ผู้เขียน หัวข้อ: วิวัฒนาการของระบบสาธารณสุขไทย ใน 1 รอบนักษัตร  (อ่าน 2988 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด


นี่ก็ผ่านมา 12 ปีแล้วครับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสาธารณสุขไทย เห็นแล้วก็อดเขียนบทความเพื่อรำลึกถึงความหลังอันขมขื่น..เอ้ย ...! หวานชื่นไม่ได้ ผมขอเท้าความถึงสมัยก่อนนิดนึงนะครับ ก่อนปี 2544 ประชาชนตาดำ ๆต้อง จ่ายเงินซื้อบัตรสุขภาพปีละ 500 บาทครับ แล้วเวลาที่เกิดเจ็บป่วยไปที่โรงพยาบาล รัฐ ก็แค่ยื่นบัตรให้เจ้าหน้าที่ ส่วนแพทย์ก็มีหน้าที่รักษาไปตามมาตรฐาน ถ้าค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงิน 500 บาท โรงพยาบาลที่จ่ายไปก่อนก็สามารถทำเรื่องไปเก็บเงินกับกระทรวงสาธารณสุข ได้ตามวงเงินที่ใช้ไปจริง แต่ถ้าคนไหนไม่มีบัตรก็จะต้องจ่ายเงินเองทุกบาทตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รัฐบาลจึงได้มีแนวคิดที่จะนำเรื่อง “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” เข้ามาใช้ (ปัจจุบันไม่ต้องชำระ 30 บาทแล้ว) โดยให้ประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์ทุกคน สามารถมีสิทธิ์ในการรักษาที่เท่าเทียมกัน โดยขึ้นทะเบียนตามเลขบัตรประชาชน ผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ ทำให้ประชาชนที่มีบัตรประชาชนทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ "เกือบจะเท่าเทียมกัน" แต่อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันคงไม่มีจริงในโลกซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นครับ

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ คนส่วนใหญ่น่าจะมีความพึงพอใจกับนโยบายใหม่นี้เพราะรู้สึกว่า ได้รับการให้บริการที่เหมือนจะดีขึ้น แถมยังไม่ต้องจ่ายเงินอีกตะหาก จึงอาจเรียกได้ว่านโยบายนี้เป็นนโยบาย "ประชานิยม" โดยแท้จริง เพราะ “ประชาชนนิยมมาใช้บริการฟรีกันอย่างล้นหลามจริง ๆ” ยังความปลาบปลื้มปิติให้กับผู้ที่ออกนโยบายเป็นอย่างมาก แต่เอ...มันมีมุมมองอื่นหรือมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมาหรือไม่นะ? ตัวผมเองได้มีโอกาสทำงานในฐานะแพทย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่ได้สัมผัสกับทั้ง 2 ระบบ ผมเองมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า มันแตกต่างกันครับ แตกต่างกันอย่างมากถึงมากที่สุดครับ ผมขออนุญาตนำเสนอแนวคิดของผมเองให้ฟังซัก 2 ประเด็นนะครับ ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการการใช้เงินบำรุงและเงินประกันสุขภาพของโรงพยาบาล และเป็นคนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์ การตลาดและบัญชีมาแบบงู ๆ ปลาๆ ซึ่งกว่าจะจบปริญญาโทมาได้ก็แทบแย่.... ขอย้ำนะครับว่าความคิดเห็นของผมคนเดียว และเรื่องที่ผมนำมาเล่ามันกลายได้เป็นอดีตไปแล้ว เพียงแต่อาจจะมีเศษเสี้ยวของความจริงที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผมอยากนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งข้อดีข้อเสียของอดีตที่ผ่านมาจะได้เก็บไว้พัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้นฟังหูไว้หูและที่สำคัญพยายามทำใจเป็นกลางโดยปราศจากอคติในการอ่านข้อความต่อจากนี้นะครับ

เรามาเริ่มประเด็นแรกกันเลยครับ ผมว่าเริ่มจากภาพใหญ่ ๆ ก่อนดีกว่า เหมือนกับที่เราเริ่มเรียนหนังสือในแนวกว้างโดยดูภาพรวมแล้วค่อยลงรายละเอียดมากขึ้นนะครับ สมมติว่าถ้าผมเป็นเจ้าของเงิน 60,000 ล้านบาท เอาไว้ใช้จ่ายในการรักษาคนในประเทศหนึ่ง ซัก 60 ล้านคน กะว่าเฉลี่ยใช้เงินคนละ 1,000 บาท โดยระบบเดิม (ก่อนปี 2544) ผมให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพตัวเองอีก 500 บาทรวมเป็นคนละ 1,500 บาท รวมแล้วจะมีวงเงินเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทโดยประมาณ แต่อนิจจังทุกสิ่งย่อมไม่เที่ยงแท้ คนจำนวนมากไม่ยอมควักตังจ่าย เพื่อซื้อบัตรสุขภาพดังที่ผมหวังไว้ แถมคนที่ซื้อก็มักมีแต่พวกที่ป่วยหนัก ๆ เพื่อหวังว่าจะใช้ทฤษฎี "กุ้งฝอยตกปลากระพง" คือลงทุนน้อย ๆ แต่หวังผลตอบแทนเยอะ ๆ เช่น ถ้ามีคนไข้ป้วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ที่ต้องการผ่าตัดซักรายนึง เมื่อผ่าตัดอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ตั้งแต่ 200,000-1,000,000 บาทต่อคน คนไข้กลุ่มนี้ก็จะซื้อบัตรประกันสุขภาพ เพราะเวลารักษาจะจ่ายเงินจริงแค่เพียง 500 บาทเปรียบได้กับจ่ายแค่กุ้งฝอย ส่วนที่เหลืออีกหลายแสนบาท รัฐบาล..เอ๊ย... ผมต้องเป็นคนจ่าย ซึ่งยังไงซะตามนโยบายเดิมตัวผมเองก็คงต้องควักกระเป๋าจ่ายคืนให้กับโรงพยาบาล ที่ออกค่ารักษาล่วงหน้าให้กับคนไข้ไปก่อนตามวงเงินที่เกิดขึ้นจริง โดยคนไข้ไม่ต้องรับภาระแม้ว่าหลาย ๆ รายจะป่วยจากการกระทำของตัวเองก็ตาม (ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่คุมอาหาร) ซึ่งผมมองว่าน่าจะมีคนนำกุ้งฝอยมาตกปลากระพงจำนวนมาก และคาดว่าปลากระพงจะหมดบ่อ เพราะเลี้ยงปลากระพงไว้จำนวนจำกัด (มีงบอยู่แค่ 60,000 ล้านบาท)…

ถ้าอย่างงั้นผมคิดใหม่ทำใหม่ดีกว่า… ผมเอาปลากระพงที่มีทั้งหมดแจกจ่ายให้กับคน 60 ล้านคน ไปก่อนเลย โดยแบ่งให้ตามการกระจายตัวแต่ละพื้นที่ก็แล้วกัน ถ้าหมดแล้วก็หมดเลย ถือว่าช่วยไม่ได้ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐซึ่งทั้งหมดเป็นแพทย์ (ส่วนใหญ่แทบไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์หรือบัญชีด้วยซ้ำ) บริหารเงินไม่เป็นเอง พูดง่าย ๆ ว่าถ้า ผอ. โง่ บริหารแล้วเงินหมดโรงพยาบาลก็เป็นความผิดของคนที่บริหารไม่เป็น แต่ถ้าบริหารแล้วบังเอิญมีเงินเหลือก็จะเชิดชูโปรโมทให้เป็นโรงพยาบาลตัวอย่างว่าสามารถบริหารระบบ 30 ให้มีเงินคงคลังเหลือได้ ซึ่งโรงพยาบาลนั้นก็จะกลายเป็นสถานที่ดูงานของ ผอ.ท่านอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีแค่ไม่กี่โรงพยาบาลที่สามารถบริหารงานจนมีเงินเหลือ เพราะความเป็นจริงก็คือ "ความเจ็บป่วยของประชาชนกระจายตัวไม่เท่ากัน ในแต่ละพื้นที่ แต่ได้เงินเท่ากันหมด" แล้วมันจะบริหารได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ? (คำตอบข้อนี้ผมว่า ท่าทางจะยาก) แล้วถ้าอย่างงั้นประชาชนจะได้รับบริการที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันหรือไม่ ? คำตอบคือ “เท่าเทียมกันครับ แต่มาตรฐานต่ำลงเท่าเทียมกันทุกคน” เพราะเดิมรักษาเท่าไหร่ก็เบิกได้ตามวงเงินที่จ่ายจริง สุดท้ายก็เบิกกันจนปลากระพงหมดบ่อ ต้องไปหาปลาที่อื่นมาให้อีกต่างหาก แต่แบบใหม่นี้จำกัดเหลือแค่ปลาในบ่อ แถมมีกฎว่าจะไม่เติมให้อีกแม้ว่าปลาจะหมดบ่อไปแต่ตั้งต้นปีก็ตาม สุดท้ายการรักษาบางอย่างของแพทย์จึงต้องจำกัดเหลือเพียงเท่ากับวงเงินที่มีให้ หรือถ้าค่ารักษาเกินกว่าวงเงินที่จะได้รับ ทางโรงพยาบาลก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายไปเอง ก็แค่นั้นเองครับ

ต้องขอชมเชยว่าคนที่คิดระบบนี้เป็นอัจฉริยะเลยก็ว่าได้ เพราะทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ใกล้เคียงกัน โดยที่ “ตัดเงินค่ารักษาพยาบาลของประชาชนให้เหลือวงเงินที่จำกัด” แถมซ้ำร้ายกว่านั้น “ประชาชนไม่เคยรับรู้ว่าตนเองถูกจำกัดวงเงินในการรักษา” และ “ยังสามารถโยนภาระความผิดมาให้แพทย์ผู้ทำการรักษาที่ตัดสินใจการรักษาคนไข้” โดยอ้างว่า ถ้าแพทย์รักษาไม่เต็มที่
ก็ผิดจรรยาบรรณเพราะไม่รักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเกินไปมาก ก็ทำให้ผอ. จะต้องลงมาตักเตือน ว่าแพทย์ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน สุดท้ายคนคิดนโยบาย ลอยลำ แถมได้หน้า ประชาชนได้ใจ แพทย์ผู้ปฏิบัติกลายเป็นผู้รับเคราะห์ ไปซะง้ัน ด้วยเหตุนี้และอีกหลาย ๆ เหตุทำให้แพทย์หลาย ๆ คนเปลี่ยนวิถีชีวิต หันไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกันมากขึ้น เพราะทนโดนด่าว่ารักษาไม่ดีไม่ไหว แถมคนไข้อยากได้ของฟรีมีก็เยอะซะเหลือเกิน จนทำให้ตรวจไม่ทัน แล้วก็โดนร้องเรียนว่าให้บริการช้า สุดท้าย แพทย์ซวยทั้งขึ้นทั้งร่อง ...เห็นมั้ยครับว่าคนคิดนโยบายเก่งมาก แค่ไหน ผมว่าเก่งขั้นเทพเลยครับ

เข้าสู่ประเด็นที่สอง ที่นี้เราลองมาดูเรื่องการส่งตัวผู้ป่วยดูบ้างครับ เดิมทีเวลาส่งตัวผู้ป่วยเราก็แค่เขียนใบส่งตัวให้คนไข้ถือไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่สูงกว่า ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยไปรักษาก็จะไปเบิกคืนกับรัฐบาลเต็มจำนวน แต่ด้วยระบบใหม่ที่ถือว่าเราแจกจ่ายปลากระพงให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ดังนั้นถ้าโรงพยาบาลของท่านไม่สามารถรักษาคนไข้ได้เพราะ ไม่มีแพทย์หรือไม่มีเครื่องมือก็ตาม “ถ้าท่านส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไหน ท่านก็ต้องตามไปจ่ายเงินแทนผม เข้าใจมั้ยครับ ผมให้เงินคุณไปแล้ว คุณก็ตามไปจ่ายเองสิ ช่วยไม่ได้อยาก โง่ รักษาคนไข้ไม่ได้เองนะครับ !!! ”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น งานนี้ผมขอเล่าเหตุการณ์ประมาณ 10 ปีที่แล้วให้ฟังแล้วกันนะครับ โรงพยาบาลที่ผมอยู่มีคนไข้ที่ใช้สิทธิ์ 30 บาทประมาณ 40,000 คน ได้เงินสนับสนุนค่าหัวประมาณไม่ถึง 500 บาทเพราะต้องหักค่าใช้จ่ายจิปาถะ รวมแล้วได้เงินค่ารักษาพยาบาลมา ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี มีคนไข้คนหนึ่งสูบบุหรี่จัดแล้วเกิดเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ สุดท้ายทางโรงพยาบาลก็ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ได้รับตัวไว้ในโรงพยาบาลพร้อมกับผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจใหั แต่โชคร้ายคนไข้ดันมีโรคแทรกซ้อนเป็นปอดอักเสบติดเชื้อจึงต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น จนสุดท้ายคนไข้กลับบ้านได้ โรงพยาบาลดังกล่าวส่งบิลมาเรียกเก็บกับโรงพยาบาลที่ผมอยู่เท่าไหร่รู้มั้ยครับ ...ค่าใช้จ่าย 1,000,000 กว่า ๆ เท่านั้นเอง ทีนี้ดูนะครับ คนไข้ได้ประโยชน์แน่นอนเพราะเสียแค่ค่ากุ้งฝอย 30 บาท แต่ได้ปลากระพงฟรีมูลค่า 1 ล้านบาท เป็นใครก็ต้องพอใจครับ แต่โรงพยาบาลมีงบประมาณที่ใช้ซื้อยารักษาคนไข้ จำนวน 40,000 คน แค่ 20 ล้านบาท เราเสียให้คน ๆ เดียวไปแล้ว 1 ล้านบาท สุดท้ายเหลือแค่ 19 ล้านบาท ถ้าท่านเป็นผู้บริหารจะยอมจ่ายมั้ยครับ ? จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลที่เราส่งคนไข้ไปเพราะความโง่ของพวกผม ที่ผ่าตัดหัวใจคนไข้ไม่เป็น ? สุดท้ายโรงพยาบาลที่ผมอยู่ตัดสินใจจ่ายให้ครับ สรุปเหตุการณ์ทั้งปี เราจ่ายค่าส่งตัวไปทั้งหมด 20 ล้านบาทครับ อ้าว...งั้นเงินของโรงพยาบาลที่ได้มาก็หมดเลยดิ คำตอบคือ
เงินจากโครงการ 30 บาทหมดจริง ๆ ครับ แต่โรงพยาบาลที่ผมอยู่โชคดีที่มีเงินสนับสนุนจาก กทม.เพราะเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่สังกัด กทม. ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงยังมีเงินเหลือพอซื้อยาให้คนไข้ครับ แต่ผลกระทบจากปีนั้นผมว่า "โดนกันถ้วนหน้า" คล้าย ๆ กับชื่อ "โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ประมาณเนี้ยครับ ผม (แอบ) ทราบมาว่าโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งตัดสินใจไม่ส่งต่อผู้ป่วยครับ เพราะขืนส่งต่อมีหวังปลากระพงหมดคลังโรงพยาบาลแน่นอน เพราะยังไงรัฐบาลก็ไม่มีทางเพิ่มปลากระพงให้อีกแล้ว ทีนี้ลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นนะครับ ผมลองสมมติเหตุการณ์ให้ฟังครับ...

กาลครั้งหนึ่งมีคุณลุงแก่ ๆ มาตรวจด้วยน้ำหนักลดกับไอมาก เอกซเรย์พบก้อนในปอด แพทย์บอกคนไข้ว่า คุณลุงยังมีอาการไม่มาก ลองติดตามดูเอกซเรย์ปอดก่อนซัก 1-2 เดือนนะครับ ถ้าผิดปกติมากขึ้นเดี๋ยวหมอส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ให้นะ (ในใจคิดว่าแกคงเป็นมะเร็งแน่ ๆ) พอครบ 2 เดือนมาตรวจซ้ำพบก้อนมะเร็งโตขึ้น ก็บอกกับคนไข้ว่า คุณลุงครับหมอสงสัยว่าเป็นมะเร็งปอดแต่ด้วยขนาดก้อนที่ใหญ่ขนาดนี้รักษาไม่ได้แล้ว หมอว่าทำใจเถอะครับ คาดว่าอีกไม่นานจะเสียชีวิต เดี๋ยวหมอนัดมาดูอาการทุกเดือนแล้วกันนะครับ ปรากฏว่าอีก 1 เดือนถัดไปคนไข้ตาย สรุป ไม่ต้องส่งตัว ไม่ต้องเสียค่า CT scan ไม่ต้องจ่ายค่าผ่าตัด ไม่ต้องจ่ายค่ายา รวมแล้วโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายคนนี้น่าจะเกิน 100,000 บาท ผมแค่ลองยกตัวอย่างให้ดูเล่น ๆ เฉย ๆ นะครับ ถ้าบังเอิญเหตุการณ์แบบนี้ไปตรงกับใครก็คิดซะว่า มันเป็นความบังเอิญแล้วกันนะครับ หมอเค้าทำดีที่สุดแล้วครับ ภายใต้สถานการณ์ในตอนนั้น (ซึ่งก็ไม่ค่อยต่างกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้มากนัก)

ยังไม่จบนะครับผมยังไม่ได้เล่าถึงการแก้ปัญหาของโรงพยาบาลของผมให้ฟังเลย หลังจากปลากระพงหมด เราก็เบิกจ่ายปลากระพงแหล่งใหม่จากงบประมาณของกทม. แต่เราก็ต้องหาวิธีประหยัดให้มากกว่าเดิมครับ โดยการปรับบัญชีรายการยาใหม่ทั้งหมด ให้ราคายาถูกลงจากเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรื่องคุณภาพไม่ต้องพูดถึงครับ เพราะในเมื่อ อย. รับรอง ถ้ายาคุณภาพห่วยก็ช่วยไม่ได้นะครับ เพราะเราซื้อยาที่ถูกที่สุดที่ อย. รับรองแล้ว ถ้ารักษาแล้วไม่หายก็เป็นความซวยของคนไข้เองครับ พวกผมจ่ายยาตามมาตรฐานแล้วนะครับ แต่บังเอิญยามันห่วยเองครับ อย่ามาโทษพวกผมเลย ไปโทษคนตรวจสอบคุณภาพยาดีกว่าครับ ที่ปล่อยให้ยาด้อยคุณภาพออกมาวางจำหน่าย

จากกรณีนี้เองแพทย์จึงต้องระวังการส่งตัวผู้ป่วยโดยไม่เหมาะสม เพราะแค่เพียงคนเดียวที่ส่งตัวแบบ ไม่เหมาะสมอาจมีผลกระทบกับคนไข้อีก 40,000 คนที่ต้องดูแลได้ ดังนั้นประชาชนตาดำ ๆ ก็ต้องทำใจนะครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกผมต้องบริหารยา บริหารเงิน บริหารคนและบริหารการส่งตัวให้เหมาะสม เพื่อคนหมู่มากจะได้รับการรักษาที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดนะครับ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของประชาชนตาดำ ๆ ก็ควรหัดดูแลสุขภาพตัวเองบ้างก็ดีนะครับ ไม่ใช่สักแต่ว่ากินเหล้าสูบบุหรี่ ถึงเวลาป่วยก็มาขอรับยาฟรี กลับไปก็ทำตัวแย่ ๆ เหมือน ๆ เดิม ประเทศชาติมันคงจะเจริญหรอกครับ

Ukris Utensute
1 กค 2556

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เรามาต่อภาคสองกันเลยดีกว่าครับ วันนี้ผมเขียนสด ๆ เพราะอดไม่ได้ครับ หนังสือเรียนยังไม่ได้อ่านเลย ผมเขียนโครงเรื่องบนรถไฟฟ้าระหว่างเดินทางมาเรียนและตอนกลับบ้านครับ...ถ้าเรามองกันจริง ๆ แล้ว ผมว่านโยบายนี้ส่วนดีก็มีเยอะครับ โดยเฉพาะกับคนที่มองว่าแต่เดิมไม่เคยได้อะไรเลยจากรัฐบาล แต่ปัจจุบันสามารถรักษาได้ฟรี มันก็ย่อมต้องดีกว่าเดิมจริงมั้ยครับ ถ้าเป็นมุมมองของตัวผม ผมบอกว่าผมไม่แน่ใจครับ เพราะผมมองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันมักจะมีสองด้านเสมอ ที่แม้กระดาษที่บางที่สุดในโลกก็ยังมีสองด้านเช่นเดียวกันครับ เพียงเพราะคนส่วนหนึ่งเห็นว่าดีจากหน้าเดียวของกระดาษเค้าอาจจะมองว่าไม่ดีก็ได้ หากได้เห็นอีกด้านหนึ่งของกระดาษ ลองมาดูตัวอย่างที่ผมจะนำเสนอต่อจากนี้นะครับ

เริ่มตั้งแต่อดีตก่อนหน้านี้ สมมติว่าคนไข้ต้องจ่ายเงิน 10 บาทเพื่อที่จะได้รับการักษา 100 บาท ซึ่งหมายถึงได้รับการรักษาแบบเต็มรูปแบบ 100 % ยังไงซะ มุมมองของคนที่ต้องจ่ายก็รู้สึกว่าทำไมรัฐไม่ออกให้ทั้งหมดไปเลยนะ ซึ่งเหตุผลง่าย ๆ ที่คนส่วนหนึ่งคิดแบบนั้น ก็คือ คนบางคนมีนิสัยเอาแต่ได้ หรือที่เรียกว่าเห็นแก่ตัวนั่นแหละครับ อยากได้ฟรีทุกอย่าง แต่ไม่อยากลงทุน ทั้ง ๆ ที่การลงทุน กับสุขภาพตัวเองสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์ ก็คือตัวเอง ไม่ใช่ใครอื่น แต่สุดท้ายก็ไม่ยอมลงทุน แถมยังคงตำหนิระบบว่าไม่ยอมรับผิดชอบชีวิตของประชาชนตาดำ ๆ

แต่แล้วในปี 2544…. ก็มีอัศวินดำขี่ม้าขาวมาช่วย (ซึ่งผมไม่รู้ว่ามาช่วยใครกันแน่) อัศวินดำแจ้งกับประชาชนว่า ต่อไปนี้พวกท่านไม่ต้องจ่ายเงิน 10 บาทเพื่อสุขภาพของท่านแล้ว ท่านสามารถรักษาฟรีได้เลยครับ (แต่ไม่ได้พูดว่าคุณภาพการรักษาลดลงเหลือแค่ 70-80 บาทนะครับ) แถมท่านยังแอบคิดในใจว่า ถ้าตัวท่านอัศวินเหล่านั้นป่วยหรือมีญาติที่ป่วย ยังไงซะก็คงไม่ยอมเอาตัวเองหรือญาติไปเสี่ยง รักษาที่โรงพยาบาลของรัฐที่ทำตามนโยบายที่ท่านอัศวินได้คิดค้นขึ้นมาอย่างเด็ดขาด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน หรือว่ามีเหตุผลอื่น ๆ แฝงอยู่ก็ไม่ทราบได้ ดังนั้นผมอยากให้พวกท่านมองวิเคราะห์ให้รอบด้านก่อนว่า ท่านทั้งหลายได้เข้ามาทำงานหรือใช้ชีวิตในช่วงก่อนหรือหลังอัศวินดำนะครับ ถ้าก่อนยุคอัศวินดำก็มักจะพบว่า คนไข้ไม่ค่อยพอใจระบบเดิมเพราะต้องจ่ายเงิน แต่ถ้าหลังยุคอัศวินดำก็น่าจะพอใจมากเพราะทุกอย่างฟรี (แม้กระทั่ง "ตายฟรี" ) แต่นโยบายของท่านอัศวินดำมีข้อจำกัดที่หลาย ๆ คนอาจไม่เคยทราบ หรือถ้าท่านทั้งหลายทราบก็มาโพสต์บอกกันบ้างนะครับ ส่วนตัวผมเองก็พอเห็นอะไรมาบ้างนิด ๆ หน่อย เอาเป็นว่าผมขอนำเสนอข้อจำกัดบางอย่างที่ว่าให้ลองดูแล้วกันนะครับ

เริ่มจากที่ผมโพสต์ภาคแรกไปแล้วผมมานั่งคิดดูก็รู้สึกว่า ยังไงก็คงมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับผมแน่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ผมมองว่าระบบยังไม่ค่อยดีนัก ผมอยากบอกว่านั่นอาจเป็นเพียงเพราะ หลายคนเห็นกระดาษเพียงหน้าเดียวก็ได้ครับ เพราะหลาย ๆ ท่านได้เข้ามาสัมผัสระบบหลังยุคอัศวินดำเข้ามาแล้ว ซึ่งก็คงเห็นว่าปัจจุบันได้มีการพัฒนาจากยุคเริ่มต้นของอัศวินดำไปมากโดยเฉพาะหลาย ๆ โรคสามารถไปเบิกจ่ายกับ สปสช.ได้โดยตรง และโรงพยาบาลที่ส่งผู้ป่วยไม่ต้องตามจ่าย เหมือนสมัยแรก ๆ
ที่โรงพยาบาลต้องตามจ่ายให้คนละหลายแสนบาท อย่างที่ผมได้เคยพูดไปในภาคแรก ซึ่งโรคที่มีการปรับจ่ายแบบใหม่ได้แก่ โรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน เป็นต้น สำหรับโรคหัวใจดังกล่าวถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ หากไม่ได้รับการรักษาแบบทันท่วงที ก็จะทำให้ตายได้ ซึ่งก็อย่างที่เห็นแหละครับ การพัฒนาของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับจริง ๆ ครับ

แต่ผมก็ยังอยากให้มองเปรียบเทียบกับสมัยก่อนปี 2544 นะครับ สำหรับกลุ่มโรคที่พูดมาแล้ว การเบิกจ่ายก็ยังคงต่างกับปัจจุบันอยู่ดี คือสมัยก่อน โรงพยาบาลจ่ายเท่าไหร่ก็เบิกคืนกับรัฐบาลเท่านั้น ตามรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าเป็นปัจจุบันจะเบิกเงินคืนจาก สปสช.ได้ตาม DRG เท่านั้นครับ ไม่รู้ว่าแพทย์หลาย ๆ ท่านทราบหรือไม่ว่า โรงเรียนแพทย์มีปัญหากับเรื่องนี้มากเพราะการเบิกเงินคืนตาม DRG มักจะทำให้โรงพยาบาลขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ ไม่มากก็น้อย ขึ้นกับว่าเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในครับ ถ้าต้องรับผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยใน กฎคือต้องเก็บค่ารักษาตาม DRG เท่านั้น แล้วสปสช.ช่วยอะไรได้ล่ะครับ ในเมื่อถ้าโรงเรียนแพทย์เรียกเก็บกับสปสช.ก็จะได้แค่วงเงินตามกรอบ DRG จะขอเงินเพิ่ม ตามค่าใช้จ่ายจริงแค่ให้เท่าทุนยังไม่มีปัญญาจ่ายให้เลยครับ (เพราะมีปลากระพงจำกัด ตามนโยบายที่คิดขึ้นเพื่อจะ จำกัดปลากระพงตั้งแต่แรก) ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสุดท้ายยังไงโรงเรียนแพทย์ก็คงไม่อยากขาดทุน จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมในด้านการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะพบได้ 3 วิธีหลัก ๆ คือ
1. ปฏิเสธการรับผู้ป่วยเพื่อตัดปัญหาเรื่องรับมาแล้วขาดทุน หรือ
2. บังคับให้โรงพยาบาลต้นสังกัดที่ส่งคนไข้ต้องเซ็นต์ยินยอมให้เรียกเก็บตามจริงสุดท้ายโรงพยาบาล ที่ส่งผู้ป่วยมาก็แทบจะหมดตัวเพราะเป็นหนี้หัวโต หรือ
3. ใช้วิธีดองคนไข้ไว้เป็นผู้ป่วยนอก เพื่อที่จะเรียกเก็บได้ตามรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพราะมีกฎว่า ถ้าให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลที่ส่งผู้ป่วยต้องจ่ายเงินให้กับโรงเรียนแพทย์ตามจริง โดยไม่สามารถไปเรียกเก็บกับ สปสช.ได้ สุดท้ายก็คือโรงพยาบาลที่ส่งแทบหมดตัวเหมือนเดิม

จากทั้ง 3 ทางเลือกจะเห็นว่า สิ่งที่เห็นไม่ใช่นโยบายแบบ win-win น่ะครับเพราะสุดท้ายไม่ใครก็ใครสักคนก็ต้อง ขาดทุนแน่นอนครับ ก็ในเมื่อเค้าตัดสินใจจำกัดปลากระพง และจะไม่เพิ่มปลากระพง ให้กับคนไข้อย่างแท้จริง แล้วทั้งสองโรงพยาบาลจะแบ่งปลากระพงกันได้ยังไงล่ะครับ เมื่อเป็นเช่นนี้โรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือโรงเรียนแพทย์ ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามจริงไงครับ ก็เลยทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็ก หลาย ๆ แห่ง พยายามที่จะไม่ส่งตัวคนไข้ไปโรงเรียนแพทย์ เพราะกลัวว่าพอถึงเวลาจริง โรงเรียนแพทย์จะไม่ยอมเรียกเก็บกับ สปสช. (เพราะได้ไม่คุ้มเสีย) แต่ใช้วิธีไม่ยอมรับเป็นผู้ป่วยใน และรักษาผู้ป่วยแบบผู้ป่วยนอกแทน จะได้เรียกเก็บเงินได้ 100 % จากโรงพยาบาลที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ส่งตัวมา ผลลัพธ์มันถึงเป็นอย่างทุกวันนี้ไงครับ และผมก็เดาเอาเองต่อไปว่ามันต้องมีคนที่คิดว่า ถ้าส่งตัวแล้ว เสียค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาล งั้นก็อย่าส่งตัวมันซะเลยดีกว่า แล้วในที่สุดความซวยมันก็วกกลับเข้ามาหาคนไข้ แต่บาปมันก็มาตกที่แพทย์อยู่ดีแหละครับ ผมเองมองว่า “วิธีนี้มีข้อดีอยู่อย่างเดียวคือ คนไข้ไม่ต้องรับรู้เรื่องราว ปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองโรงพยาบาลครับ” จะได้ไม่ต้องไปเครียดเพิ่มจากเดิม ที่เครียดเพราะเจ็บป่วยอยู่แล้ว ปล่อยให้พวกแพทย์ทั้งหลายมานั่งเครียดกันแทน แถมด้วยหลักการผลักภาระมาให้ แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ ว่าจะรับรักษาผู้ป่วยหรือไม่ พูดง่าย ๆ ว่าบาปนั้นก็จะมาตกอยู่ที่แพทย์นั่นเอง (ไม่รับรักษาก็ผิด รับรักษาแล้วทำโรงพยาบาลขาดทุนก็ผิด)

อ่านมาถึงตรงจุดนี้ผมรับรองว่าก็ต้องมีคนถามว่าทำไมแพทย์ต้องไปยุ่ง วุ่นวายกับเรื่อง เงิน ๆ ทอง ๆ หรือเรื่องกำไร ขาดทุนด้วยนะ คุณมีหน้าที่รักษาก็รักษาไปสิ ถ้าคิดอย่างงั้นผมว่า ลองให้ผู้อำนวยการของทุกโรงพยาบาลเป็นนักบริหารที่ไม่ใช่แพทย์ดูมั้ยครับ ผมอยากรู้นักว่า ไอ้คนที่ถาม คำถามนี้จะยอมรับได้มั้ย ถ้ามีผอ.โรงพยาบาลตัวเองเป็นทีมบริหารที่ไม่ใช่แพทย์ ? นี่แหละครับ ปัญหาที่ผมเชื่อว่า แพทย์หลายคนที่ทำงานเพื่อ service คนไข้แต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เคยทราบ ผมขอแนะนำง่าย ๆ ว่า ลองมานั่ง คุมเงินงบประมาณของโรงพยาบาลดูนะครับ แล้วจะตาสว่างขึ้น จะรู้ว่าโลกภายนอกเค้าดำเนินชีวิตกันอย่างไรบ้าง ก็อย่างที่ผมเคยบอกแหละครับ แพทย์เราก็เหมือนกบในกะลา แทบไม่รู้ความเป็นไปของโลกภายนอกเลยก็ว่าได้ บางครั้งเราอาจเห็นว่าระบบในปัจจุบันนั้นดีกว่าเดิมมากแล้ว แต่ที่ไหนได้เรากลับลืมมองไปว่าประเทศอื่น ๆ เค้าก็พัฒนาไปมากเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ครับ สรุปว่าจริง ๆ แล้วเราต้องรู้จักการ เปรียบเทียบ Benchmark กับคนรอบข้างดูบ้างนะครับประเทศชาติมันถึงจะมีจุดหมายในการพัฒนาและก็ไม่ควรหลอกตัวเองโดยการไปเทียบกับประเทศที่ด้อยกว่าเราครับ

เรามาดูประเด็นถัดไป ทีนี้ลองมาดูในมุมมองของคนไข้กับแพทย์ผู้ตรวจดูบ้างนะครับ ผมเริ่มด้วยการเล่านิทานให้ฟังแล้วกันนะครับ

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ มีคุณลุงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนต่างจังหวัด ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (แปลว่าแกพอมีตังค์อยู่บ้างครับ) ครวจพบเอกซเรย์ปอดผิดปกติ สงสัยเป็นโรคมะเร็ง ด้วยความกังวล ญาติจึงพามาตรวจผู้ป่วยเข้ากรุงเทพ เพื่อมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์อันโด่งดัง แพทย์นัดทำ CT scan กับนัดผ่าตัด คิดค่าใช้จ่ายแล้วสมมติว่า 50,000 บาท เนื่องจากคนไข้มีสิทธิ์บัตรทองอยู่ต่างจังหวัด และไม่สะดวกเดินทางกลับไปขอใบส่งตัว ก็มีเจ้าหน้าที่ผู้หวังดี แนะนำคนไข้ว่า คุณลุงย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ใน กทม.สิครับ จะได้ไปขึ้นทะเบียนบัตรทองในโรงพยาบาลในเขต กทม.รอแค่ 2 อาทิตย์ก็ขึ้นสิทธิ์ใหม่ได้แล้ว ว่าแล้วคุณลุงก็มาขึ้นทะเบียนบัตรทองที่โรงพยาบาลในสังกัดกทม.แห่งหนึ่ง
หลังจาก 15 วันผ่านไป ญาติพาคุณลุงมาพบแพทย์เพื่อขอใบส่งตัว... ทันใดนั้นเอง ก็เกิดปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างแพทย์กับคนไข้เกิดขึ้น ...

ญาติ : ทำไมหมอถึงไม่ยอมออกใบส่งตัวให้กับพ่อของหนูไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์

แพทย์ : อ๋อ..รพ. ของเราสังกัด กทม. ครับ จึงต้องส่งภายในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ ไม่สามารถส่งข้ามเขตได้ครับ

ญาติ : แล้วรพ. ของ กทม. เค้ารักษาได้แน่เหรอ ไม่ใช่ส่งพ่อหนูไปตายนะ

แพทย์ : หมอเค้าต้องตรวจก่อนนะครับ ถ้าสามารถรักษาได้เค้าก็จะแจ้งกับญาติ แต่ถ้าไมได้จริง ๆ คุณหมอเค้าจะมีหนังสือมาแจ้งให้ส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลที่รักษาได้ครับ

ญาติ : ส่งกันไปส่งกันมาแบบนี้คนไข้ก็ตายก่อนพอดี หมอเห็นมั้ยว่านี่ชั้นมีใบนัดตรวจที่โรงเรียนแพทย์ วันพรุ่งนี้แล้วนะ ไหนบอกว่าโครงการประกันสุขภาพ รักษาฟรี ที่ไหนก็ได้ไง

แพทย์ : ใช่ครับ รักษาที่ไหนก็ได้ ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินที่อาจถึงแก่ชีวิต ซึ่งคุณลุงแค่มีนัดตรวจเฉย ๆ จึงใช้สิทธิ์ข้ามเขตไม่ได้ครับ

ญาติ : แต่ชั้นต้องการพาพ่อไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์นะ หมอ ทำไมแค่นี้ออกใบส่งตัวให้ไม่ได้

แพทย์ : ก็มันผิดระเบียบการส่งตัวของรพ ในสังกัด กทม. นี่ครับ
ญาติ : งั้นเดี๋ยวชั้นไปร้องเรียนกับรัฐบาลก็ได้ โรงพยาบาลอะไรเนี่ย รักษาไม่ได้แล้วยังไม่ยอมส่งตัวคนไข้ให้อีก

หลังจากแพทย์ได้ฟังก็เลยตัดสินใจพูดกับคนไข้และญาติไปตรง ๆ ว่า

แพทย์ : ญาติครับตั้งสติแล้วลองฟังสักนิดนะครับ รพ. ยินดีส่งตัวให้ ซึ่งตามระบบแล้วทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันครับ คนอื่นที่เป็นโรคแบบนี้ เค้าก็ต้องได้รับการส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลในสังกัดนะครับ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะไปรพ ไหนก็ไปตามใจชอบ ถ้าคิดจะทำแบบนี้ ทำไมไม่พาคุณพ่อบินไปรักษาที่ต่างประเทศเลยล่ะครับ แล้วค่อยมาขอใบส่งตัวทั้งค่า เดินทาง ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่ารักษาพร้อมกันทีเดียว ผมว่ามันเหมือนพวกที่ได้คืบจะเอาศอกนะครับ เค้าให้แค่เนี้ย ก็อยากได้มากว่าเป็นพวกไม่รู้จักพอเหรอครับ หรือรู้จักแค่สิทธิ์แต่ไม่รู้จักหน้าที่ ว่าควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม ถ้าคุณคิดจะพาไปรักษาที่รพ อื่นก็ต้องจ่ายเงินเองครับ เพราะมันเกินสิทธิ์ที่คุณควรจะได้รับครับ ว่าแต่เวลาไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน ยังไม่เห็นไปต่อรองราคาเลยครับ มีปัญญาจ่ายได้ แต่เวลามาที่โรงพยาบาลของรัฐมาขอยาฟรี แล้วยังต่อรองซะเหลือเกินนะครับ ไม่คิดว่าอยากจะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือคนที่เค้าไม่มีจริง ๆ บ้างเหรอครับ และก็ช่วยรับทราบไว้หน่อยนะครับว่าพวกผมได้แค่เงินเดือนจากรัฐอย่างเดียว ไม่มีค่าตรวจนะครับ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะตรวจหรือไม่ตรวจคนไข้พวกผมก็ได้เงินเท่ากันอยู่ดีแหละครับ ไม่เหมือนรพ อื่นนะครับที่ได้ค่าบริการทางการแพทย์ เค้าจะได้พูดดี ๆ ตามใจทุกอย่างครับ ก็คุณจ่ายเงินให้เค้านี่ครับ แต่นี่คุณจะมาเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศไปให้พ่อคุณแค่คนเดียว แถมยังเอาไปใช้แบบไม่ถูกต้อง ตามระเบียบอีกนะครับ เห็นใจคนอื่นซักนิด ช่วยเห็นแก่ตัวให้น้อยลงหน่อยดีมั้ยครับ ?

จบแล้วครับนิทาน ที่จบแบบไม่ค่อย happy ending เพราะสุดท้ายคนไข้ไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้ และพวกผมก็กลายเป็นปีศาจร้ายในสายตาของประชาชนไปโดยปริยาย แหม...ผมไม่รู้จะสงสารใครดีนะเนี่ย !

สรุปแล้วจาก 2 เหตุการณ์ที่นำมาให้อ่านกันเล่น ๆ เพลิน ๆ ผมเองอยากจะฝากให้เพื่อน ๆ แพทย์ได้คิดหรือลองถามสักนิดนะครับ ว่าทำไมหลาย ๆ โรงพยาบาลถึงไม่พยายามส่งคนไข้ไปรักษา ในโรงเรียนแพทย์ ไม่ใช่เอาแต่โทรมาบ่นว่า คุณเป็นหมอ มีหน้าที่รักษาก็รักษาไป ถ้ารักษาไม่ได้ก็ส่งมาให้ชั้นรักษาสิ จะเก็บคนไข้ไว้เองทำไม เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่พวกผมเจอแบบนี้ก็จะแจ้งกลับไปว่า “แน่จริงก็ลองมาอยู่ในโรงพยาบาลที่มีการจำกัดค่ารักษาดูสิครับ จะได้รู้ว่ามันเป็นยังไง ถ้าเราต้องตัดงบทั้งหมดของคนไข้หลายหมื่นคน เพื่อจ่ายค่ารักษาให้คนแค่คนเดียว” หรือไม่ก็คงบอกว่า “แน่จริงคุณก็ย้ายสิทธิ์คนไข้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลของคุณเองสิครับ อย่าเอาแต่ทวงใบรับรองสิทธิ์จากโรงพยาบาลอื่น แพทย์ไม่ได้มีหน้าที่มาทวงเอกสารนะครับ ลองคิดดูว่าถ้าย้ายสิทธิ์ไปที่โรงพยาบาลของคุณ คนไข้จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาขอใบส่งตัวทุกครั้ง อยากช่วยคนไข้มากไม่ใช่เหรอครับ ?” และก็จะได้รู้ว่า การที่ได้เงินค่าหัวจากรัฐบาลแค่ คนละ 1,000 บาท แล้วท่านต้องใช้่ค่ารักษาคนไข้ตัวเองซัก คนละ 500,000 บาท ถ้าไม่โดนผู้ใหญ่เรียกพบก็ให้มันรู้ไป ฮึ.ฮึ.ฮึ....

ทุกวันนี้ผมแค่อยากบอกว่าแพทย์ที่ทำหน้าที่แค่ service อย่างเดียว หรือแพทย์ที่ทำบริหารอย่างเดียวนั้น จะทำให้เรามองแต่ในมุมของเราเองเกือบทุกครั้ง ในการตัดสินคนอื่นหรือสิ่งรอบข้างตัวเราน่ะครับ ลองอยู่ตรงกลางหรือถอยออกมาดูจากวงนอกดูนะครับ จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วพวกเราก็เหมือนหมูในเล้ากัดกันครับ กัดกันเรื่องเงินโดยลืมไปว่า ในเมื่อเค้าให้มาเท่านี้ ต่างฝ่ายก็ต่างต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างถึงที่สุด แล้วคนไข้ล่ะครับอยู่ตรงไหน ? เราควรหันมาคิดใหม่ทำใหม่กันดีมั้ยครับ ด้วยการหาปลากระพงมาเพิ่มเอง เพราะสงสัยว่ารัฐบาลคงไม่มีวันสนับสนุนปลากระพงเพิ่มให้พวกเราอีกแล้ว เนื่องจากคาดว่าทางรัฐบาลเองก็คงต้องใช้
ปลากระพงจำนวนมากในการจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ และเค้าก็ไม่เคยสนใจด้วยว่าหมูในเล้าจะกัดกันตายสักกี่ตัวนะครับ ต่อให้หมูตายหมดเล้า ก็คงไม่มีเศษปลากระพงเหลือมาให้พวกเราหรอกครับ เพราะเศษที่เหลือเค้าก็นำไปรับประทานกันเองจนหมดไม่เหลือซากตั้งแต่รู้ว่ามีแหล่งปลากระพงแล้วครับ

ปล. ผมแค่อยากบอกว่าพยายามทำใจเป็นกลางแล้วลองออกมามองโลกภายนอกกะลากันบ้างเถอะครับ อย่าตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ จากในกะลาเลยครับเพราะมันมีโอกาสผิดสูง

Ukris Utensute
2กค2556

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เนื่องจากสองภาคแรกดูเหมือนผมจะตำหนิระบบเอาไว้เยอะ นะครับ ผมเองคิดว่าการที่เราเอาแต่ตำหนิผู้อื่นโดยบอกว่าไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ แต่บ่นเสร็จก็ไม่พูดอะไรต่อ ไม่แม้แต่แสดงความคิดเห็น หรือไม่แม้แต่ช่วยเสนอแนวทางแก้ไข ถ้าผมเป็นคนที่โดนตำหนิก็คงจะรู้สึกว่า เค้าผู้นั้นที่บ่นอยู่ มันเป็นใครนะ แล้วตัวมันเองดีแค่ไหนเหรอที่มาคอยตำหนิผู้อื่น ซึ่งผมเองพบว่าเดี๋ยวนี้สังคมไทยมีแต่คนพวกนี้เยอะมากครับ คนพวกที่ดีแต่ว่าคนอื่น แต่ไม่เคยคิดที่จะช่วยแก้ไข ไม่เคยช่วยแม้แต่จะหาทางออก สำหรับตัวผมเอง ผมถือคติที่ว่า เราไม่ควรทำตัวเองให้สูงขึ้น โดยการเหยียบย่ำคนอื่นให้ต่ำลง เพราะไม่อย่างงั้นสังคมไทยคงจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ ครับเนื่องจากจะมีแต่คนที่คอยเหยียบย่ำผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ผมก็เลยอยากจะนำเสนอแนวคิดของตัวผมเองเกี่ยวกับ ระบบสาธารณสุขของไทยให้ลองพิจารณากันดูครับ เผื่อว่าจะมีคนสนใจรับฟังและนำไปปรับปรุงระบบที่เป็นอยู่ให้มันดีขึ้นครับ

ประเด็นแรก เริ่มจากพื้นฐานของแนวคิดในการนำโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาใช้ในปี 2544 ครับ ผมเข้าใจดีครับว่าเงินงบประมาณหมด และต้องการจำกัดวงเงินไม่ให้บานปลาย คือเบิกจ่ายตามจริงมันเหมือนกับ เบิกได้ไม่อั้นน่ะครับ ถ้าขืนเป็นแบบนั้น รัฐบาลก็พังครับ แต่คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ามันไม่เหมาะกับเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขครับ เพราะอะไรรู้มั้ยครับ เพราะว่าวันพรุ่งนี้เราจะแก่กว่าวันนี้ นั่นคือร่างกายเราจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ ทุกวันตามสัจจธรรมครับ ดังนั้นเมื่อ 12 ปีที่แล้วคนส่วนใหญ่มีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าวันนี้ ความเจ็บป่วยก็จะน้อยกว่าวันนี้ ผลคือค่ารักษาพยาบาลเมื่อ 12 ปีก่อนย่อมต้องถูกกว่าวันนี้ แล้วท่านอัศวินดำทั้งหลายดัน(ทุรัง)มากำหนดเพดานหรือวงเงินให้เท่าเดิม ผมอยากทราบว่าใช้อะไรคิดครับ ใช้หัวคิดรึเปล่าครับหรือว่าใช้หัวแม่เท้าข้างซ้ายคิด นี่ยังไม่รวมภาวะเงินเฟ้อในแต่ละปี ยังไม่รวมค่าเครื่องมือแพทย์ ค่ายาตัวใหม่ ๆ ที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ หรือแม้แต่ค่าเงินบาทที่ไม่แน่นอน เป็นผลที่ทำให้ประเทศไทย ต้องนำเข้ายาที่ราคาค่อนข้างสูง พูดง่าย ๆ คือ ถ้าใน 1 รอบนักษัตรที่แล้วตั้งวงเงินไว้ 60,000 ล้านบาท มาปัจจุบันหลังผ่านไป 12 ปี มันอาจจะต้องเป็น 90,000 ล้านด้วยซ้ำไปครับ ไม่ใช่ตั้งไว้เท่าเดิม แล้วอย่างนี้สาธารณสุขไทยจะพัฒนาได้อย่างไรครับ

ประเด็นที่สองเรื่องการกระจายเงินตามรายหัวประชากร ไม่ทราบว่าใช้ส่วนไหนคิดครับ ผมว่าคราวนี้ใช้หัวแม่เท้าข้างขวาคิดแหง ๆ ผมถามง่าย ๆ ว่า คนกรุงเทพ ที่ต้องใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ แข่งกับเวลา สัมผัสกับมลพิษทางอากาศ เจอกับเรื่องเครียดในชีวิตแต่ละวัน กับ ชาวนา ชาวสวน ที่ทำไร่ ทำนา เดินออกกำลังกายทุกวัน ไม่ต้องเจอกับมลภาวะแบบคนกรุง ท่านคิดว่าจะเจ็บป่วยเท่ากันมั้ยครับ ถ้าคำตอบคือไม่เท่ากัน แล้วทำไมถึงใช้วิธีการกระจายเงินตามรายหัวเท่ากัน ทั้งประเทศล่ะครับ (ยังดีที่ปัจจุบัน สปสช. แบ่งเขตเฉพาะพื้นที่ส่วน กทม. เพิ่มขึ้น) เริ่มแนวคิดก็ดูไม่น่าจะเป็นไปได้แล้วครับ ในเมื่อปัจจุบันนี้ท่านมีข้อมูลการกระจายตัวของความเจ็บป่วยอยู่ในมือ เฉลี่ยตั้ง 12 ปีแล้ว ผมว่านำข้อมูลมาใช้เพื่อดูการกระจายตัวของความเจ็บป่วย และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละพื้นที่ หรือแบ่งตามภาคดีมั้ยครับ

ประเด็นที่สาม ก่อนที่ท่านอัศวินดำจะคิดจำกัดงบโดยจ่ายให้ตามรายหัว ไม่ทราบว่าลืมคิดเรื่องนึงไปรึเปล่าครับ เรื่องที่ว่าก็คือ "ต้นทุนสุขภาพ" ครับ ลองคิดดูดี ๆ นะครับ คนไข้ 1 คน ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ สุดท้ายต้องผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยประมาณ 200,000 บาทต่อคน เค้าคงไม่ได้ป่วยในปี 2544 หรอกครับ เค้าป่วยมานานชาติเศษ ๆ แล้วครับ อาจจะตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แต่ทันทีที่ท่านให้โอกาสรักษาฟรี คนส่วนใหญ่ที่มีต้นทุนสุขภาพไม่ค่อยดี (ติดลบเยอะเพราะมีโรคเรือรังอยู่เพียบ) ก็จะโผล่ขึ้นมาจากซอกหลืบที่ไหนก็ไม่รู้ครับ เพื่อมารับของฟรีตามนิสัยดั้งเดิม สุดท้ายวงเงินที่กำหนดให้ ในแต่ละปี ยังไงก็ไม่มีวันพอหรอกครับ ต่อให้เป็น 2 ล้านล้าน ที่จะกู้มาถลุงใหม่ก็ตาม เนื่องจากต้นทุนสุขภาพของคนกลุ่มนี้มันติดลบมากมายแทบไม่มีขีดจำกัด แล้วท่านคิดอย่างไรกับการจำกัดวงเงินตามรายหัวครับ ? ผมว่ามีทางออกสองทางนะครับ คือโรคเรื้อรังหรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ท่านก็ควรจะปลดล็อคเรื่องของการเก็บเงินตาม DRG และยอมให้แต่ละโรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินกับท่านได้ตามจริงเถอะครับ วิธีนี้วงเงินของรัฐอาจบานปลาย แต่ผมว่านะครับ ถึงจะบานปลายแต่อย่างน้อยท่านต้องไม่ลืมว่าต้นทุนสุขถาพของประชาชนตั้นติดลบอยู่มากมายครับ ถ้าท่านรักษากลุ่มที่ติดลบได้ซัก 5 ปี ผมว่าต้นทุนสุขภาพคนไทยก็จะเริ่มดีขึ้นครับ หรือท่านจะไม่ทำอะไรเลยก็ได้ ต้นทุนสุขภาพก็จะดีขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะคนที่ติดลบเยอะ ๆ ก็จะค่อย ๆ ตายไปจนหมดเนื่องจากไม่สามารถได้รับการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะถูกจำกัดวงเงินค่ารักษา หรือวิธีที่สองในการแก้ปัญหานี้คือ เพิ่มค่าหัวประชากรเข้าไปอีกครับ ผมว่าอีกสักเท่านึง คือรวมเป็น ซัก 120,000 ล้านบาท ก็อาจจะพอครอบคลุมในแต่ละปีได้ แต่ด้วยวิธีนี้ท่านก็จะเหลือเงินในคลังน้อยหน่อย เงินที่ท่านจะนำไปแบ่งกันใช้ก็จะต้องลดลง ท่านจะยอมมี้ยครับ ผมว่ายอมก็ดีนะครับ ถือว่าได้ทำบุญ

ประเด็นที่สี่ครับ ถ้าท่านไม่หาทางลดปัญหาต้นทุนสุขภาพ อีก 12 ปีข้างหน้าก็จะเจอปัญหาเดิมครับ คือคนเราแก่ขึ้นแถมเจ็บป่วยจากความเสื่อมมากขึ้นด้วย แล้วควรแก้ยังไงเหรอครับ ผมว่าไปส่งเสริมสุขภาพอย่างที่ทำนี่แหละครับ ดีแล้วเพียงแต่ทำให้มันจริงจังหน่อย ไม่ใช่ปล่อยให้กินเหล้า สูบบุหรี่กันตามใจชอบ ไม่ใช่ปล่อยให้กินตามใจปาก ถึงเวลาก็ให้ยาฟรีไม่จำกัด แบบนี้ประเทศชาติก็ล่มจมกีนพอดีครับ หัดสอนให้คนเค้าเข้าใจความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตัวเองหน่อย ผมว่าถ้าทำได้ คนไทยทั้งประเทศจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกเยอะเลยครับ

ประเด็นที่ห้า ผมว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับจริยธรรมและคุณธรรม (ไม่ใช่ คุณ-น่ะ-ทำ ผมไม่ทำ) ของเหล่าท่านอัศวินดำทั้งหลายนะครับ ผมอยากพูดสั้น ๆ ว่า "เลิกซะทีได้มั้ยครับ ไอ้นโยบายประชานิยมเนี่ย" เสียดายที่ท่านมีอำนาจในการบริหารประเทศให้พัฒนาได้ ทั้ง ๆ ที่ท่านสามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ท่านเลือกที่จะปกป้องเก้าอี้ของพวกท่านเอง เพื่อที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามารับใช้ประเทศชาติอีกในสมัยหน้า ผมว่าท่านห่วงพวกพ้องมากเกินไปครับ ผมมองว่าการบริหารประเทศจริง ๆ แล้วมันคือการเสียสละนะครับ บางครั้งท่านควรจะต้องทำในสิ่งที่ประชาชนไม่พอใจ เพื่อให้เค้าได้เรียนรู้ว่า ในชีวิตจริงไม่ได้มีคนคอยช่วยเหลือเค้าได้ตลอดเวลาเค้าต้องรู้จักหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของตัวเองก่อนที่จะมาขอให้คนอื่นดูแลชีวิตของเค้านะครับ และอีกจุดประสงค์ของการบริหารประเทศ คือ บริหารให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ใช่กอบโกย ผลประโยชน์เข้าตัวท่านเองนะครับ ท่านอาจต้องยอมเป็นผู้ร้ายในบางครั้ง เพื่อให้ระบบมันพัฒนา งานนี้ผมว่าแถลงกับประชาชนไปเลยครับว่าท่านจำกัดวงเงินในด้านสาธารณสุข ตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว เนื่องจากท่านต้องใช้เงินทำอย่างอื่นหมด และก็เตือนประชาชนด้วยว่าถ้าพวกเค้าไม่ดูแลสุขภาพตัวเองซะบ้าง เวลาป่วยมาโรงพยาบาล ถ้าเค้าใช้สิทธิ์บัตรทอง ที่ไม่ใช่ เครดิตการ์ด เค้าจะได้รับการรักษาตามวงเงินที่ท่านกำหนดให้ แล้วก็ไม่ต้องใช้วิธีโยนความผิดมาให้พวกแพทย์อีกนะครับ ว่ารักษาไม่ดี พวกผมก็พยายามทำหน้าที่กันอย่างเต็มความสามารถกันอยู่แล้ว ที่จะรักษาคนไข้ภายใต้วงเงินที่จำกัดที่พวกท่านกำหนดไว้

ประเด็นที่หก ผมว่าเราควรเลือกระหว่างความถูกต้อง กับความพึงพอใจครับ เพราะความถูกต้องนั้นมักจะตามมาด้วยความไม่พอใจ การทำตามความถูกต้องจึงทำได้ยากกว่ามากมายนัก ผมหมายถึงเรื่องที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลครับ พูดง่าย ๆ ก็คือ Co-payment นั่นแหละครับ เพราะความจริงก็คือ รัฐบาลไม่ได้มีเงินมากมายไม่จำกัด ในการรักษาคนไข้ ในเมื่อมีเงินจำกัด จึงไม่ควรปล่อยให้ประชาชนได้ใจ ทำร้ายตัวเองด้วยการกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือแม้แต่กินตามใจปาก หรือทำตัวเลว ๆ แค่ไหนก็ได้ ยังไงซะตัวข้าก็ได้รับการรักษาฟรี ตัวอย่างจากข้าราชการก็มีให้เห็นแล้วนี่ครับ เบิกยาตัวเองไปให้คนข้างบ้านก็มี เบิกยาตัวเองหลาย ๆ โรงพยาบาลพร้อม ๆกันเพื่อเอาไปขายให้ร้านขายยาก็มี ท่านเห็นมั้ยครับว่า นิสัยของมนุษย์ก็คือ ยิ่งให้ ก็ยิ่งขอ ยิ่งไม่ให้ ก็ยิ่งเดินขบวน สุดท้ายก็ต้องให้ ผมว่ามันเหมือนการตามใจลูกมากเกินไป คนโบราณท่านอุตส่าห์สอนว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" สุดท้ายเด็กมันก็จะเสียคนครับ โตขึ้นมามันก็จะมีความเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักพอ เหมือนที่ท่านเคยเห็นผู้คนบางคนรอบตัวท่าน หรืออาจจะเป็นคนที่อยู่ในกระจกเงาที่บ้านท่านก็ได้ครับ แล้วพวกท่านอัศวินดำทั้งหลายที่มีอำนาจในการแก้ไขลูก ๆ ของท่านได้ ผมหมายถึงประชาชนนะครับ (ลูก ๆ ท่านจริง ๆ มันจะเป็นยังไง มันก็เป็นกรรมของท่านที่เลี้ยงดูมาครับ) ทำไมท่านไม่ทำสักทีล่ะครับ จะปล่อยไปถึงเมื่อไหร่ ถึงจะกล้าทำในสิ่งที่ควรทำ

ผมว่านโยบาย Co-payment จะทำให้คนไทยตระหนักว่า ถ้าชั้นกินเหล้า ถ้าชั้นสูบบุหรี่ มันจะทำให้ชั้นป่วย และเมื่อชั้นทำให้ตัวเองป่วย ขั้นก็ต้องจ่ายค่ารักษาตัวชั้นเอง ไม่มีใครมาคอยตามล้างตามเช็ดให้ชั้น ดังนั้น ถ้าชั้นไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ชั้นก็จะไม่ป่วยจากสาเหตุพวกนี้ ชั้นก็ไม่ตองเสียเงินของชั้นเอง ด้วยนโยบายแบบนี้ คนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ก็จะต้อง ระวังสุขภาพตัวเองมากขึ้นครับ ผมเห็นมาจากคนไข้เบาหวานบางคนครับ ผมพูดว่า ถ้ากินตามใจปากแบบนี้ ปล่อยให้อ้วนแบบนี้ ครั้งหน้าลองจ่ายเงินเองดูมั้ยครับ จะได้รู้สำนึกซะบ้าง คิดแต่จะเอาเงินภาษีคนอื่น มาจ่ายค่ายาตัวเองทั้งชีวิตเหรอไงครับ หลังโดนด่าไปผมว่าเค้าคิดได้ครับ เริ่มคุมนำหนักได้ดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ดีแตกอยู่ดี เพราะยังไงซะ " เค้าไม่ต้องจ่ายเงินให้กับความผิดของเค้านี่ครับ ความผิดที่ไม่รู้จักดูแลตัวเองไงครับ " ถ้าท่านคิดจะนำ Co-payment มาใช้จริงผมอยากเสนอว่าต้องแบ่งกลุ่มโรคครับ แบ่งง่าย ๆ เช่น กลุ่มโรคที่ทำตัวเองประชาชนต้องจ่ายเยอะหน่อยครับ กลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากการทำตัวเองก็ให้จ่ายน้อยหน่อย เพราะไม่ใช่ความผิดเค้า ยกตัวอย่าง เช่น คนที่เป็นโรคปอด เพราะสูบบุหรี่ ถ้ายังสูบบุหรี่คนไข้ต้อง co-pay ซัก 50 % แต่ถ้าเลิกบุหรี่ลดให้เหลือ 20 % หรือ คนไข้เบาหวานถ้ามาครั้งแรก อาจคิดแค่ 20 % แต่ถ้าปล่อยให้น้ำหนักขึ้น ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 50 % เพราะไม่ควบคุมอาหาร หรือ คนไข้อุบัติเหตุจราจร เก็บแค่ 10 % แต่ถ้าอุบัติเหตุจากความประมาท ไม่ข้ามทางม้าลาย ไม่สวมหมวกกันน็อคก็ต้องจ่าย 50 % เป็นต้น

ผมมองว่าเราไม่ควรให้มี co-payment เท่ากันทุกโรคเพราะบางคนดูแลสุขภาพอย่างดี สุดท้ายก็เป็นมะเร็ง กลุ่มโรคพวกนี้ก็อย่าไปเก็บเค้าเยอะครับ คิดแบบการเก็บภาษีนั่นแหละครับ มีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก แต่กรณีนี้คือ "ดูแลตัวเองน้อยจ่ายมาก ดูแลตัวเองมากจ่ายน้อย" ถ้าเป็นแบบนี้ รัฐบาลก็ไม่ต้องคอยมาโอบอุ้ม คนทั้งประเทศด้วยการดึงระดับมาตรฐานการรักษาให้ต่ำลงเท่า ๆ กัน แต่เป็นการยกมาตรฐานการรักษาให้ประชาชนได้รับการรักษาในแบบที่ควรจะเป็นนะครับ แต่ก็อีกนั่นแหละครับ รัฐบาลไหนจะยอมทำ เพราะบังเอิญเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วย ดันเป็นฐานเสียงของพวกท่านแถมซำร้ายกว่านั้นดันเป็นพวกที่กินเหล้าสูบบุหรี่และคอยแต่หวังจะพึ่งส่วนบุญจากคนอื่น ไม่อยากจะพูดว่าคนกลุ่มนี้แทบไม่ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำ หรือเสียก็แค่ไม่กี่บาท แต่ค่ารักษาพยาบาลตกคนละหลายหมื่นบาทต่อปี แค่ทำให้เค้าคิดได้ว่าควรดูแลสุขภาพตัวเอง แค่นี้ผมว่าประเทศชาติก็จะมีเงินเหลือมากมายเอาไปพัฒนาในด้านอื่น ๆ แล้วครับ

ปล. ผมกำลังรออัศวินขาวตัวจริงที่ขี่ม้าขาว ไม่ใช่อัศวินดำขี่ม้าขาวที่มีแต่ความลับอันดำมืด จนไม่กล้าจะเปิดเผย ให้สาธารณชนได้รับรู้นะครับ

Ukris Utensute
4กค2556