ผู้เขียน หัวข้อ: กม.ป้องกันท้องวัยรุ่น ห้าม ร.ร.ไล่ “นร.ป่อง” ออก  (อ่าน 878 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
กรมอนามัย เผย กม.ป้องกันท้องวัยรุ่น กำหนดชัด ห้าม “โรงเรียน” ไล่ นร. ตั้งครรภ์ออก คุ้มครองให้ได้เรียนต่อ พร้อมรับสวัสดิการสังคม ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ ยก “โคราช” ต้นแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ลดท้องวัยรุ่นสำเร็จ
       
       วันนี้ (19 ก.ย.) ในเวทีแลกเปลี่ยน “นครราชสีมา : ต้นแบบการจัดการและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ จ.นครราชสีมา นายสมหมาย วิเชียรฉันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในปี 2552 จ.นครราชสีมา มีหญิงอายุ 15 - 19 ปี มาคลอดเฉลี่ยสูงถึงวันละ 13 คน หรือคิดเป็น 58 คนต่อวัยรุ่นพันคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ที่น่าห่วงคือ 80% ยังอยู่ในระบบการศึกษา จึงปรับการทำงานจากการแก้ไขปัญหาเป็นยุติปัญหา ภายใต้กลยุทธ์การจับคู่ทำงานระหว่างสถานศึกษากับสถานบริการสุขภาพ 400 โรงเรียน 400 โรงพยาบาล ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เพื่อสอนให้นักเรียนมีทักษะชีวิต รู้จักปฏิเสธ มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาสามารถทำได้ดี จึงได้ขยายกิจกรรมไปในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกแห่งของจังหวัด รวมไปถึงกลุ่มอาชีวะและราชภัฏด้วย ทำให้สามารถลดอัตราหญิงอายุ 15 - 19 ปี ที่มาคลอดบุตรเหลือ 48 คนต่อวัยรุ่นพันคน ซึ่งทิศทางในอีก 10 ปีข้างหน้าภายใต้ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.นครราชสีมา ตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการคลอดในหญิงอายุ 15 - 19 ปี ให้เหลือ 25 คนต่อวัยรุ่นพันคน และจะขยายรูปแบบการทำงานดังกล่าวไปในเขตสุขภาพที่ 9 “นครชัยบุรินทร์” คือใน จ.ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ ด้วย
       
       นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ครอบคลุมการดูแลวัยรุ่นคือ อายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ถึง 20 ปี สาระหลักสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ 1. สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหา และพัฒนาผู้สอนวิถีเพศศึกษา ให้คำปรึกษาช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม และส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2. สถานบริการสุขภาพต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3. สถานประกอบกิจการที่มีวัยรุ่นทำงานอยู่ต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4. หน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมต้องจัดสวัสดิการสังคมให้กับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด ได้รับการฝึกอาชีพ การรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น และ 5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิและสนับสนุนการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ตามสิทธิของวัยรุ่น โดยกฎหมายกำหนดให้ 5 กระทรวงหลัก คือ สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) การะทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำงานร่วมกัน และแต่ละกระทรวงต้องไปออกกฎกระทรวงเพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ
       
       “พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ และให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการ เนื่องจากแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดมีสภาพปัญหาและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เมื่อมีคณะกรรมการระดับจังหวัดก็จะช่วยให้ทราบปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ และหากแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองได้ เช่น พ่อแม่ยังไม่เข้าใจเรื่องการสอนเพศวิถีที่ถูกต้อง การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ คณะกรรมการระดับจังหวัดก็ต้องหาแนวทางในการประชาสัมพันธ์หรือปรับทัศนคติให้พ่อแม่เข้าใจให้ได้ หรือการให้โอกาสเรียนต่อแก่นักเรียนที่ตั้งครรภ์ ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนว่าไม่สามารถไล่ออกได้ และหากมีแรงกดดันในโรงเรียน โรงเรียนก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เด็กลาออก เป็นต้น ซึ่งการทำงานของ จ.นครราชสีมาที่มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงได้” นพ.กิตติพงศ์ กล่าว
       
       ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากสถิติการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นประเทศไทย ปี 2558 พบว่า มีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี มาคลอดบุตรรวม 104,289 คน เท่ากับแต่ละวันมีเด็กเกิดจากแม่วัยรุ่นถึง 286 คน ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนหลักใน 20 จังหวัด ซึ่งนครราชสีมาเป็นหนึ่งในจังหวัดดังกล่าว โดยอาศัยมาตรการ 9 ภารกิจ ซึ่งพัฒนามาจากกรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษที่องค์การอนามัยโลกยกย่องให้เป็นโมเดลความสำเร็จในการทำงานเรื่องนี้ ร่วมกับบทเรียนในไทย โดย 9 ภารกิจ ประกอบด้วย 1. มีกลไกประสานการทำงานระดับจังหวัด 2. การทำงานร่วมกับผู้ปกครองให้มีทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูก 3. มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน 4. การทำงานกับกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
       
       5. รณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบ เพื่อชะลอการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 6. มีหน่วยงานสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น  7. ระบบบริการที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษา และสังคม  8. การจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน และ 9. มีระบบข้อมูล เพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ คือ การสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย ทั้งพัฒนาการทางเพศ สัมพันธภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การเคารพสิทธิ การคุมกำเนิด เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น
       
       น.ส.บุญช่วย นาสูงเนิน ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนต้นแบบทำได้ผลเป็นอย่างดี แต่ต้องเปลี่ยนวิธีทำงานให้ได้ผลถึงเด็กและเยาวชนทั้งจังหวัด 150,000 คน จึงเป็นที่มาของการจับคู่ระหว่างโรงเรียนและโรงพยาบาล เพื่อจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิต อนามัยเจริญพันธุ์วัยรุ่นและเพศศึกษา การวางระบบให้คำปรึกษา ระบบส่งต่อเพื่อรับบริการทางสุขภาพ พร้อมกับทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อาร้างแรงสนับสนุนให้ผู้บริหารประกาศเป็นนโยบายของทั้งจังหวัด และขยายผลไปสู่ผู้ปกครองในกลุ่มเด็กเปราะบางที่อยู่เป็นคู่ หรือเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว เพื่อให้คำแนะนำปรึกษารับบริการฝังยาคุมกำเนิด โดย สสส. เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนงานจังหวัด ทั้งด้านข้อมูล ความรู้ และงบประมาณ รวมถึงเชื่อมประสานภาคส่วนต่าง ๆ

โดย MGR Online       19 กันยายน 2559