ผู้เขียน หัวข้อ: มศว เปิดเครื่องรักษามะเร็งมูลค่า60 ล. ใช้คลื่นความร้อนยิงผ่านผิวหนัง ไร้แผล ไม่ต้องผ่าตั  (อ่าน 1030 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ว่า ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับบริษัท เอสคูแลป คลินิก (เอเชีย) จำกัด ร่วมวิจัยพัฒนาและให้บริการ "เครื่องมือรักษาเนื้องอกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง" ที่เรียกว่าว่า High-Intensity Focused Ultrasound (HIFU) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในต่างประเทศมากกว่า 10 ปี แต่เครื่องนี้เพิ่งเริ่มนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยและได้ทำการติดตั้งที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.องครักษ์ จ.นครนายก เป็นเครื่องแรกของประเทศโดยการทำงานของเครื่องมีหลักการคล้ายกับการใช้แว่นขยายรวมแสงอาทิตย์ให้ตกอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน (focus) ทำให้ความเข้มข้นของแสงสูงจนเกิดเป็นความร้อน ซึ่งแพทย์จะยิงคลื่นความร้อนนี้ผ่านผิวหนังไปยังเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ เลย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งทรวงอกจะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้ เนื่องจากคลื่นความร้อนไม่สามารถยิงผ่านกระดูก

"การรักษาผู้ป่วยระยะลุกลามจะเป็นการบำบัดรักษาแบบประคับประคอง ไม่ใช่รักษาหายขาด อย่างผู้ป่วยต่อมลูกหมากและมะเร็งตับที่เป็นค่อนข้างมาก ผ่าตัดไม่ไหวก็หันมาใช้เครื่องดังกล่าว ซึ่งจริงๆ แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการผ่าตัด แต่ไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัดไม่เสียเลือด ส่วนใครที่สนใจการรักษาวิธีนี้ อันที่จริงขอให้ปรึกษาแพทย์ประจำของตัวเราก่อนว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน ระดับใด ควรรักษาวิธีใด เพราะไม่ใช่ทุกรายต้องรักษาด้วยวิธีคลื่นความร้อน แต่ที่ผ่านมามีคนเข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ระยะลุกลามจะหายขาดได้ด้วยเครื่องนี้ ทำให้แห่กันมามาก ทั้งๆ ที่ปัจจุบันศักยภาพในการบริการด้วยเครื่องดังกล่าว

ได้มากสุดวันละ 10 รายเท่านั้น และบางรายก็ไม่สามารถรักษาได้ด้วย" ผศ.นพ.เฉลิมชัยกล่าว และว่า สำหรับเครื่องนี้มีราคา 60 ล้านบาท แต่ มศว ไม่ได้ใช้งบประมาณในการซื้อ แต่เป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนา

ผศ.นพ.วิทย์ วราวิทย์ หน.ภาครังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว องครักษ์ กล่าวว่า ความร้อนที่เกิดจากเครื่อง HIFU นำมาใช้ทางการแพทย์ในการรักษาโรคก้อนเนื้องอกชนิดธรรมดาและชนิดร้ายแรง โดยอาศัยหลักการรักษาในลักษณะของรักษาภายนอกร่างกายผ่านทางผิวหนัง (percutaneous therapy) ซึ่งทำให้เกิดความร้อนภายในก้อนเนื้องอกในร่างกาย คล้ายกับระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยการทำงานจะเป็นการรวมตัวกันของคลื่นเสียงพลังงานสูงจำนวนมาก โดยมีจุดรวมในตำแหน่งเดียวกันจะกลายเป็นจุดความร้อนทำลายเซลล์มะเร็งนั่นเอง โดยปัจจุบัน มศว องครักษ์ ได้ใช้เครื่องดังกล่าวในการรักษามะเร็งระยะลุกลาม เพื่อบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งหรือทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลงเพื่อไม่ให้ไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง โดยก้อนนั้นจะต้องสามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถรักษาได้ ในเบื้องต้นทางศูนย์การแพทย์ได้มีโครงการวิจัยและเปิดให้บริการเบื้องต้นจำนวน 2 โรคคือ 1.มะเร็งตับและมะเร็งทางเดินน้ำดี และ 2.มะเร็งตับอ่อน แต่มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งสมอง ไม่สามารถใช้เครื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากเครื่องนี้ไม่สามารถยิงคลื่นความร้อนผ่านกระดูกได้

"การบำบัดรักษาด้วยเครื่องนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะพักฟื้นเพียง 3 วัน และรอดูอาการว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอีกระยะหนึ่ง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้มีความเสี่ยงของการสะสมความร้อนที่ผิวหนังและอวัยวะ มีโอกาสที่ผิวหนังจะเกิดความร้อนเหมือนโดนน้ำร้อนลวก หรืออาจมีภาวะเลือดออกในก้อนมะเร็งหรือเลือดออกในช่องท้องรวมไปถึงอวัยวะข้างเคียง เช่น ลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะได้รับอันตราย แต่อาการข้างเคียงเหล่านี้มีโอกาสเกิดน้อยเพียง 1-2% เท่านั้น เนื่องจากระหว่างการทำมีการใช้อัลตราซาวด์ในการกำหนดตำแหน่งรักษาอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการรักษาด้วยเครื่องนี้ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามให้หายขาดได้เพียงแค่บำบัดรักษา ประกอบกับในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากเนื้อมะเร็งอาจไปติดเส้นเลือดก็เป็นอีกทางเลือกในการใช้วิธีนี้ แต่การผ่าตัดก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดอยู่ดี ส่วนผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้น ขณะนี้ยังไม่ให้บริการเพราะปัจจุบันมีแนวทางรักษาอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์มาก่อนแล้ว วิธีนี้ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา" ผศ.นพ.วิทย์กล่าว

ผศ.นพ.วิทย์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศใช้เครื่องดังกล่าวทั้ง ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สิงคโปร์ อังกฤษ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ส่วนค่ารักษาอยู่ที่ 58,000 บาทต่อครั้ง และไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภท โดยการรักษาโดยเฉลี่ยจะมากกว่า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา

มติชน