ผู้เขียน หัวข้อ: คลื่นคนล้นเอเวอเรสต์-สารคดีเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1657 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เพราะเหตุใดยอดเขาสูงที่สุดในโลกจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของทุกสิ่งที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการปีนเขา

หนึ่งชั่วโมงหลังออกเดินทางจากแคมป์บนสุดตามแนวสันเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมานต์เอเวอเรสต์ ปานูรู เชอร์ปา กับผมเดินผ่านศพแรก  ร่างไร้วิญญาณของนักปีนเขาผู้นี้อยู่ในท่านอนตะแคงราวกับกำลังงีบหลับอยู่กลางหิมะ อีกสิบนาทีให้หลัง เราก็ย่ำเท้าผ่านร่างไร้ลมหายใจอีกร่างหนึ่ง ลำตัวของเธอมีธงชาติแคนาดาคลุมอยู่ ถังออกซิเจนที่วางทับไว้ช่วยยึดผืนธงที่โบกสะบัดไม่ให้ปลิวไปตามแรงลม

                ระหว่างที่เราปีนป่ายตามหลังกันขึ้นไปติดๆโดยอาศัยเชือกที่ขึงอยู่ตามลาดเขาสูงชัน ปานูรูกับผมถูกขนาบด้วยคนแปลกหน้าทั้งข้างหน้าและข้างหลัง  วันก่อนตอนอยู่ที่แคมป์สาม นอกจากทีมของเราแล้วก็มีเพียงนักปีนเขากลุ่มเล็กๆ แต่พอตื่นขึ้นมาเช้านี้ เราก็ต้องตกตะลึงเมื่อเห็นจำนวนนักปีนเขาที่เดินต่อกันเป็นแถวยาวสุดสายตาผ่านมาใกล้เต็นท์ของเรา

                ตอนนี้เราอยู่ที่ระดับความสูง 8,230 เมตร คนแน่นจนทุกคนไม่ว่าจะแข็งแรงหรือปีนเก่งแค่ไหน ก็เคลื่อนที่ไปได้ช้าพอกัน ท่ามกลางความมืดก่อนเวลาเที่ยงคืน  ผมมองเห็นแสงไฟฉายคาดศีรษะของนักปีนเขาสาดส่องเรียงกันเป็นแนวยาว เหนือศีรษะผม    ณ บริเวณโขดหินแห่งหนึ่ง นักปีนเขาอย่างน้อย 20 คนยึดตัวเองไว้กับเชือกเส้นเดียวกัน เป็นเชือกที่ขึงอยู่กับหมุดงอๆเพียงตัวเดียวซึ่งตอกลงไปในน้ำแข็ง  ถ้าหมุดเกิดหลุดออกมา น้ำหนักตัวของนักปีนเขาราว 20 คนจะทำให้เชือกหรือห่วงนิรภัยหลุดออกทันที ทำให้พวกเขากลิ้งตกเขาจนถึงแก่ความตาย

                ผมกับปานูรูซึ่งเป็นคนนำทางชาวเชอร์ปา ปลดห่วงนิรภัยออกจากเชือกสายหลักแล้วปีนแยกไปตามผืนน้ำแข็งโล่งๆ นี่เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับนักปีนเขามากประสบการณ์ อีก 20 นาทีให้หลัง เราก็พบอีกศพหนึ่ง ร่างของชายคนนี้ยังยึดอยู่กับเชือก เขานั่งตัวแข็งเป็นหินอยู่กลางหิมะ หน้าดำ ดวงตาเบิกโพลง

                หลายชั่วโมงต่อมา ก่อนถึงฮิลลารีสเต็ป หน้าผาหินสูง 12 เมตรซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนถึงยอดเขา เราก็พบอีกศพหนึ่ง ใบหน้าที่มีหนวดเคราหร็อมแหร็มของเขาเป็นสีเทา ปากอ้าค้างราวกับกำลังร้องครวญครางอย่างทุกข์ทรมาน

                ผมอดคิดไม่ได้ว่า ครอบครัวและเพื่อนฝูงของคนเหล่านั้นจะเศร้าโศกเสียใจแค่ไหนเมื่อรู้ข่าวการเสียชีวิตของ             พวกเขา ผมเองก็เคยสูญเสียมิตรสหายให้การปีนเขาเช่นกัน ตอนนี้เรายังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดของการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ อย่างไรก็ดี สาเหตุการตายบนเมานต์เอเวอเรสต์ในระยะหลังๆเกิดจากการขาดประสบการณ์ นักปีนเขาบางคนไม่อาจตัดสินได้ว่าตนทรหดอดทนแค่ไหน และเมื่อไรควรหันหลังกลับ

                ทุกวันนี้ เอเวอเรสต์กลายเป็นสัญลักษณ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดเกี่ยวกับการปีนเขาไปแล้ว เมื่อปี 1963 มีนักปีนเขาเพียงหกคนขึ้นไปถึงยอดเขา แต่ในฤดูใบไม้ผลิของปี 2012 มีนักปีนเขากว่า 500 คนออกันอยู่บนนั้น ตอนผมขึ้นไปถึงยอดเขาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม มีคนอยู่แน่นขนัดจนผมแทบหาที่ยืนไม่ได้

                เอเวอเรสต์คือชัยชนะของนักปีนเขามาตลอด ทว่าทุกวันนี้มีผู้พิชิตยอดเขาแห่งนี้ได้เกือบ 4,000 คนแล้ว บางคน        ขึ้นไปมากกว่าหนึ่งครั้งด้วยซ้ำ  การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้จึงมีความหมายน้อยกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ปัจจุบัน ราวร้อยละ 90 ของนักปีนเขาที่เดินทางขึ้นเอเวอเรสต์มีมัคคุเทศก์นำทาง  ในจำนวนนี้มีอยู่ไม่น้อยที่ไร้ทักษะการปีนเขาอย่างสิ้นเชิง              พวกเขาจ่ายเงินจ้างมัคคุเทศก์ด้วยราคา 30,000 ถึง 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลายคนคาดหวังว่าจะไปถึงยอดเขา และมีไม่น้อยที่ขึ้นไปถึงจริงๆ แต่ก็ในสภาพย่ำแย่เต็มที นอกจากนี้ เส้นทางมาตรฐานสองสายอันได้แก่สันเขาด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ไม่เพียงแออัดจนอาจเกิดอันตราย  แต่ยังประสบปัญหามลพิษอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นขยะที่ติดมากับธารน้ำแข็งหรือกองอุจจาระมนุษย์บริเวณแคมป์ด้านบน ซ้ำร้ายยังมีผู้เสียชีวิตที่นี่

                นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหา ปัจจัยหนึ่งคือการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำยิ่งขึ้น สมัยก่อนไม่ค่อยมีข้อมูล ทีมนักปีนเขาจึงดั้นด้นขึ้นสู่ยอดเขาต่อเมื่อสมาชิกในทีมพร้อมเท่านั้น ทว่าทุกวันนี้ การพยากรณ์อากาศผ่านดาวเทียมมีความแม่นยำอย่างยิ่ง ทุกทีมจึงรู้ว่าเมื่อไรอากาศจะเป็นใจ และมักมุ่งหน้าขึ้นสู่ยอดเขาในวันเดียวกัน

                อีกปัจจัยหนึ่งคือ ผู้ประกอบการที่ให้บริการในราคาย่อมเยาบางรายอาจไม่มีทีมงาน ความรู้ หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมที่จะช่วยให้ลูกค้าปลอดภัยยามเกิดเหตุไม่คาดฝัน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักจ้างชาวเชอร์ปาน้อยคน และบางครั้งชาวเชอร์ปาที่จ้างมาก็ขาดประสบการณ์  

                เพื่อป้องกันไม่ให้บนภูเขามีจำนวนนักปีนเขามากเกินไป จึงมีผู้เสนอให้จำกัดจำนวนใบอนุญาตในแต่ละฤดูการปีนเขา พร้อมทั้งจำกัดขนาดทีมไม่ให้มีลูกค้าเกินทีมละสิบคน ขณะที่อีกหลายคนยังไม่ปักใจเชื่อว่าแนวทางเหล่านี้จะได้ผล

                แม้จะมีปัญหานานัปการ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จะยังมีคนอยากพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในโลกเสมอ เพราะการขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเอเวอเรสต์นั้นเปี่ยมความหมาย จนทำให้การเบียดเสียดกับฝูงชนหรือการเผชิญกับกองขยะกลายเป็นเรื่องเล็ก              นิดเดียว เอเวอเรสต์ยิ่งใหญ่และไร้ความปรานีกระทั่งเมื่อถึงจุดหนึ่งนักปีนเขาจะรู้สึกราวกับถูกท้าทายให้ดึงเอาส่วนที่ดีที่สุดของตนออกมา

                ช่วงเวลาเช่นนั้นเองคือเหตุผลที่ทำให้นักปีนเขาหวนกลับมายังเอเวอเรสต์เสมอ สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การพิชิตยอดเขา แต่อยู่ที่การได้แสดงคารวะภูเขาลูกนี้และเพลิดเพลินไปกับการเดินทางต่างหาก ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะฟื้นฟูความปกติสุขกลับมาสู่จุดสูงสุดของโลกได้หรือไม่

เรื่องโดย มาร์ก เจนกินส์
มิถุนายน