ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 16-22 มิ.ย.2556  (อ่าน 981 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 16-22 มิ.ย.2556
« เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2013, 23:02:46 »
1. รัฐบาล ถอย ลดราคาจำนำข้าวเหลือตันละ 12,000 บ. อ้างเพื่อรักษาวินัยการคลัง ด้านชาวนา ไม่พอใจ ขู่ประท้วง!

       ความคืบหน้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล หลังพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแฉว่า โครงการดังกล่าวขาดทุนกว่า 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ก็เคยออกมาเผยว่า ตัวเลขขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ฝ่ายรัฐบาลพยายามปฏิเสธว่า ตัวเลขขาดทุนไม่ใช่ 2.6 แสนล้าน แต่เท่าไหร่ยังบอกไม่ได้ ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รวบรวมข้อมูลโครงการจำนำข้าว ออกมาเผยว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ กับกระทรวงพาณิชย์มีวิธีการคำนวณต่างกัน ทำให้ตัวเลขขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวออกมาไม่เหมือนกัน โดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ บอกว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 และโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง 2555 ตัวเลขขาดทุนรวม 2 โครงการอยู่ที่ 136,908 ล้านบาท แต่กระทรวงพาณิชย์ บอกว่าตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 49,908 ล้านบาท นายวราเทพ ยังชี้ด้วยว่า เมื่อนำตัวเลขขาดทุนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ที่ระบุว่า 2 โครงการขาดทุน 1.3 แสนล้านบาท มาบวกกับตัวเลขขาดทุนของโครงการจำนำข้าวปี 2555/56 ซึ่งอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขาดทุนแค่ 1.9 แสนล้านบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 2.6 แสนล้านบาท
       
       ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กขช.อ้างว่า เหตุที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ คำนวณตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลออกมาสูง เพราะไม่ได้นำปริมาณข้าวเปลือกในสต๊อกที่อยู่ระหว่างแปรสภาพมาคำนวณด้วยจำนวน 2.59 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นต้นทุนประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท
       
       อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ มีมติไม่รับตัวเลขข้าวเปลือก 2.5 ล้านตันดังกล่าว เนื่องจากต้องรอตรวจสต๊อกสินค้าว่ามีอยู่จริง อีกทั้งในการลงบันทึกของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จะยึดปริมาณสต๊อกข้าวสารเป็นหลัก ไม่ใช่ข้าวเปลือกที่อยู่ระหว่างการสี
       
       ด้านคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ได้รับทราบผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลปี 2554/55 วงเงิน 1.36 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนตัวเลขข้าวที่อยู่ระหว่างแปรสภาพเป็นข้าวสาร 2.5 ล้านตันนั้น ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบสต๊อกดังกล่าว รวมทั้งให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ทำการปิดบัญชีทุกๆ 3 เดือน
       
       ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการตั้งคณะตรวจสอบคุณภาพข้าวหรือเซอร์เวย์เยอร์ ขึ้นมาอีกทีมหนึ่งเพื่อตรวจสอบทุกโกดัง โดยในทีมเซอร์เวย์เยอร์ต้องมีทีมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าตรวจสอบด้วย ก่อนกลับมารายงาน ครม.
       
       ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยหลังประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือในโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ว่า ที่ประชุมมีมติลงพื้นที่ตรวจสอบโรงสีและโกดังกลางพร้อมกันทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย. โดยตั้งชื่อปฏิบัติการครั้งนี้ว่า “เปิดทุกโกดัง ดูทุกคลังสินค้า ผ่าทุกโรงสี” คาดว่า ช่วงเย็นวันที่ 29 มิ.ย. จะได้ข้อสรุปเรื่องปริมาณข้าวทั้งหมด ผู้สื่อข่าวถามว่า การแจ้งกำหนดการตรวจพื้นที่ก่อนลงพื้นที่จริง 1 สัปดาห์ จะทำให้โรงสีขนข้าวเข้าโกดังก่อนหรือไม่ นายณัฐวุฒิ อ้างว่า โรงสีไม่สามารถขนข้าวเข้าโกดังได้ เพราะมีตำรวจตรวจความเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากพบการขนย้ายข้าวผิดปกติ จะตรวจสอบทันที
       
       ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีข้าวสารในสต๊อกอีก 2.5 ล้านตันจริง รัฐบาลจะขาดทุนในรอบที่สาม 6 หมื่นล้านบาท หากรวมทั้ง 3 รอบ คือ รอบที่ 1 ขาดทุน 4.3 หมื่นล้าน รอบที่ 2 ขาดทุน 9.3 หมื่นล้าน และรอบที่ 3 ขาดทุน 6 หมื่นล้าน รวมแล้วจะได้ตัวเลขขาดทุนไม่น้อยกว่า 2.4 แสนล้าน ยังไม่รวมค่าบริหารจัดการ ค่าข้าวเสื่อมสภาพ และอื่นๆ อีก 20% ที่ต้องเพิ่มเข้าไป หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
       
       ทั้งนี้ หลังจำนนต่อตัวเลขขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับราคารับจำนำข้าวข้าวเปลือกเจ้า 100% ของโครงการรับจำนำข้าวข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และ 2 จากตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกชนิดอื่นๆ ปรับลดราคาลงจากเดิม 20% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีการจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน จากเดิมที่ไม่จำกัดวงเงิน เป็นไม่เกินครัวเรือนละ 5 แสนบาทต่อปี โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.เป็นต้นไป สำหรับกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น ยังอยู่ที่ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
       
       สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลใช้ประกอบการปรับลดราคารับจำนำข้าวครั้งนี้ ก็คือ เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความผันผวน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับลดราคารับจำนำข้าว ก็ส่งผลให้ชาวนาในหลายจังหวัดไม่พอใจ และเตรียมเคลื่อนไหว โดยนายสมยงค์ สร้อยทอง แกนนำชาวนา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บอกว่า ขณะนี้แกนนำชาวนา 22 จังหวัดภาคกลางได้นัดรวมตัวกัน เพื่อไปพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยจะขอให้คงราคาจำนำข้าวไว้ที่ 15,000 บาท/ตัน ไปจนถึงวันที่ 15 ก.ย. เพราะฤดูนาปรัง เช่าที่นาแพงมาก ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำมัน ทุกอย่างแพงหมด ถ้ารัฐบาลต้องการให้ราคาจำนำข้าวอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ควรรอให้ถึงฤดูนาปี ชาวนาจะได้เจรจากับเจ้าของที่นา เพื่อจะได้ขาดทุนไม่มาก
       
       ขณะที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้จับมือกับสมาคมส่งเสริมชาวนาและข้าวไทย และสภาเกษตรกร เตรียมเดินทางมายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 มิ.ย. ให้รัฐบาลรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ไปจนสิ้นฤดูกาลในวันที่ 15 ก.ย.เช่นกัน และว่า หากรัฐบาลไม่สนองตอบข้อเรียกร้องภายใน 1 สัปดาห์ ชาวนาทั่วประเทศอาจนำรถเกี่ยวข้าว รถไถ รถอีแต๋นเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อไป
       
       2. “อี้” คว้าชัยเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดอนเมือง ด้าน ปชป.เฮ ชนะในรอบ 37 ปี ขณะที่ “แซม” ร้องคัดค้านการเลือกตั้งแล้ว!

       เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 12 (เขตดอนเมือง) แทนนายการุณ โหสกุล ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ฐานปราศรัยหาเสียงด้วยข้อความอันเป็นเท็จใส่ร้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 12 พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ ประชาชนเขตดอนเมืองได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก
       
       หลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 15.00น. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกลาง ได้นับคะแนนในส่วนของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. จำนวน 168 ใบ ซึ่งปรากฏว่า นายแทนคุณ ผู้สมัครเบอร์ 8 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 102 คะแนน ขณะที่นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครเบอร์ 9 พรรคเพื่อไทย ได้ 59 คะแนน ส่วนที่เหลือเป็นของผู้สมัครรายอื่นๆ
       
       สำหรับผลการนับคะแนนโดยรวมนั้น หลังจากชัดเจนว่า นายแทนคุณคะแนนทิ้งห่างนายยุรนันท์ ปรากฏว่า นายยุรนันท์และแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เปิดแถลงยอมรับความพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พร้อมขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ไว้วางใจและขอโทษที่ความพยายามของตนไปไม่ถึงฝั่ง นอกจากนี้ยังแสดงความยินดีกับนายแทนคุณด้วย นายยุรนันท์ ยังประเมินสาเหตุที่ตนแพ้เลือกตั้งครั้งนี้ด้วยว่า “คงผิดที่ผมคนเดียวมากกว่า และเวลาของเราน้อย เพราะตั้งแต่ได้เบอร์ 9 ผู้สมัครมีเวลาเพียง 18 วันในการหาเสียง ถือว่ามีเวลาน้อยมาก... หากมีเวลามากกว่านี้ เชื่อว่าคะแนนที่หายไป 2,000 คะแนน น่าจะไม่ใช่ปัญหา”
       
       ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธาน ส.ส.กทม. ได้เปิดแถลงพร้อมด้วยนายแทนคุณ โดยขอบคุณพี่น้องชาวดอนเมืองที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และว่า ชัยชนะครั้งนี้เป็นผลจากการทำงานหนักมาตลอด 2 ปีของนายแทนคุณ ซึ่งพรรคจะนำการทำงานของนายแทนคุณไปเป็นแบบอย่างในการทำงานในพื้นที่ที่พรรคยังไม่มี ส.ส.
       
       ขณะที่นายแทนคุณ ยืนยันว่า จะตั้งใจทำงานเพื่อตอบแทนประชาชนชาวดอนเมือง ซึ่งพรรคไม่มี ส.ส.ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2519 เป็นเวลากว่า 37 ปีแล้ว พร้อมขอบคุณนายยุรนันท์และพรรคเพื่อไทยที่ให้บทเรียนตนทุกอย่าง “ขอยืนยันว่าจะทำงานแก้ไขปัญหาปากท้อง รวมทั้งเรื่องโครงสร้างพลังงาน กองทุนบำนาญ และการทำงานร่วมกับ กทม.อย่างไร้รอยต่อ และพร้อมรับข้อเสนอดีๆ จากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้สมัครคู่แข่ง หากเป็นประโยชน์ต่อคนดอนเมือง”
       
       ทั้งนี้ วันต่อมา(17 มิ.ย.) แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายแทนคุณ ได้ขึ้นรถขบวนแห่ขอบคุณชาวดอนเมือง ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก
       
       ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้แถลงผลการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 12 ว่า ลำดับที่ 1 คือ นายแทนคุณได้ 32,710 คะแนน ลำดับที่ 2 คือ นายยุรนันท์ ได้ 30,624 คะแนน สำหรับผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 66,373 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 108,495 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 61.18 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากสำหรับการเลือกตั้งซ่อม นายประพันธ์ ยังบอกด้วยว่า หากไม่มีเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้ง กกต.สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายใน 7 วัน แต่ถ้ามีการร้องคัดค้าน กกต.ต้องไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่เสร็จ จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้พรรคเพื่อไทยและนายยุรนันท์จะแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ แต่ในที่สุด ก็ได้มีการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง โดยอ้างว่านายแทนคุณหาเสียงโดยมีการเสนอและสัญญาว่าจะให้ประโยชน์หรือทรัพย์สินใน 2 ชุมชนของเขตดอนเมือง คือ ชุมชนร่มไทรงามและชุมชนพัฒนาตลาดกลาง ด้านนายสุพจน์ ไพบูลย์ ประธาน กกต.กทม.แถลงว่า จะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน
       
       ทั้งนี้ หลังพ่ายเลือกตั้งซ่อม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ปลอบใจนายยุรนันท์ด้วยการตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถมควบตำแหน่งโฆษกกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่ง
       
       3. “ทนายสุวัตร” ยื่นถาม ผบช.น. 13 ข้อสงสัยคดีเอกยุทธ ด้าน “คำรณวิทย์” ขอเวลา 7 วัน ขณะที่ “สันธนะ” แฉ มีคนจ้างฆ่าเอกยุทธ!

       ความคืบหน้าคดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดัง หลังตำรวจจับผู้ต้องหาได้ 4 ราย คือ นายสันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง คนขับรถของนายเอกยุทธ ,นายสุทธิพงษ์ หรือเบิ้ม พิมพิสาร ,นายชวลิต หรือเชาว์ วุ่นชุม และนายทิวากร หรือทิว เกื้อทอง โดยตอนแรกนายสันติภาพอ้างว่านายเอกยุทธให้ขับรถลงใต้ ก่อนมีเพื่อนมารับที่ปราณบุรี เพื่อไปประเทศพม่า แต่ภายหลังสารภาพว่าเป็นคนฆ่านายเอกยุทธ เพื่อชิงทรัพย์และแค้นที่นายเอกยุทธไล่แฟนสาวออกจากงาน ขณะที่ตำรวจพยายามสรุปคดีว่าเป็นการฆ่าเพื่อชิงทรัพย์ แต่ทางญาติและนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความนายเอกยุทธ ยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะหลายอย่างยังมีพิรุธนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายสุวัตร ได้เข้าพบ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เพื่อยื่นหนังสือตั้งข้อสงสัยการฆาตกรรมนายเอกยุทธ 13 ข้อ ประกอบด้วย

1.เรื่องมูลเหตุจูงใจ หากคนร้ายประสงค์ต่อทรัพย์ เหตุใดจึงนำสร้อยคอทองคำ พระสมเด็จเลี่ยมทอง และนาฬิกาโรเล็กซ์ของนายเอกยุทธไปทิ้งน้ำ

2.การลงมืออุ้มนายเอกยุทธ ไม่เชื่อว่านายบอลกับนายเบิ้ม จะลงมือกระทำได้โดยลำพัง น่าจะมีบุคคลอื่นร่วมด้วย เพราะนายบอลขับรถ ถือปืน และปีนข้ามจากฝั่งคนขับไปยังที่นั่งของนายเอกยุทธ นายเอกยุทธน่าจะแย่งปืนได้ เพราะเป็นคนเล่นปืนและรู้วิธีแย่งปืน หรือน่าจะเปิดประตูรถวิ่งหนี เมื่อนายเอกยุทธไม่ทำ น่าจะเป็นเพราะถูกล็อกตัวไว้โดยกลุ่มคนร้ายที่แฝงตัวอยู่หลังรถตู้
       
3.ระหว่างที่นายบอลรอนายเอกยุทธที่ร้านครัวกระแต ภาพจากกล้องวงจรปิดพบนายบอลพูดโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา ซึ่งโทรศัพท์เครื่องนี้หายไป จึงขอให้สืบหาโทรศัพท์เครื่องนี้และตรวจดูว่านายบอลคุยกับใครบ้าง

4.จากคำรับสารภาพของนายบอลในครั้งแรก อ้างว่าได้รับการติดต่อจากนายเปี๊ยก ซึ่งเป็นคนที่เอากุญแจมือและโทรศัพท์มือถือมาให้นายบอลใช้งานในการอุ้มฆ่านายเอกยุทธ จึงอยากรู้ว่านายเปี๊ยกเป็นใคร มีตัวตนจริงหรือไม่

5.ฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดในบ้านนายเอกยุทธ น่าจะเป็นคำตอบได้ว่าคนร้ายมีกี่คน มีใครบ้าง อีกทั้งฮาร์ดดิสก์นี้มีระบบเชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ต สามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือหรือไอแพดของนายเอกยุทธได้ ขอให้ตรวจบริษัทที่ให้บริการกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ที่บ้านนายเอกยุทธด้วย

6. คำให้การของนายบอลกับนายเบิ้มขัดกันหลายประการ เช่น นายเบิ้มบอกว่า เมื่อฆ่านายเอกยุทธแล้ว นำศพมุ่งหน้าไป จ.พัทลุง ระหว่างทางได้แวะพักที่บ้านควนหนองหงส์ จ.นครศรีธรรมราช แต่นายบอลให้การว่าระหว่างทางไม่มีการหยุดพัก จึงขอให้ตำรวจตรวจสอบว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นของใคร มีการทำลายฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดหรือไม่ และมีการฝังสร้อยคอ นาฬิกานายเอกยุทธหรือไม่
       
7.เนื่องจากนายบอลและนายเอกยุทธมีรูปร่างใกล้เคียงกัน ญาติจึงไม่เชื่อว่าลำพังตัวต่อตัว นายบอลจะบีบคอนายเอกยุทธถึงแก่ความตายได้ จึงขอให้หากล้องวงจรปิดที่อยู่ในละแวกลาดกระบัง และหาคนขับรถ 10 ล้อที่วิ่งผ่านขณะที่นายเอกยุทธหนีออกจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือ

8.นายเบิ้มให้การว่าไปช่วยนายบอลขนศพนายเอกยุทธขึ้นรถ และบอกว่าสภาพศพนายเอกยุทธตาถลน ลิ้นจุกปาก ขอให้สอบปากคำเพิ่มว่า หน้าตานายเอกยุทธมีการถูกทุบทำร้ายหรือไม่ มีบาดแผลที่จุดใดบ้าง

9.บุคคลใดนำกระเป๋ายี่ห้อหลุยส์ วิตตอง ที่ใส่เอกสารของนายเอกยุทธไป ซึ่งนายเบิ้มอ้างว่ากระเป๋าอยู่ที่นายบอล ขอให้ตรวจสอบมีการนำไปที่พัทลุงด้วยหรือไม่ หรือนำไปเก็บไว้ที่บ้านพักควนหนองหงส์ จ.นครศรีธรรมราช

10. ประเด็นเรื่องลูกอัณฑะของนายเอกยุทธ ที่มีการบวม เกิดจากธรรมชาติการตายหรือไม่ หรือถูกบีบเพื่อทำร้าย ขอให้แพทย์ตรวจสอบด้วย

11.กรณีมีกลุ่มชายต้องสงสัยอยู่บริเวณปาก ซ.ประดิพัทธ์ 17 หน้าโรงแรมประดิพัทธ์ ในวันที่นายเอกยุทธหายตัวไปเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ขอให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดของร้านแลกเปลี่ยนเงินตราที่อยู่ตรงข้ามกันด้วย

12.ขอให้ตรวจรถตู้โฟล์กของกลางให้ละเอียดอีกครั้งว่า นอกจากนายเบิ้ม นายบอล และนายเอกยุทธแล้ว พบลายนิ้วมือแฝงหรือดีเอ็นเอของบุคคลอื่นอีกหรือไม่ และ

13. ประเด็นเสื้อผ้าของนายเอกยุทธที่นายบอลอ้างว่าทำลายไปแล้ว ขอให้ตำรวจหาเสื้อผ้าดังกล่าว เพราะหากได้มาและตรวจดีเอ็นเอจากน้ำลาย เหงื่อ หรือเลือด จะทำให้รู้ว่ามีผู้ใดร่วมกันทำร้ายนายเอกยุทธ
       
       ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ บอกว่า เห็นด้วยกับข้อสงสัยที่นายสุวัตรนำมามอบให้ ซึ่งมีบางข้อที่ตำรวจก็สงสัยเช่นกัน แต่บางเรื่องต้องรอผลพิสูจน์จากแพทย์ และว่า จะทำเรื่องขอตัวผู้ต้องหาออกมาเพื่อสอบปากคำเพิ่มให้ครบตามประเด็นที่ตั้งข้อสงสัย 13 ข้อ คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะมีความคืบหน้า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังพูดเหมือนโยนความผิดให้ญาตินายเอกยุทธด้วยว่า ถ้าญาติแจ้งความเร็วกว่านี้ นายเอกยุทธไม่เสียชีวิตแน่นอน
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(18 มิ.ย.) พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ชัยน์วัฒน์ อรัญวัฒน์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เพื่อมอบหลักฐานตั๋วเครื่องบินสำหรับใช้ประกอบการสืบสวนคดีฆาตกรรมนายเอกยุทธ โดย พ.ต.ท.สันธนะ เล่าว่า ตนได้พบกับนายเอกยุทธโดยบังเอิญบนเครื่องบินสายการบินคาเธ่ย์ แอร์ไลน์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ขณะเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงมีโอกาสพูดคุยกัน ซึ่งตนรู้จักนายเอกยุทธมานานกว่า 30 ปี และว่า ระหว่างสนทนา นายเอกยุทธบอกว่า มีกลุ่มบุคคลที่มุ่งหมายจะเอาชีวิต ซึ่งต่อมานายเอกยุทธก็เสียชีวิต “ผมอยากยืนยันว่า การตายของนายเอกยุทธเป็นคดีฆาตกรรมที่มีการจ้างวานฆ่า โดยมีกลุ่มองค์กรอาชญากรรมรับจ้างฆ่า สั่งการลงมาเป็นทอดๆ หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังปล่อยให้องค์กรนี้ยังคงอยู่ ทุกคนในประเทศจะไม่สามารถมีชีวิตที่ปลอดภัยได้”
       
       พ.ต.ท.สันธนะ ยังบอกด้วยว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองโดยตรง แต่เป็นคนใกล้ชิดกับนักการเมืองระดับชาติ มีมูลเหตุมาจากความแค้นส่วนตัว และน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่นายเอกยุทธเขียนไว้ในสื่อออนไลน์ อีกทั้งการตายที่เปลือยกายก็เป็นการทำตามคำสั่ง เพื่อเป็นการประจานเนื่องจากความแค้นส่วนตัว
       
       ด้านคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร มีข้อสงสัยเกี่ยวกับคดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ จึงได้เชิญ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. สำหรับข้อสงสัยของ กมธ.การตำรวจ ได้แก่ ทำไมต้องรีบสรุปว่าคดีนี้เป็นคดีชิงทรัพย์ , ทำไมข้อมูลที่แถลงแต่ละครั้งไม่ตรงกัน ,ทำไมให้ความสำคัญกับคำให้การของผู้ต้องหาเป็นหลัก ทั้งที่โดยหลักกฎหมาย คำให้การรับสารภาพ ไม่สามารถรับฟังเพื่อเป็นประจักษ์พยานในการลงโทษได้ และทำไมไม่ให้หน่วยงานอื่น เช่น กองปราบปราม และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้ามาร่วมสอบสวน
       
       ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ไม่ได้เข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.การตำรวจ คาดว่า ให้ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตัวแทน ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความนายเอกยุทธ ก็เข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.เช่นกัน โดยนายสุวัตร ยืนยันว่า ไม่เชื่อว่านายบอลจะมีศักยภาพทำร้ายนายเอกยุทธได้ จึงพุ่งประเด็นไปที่เรื่องการเมือง เพราะก่อนหายตัวไป นายเอกยุทธได้โพสต์ข้อความถึงนายกรัฐมนตรี จึงคิดว่าการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ นายสุวัตร ยังเผยด้วยว่า นายเอกยุทธได้บอกให้ตนทราบก่อนหน้านี้ 1 เดือนว่า ถ้าถูกอุ้มหายก็ให้รู้ว่าเป็นฝีมือใคร จึงเชื่อว่าคนวางแผนอุ้มฆ่านายเอกยุทธมีการวางแผน 2 ชั้น
       
       ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ย้ำว่า ขอเวลา 7 วัน จะทำความจริงให้กระจ่างทุกประเด็น และว่า คดีนี้เป็นคดีที่ใช้งบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์คดีหนึ่ง เพราะใช้กำลังตำรวจจำนวนมาก รวมทั้งใช้เฮลิคอปเตอร์ตามหาตัวนายเอกยุทธ
       
       ด้านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.การตำรวจ บอกว่า การที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ระบุว่า จะทำให้ข้อสงสัยของนายสุวัตร 13 ข้อมีความคลี่คลายภายใน 7 วันนั้น ทำให้เชื่อว่า ในวันที่ 6 นับจากนี้ นายบอลจะผูกคอตายในคุก เพราะกุมความลับมากเกินไป แต่ไม่ใช่ว่าเพราะตำรวจทำ
       
       4. ตร. รวบมือบึ้มซอยรามฯ แล้วที่นราธิวาส สารภาพเคยก่อเหตุบึ้มสนามบินนราฯ ด้าน ผบ.ตร.- ผบ.ทบ. รีบปัดเอี่ยวโจรใต้!

       เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. พล.ต.ต.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.) ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าควบคุมตัวนายอิดริส สะตาปอ อายุ 24 ปี ขณะพักอยู่ในบ้านพักเลขที่ 18 บ้านฮูแตทูวอ หมู่ 4 ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส ผู้ต้องสงสัยในคดีวางระเบิดแผงค้าบริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 คนเมื่อวันที่ 26 พ.ค.
       
        ทั้งนี้ ตอนแรกมีข่าวว่า นายอิดริสเป็น 1 ในโจรใต้ที่เคยร่วมก่อเหตุวางระเบิดสนามบินนราธิวาส รวมทั้งฆ่าและเผาพระวัดพรหมประสิทธิ์ จ.ปัตตานี รวม 3 รูป
       
        อย่างไรก็ตาม หลังมีข่าวดังกล่าว ปรากฏว่า ทั้งตำรวจและทหารชั้นผู้ใหญ่ต่างออกมาปฏิเสธว่า ผู้ต้องสงสัยระเบิดแผงค้าปากซอยรามฯ ไม่เกี่ยวโยงโจรใต้ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า นายอิดริสเป็น 1 ในผู้ต้องหา 4 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า นายอิดริสไม่ได้อยู่ในกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น หรืออาร์เคเคใหม่ รวมถึงเครือข่ายกลุ่มก่อเหตุไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “เบื้องต้นผู้ต้องหารับสารภาพว่า ถูกชักชวนจากเพื่อนให้มาร่วมขบวนการ มีหน้าที่ประกอบระเบิดและวางระเบิด”
       
       ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงปฏิเสธอีกครั้งว่า นายอิดริสไม่เกี่ยวโยงโจรใต้ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่านายอิดริสเป็นผู้ร่วมก่อเหตุระเบิดสนามบิน จ.นราธิวาสนั้น พล.ต.ต.ปิยะ บอกว่า เป็นเพียงแค่คำให้การของผู้ต้องหาเท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องการเพิ่มความสำคัญให้ตนเอง
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยืนยันเช่นกันว่า จากการตรวจสอบของทหารไม่ปรากฏชื่อนายอิดริสอยู่ในทำเนียบผู้ก่อเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด


ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 มิถุนายน 2556