ผู้เขียน หัวข้อ: สั่ง 3 หน่วยงานถกค่ารักษาพยาบาลเอกชนแพงหูฉี่ หวังกำหนดราคาเป็นธรรม  (อ่าน 458 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
นายกรัฐมนตรี สั่ง "แพทยสภา-สาธารณสุข-กรมการค้าภายใน" ถกโรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง หวังกำหนดราคาเป็นธรรม ชี้ต้นทุนการดำเนินงานแตกต่างกัน จ่อเปรียบเทียบเมืองนอก อีกด้านหากเป็นเคสผ่าตัดหนักควรชี้แจงล่วงหน้าก่อน
       
       วันนี้ (10 พ.ค.) ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความกังวลต่อข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการที่โรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลและค่ายาจากชาวต่างประเทศสูงเกินจริง จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ปัญหา
       
       ทั้งนี้ มีสามหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ แพทยสภา ซึ่งได้จัดทำคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ที่ได้กำหนดเกณฑ์ค่าแพทย์และหัตถการที่เหมาะสมโดย 14 ราชวิทยาลัยไว้แล้วตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลและแพทย์ใช้ปฏิบัติแต่ไม่รวมถึงค่าพยาบาล หรือค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ
       
       ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ในการกำกับคุณภาพและมาตรฐานของโรงพยาบาลได้ให้สถานพยาบาลประกาศราคาค่ารักษาพยาบาลให้เป็นที่เปิดเผยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ก็จะเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวให้มากขึ้น
       
       สำหรับหน่วยงานที่สาม คือ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่รับเรื่องร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล โดยบังคับใช้ กม.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่เป็นธรรม และตรวจสอบความเหมาะสมและต้นทุนการให้บริการของสถานพยาบาลนั้น
       
       “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ป่วยและสถานพยาบาลเอกชน รวมถึงอาจพิจารณาปรับปรุงมาตรการหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ และจะรายงานผลการหารือและผลการตรวจสอบให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป” ร.อ.นพ. ยงยุทธ กล่าว
       
       ร.อ.นพ. ยงยุทธ กล่าวว่า การให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคในการรับบริการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งต้นทุนในการประกอบกิจการมีความแตกต่างกันและถือเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องนำมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
       
       นอกจากนี้ ยังควรต้องพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนของไทยกับโรงพยาบาลเอกชนในระดับเดียวกันของประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ทัดเทียมกับไทยว่า มีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรด้วย
       
       ส่วนกรณีผู้ป่วยชาวต่างประเทศ ที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีการประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลล่วงหน้าตามข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้นที่มีอยู่ แต่เมื่อมีการรักษาพยาบาลหรือการผ่าตัดเกิดขึ้นแล้ว อาจพบว่าผู้ป่วยจำต้องได้รับการรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมจากที่ได้มีการประเมินไว้ ซึ่งส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้มาก ก็ขอให้โรงพยาบาลเอกชนชี้แจงกับผู้รับบริการล่วงหน้าก่อนเริ่มให้การรักษาเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
       
       ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับราคายาหรือค่ารักษาพยาบาล สามารถติดต่อได้ที่กระทรวงพาณิชย์ หรือสายด่วน 1569

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 พฤษภาคม 2558