ผู้เขียน หัวข้อ: การฟื้นคืนชีวิตของโกรองโกซา-สารคดีเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1436 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ความอัศจรรย์แห่งธรรมชาติหวนคืนสู่อุทยานแห่งชาติในโมซัมบิก

ในช่วงมรสุมฤดูร้อนระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม ลมค้าจากมหาสมุทรอินเดียพัดพาเมฆฝนมาสู่โมซัมบิก หมู่เมฆเคลื่อนตัวข้ามชายฝั่งเข้ามาให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนป่าบนที่ราบสูงเชรินโกมา ทุ่งหญ้าสะวันนา และท้องทุ่งบนที่ราบน้ำท่วมถึงในเขตหุบเขารอยเลื่อนเกรตริฟต์แวลลีย์ ก่อนจะเทฝนกระหน่ำลงบนลาดเขาโกรองโกซาอย่างชุ่มฉ่ำราวกับอำนวยพรแก่ผืนดิน

มวลเขาสูงโกรองโกซาสูงถึง 1,863  เมตรและมีปริมาณน้ำฝนสูงเกือบ 2 เมตรต่อปี เพียงพอจะหล่อเลี้ยงป่าดิบชื้นเขียวขจีบนยอดเขาและอุทยานแห่งชาติโกรองโกซาในเขตเกรตริฟต์แวลลีย์ทางตะวันออก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักพิงของสัตว์ป่าที่รุ่มรวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก่อนจะพินาศย่อยยับเพราะภัยสงครามกลางเมืองในโมซัมบิก อุทยานแห่งชาติโกรองโกซาเคยมีช้าง ควายป่าแอฟริกา ฮิปโปโปเตมัส สิงโต หมูป่าแอฟริกา และแอนทีโลปอยู่ชุกชุม ปัจจุบัน สัตว์บางชนิดที่กล่าวมากำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้ง  ส่วนใหญ่เป็นผลจากความพยายามของเกรก คาร์ นักธุรกิจใจบุญชาวอเมริกันผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการฟื้นฟูโกรองโกซา

ฤดูร้อนของปี 2011 ผมเดินทางไปโกรองโกซาเพื่อสนับสนุนความพยายามของคาร์อีกแรงหนึ่ง อุทยานแห่งนี้เป็นตัวอย่างชั้นยอดที่จะสื่อให้เห็นความสำคัญของชีววิทยา ป่าดิบชื้นเนื้อที่ 75 ตารางกิโลเมตรบนยอดเขาโกรองโกซาเปรียบเสมือนเกาะอันรุ่มรวยทางนิเวศวิทยากลางทุ่งหญ้าสะวันนาและท้องทุ่ง ป่าดิบชื้นบนยอดเขาแห่งนี้ยากจะเข้าถึง ส่วนใหญ่จึงยังไม่ได้รับการสำรวจโดยนักชีววิทยา เป็นต้นว่า ตอนที่ผมมาถึง เรายังแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเชี่ยวชาญ

ระหว่างพำนักอยู่ที่อุทยาน ผมมีผู้ช่วยชื่อทองกา ทอร์ซีดา เด็กหนุ่มที่เกิดบนภูเขาโกรองโกซา ช่วงที่เราร่วมงานกัน ทอร์ซีดาเพิ่งรู้ว่าได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อในวิทยาลัยแห่งหนึ่งของแทนซาเนีย เขาพูดได้ถึง 4 ภาษา และรู้จักโกรองโกซาอย่างทะลุปรุโปร่ง  จึงตั้งใจจะเป็นนักชีววิทยาสัตว์ป่า 

จะว่าไปแล้ว โกรองโกซาเผชิญกับชะตากรรมหนักหนาสาหัสเลยทีเดียว สามปีหลังโมซัมบิกได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อปี 1975 สงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นและลุกโชนอยู่นาน 17 ปี อุทยานซึ่งรัฐบาลอาณานิคมตั้งขึ้นเมื่อปี 1960 แห่งนี้กลายเป็นสมรภูมิ ที่ทำการอุทยานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวถูกทำลาย ทหารซึ่งทั้งหิวโหยและปรารถนาจะได้งาช้างไปแลกอาวุธในแอฟริกาใต้ล้มช้างไปจำนวนมาก สุดท้าย สัตว์ใหญ่เกือบทุกชนิดในอุทยานถูกล่าไปจนหมดหรือไม่ก็ใกล้สูญพันธุ์เต็มที

การหายหน้าไปของสัตว์ใหญ่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง เมื่อไม่มีฝูงม้าลายคอยและเล็มหญ้า ต้นหญ้าและไม้พุ่มก็งอกงามขึ้นมาจนแน่นขนัด ทำให้ไฟป่าที่เกิดจากฟ้าผ่าทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อไม่มีช้างคอยล้มต้นไม้เพื่อกินกิ่งก้านสาขาเป็นอาหาร ผืนป่าก็เริ่มรกชัฏ และเมื่อซากสัตว์ใหญ่ลดลงมาก สัตว์กินซากบางชนิดก็พลอยลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ

อย่างไรก็ตาม พืชพรรณและสัตว์ขนาดเล็กอย่างแมลงกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มอื่นๆซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบนิเวศกลับแทบไม่ถูกแตะต้อง อุทยานแห่งชาติโกรองโกซามีถิ่นอาศัยหลากหลายรูปแบบและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแม้ในปัจจุบัน ทั่วทั้งอุทยานแห่งนี้มีนก 398 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 122 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 34 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 43 ชนิด นอกจากนี้ยังอาจมีแมลง สัตว์พวกแมงมุมแมงป่อง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มอื่นๆอีกหลายหมื่นชนิดรอให้เราค้นพบ

หนึ่งทศวรรษหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ระหว่างที่ประเทศประชาธิปไตยใหม่อย่างโมซัมบิกกำลังก่อร่างสร้างตัว โกรองโกซายังตกอยู่ในสภาพยับเยิน ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่เกรก คาร์พยายามหาทางช่วยเหลือ หลังทำรายได้มหาศาลจากธุรกิจให้บริการวอยซ์เมลและอินเทอร์เน็ต เขาก็อุทิศตนให้กับงานด้านการกุศล เมื่อปี 2004 รัฐบาลโมซัมบิก ตกลงกับคาร์ว่า จะให้เขาช่วยวางแผนฟื้นฟูอุทยานแห่งนี้  แต่คาร์ก็ทำอะไรมากกว่านั้นมาตลอด กล่าวคือ เขาดำเนินการฟื้นฟูโกรองโกซาตัวเองโดยใช้เงินส่วนตัวเป็นหลัก ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวของโมซัมบิกได้จับมือกับคาร์เพื่อร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาอุทยานแห่งนี้ในระยะยาว

เวลาผ่านไปไม่ถึงสิบปี ทุกวันนี้ อุทยานแห่งชาติโกรองโกซากำลังฟื้นคืนสภาพไปด้วยดี สัตว์ใหญ่เช่นควายป่าและช้างแอฟริกาที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแอฟริกาใต้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ความสมดุลทางนิเวศวิทยาและพรรณสัตว์ขนาดใหญ่กำลังกลับคืนมาพร้อมๆกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูอุทยานที่เสียหายนั้นยากกว่าการตั้งอุทยานแห่งใหม่ขึ้นมาเสียอีก ซ้ำร้าย อุทยานโกรองโกซายังห่างไกลจากความปลอดภัย โดยเฉพาะเขตภูเขาโกรองโกซา ในช่วงสงครามกลางเมือง ทหารบุกรุกภูเขาลูกนี้ ขณะที่ชาวไร่ชาวนาที่ทำเกษตรแบบยังชีพก็เริ่มหักร้างถางพงตามไหล่เขาเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน ท้ายที่สุด ชาวไร่ชาวนาก็รุกขึ้นไปถึงป่าดิบชื้นบนยอดเขาแล้วเริ่มตัดต้นไม้ใหญ่ พร้อมกับเปลี่ยนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เป็นไร่ข้าวโพดและมันฝรั่ง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ป่าดิบชื้นดั้งเดิมถูกทำลายลงกว่าหนึ่งในสามเลยทีเดียว

ในเมื่อภูเขาลูกนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน อุทยานจึงมีอำนาจที่จะปกป้องแนวผืนป่า อย่างไรก็ตาม ป่าผืนนี้จะปลอดภัยอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อคนที่ทำลายป่ามีทางเลือกอื่น การท่องเที่ยวคือคำตอบหนึ่งของคาร์ ขณะเดียวกัน เขาว่าจ้างคณะทำงานหลายชุดเพื่อจัดทำโรงเพาะชำสำหรับเพาะกล้าไม้ชนิดต่างๆในป่าดิบชื้น และเริ่มกระบวนการพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมามีเนื้อที่เท่าเดิม ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษหรือแม้กระทั่งหลายศตวรรษ

เรื่องโดย เอดเวิร์ด โอ. วิลสัน
มิถุนายน