น ในขณะที่งบประมาณรายหัวที่มีแต่เพิ่มขึ้น ๆ แต่กลับเกิดปรากฏการณ์โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประสบภาวะขาดทุนสะสมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคนฝั่งกระทรวงเห็นว่าเป็นเพราะสปสช.ให้งบประมาณอย่างจำกัด

และยิ่งน้อยใจไปกันใหญ่เมื่อสปสช.ให้เงินกับหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สถานพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนดโดยทางกระทรวงได้ท้วงติง ขอให้มีการปรับปรุงกันตลอดแต่ไม่เคยสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม คนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงมีอันต้องเจ็บตัวไปทุกราย

กระทั่ง“หมอณรงค์”ขึ้นเป็นปลัดกระทรวง ในยุคนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์เป็น รมว.สาธารณสุข ได้เดินหน้ารื้อระบบการจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่าย มาเป็นการจ่ายตามภาระงานหรือ พีฟอร์พี ทำเอา แพทย์ชนบทนำโดยนพ.เกรียงศักดิ์ ประธานชมรมคนเดิมไม่พอใจ

ยิ่งมีการเดินหน้าเขตสุขภาพ จ่อปรับเกณฑ์จัดสรรเงินให้โรงพยาบาลใหม่ ความขัดแย้งยิ่งดุเดือดนพ.เกรียงศักดิ์นำลูกทีมออกมาคัดค้านอย่างหนักถึงขั้นพังประตูห้องประชุม ขู่หยุดงาน และพาผู้ป่วยโรคไตไปเตรียมตั้งเต็นท์ล้างไตโชว์กันหน้าบ้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมาเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม หลัง“บิ๊กตู่”ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตั้ง“หมอรัชตะ”นั่ง รมว.สาธารณสุข พร้อมกับนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์เป็น รมช.สาธารณสุข โดยนพ.สมศักดิ์มีสายเลือดของแพทย์ชนบทอยู่อย่างเข้มข้น ประกอบกับ ทีมกุนซือ เกือบจะทั้งหมดมาจากครอบครัวแพทย์ชนบททั้งสิ้น ทำหน้าที่เป็นมันสมองในทุก องค์กร ส.และกระทรวงสาธารณสุข ในยุคปัจจุบัน

กลายเป็นว่า ฝั่งสปสช. ก็บริหารโดยคนกลุ่มเดิม แถมขยายมายังกระทรวงอีก ความเป็น“เอกภาพ”ของกลุ่มแพทย์ชนบทยิ่งมั่นคงโดยจะมีทั้ง กลุ่มแพทย์ชนบททั้งคณะทั้ง“หมอรัชตะ”ไปจนถึงรองนายกรัฐมนตรีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนรักหลักประกัน ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยเข้าร่วมด้วยช่วยกัน โดยยกข้ออ้างว่าอย่าให้ใครมาทำลายระบบสุขภาพ

แต่“หมอณรงค์”ยังปักหลักคงนโยบายเดิมเดินหน้าขอให้เปลี่ยนการบริหารจัดการเงิน โดยมีประชาคมสาธารณสุข หนุนหลัง“หมอณรงค์”กลายเป็นความหวังเดียวของคนในกระทรวงยืนหลังพิงฝา ร้องขอให้คนนอกมาตรวจสอบการบริหารงบประมาณของสปสช.โดยเฉพาะปมการจัดสรรเงินให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สถานพยาบาลของรัฐ ที่น่าจะเป็นเหตุให้เงินไม่ถึงมือโรงพยาบาลจนเกิดปัญหาขาดทุน

ฝ่ายนพ.รัชตะได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโรงพยาบาลว่าทำไมถึงบริหารงานขาดทุน และกรรมการสอบข้อมูลของ สปสช. และกระทรวง ดันเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามานั่งหัวโต๊ะ โดยเฉพาะนายอัมมาร สยามวาลาผู้วางระบบจัดสรรเงินของ สปสช. ตั้งแต่ต้น ปัญหาเลยไม่จบ แถมส่อเค้าบานปลาย ร้อนถึง พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีต้องเรียกทั้งสองฝ่ายเข้าไปหย่าศึก

แต่จู่ ๆนายยงยุทธก็ได้มีคำสั่งที่ 70/2558 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง“หมอณรงค์”เหตุไม่สนองตอบนโยบายรัฐบาล และเจ้ากระทรวง จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ก็ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 75/2558ย้าย“หมอณรงค์”ไปตบยุง ที่สำนักนายกฯ

เป็นเหตุให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศไม่พอใจ ออกมาประท้วงคำสั่ง พร้อมทั้งขึ้นป้ายหน้าโรงพยาบาลโดยเรียกร้อง“บิ๊กตู่”ให้“เอาตัว2 รัฐมนตรีกลับไป และเอาปลัดกระทรวงคืนมา”

บัดนี้ผลสอบ“หมอณรงค์”ออกมาแล้วว่า เป็นเพียงความเห็นต่าง ทำให้กระแสส่งคืนกระทรวงสาธารณสุขหนาหูขึ้น ขณะที่“หมอวินัย”กลับถูกตรวจสอบเสียเอง ท่ามกลางข่าวลือยุบบอร์ด สปสช.

ศึกเสื้อกาวน์เลยปะทุขึ้นมาอีกครั้ง งานนี้วัดใจ“บิ๊กตู่”ว่าจะเอาอยู่หรือไม่ ถ้าขนาดรัฐบาลทหารยังแก้ไม่ได้ ศึกวงการเสื้อกาวน์คงไม่จบง่าย ๆ.“

เดลินิวส์  วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2558
http://www.dailynews.co.th/politics/332559