ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 26 พ.ค.-1 มิ.ย.2556  (อ่าน 969 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 26 พ.ค.-1 มิ.ย.2556
« เมื่อ: 02 มิถุนายน 2013, 23:12:14 »
1. พันธมิตรฯ ยื่นศาล รธน. สั่งระงับแก้ ม.68 พร้อมยุบ 6 พรรค ด้านศาลฯ ยกคำร้อง “เรืองไกร” ขอยุบ ปชป.!

       หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ต่อประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้สั่งให้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว โดยอ้างว่า ร่างดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประชุมและออกแถลงการณ์เรื่อง หยุดยั้งการล้มรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพวกพ้อง โดยสรุปว่า ขณะนี้ปรากฏชัดเจนว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน มุ่งแต่แสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ,มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่หลวงในโครงการรับจำนำข้าว ,มีการใช้งบประมาณมหาศาลในการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดความโปร่งใส ,เดินหน้ารับอำนาจศาลโลกในการตีความคดีปราสาทพระวิหาร ,ปล่อยให้ราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า ฯลฯ
       
       ยิ่งกว่านั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ยังเหิมเกริมลุแก่อำนาจ เดินหน้าออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดให้ตัวเองและพวกพ้องในคดีอาญาร้ายแรงโดยไม่สนใจผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว รวมทั้งปล่อยให้มีการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกความผิดให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่สภาฯ อีกด้วย โดยพันธมิตรฯ ยืนยันอีกครั้งว่า จะคัดค้านการออกกฎหมายล้างความผิดให้ นช.ทักษิณและพวกอย่างถึงที่สุด
       
       ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ด้วยการแก้ไขมาตรา 68 ไม่เคารพหลักนิติรัฐและหลักการถ่วงดุลอำนาจโดยตุลาการ มีการออกแถลงการณ์ของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ใส่ร้ายป้ายสีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปล่อยให้มวลชนออกมาข่มขู่กดดันศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้พิจารณาคดีที่รัฐบาลกระทำผิด ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นขบวนการทำลายการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยอย่างเดียว ไม่ใช่แนวทางในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
       
       ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรฯ จึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา 8 ประเด็นต่อไปนี้ 1.ขอให้ศาลฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ไว้จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย 2.ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.-ส.ว.จำนวน 311 คน เสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม เป็นอันตกไป เพราะเป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 3.การที่ประธานรัฐสภารับร่างดังกล่าว แล้วบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 4.ขอให้ศาลฯ สั่งให้ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย ส.ส.-ส.ว.311 คน ยกเลิกการกระทำดังกล่าว และถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 หรือ 3
       
       5. การที่ ส.ส.-ส.ว.จำนวน 374 คน ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 6. ขอให้ศาลฯ สั่งยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ เนื่องจาก ส.ส.พรรคการเมืองเหล่านี้เสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 7.ขอให้ศาลฯ สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคดังกล่าวทุกพรรค เป็นเวลา 5 ปี และ 8 ขอให้ศาลฯ สั่งให้การกระทำของประธานรัฐสภาและ ส.ส.-ส.ว.เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       
       ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ได้มอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำพันธมิตรฯ รุ่นสอง ไปยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน(27 พ.ค.)
       
       วันต่อมา(28 พ.ค.) ทางพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค ก็ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยขอให้ศาลพิจารณาในประเด็นเดียวกับที่พันธมิตรฯ ยื่นคำร้อง พร้อมเผยว่า พรรคเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และ ร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
       
       ด้านศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค. แต่ยังไม่ได้พิจารณาว่าคำร้องของพันธมิตรฯ และคำร้องของนายวิรัตน์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจคำร้องของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ได้พิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลฯ สั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ตลอดจนร่วมประชุมและใช้สิทธิอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภา โดยตุลาการฯ มีมติไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ จึงไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
       
       2. สภาฯ ผ่านวาระแรกร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 แล้ว ด้วยมติ 292 ต่อ 155 ด้าน ปชป. แฉทุจริตจำนำข้าว-จัดซื้อรถตู้แพงเว่อร์ ขณะที่ “เสริมศักดิ์” โบ้ย ธุรการพิมพ์ตัวเลขผิด!

       เมื่อวันที่ 29-31 พ.ค. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 โดยการประชุมเปิดฉากด้วยการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า ครม.ได้ตั้งงบฯ ไว้ไม่เกิน 2.525 ล้านล้านบาท โดยเป็นการทำงบแบบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ เพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องจากงบประมาณปีที่ผ่านมา และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศและรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แจกแจงยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2557 ด้วยว่า มี 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยจัดสรรงบไว้กว่า 1.45 แสนล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวนกว่า 2.10 แสนล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำนวนกว่า 3.43 แสนล้านบาท
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่า งบประมาณปีนี้เป็นงบที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้หากสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ก็จะเกือบเท่างบประมาณทั้งปี ซึ่งเมื่อดูเอกสารงบจะเห็นว่า รัฐบาลสามารถกู้เงินตามงบประมาณได้ถึง 5 แสนกว่าล้านบาท แต่รัฐบาลเสนองบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท และยังจะไปกู้เงิน ทั้งที่เงินกู้สามารถเอามาอยู่ในเพดานจัดทำงบได้ทั้งสิ้น นายอภิสิทธิ์ ยังเตือนการจัดงบของรัฐบาลด้วยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ “รัฐบาลเดินหน้าต่อการสุ่มเสี่ยงขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จัดงบไม่รับผิดชอบต่ออนาคตประเทศ ...รัฐบาลกำลังบริหารทำให้เศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซ้ำเติมคนจน เพราะหลักคิดทั้งหมดยังเหมือนเดิม เป็นแนวคิดที่ผิด ไม่สอดคล้องสถานการณ์”
       
       ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายติงการจัดงบของรัฐบาลว่า แม้รัฐบาลจะพยายามแสดงว่าได้ลดจำนวนงบขาดดุลลงแล้ว แต่กลับผลักภาระให้ประชาชน ทั้งการเพิ่มภาษีน้ำมันดีเซลและเพิ่มราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ทั้งที่ควรไปปรับลดโครงการประชานิยมของรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่ขาดทุนไปแล้ว 2.6 แสนล้านบาท นายกรณ์ ยังถามหาความรับผิดชอบของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วย เพราะเคยระบุว่า หากโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเกิน 6 หมื่นล้านบาทจะรับผิดชอบ
       
       ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแฉทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลโดยชี้ว่า คนที่รวยคือนายทุนโรงสี ส่วนคนรวยสุดคือ นายทุนผูกขาดด้านข้าวและคนในรัฐบาล โดยใช้วิธีระบายข้าวที่อ้างว่าเป็นความลับ และว่า มีคนที่ไม่ธรรมดาในกระทรวงพาณิชย์เป็นจอมบงการฟันหัวคิวในโครงการรับจำนำข้าว โดยบุคคลคนนี้มีความสำคัญอยู่ในทุกรัฐบาล มีตำแหน่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยที่นายกิตติรัตน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการในโครงการจำนำข้าวทุกชุด และเมื่อมีการปรับ ครม.ให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บุคคลคนนี้ก็ยังมาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และยังเป็นคณะกรรมการในนโยบายจำนำข้าวทุกชุดเหมือนเดิม “แสดงว่าคนคนนี้มีความสำคัญมาก มีอำนาจเหนือรัฐมนตรี คนคนนี้คือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ซึ่งเป็นตัวจริงเสียงจริงในกระทรวงพาณิชย์ มีความใกล้ชิดกับกลุ่มทุนด้านข้าว ซึ่งข้าราชการจะเสนออะไร ท่านรัฐมนตรีจะถามว่าคุณหมอทราบหรือยัง ทุกครั้ง”
       
       นพ.วรงค์ ยังแฉต่อว่า มีตัวแทนนายทุนสามานย์อีกคน ใช้รถโฟลก์สวาเก้น ทะเบียน ฮธ 20 เข้าออกกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน ซึ่งคนในกระทรวงกระซิบตนว่า เขามาทำงานตามปกติ เมื่อสืบค้นดูพบว่า เจ้าของรถคือ น.ส.ชุติมา วัชระพุกกะ ซึ่งน่ากังขาว่าเป็นคนเดียวกับนางชุฏิมา วัจนะพุกกะ ที่เป็นภรรยาของ นพ.วีระวุฒิหรือไม่
       
       ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่ได้ขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท พร้อมอ้างว่า ตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านนั้นมาจากโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรทั้งหมด 17 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการรับจำนำข้าวแค่ 2 โครงการ นายบุญทรง ยังปฏิเสธด้วยว่า ไม่มีคนในกระทรวงพาณิชย์ที่ใหญ่กว่ารัฐมนตรี “ขอยืนยันว่า อำนาจการบริหารกระทรวงพาณิชย์ไม่มีใครใหญ่กว่าผม ดังนั้นการไปกล่าวอ้างคนอื่น คงเป็นเรื่องไม่เป็นความจริง”
       
       นอกจากเรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังอภิปรายชี้พิรุธการจัดงบในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการด้วย ซึ่งส่อว่าอาจมีการทุจริตงบจัดซื้อรถตู้เพื่อรองรับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยนายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แฉว่า งบจัดซื้อรถตู้โดยสารขนาด 12 ที่นั่ง(ดีเซล) จำนวน 1,000 คัน วงเงินกว่า 2,343 ล้านบาท ถือว่าจัดซื้อแพงเกินจริง เพราะราคารถตู้ 12 ที่นั่ง คันละ 9.6 แสนบาท แต่กระทรวงศึกษาธิการกลับตั้งงบไว้ที่คันละ 2.34 ล้านบาท มีส่วนต่างถึง 1.3 ล้านบาท ทั้งที่สำนักงบประมาณตั้งงบให้กระทรวงศึกษาฯ ที่คันละ 1.2 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ทราบว่ากระทรวงศึกษาฯ แก้ไขเป็นคันละ 2.3 ล้านบาทได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีการล็อกสเปก เพราะหากใช้รับ-ส่งนักเรียน ควรใช้รถตู้ 16 ที่นั่ง จะเหมาะสมกว่า ซึ่งราคาขายตามท้องตลาดอยู่ที่คันละ 1.1 ล้านบาท
       
       ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงโดยอ้างว่า ไม่ได้มีการทุจริต แต่ตัวเลขผิดพลาดจากจากการพิมพ์ของธุรการ โดยกระทรวงฯ ตั้งงบไว้ 1,232 ล้านบาท รถราคาคันละ 1,232,400 บาท
       
       ขณะที่นายจุฤทธิ์ ถามกลับนายเสริมศักดิ์ว่า ถ้าไม่ได้มีการตรวจสอบพบ คงหวานคอแร้งหรือไม่ เพราะส่วนต่าง 1,300 ล้านบาท ถ้าจับไม่ได้ ไม่ทราบว่าจะเข้ากระเป๋าใคร
       
       ทั้งนี้ หลังการประชุมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวันที่สาม(31 พ.ค.) เสร็จสิ้นลง ได้มีการลงมติรับหลักการร่างดังกล่าวในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 292 เสียง ไม่เห็นชอบ 155 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จำนวน 63 คน เพื่อแปรญัตติใน 30 วัน
       
       3. ศาลปกครอง สั่งนายกฯ คืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.ให้ “ถวิล” ชี้ สั่งย้ายไม่ชอบ-ขัดคุณธรรม ด้าน “ยิ่งลักษณ์” เล็งอุทธรณ์!

       เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาคดีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ฐานกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรมตามคำสั่งสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2554
       
       ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการโอนนายถวิลดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเชื่อได้ว่าที่มาของการเปลี่ยนแปลงนายถวิลออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือต้องการให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งอยู่ ว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้คนอื่น(พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ดำรงตำแหน่งแทน การออกคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ราชการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตามระบบคุณธรรม ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 42 องค์คณะตุลาการฯ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกฯ ดังกล่าว เนื่องจากการโยกย้ายใช้ดุลพินิจไม่ชอบ และมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แก่นายถวิลโดยเร็วที่สุด
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องจะยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน แต่ศาลก็ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลด้วยว่า เมื่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งการโยกย้ายโดยให้มีผลย้อนหลังแล้ว ย่อมมีผลทางกฎหมายว่านายถวิลไม่ได้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้นายถวิลสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการ สมช.โดยเร็ว
       
       ด้านนายถวิล เผยความรู้สึกหลังทราบคำพิพากษาว่า ดีใจกับคำพิพากษา แต่ก็ต้องรอดูว่า นายกฯ จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ แต่อยากให้นายกฯ ยึดมาตรฐานเดียวกับที่ไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีโยกย้ายนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษาว่าถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม นายถวิล ยังฝากถึงผู้มีอำนาจและข้าราชการด้วยว่า “ขอฝากไปยังผู้ที่มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตามว่า ระบบที่ไม่ตั้งอยู่ในพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม ได้ทำร้ายข้าราชการที่ดีจำนวนมาก ขอฝากไปยังเพื่อนข้าราชการด้วยว่า ได้เข้ามารับราชการเป็นอาชีพ ขอให้ภาคภูมิใจในการเป็นข้าราชการรับใช้ประชาชน และขอให้มีใจเข้มแข็งต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ผมฝากไปยังข้าราชการที่ไม่ดี คิดว่ามีอยู่น้อย เลิกทำร้ายข้าราชการด้วยกันได้แล้ว รวมทั้งเลิกนิสัยมักง่าย ประจบสอพลอ การย้ายข้าราชการได้ทำลายองค์กร ทำลายขวัญกำลังใจข้าราชการ ในขณะที่ผมเป็นเลขาฯ สมช. ผมได้สอนน้องๆ ตลอดว่า จะเป็นข้าราชการที่ดีเติบโตได้ ต้องทุ่มเท เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และตั้งแต่รับราชการมา ผมไม่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ไม่เคยทำงานให้พรรคการเมืองเลย”
       
       ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางหรือไม่ แต่นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับทราบคำสั่งของศาลปกครองกรณีนายถวิลเรียบร้อยแล้ว ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ ได้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ อ่านคำสั่งของศาลอย่างละเอียด คาดว่าคงจะมีการอุทธรณ์ต่อไป
       
       ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พูดถึงกรณีที่ศาลปกครองสั่งให้นายกฯ คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แก่นายถวิลว่า คงต้องรอคำสั่งจากนายกฯ ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ หากไม่อุทธรณ์ก็ต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการจากนายกฯ ว่าจะให้ไปรับหน้าที่ใด โดยพร้อมจะปฏิบัติตาม เพราะเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ส่วนการเปลี่ยนตำแหน่งจะกระทบต่อการเป็นหัวหน้าคณะเจรจาเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น พล.ท.ภราดร บอกว่า ขึ้นอยู่กับนายกฯ ว่าจะให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาต่อไปหรือไม่ เพราะหัวหน้าคณะเจรจา ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นตำแหน่งเลขาธิการ สมช.
       
       4. กนง. มีมติเอกฉันท์หั่นดอกเบี้ย 0.25% ปัดตอบการเมืองแทรกหรือไม่ ให้สังคมคิดเอง ด้าน “กิตติรัตน์” ได้คืบเอาศอก บอก ยังน้อยไป!

       เมื่อวันที่ 29 พ.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นประธาน ได้ประชุมก่อนมีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงว่า เหตุที่ กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เนื่องจากประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัว เพราะมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิมเติมได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน กนง.จึงต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์
       
        ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ยืนยันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ถือว่าเพียงพอเหมาะสมต่อการรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า และไม่ขอตอบว่า การลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้เป็นเพราะได้รับแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่ โดยบอกว่า สังคมต้องตีความเอง
       
        ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ของ กนง.ว่า น้อยเกินไป แต่มาช้าดีกว่าไม่มา “ผมยอมรับการตัดสินใจของ กนง. และแม้ว่า ธปท.จะมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน แต่ผมจะยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ธปท.ต่อไป ซึ่งเรื่องดอกเบี้ย ผมอยากให้ลดลงมากกว่านี้”
       
       ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท.และประธาน กนง. ยืนยันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว หากลดมากไป อาจเกิดความเสี่ยง และตลาดเงินอาจตีความหมายผิดเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของไทย "ถ้าไปลดเยอะแยะตอนนี้ ด้วยข้อมูลที่เรามีแบบนี้ ไปสู่ตลาดการเงินที่มีคนเกี่ยวข้องเยอะ อาจจะมีการตีความผิดไปว่า เราเห็นอะไรที่มันเลวร้ายจนเกินไปหรือเปล่า ถึงต้องลดดอกเบี้ยเยอะขนาดนั้น"
       
       ทั้งนี้ หลัง กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า การลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอะไรมากนัก น่าจะส่งผลทางจิตใจและสร้างความโล่งใจอย่างที่หลายฝ่ายอยากให้ปรับลดลงมากกว่า
       
        ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) บอกว่า ไม่ได้ผิดหวังอะไร แต่ยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ “หาก กนง.ลดดอกเบี้ย 0.50% จะเป็นเนื้อเป็นหนังกว่านี้ แต่ ส.อ.ท.เข้าใจว่า กนง.ต้องดูภาพรวมของประเทศเป็นหลัก และในอดีต การลดดอกเบี้ยจะใช้วิธีลดครั้งละ 0.25%”
       
        ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เชื่อว่า การลดดอกเบี้ยนอกจากไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจเกิดความเสี่ยงตามมา “หลายประเทศที่มีปัญหาใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นไม่ได้ฟื้นตัวตามที่หวังไว้ ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีผลทำให้คนไม่อยากออม เพราะไม่มีอะไรจูงใจ และสิ่งที่พูดมาตลอดคือ การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อนานเกินไป อาจจะเป็นความเสี่ยงภายหลังได้”
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กนง.ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ปรากฏว่า ค่าเงินบาทในวันดังกล่าวไม่ได้อ่อนตัวลงมากนัก โดยเปิดตลาดที่ระดับ 30.08-30.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดลาดที่ระดับ 30.18-30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 มิถุนายน 2556