ผู้เขียน หัวข้อ: นวัตกรรมเซลล์บำบัด-สเต็มเซลล์ ธุรกิจหลอกคนรวย!?แพทยสภา!ปลุกคนไทยอย่าตกเป็นเหยื่อ  (อ่าน 1292 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ธุรกิจสเต็มเซลล์กลายเป็นธุรกิจขายความหวัง-หลอกคนรวย รายหนึ่งเสียเงินไม่ต่ำกว่าล้านบาท แพทยสภายืนยันชัดในประเทศไทยและทั่วโลกรับรองการรักษาได้แค่สเต็มเซลล์จากเลือด โรคอื่นทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ ข้อเข่าเสื่อม กล้ามเนื้อตา เสริมทรวงอก ชะลอความแก่ ฯลฯ ล้วนอยู่ในขั้นทดลอง หมอต้องแจ้งความเสี่ยงทั้งหมดให้ผู้ป่วยรู้ พร้อมทั้งห้ามเก็บเงินค่ารักษาเด็ดขาด วอนประชาชนรู้เท่าทัน ระวัง!ถูกหลอก แจงผู้เดือดร้อนจากการรักษาร้องเรียนแพทยสภาได้แม้เซ็นชื่ออนุญาต เพราะเอกสารสัญญานั้นอาจผิดกฎแพทยสภาอยู่แล้ว
       
       เวลานี้ชัดยิ่งกว่าชัดแล้วว่า ธุรกิจสเต็มเซลล์ในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งทั่วโลกเองตอนนี้มีการรับรองการรักษาแค่สเต็มเซลล์เลือด รักษาเฉพาะโรคเลือดต่างๆ ซึ่งโรคเลือดบางโรคเองก็ยังมีผลการรักษาไม่ 100% ขณะที่สเต็มเซลล์รักษาโรคกระดูกต่างๆ ต้องบอกว่าวงการแพทย์ รวมทั้งผู้ควบคุมกฎดูแลแพทย์อย่างแพทยสภานั้นไม่ได้ให้การยอมรับให้มีการรักษาอย่างถูกกฎหมาย
       
       ยอมให้แค่แพทย์สามารถทำการทดลองวิจัยในผู้ป่วยโรคต่างๆ ได้ แต่ต้องบอกกับคนไข้ตามความเป็นจริงว่าเป็นแค่การทดลอง ซึ่งมีสิทธิที่คนไข้จะเกิดอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ต่างๆ และต้อง “ไม่มีการเก็บเงิน”!
       
       แต่ปัญหาคือความจริงกลับพบว่า หลายๆ โรงพยาบาล รวมทั้งคลินิกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐบางแห่ง โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่มีการโฆษณาว่ามีการเอาสเต็มเซลล์มารักษาโรคต่างๆ (นอกเหนือจากโรคเลือด) และคลินิกต่างๆ ที่เอาเทคโนโลยีสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาความงาม “ชะลอความแก่” กันทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งนับๆ แล้วมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการแพทย์นี้มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
       
       ธุรกิจขนาดใหญ่ ผลประโยชน์มหาศาล!
       
       เขาทำอะไรกันบ้าง?
       
       วงการแพทย์ต่างปท.กดดันไทย-สเต็มเซลล์ผิดกม.
       
       นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยว่า การรักษาแบบสเต็มเซลล์ในประเทศไทยมีการรักษากันมาหลายปีแล้ว โดยแนวคิดที่ว่าอวัยวะไหนที่เสียไป สามารถใช้สเต็มเซลล์มาปลูกถ่ายขึ้นใหม่เพื่อซ่อมแซมได้ ซึ่งก็มีทั้งโรคที่ทำได้จริงคือโรคเลือดที่ใช้ไขกระดูกต่างๆ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีการรักษาอย่างที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ได้แก่การใช้สเต็มเซลล์เข้าไปรักษาโรคกระดูก และกล้ามเนื้อต่างๆ ซึ่งแต่เดิมแพทยสภายังไม่ได้เข้ามาควบคุม ทำให้หลายโรงพยาบาลมีการรับรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคกระดูกข้อเข่าเสื่อม, ชะลอความแก่, เสริมเต้านม ฯลฯ ซึ่งภายหลังพบว่าเกิดเคสที่มีอันตรายต่อชีวิตขึ้นมา รวมกับธุรกิจสเต็มเซลล์ได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าอันไหนรักษาได้จริง อันไหนไม่มีประโยชน์
       
       จนวงการแพทย์ในประเทศไทยก็เป็นที่รู้กันว่าใครคือคนที่กุมชะตาธุรกิจนี้ ขณะที่วงการแพทย์จากต่างประเทศก็ทำการกดดันไทยในเรื่องนี้มาโดยตลอด
       
       “ไทยถูกโจมตีหนักเลย เพราะก่อนหน้านี้ที่จะมีการควบคุมได้มีโรงพยาบาลนำเรื่องสเต็มเซลล์ไปทำการรักษาให้คนไข้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รับรองความปลอดภัยครบ 100% และมีความเสี่ยงว่าเซลล์ที่ฉีดเช่นเดียวกัน เข้าไปอาจไปสร้างเส้นเลือด สร้างกระดูก หรืออาจทำให้เกิดมะเร็งได้อีก”
       
       เหตุดังกล่าวทำให้แพทยสภาไม่สามารถอยู่เฉยกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ จึงออกประกาศควบคุม ในข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ. 2552 ระบุชัดโดยสรุปว่า ผู้ที่จะปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในคน ยกเว้นโรคทางโลหิตวิทยานั้น จะต้องทำการ
       
       1.รักษาเฉพาะโรคที่มีผลวิจัยรองรับและเป็นที่ยอมรับแล้วว่าเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานและแพทยสภาเห็นชอบเท่านั้น
       
       2.หากจะไปรักษาโรคที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย จะต้องได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันที่ผู้ทำวิจัยสังกัด และคณะกรรมการวิชาการและจริยธรรมการวิจัยในคนด้านเซลล์ต้นกำเนิดของแพทยสภา
       
       3.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาต้องได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติของแพทยสภาหรือจากสถาบันที่แพทยสภารับรอง
       
       4.ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากแพทยสภาให้สามารถทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาได้
       
       ส่วนใครที่เคยรักษามาก่อนหน้านี้ จะต้องส่งหลักฐานแสดงว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนั้นเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน และใครที่กำลังดำเนินการวิจัยจะต้องส่งโครงร่างการวิจัย เอกสารคู่มือการวิจัย เอกสารรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมจากสถาบันที่ผู้วิจัยสังกัด รวมทั้งเอกสารชี้แจงโครงการวิจัยและเอกสารยินยอมของคนไข้ ฯลฯ มาให้แพทยสภาด้วย
       
       “ก่อนหน้าที่เราจะออกประกาศมีหลายโรงพยาบาลทำอยู่แล้ว บางโรงพยาบาลปลูกถ่ายรักษากล้ามเนื้อหัวใจที่ตายไปให้กลับมาเป็นปกติ มีอยู่โรงพยาบาลหนึ่งทำไป 120 รายแล้ว แต่ความจริงคือในวงการแพทย์ยังไม่ได้ให้การยอมรับ เราโดนต่างประเทศโจมตีเรื่องนี้มากในปี 2550 ว่าเมืองไทยทำไมถึงไม่มีการควบคุม เหมือนหลอกคนของเขามาทำให้ดีขึ้นชั่วคราวแล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะว่าไทยวางเป้าหมายที่จะเป็น Medical Hub ถ้าทำไม่ดี วันหลังจะเสียชื่อมาก ต้องทำให้เกิดมาตรฐาน”
       
       นี่เป็นเหตุผลที่แพทยสภาต้องตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาเรื่องของสเต็มเซลล์นี้โดยเฉพาะ และโดยเร่งด่วน!

       ธุรกิจขายความหวัง-คนรวยเป็นเหยื่อ
       
       แพทยสภาและวงการแพทย์เองต่างรู้ดีว่า แม้แพทยสภาจะออกประกาศดังกล่าวมา แต่ธุรกิจสเต็มเซลล์ก็ยังอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหาผลประโยชน์มหาศาลได้
       
       “คนป่วยโรคร้ายก็เหมือนชีวิตหมดความหวัง แพทย์ที่ไม่มีจริยธรรมก็รู้จุดนี้ดี บางคนจึงใช้สเต็มเซลล์มาเป็นธุรกิจขายความหวังให้คนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรวยที่มีอำนาจจ่ายเงินได้ไม่อั้น แม้มีความหวังเพียงน้อยนิด คนเหล่านี้ก็พร้อมจะเสี่ยง ถามว่าคนไข้รู้ไหมว่าต้องเสี่ยง เขารู้นะ แต่มันเป็นความหวังเดียวที่จะรอด คือเราไม่รู้ว่าหมอเขาพูดอะไรให้คนไข้ฟัง แล้วคนไข้ยินยอมอย่างไร กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าเคยมีคนไข้ที่มีปัญหาจากการฉีดสเต็มเซลล์แต่ไม่มีใครฟ้องร้อง เมื่อไม่มีใครฟ้องร้องแพทยสภาก็เอาผิดหมอคนนั้นๆ ไม่ได้ จะเข้าไปตรวจสอบรายต่อรายก็เป็นเรื่องยาก”
       
       อีกทั้งคนในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ กำลังเป็นกลุ่มคนที่ถูกตั้งคำถามจากหมู่แพทย์ด้วยกันว่า กำลังทำธุรกิจผลประโยชน์มหาศาลนี้เพื่อหลอกเอาเงินคนรวยโดยเฉพาะ เพราะค่ารักษาต่อหัวตกแล้วอย่างต่ำ คนคนหนึ่งที่จะทำการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้จะต้องจ่ายเป็นหลักล้านบาท
       
       ดังนั้น ธุรกิจสเต็มเซลล์ ก็คือธุรกิจหลอกเงินคนรวย! นายกแพทยสภาย้ำชัดเจน
       
       “ถ้าจะให้ถูกต้อง มันมีหลักเกณฑ์ว่า อันดับแรกหมอต้องบอกคนไข้ว่าการรักษานี้เป็นเพียงการทดลอง เป็นการทำงานวิจัย และสองจะคิดเงินผู้ป่วยไม่ได้ อย่างที่บอกส่วนใหญ่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับคนรวยโดยเฉพาะ เพราะคนกลุ่มนี้มีเงินมาก และพร้อมจะซื้อโอกาสรอด แต่มันไม่ถูก คนไข้เวลาจะต้องตาย หมอบอกว่ามีโอกาสรอด แต่ไม่บอกรอดกี่เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยแทรกซ้อนอะไรบ้าง ไม่ได้บอกทั้งหมด”
       
       3 กลุ่มเกี่ยวข้องสเต็มเซลล์
       
       นพ.สมศักดิ์เปิดเผยว่า ตามรายงานที่ส่งมาให้แพทยสภา จะมีคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้สเต็มเซลล์ในวงการแพทย์ 3 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลเอกชน และบริษัทหรือคลินิกสถานบริการสุขภาพต่างๆ
       
       โดยกลุ่มโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลรัฐนั้น มีหลายแห่งที่ทำการปลูกถ่ายเซลล์ให้คนไข้ แต่อยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ซึ่งระบุชัดว่าจะต้องบอกรายละเอียดให้คนไข้ทราบว่าเป็นการทดลอง มีหนังสือยินยอม และห้ามเก็บเงินค่ารักษาโดยเด็ดขาด โดยปกติแล้วกลุ่มแพทย์ในโรงพยาบาลแพทย์จะทำการวิจัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ค่อยทำผิดมาตรฐานทางวิชาการ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในต่างจังหวัดมีการเก็บเงินจากผู้ป่วย โดยอ้างว่าผู้ป่วยนั้นเบิกค่ารักษาจากกรมบัญชีกลางได้ ดังนั้นจึงไม่ได้เก็บเงินจากผู้ป่วยโดยตรง แต่เป็นรัฐจ่ายให้ ซึ่งในส่วนนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดอยู่ ทางแพทยสภากำลังดำเนินการให้มีการแก้ไขปัญหานี้
       
       สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีการนำเอาเรื่องสเต็มเซลล์ไปโฆษณารักษาโรคนั้น มีส่วนหนึ่งก็เกิดจากแพทย์โรงพยาบาลรัฐบางคนได้นำเอาโครงการวิจัยสเต็มเซลล์ไปร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำการวิจัยรักษาคนไข้ แต่ในรายละเอียดแล้ว ไม่ทราบแน่ชัดว่าแพทย์ได้แจ้งกับคนไข้ถึงความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด รวมกระทั่งว่าได้แจ้งหรือไม่ว่าเป็นเพียงขั้นตอนของการทดลอง และต้องไม่มีการเก็บเงิน
       
       ส่วนกลุ่มคลินิกหรือสถานบริการต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ได้นำสเต็มเซลล์มาใช้ในเรื่องของการชะลอความแก่เป็นหลัก รวมทั้งมีบางส่วนตั้งเป็นบริษัทเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้รักษาตัวเองด้วย
       
       จะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจสเต็มเซลล์ทุกวันนี้ถูกจำแนกออกเป็นในเรื่องของการรักษา และการเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้ในอนาคต
       
       โดยกลุ่มธุรกิจฟากรักษาก็จะมีการรักษาโรคร้ายต่างๆ ด้วยการทำลายเซลล์ที่มีปัญหาออกไป แล้วปลูกถ่ายเซลล์ใหม่เข้ามา กลุ่มนี้คนที่ไปหาประโยชน์จากการโฆษณาสเต็มเซลล์เกินจริง จึงเอาความหวังของคนที่เป็นโรคร้ายมาหาผลประโยชน์จากคนเหล่านั้น
       
       นายกแพทยสภาบอกว่า แพทย์กลุ่มนี้ผิดจรรยาบรรณแพทย์อย่างรุนแรง แต่คนที่ทำเขาก็ไม่แคร์ เพราะว่าได้เงินมหาศาลมาก ขณะที่เวลาทำการโฆษณาก็ให้คนอื่นเป็นคนโฆษณา แพทยสภาก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะแพทยสภามีหน้าที่ควบคุมจริยธรรมของแพทย์เท่านั้น

       เสริมนม-ชะลอความแก่ ระวัง!มะเร็ง
       
       ขณะที่กลุ่มธุรกิจความงาม ฉีดสเต็มเซลล์เพื่อชะลอความแก่ที่ขณะนี้มีการให้บริการอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังมีผู้ที่เชื่อว่าการฉีดสเต็มเซลล์จะทำให้เต้านมใหญ่ขึ้นได้ ที่ผ่านมาก็มีคนฉีดสเต็มเซลล์เพื่อเสริมเต้านม โดยไม่รู้ว่าที่จริงแล้วมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกและมะเร็งได้ ที่สำคัญเต้านมทั้ง 2 ข้างก็อาจจะไม่เท่ากัน
       
       อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจเก็บสเต็มเซลล์นั้น จะเป็นการขายความเชื่อ โดยให้คนที่มีเงินเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งถามว่าอนาคตนั้นมีสิทธิที่วิทยาการการแพทย์ในด้านสเต็มเซลล์จะก้าวหน้าหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามี แต่ก็ใช่ว่าจะจำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์ของตัวเอง อย่างโรคมะเร็ง ก็จำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่ของตัวเอง เพราะเกรงว่าเลือดจะเจือปนเชื้อมะเร็งอยู่ เป็นต้น อีกทั้งเทคโนโลยีการเพาะเซลล์ก็สามารถทำได้ในเทคโนโลยีที่มีอยู่ ไม่ยากที่จะเพาะเซลล์ขึ้นมาใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้ในอนาคตยาวถึง 20 ปี
       
       “ที่พบมากคือ มีการโฆษณาเกินจริง มันไม่มีประโยชน์ ประเทศสหรัฐอเมริกามีการตีพิมพ์งานวิจัยระบุชัดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเราเองไว้ใช้ในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่แพทยสภาก็ไม่ได้ไปเอาผิด เพราะถือเป็นธุรกิจที่เอาสเต็มเซลล์มาเก็บเฉยๆ ไม่ได้ทำร้ายมนุษย์ แต่มันไม่จำเป็นต้องเก็บ เพราะจริงๆ เก็บไปก็ไม่ได้ใช้”
       
       ดังนั้น เวลานี้ในประเทศไทยและแทบทุกประเทศทั่วโลกรับรองการใช้วิทยาการแพทย์มารักษาโรคด้วยการใช้สเต็มเซลล์เพียงโรคที่เกี่ยวกับโรคเลือดเท่านั้น
       
       โรคทางกระดูก กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อตา ข้อเข่า เต้านม มะเร็งที่ไม่ใช่มะเร็งในเม็ดเลือด รวมทั้งการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อความงาม ชะลอความแก่ทั้งหลาย
       
       ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนยังไม่มีการรับรองความปลอดภัย!
       
       คนไข้ต้องรู้เท่าทัน-ร้องเรียนแพทยสภาได้ทันที
       
       นายกแพทยสภายอมรับอย่างหนักใจว่าแพทยสภาเองก็รู้ว่าแพทย์คนใด กลุ่มใด โรงพยาบาลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่สามารถเอาผิดกับแพทย์ หรือโรงพยาบาลที่โฆษณาเกินจริงได้ เพราะเขาอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายแพทยสภาให้คนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์เป็นผู้โฆษณา อีกทั้งที่สำคัญหากไม่มีคนไข้ หรือญาติคนใดกล้ามาร้องเรียนกับแพทยสภา การเอาผิดแพทย์ที่ผิดจรรยาบรรณจึงดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่การควบคุมของแพทยสภาจะเข้าไปถึง
       
       ที่สำคัญแพทย์บางคนก็ให้คนไข้เซ็นสัญญาว่าจะไม่มีการเอาผิดหรือฟ้องร้องแพทย์หากเกิดปัญหาใดๆ ตามมา ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว นายกแพทยสภาย้ำว่าข้อสัญญาที่แพทย์ให้คนไข้เซ็นชื่อไว้นั้นอาจไม่ตรงกับกฎของแพทยสภา เพราะท้ายที่สุดแล้วจะมีแต่ตัวคนไข้ และหมอผู้ทำการรักษาเท่านั้นที่รู้ว่าเอกสารที่เซ็นไป มีเนื้อหาว่าอย่างไร ครอบคลุมกฎของแพทยสภาหรือไม่
       
       ดังนั้น คนไข้หรือญาติที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับแพทยสภาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนหรือสถานบริการสุขภาพต่างๆ เพราะอาจจะทำให้มีอาการโรคแทรกซ้อน หรือว่าไม่มีโรคแทรกซ้อนแต่มีการเรียกเก็บค่ารักษาในการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับเลือดได้เช่นกัน
       
       “หากมีคนไข้ ญาติคนไข้ออกมาร้องเรียน กลไกของแพทยสภาจะเข้าไปตรวจสอบ และควบคุมเรื่องนี้ได้ดีขึ้น เพราะข้อเท็จจริงมีคนไข้ที่ฉีดสเต็มเซลล์แล้วเกิดเป็นก้อนเนื้อ ที่สุดพบว่าเป็นมะเร็งไปรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ แต่ไม่ต้องการร้องเรียนเพราะกลัวเสียชื่อเพราะเป็นที่รู้จักในสังคม ทางแพทยสภาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”
       
       นายกแพทยสภายืนยันอีกครั้งว่า ไม่เคยบอกว่าสเต็มเซลล์ไม่ดีกับวงการแพทย์ และสเต็มเซลล์เป็นความหวังให้กับคนไข้ได้จริง แต่ไม่ใช่วันนี้ เพราะประเทศไทยและทั่วโลกยังไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของมนุษย์ได้ และอยากบอกคนไข้รวมทั้งญาติคนไข้ทุกคนอย่าไปคิดว่าไหนๆ ก็ต้องตายแล้ว ขอให้มีความหวังรอดสัก 1% จะยอมทุ่มเงินเท่าไรเท่ากัน เพราะว่าความหวังจอมปลอมก็มีคนมาหาประโยชน์ก็เยอะ แทนที่จะดีขึ้น กลับทรุดลงกว่าเดิม!
       
       อย่างไรก็ดี ธุรกิจสเต็มเซลล์ แม้วันนี้แพทยสภาหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ พบว่าธุรกิจนี้มีมูลค่ามหาศาล และอยากจะปกป้องไม่ให้ประชาชนทั่วไปต้องตกเป็นเหยื่อของนวัตกรรมความก้าวหน้าที่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ แพทย์ และหน่วยราชการของรัฐได้ใช้อำนาจ ความเชื่อ มาหลอกลวงให้คนหลงเชื่อไปใช้บริการก็ตาม
       
       แต่ในความเป็นจริง แพทยสภา หรือบรรดาแพทย์ที่ถือระเบียบจริยธรรม ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ เพราะคนกลุ่มนี้คือ “มาเฟียธุรกิจสเต็มเซลล์” หากเข้าไปยุ่งอันตรายมาถึงตัวแน่ หรืออาจต้องเผชิญมรสุมเช่นที่ รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของ “ฮาร์ท เจเนติกส์” กำลังถูกคุกคามอยู่ก็เป็นได้ (ตอนที่ 5)

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กรกฎาคม 2556