ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-25 พ.ค.2556  (อ่าน 1152 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-25 พ.ค.2556
« เมื่อ: 02 มิถุนายน 2013, 23:11:02 »
 1. พท. ชงร่าง กม.ปรองดองฯ เข้าสภาแล้ว - “เฉลิม” ลั่น พา “ทักษิณ” กลับบ้านก่อนปีใหม่ หากไม่สำเร็จ ยอมให้ตัดหัว ด้านพันธมิตรฯ แถลงท่าที 27 พ.ค.นี้!

       ความคืบหน้ากรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน โดยยืนยันว่า ทุกฝ่ายทุกสีได้ประโยชน์ ไม่เว้นแม้กระทั่งแกนนำผู้ชุมนุมหรือผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม พร้อมประกาศว่า จะยื่นร่างดังกล่าวต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 23 พ.ค. ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงและ ส.ส.เสื้อแดง ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม แต่หนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย มากกว่า เพราะไม่นิรโทษกรรมให้แกนนำและผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมายืนยันว่า ที่ประชุม ส.ส.ของพรรค มีมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นเหยื่อทางการเมือง และจะไม่นำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมาปนกัน พร้อมย้ำ ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.นี้ จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 อย่างเดียว จะไม่มีการสอดแทรกหรือดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ,ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ,ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าพิจารณาแต่อย่างใด
       
       ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม พูดถึงกรณีที่ ส.ส.เสื้อแดงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของตนว่า ได้สั่งให้นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ตัดมาตรา 5 (ซึ่งกำหนดให้ ครม.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม) ออกจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แล้ว เพราะเรื่องเยียวยารัฐบาลให้อยู่แล้ว
       
       ทั้งนี้ 2 วันต่อมา(23 พ.ค.) ส.ส.พรรคเพื่อไทยประมาณ 15 คน นำโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ก็ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม พร้อมรายชื่อ ส.ส.ที่สนับสนุน 163 คน ต่อประธานสภาฯ โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นผู้รับแทน
       
       ซึ่งนายเจริญ บอกว่า หลังจากนี้จะตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ และหากพบว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จะส่งให้นายกฯ เซ็นรับรองก่อน หากไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน จะบรรจุเข้าระเบียบวาระตามปกติ พร้อมเผยว่า อำนาจในการวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ เป็นของประธานสภาฯ แต่ประธานสภาฯ มอบหมายให้ตนวินิจฉัยแทน นายเจริญ ยังยืนยันด้วยว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญ จะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาแน่นอน
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่า ร.ต.อ.เฉลิม พยายามบิดไม่ให้ร่างดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินด้วยการตัดมาตรา 5 ทิ้ง เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะถ้าเป็นกฎหมายการเงิน นายกฯ ต้องเซ็นรับรองก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุมสภา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า แม้จะตัดมาตรา 5 ออก แต่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ก็ยังเป็นกฎหมายการเงินอยู่ดี เพราะมาตรา 4 (ซึ่งระบุให้ข้อกล่าวหาที่มาจากคำสั่ง คปค. ที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ระงับไป ไม่ถือว่าเป็นความผิด) จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นำไปอ้างเพื่อเรียกเงินที่ถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทคืนได้
       
       ขณะที่นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาสวนกลับพรรคประชาธิปัตย์ โดยยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่ได้มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อคืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด “ร.ต.อ.เฉลิมพูดอยู่ตลอดว่า เรื่องเงินนั้น ทาง พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่าไม่ต้องคืนและไม่ติดใจในเรื่องนี้ วันนี้ให้จบ บ้านเมืองจะได้เดินหน้า เลิกแล้วต่อกัน เพราะเจตนาที่เรายื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินเลย นี่คือความสัตย์จริง แต่ฝ่ายค้านเขาก็ต้องแหย่ในประเด็นเหล่านี้ เพราะเชื่อมั่นว่าประเด็นนี้จุดติด เรียกแขกง่าย”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ร.ต.อ.เฉลิม ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงที่สนามทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พ.ค. โดยเวทีดังกล่าว ชูสโลแกนว่า “ทวงคนดีคืนถิ่น เอาทักษิณกลับบ้าน” ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ได้เปิดใจว่าทำไมต้องพาทักษิณกลับบ้านว่า ยอมรับว่าเป็นขี้ข้า พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นขี้ข้าทางใจ ถ้าพี่น้องให้ความกรุณา จะเอา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านก่อนปีใหม่ ร.ต.อ.เฉลิม ยังเอาหัวเป็นประกันด้วยว่า หากพาทักษิณกลับบ้านไม่สำเร็จ เอาตนไปตัดหัวได้เลย “ถ้าไม่สำเร็จ ผมรับผิดชอบคนเดียว จะเอาไปตัดหัว คั่วแห้งที่ไหนก็เชิญ”
       
       ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมประชุมประเมินสถานการณ์บ้านเมืองพร้อมกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เวลา 12.00น.
       
       2. ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งรวม 4 คำร้องแก้ รธน.มาตรา 68 นัดพิจารณาต้องไต่สวนหรือไม่ 29 พ.ค.นี้!

       เมื่อวันที่ 22 พ.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณากรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องหลายคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับพวกรวม 312 คน กระทำการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้ยื่นคำร้องรวม 4 คำร้อง ประกอบด้วย คำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ,คำร้องของนายบวร ยสินทร และคณะ ,คำร้องของนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา และคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ทั้ง 4 คำร้องมีลักษณะเดียวกัน จึงให้รวมเป็นคำร้องเดียว เพื่อพิจารณาในคราวเดียวกัน
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมวันที่ 29 พ.ค. เวลา 09.30น. เพื่อพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวจำเป็นต้องออกนั่งบัลลังก์เพื่อไต่สวนฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องหรือไม่ หรือจะพิจารณาคำร้องและมีคำวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่ต้องไต่สวน
       
       ส่วนกรณีที่นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ,นายชาญ ไชยะ ,นายมาลัยรักษ์ ทองส้ม ,นายไพวรรณ์ สีน้ำอ้อม และนายธนชัย สีหิน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นตุลาการฯ เสียงข้างมากที่มีมติให้รับคำร้องของนายสมชาย ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่มีมูล จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
       
       นอกจากนี้ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ,นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายคมสัน โพธิ์คง ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณกับพวกรวม 283 คน กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้สไกป์หรือวิดีโอลิงก์หลายครั้ง เพื่อสั่งการในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายปรองดอง ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยตุลาการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั่วไป ยังมิได้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
       
       3. ครม. เปลี่ยนโฆษก รบ. พร้อมเด้ง “หมอพรทิพย์” เข้ากรุ สะพัด หวังเปลี่ยนรูปคดี 6 ศพวัดปทุมฯ !

       เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมืองและโยกย้ายข้าราชการประจำบางตำแหน่ง สำหรับข้าราชการการเมือง ได้แก่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการเปลี่ยนจาก นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เป็นนายธีรัตถ์ รัตนเสวี บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ทีวีของตระกูล “ชินวัตร” แล้วให้ นพ.ทศพร ไปเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง(รองนายกฯ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) ,นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้รับแต่งตั้งให้ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฯลฯ
       
       ส่วนข้าราชการประจำที่ถูกโยกย้าย ได้แก่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โดยถูกโยกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กปต.) และให้ พ.ท.เอนก ยมจินดา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ฝ่ายพัฒนา กระทรวงยุติธรรม มาเป็นผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แทน
       
       ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พูดถึงการโยกย้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ว่า เนื่องจาก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มา 5 ปี ดังนั้นผู้บริหารจึงพิจารณาว่าจะต่ออายุในตำแหน่งดังกล่าวอีก 1 ปี หรือจะมีการปรับย้ายให้ไปรับผิดชอบงานในส่วนอื่น ซึ่งในที่สุดมีการปรับย้าย นายกิตติพงษ์ ยังยืนยันด้วยว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ชอบและพึงพอใจในตำแหน่งใหม่ และว่า ในอนาคต จะมีการให้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ดูแลงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในส่วนของสถาบันฝึกอบรมด้วย ซึ่งจะมีส่วนของนิติวิทยาศาสตร์ควบคู่กับสืบสวนสอบสวน โดยไม่ต้องรับผิดชอบงานบริหารด้านอื่น พร้อมย้ำว่า การโยกย้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ครั้งนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองหรือเป็นการลงโทษ แต่เป็นการโยกย้ายตามวาระและความเหมาะสม
       
       ขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เผยความรู้สึกหลังทราบมติ ครม.ที่โยกย้ายให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรมว่า แสดงว่าการเมืองไม่พอใจงานที่ตนทำ และว่า สำหรับตนแล้วมองว่าการถูกโยกครั้งนี้เป็นการลดตำแหน่ง เพราะที่ผ่านมา สาขาที่ขาดแคลนสามารถเสนอขอต่ออายุได้อีก 2 ปี โดยก่อนหน้านี้ตนได้ต่อมา 1 ปี
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงมติ ครม.ที่โยกย้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ว่า กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจในการปรับย้าย แต่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ทำงานกับตนมาตลอด “ได้สอบถามไปแล้ว ได้รับคำตอบว่าการปรับย้ายครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะหมอทำงานไม่ดี หน่วยเหนือเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสม หมอเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด” พล.อ.ประยุทธ์ ยังพูดถึงคนใหม่ที่จะเป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แทน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ด้วยว่า ต้องทำงานในแนวทางที่หมอทำไว้แล้ว เพราะเริ่มต้นไว้ดีอยู่แล้ว และว่า คงต้องดูแลคนดีกันต่อไป ประเทศไทยต้องการคนดีเยอะๆ ต้องช่วยกัน หมอท่านดีอยู่แล้ว คนใหม่ก็ต้องดี อย่างน้อยก็ต้องดีเท่ากัน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง ครม.มีมติโยก พญ.คุณหญิงพรทิพย์เข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ปรากฏว่า ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมออนไลน์ว่า “การเด้งหมอพรทิพย์ หวังเปลี่ยนรูปคดี กรณี "ชายชุดดำ " ผลการชันสูตร 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม พบว่ากรณีการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด ไม่ได้เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจากบาดแผลและการจำลองวิถีกระสุน และคลิป 15 วินาทีบริเวณเต๊นท์ ที่ประกอบในสำนวนของดีเอสไอ เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากการยิงจากบนรางรถไฟฟ้า "ดีเอสไอ" เจอ "หมอพรทิพย์" จัดหนัก ส่งหลักฐานวิถีกระสุนที่ยิงจากบีทีเอสให้แล้ว แต่กลับไม่บรรจุในสำนวนการสอบสวน ขณะที่ตัวแทนดีเอสไอ ใบ้กิน บอกเฉยไม่ทราบ”
       
       4. เกิดเหตุไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้หลายชั่วโมง - “พงษ์ศักดิ์” อ้างเหตุ ฟ้าผ่าสายส่ง ด้านเอ็นจีโอ จี้ รมว.พลังงานลาออก!

       เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ได้เกิดเหตุไฟฟ้าดับทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้นานประมาณ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 18.52น.-23.45น. ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกตื่น เกรงว่าจะมีการก่อเหตุไม่สงบขึ้น ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องต่างออกมาพูดถึงสาเหตุที่ไฟฟ้าดับแตกต่างกันไป โดยนายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) บอกว่า เหตุที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากสถานีไฟฟ้าบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีกำลังส่ง 500 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นสถานีที่จ่ายไฟตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึง จ.ยะลา รวม 14 จังหวัด เกิดเหตุขัดข้อง
       
        ขณะที่นายนพพงศ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 จ.เพชรบุรี บอกว่า เหตุที่ไฟฟ้าดับดังกล่าว เนื่องจากหม้อแปลงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จ่ายไฟจากภาคกลางไปยังพื้นที่ภาคใต้เกิดหลุดที่โรงไฟฟ้าบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้สถานีไฟฟ้าถัดไปไม่สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ จึงหลุดตามไปด้วย
       
        ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมผู้บริหารของกระทรวง ,ผู้บริหาร กฟผ. และตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เพื่อหาสาเหตุของไฟฟ้าดับดังกล่าว ซึ่งหลังประชุม นายพงษ์ศักดิ์ ได้ขอโทษประชาชนแทนกระทรวงพลังงานและ กฟผ. พร้อมเผยว่า กฟผ.ตรวจสอบพบว่า สาเหตุของไฟฟ้าดับครั้งนี้เนื่องจากระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน เกิดขัดข้อง “สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ 500 กิโลโวลต์ 2 เส้น และ 230 กิโลโวลต์ 2 เส้น ช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ค. กฟผ.ได้ปลดสายส่ง 500 กิโลโวลต์ 1 เส้น เพื่อซ่อมบำรุงตามกำหนด แต่ช่วงเย็นสายส่ง 500 กิโลโวลต์ เส้นที่ 2 เกิดชำรุด คาดว่าเกิดจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 กิโลโวลต์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งไฟฟ้าเกินกำลัง ส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ นอกจากนี้โรงไฟฟ้าในภาคใต้ 4 โรงปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าต่ำกว่ามาตรฐาน 50 เฮิร์ตซ์ ดังนั้นศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติของภาคใต้ที่ จ.ตรัง จึงระงับไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อป้องกันโรงไฟฟ้าอื่นๆ เสียหาย เป็นเหตุให้ไฟฟ้าทั้งระบบในภาคใต้ดับลง”
       
        นายพงษ์ศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันภาคใต้ใช้ไฟฟ้ามากกว่ากำลังผลิต โดยวันที่ 21 พ.ค. ความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 2,200 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลิตได้เพียง 1,600 เมกะวัตต์ จึงต้องรับไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วย พร้อมชี้ว่า เมื่อสาเหตุหลักของไฟฟ้าดับครั้งนี้มาจากสายส่ง จึงได้ให้นโยบายให้ขยายสายส่งให้มีขนาดเดียวกันทั่วประเทศ และว่า จากการตรวจสอบสายส่งทั่วประเทศพบว่า มี 2 พื้นที่น่าห่วงเรื่องสายส่งคือ กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้ให้นโยบายผู้เกี่ยวข้องทบทวนการทำงานว่า เมื่อระบบควบคุมการหยุดจ่ายไฟควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์จนเกิดปัญหาครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการหยุดจ่ายไฟตามกฎหมาย เพื่อให้การดับไฟสามารถระบุหรือเลือกพื้นที่ดับได้
       
        ส่วนใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบเหตุไฟฟ้าดับครั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ โบ้ยว่า “คงต้องให้ฟ้ารับผิดชอบ เพราะเกิดจากฟ้าผ่า” สำหรับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับนั้น นายพงษ์ศักดิ์ บอกว่า เป็นหน้าที่ของเรกูเลเตอร์ที่จะสอบสวนสาเหตุและพิจารณาเยียวยาต่อไป เมื่อถามว่า ปัญหาไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้น กระทรวงพลังงานต้องเร่งเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ นายพงษ์ศักดิ์ บอกว่า เป็นคนละเรื่อง ไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าจะใช้โอกาสนี้ผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้า แต่ยอมรับว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นความจำเป็นของคนในพื้นที่
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ครั้งนี้ หลายฝ่ายสงสัยว่าเป็นการดับเพราะสายส่งชำรุดและถูกฟ้าผ่าจริงๆ หรือเป็นความตั้งใจให้ไฟฟ้าดับของฝ่ายการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้กันแน่ เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายพงษ์ศักดิ์ ได้พูดถึงนโยบายของรัฐบาลในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ใน จ.กระบี่ ที่ยังถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ว่า “รู้สึกเบื่อ ดังนั้นหากประชาชนไม่ต้องการ จนสร้างไม่ได้ ก็จะไม่สร้างเช่นกัน หากภาคใต้เกิดปัญหาไฟดับ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบกันเอง”
       
        ด้านนางอัญชลี ชวนิชย์ ประธานคณะกรรมการ กฟผ. พูดถึงการตั้งคณะทำงานสอบสวนเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในภาคใต้ว่า กำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 7 วัน พร้อมย้ำ การสอบสวนไม่ใช่การหาตัวผู้รับผิดชอบหรือลงโทษ แต่เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง โดยเฉพาะการขัดข้องของระบบ เพราะเชื่อว่าเป็นเหตุสุดวิสัย นางอัญชลี ยังพูดถึงแผนปรับระบบสายส่งของ กฟผ.ให้มีขนาดเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับซ้ำรอย 14 จังหวัดภาคใต้ด้วยว่า มาตรการเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ ขยายสายส่งจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้เป็นขนาด 500 กิโลโวลต์ทั้งหมด รวมทั้งขยายสายส่งไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็น 500 กิโลโวลต์เช่นกัน คาดว่าจะใช้งบในการดำเนินการประมาณ 1.23 แสนล้านบาท
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดเหตุไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เวลานาน 5 ชั่วโมงกว่าจะแก้ปัญหาให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้ ปรากฏว่าในสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่คลิปสปอตโฆษณาของ กฟผ.ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ โดยเนื้อหาโฆษณาดังกล่าวเป็นการจำลองสถานการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ และทาง กฟผ.สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาแค่ 10 นาที ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
       
        ด้านนางพัลลภา เรืองรอง คณะกรรมการ กกพ.หรือเรกูเลเตอร์ พูดถึงความเสียหายและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับครั้งนี้ว่า จะตรวจสอบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ หากเป็นความละเลยของ กฟผ. ทางเรกูเลเตอร์อาจขอให้ กฟผ.ชดเชยค่าใช้จ่าย โดยอาจเป็นการช่วยเหลือผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) หรือลดราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และว่า “หากให้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นในภาคอุตสาหกรรม เรกูเลเตอร์คาดการณ์ตัวเลขในอดีตไว้ว่า ไฟฟ้าที่ดับทุก 1 นาที จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 60 ล้านบาท”
       
        ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ประเมินความเสียหายจากไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ว่า เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเสียหายประมาณ 7-8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จะสรุปตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ค.
       
        ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตกรณีไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ว่า มีความพยายามสร้างความชอบธรรมในการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ หรือ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ให้ได้ ทั้งที่ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่หลายโรง ดังนั้นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งนี้อาจส่อไปในทางมิชอบ เพื่อหวังผลสิ่งใดหรือไม่ “หากผู้บริหารของกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ยังพอมีมาตรฐานทางจริยธรรมอยู่บ้าง ควรที่จะแสดงสปิริตลาออก เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมใหม่ในแวดวงข้าราชการและนักการเมือง และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ในความผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการระบบสายส่ง”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤษภาคม 2556